หมดปัญหาคาใจคุณแม่ กับคำแนะนำของแพทย์ พบ “วิธีรับมือลูกชอบกรี๊ด” อาลาะวาดเอาแต่ใจได้ที่นี่!
สวัสดีค่ะทีมงาน Amarin Baby and Kids … ดิฉันมีลูกสาววัย 2.5 ปีอยู่หนึ่งคน ดิฉันไม่รู้ว่าลูกเป็นอะไรเวลาที่ไม่ได้อะไรดังใจ ก็มักที่จะชอบอาละวาดร้องกรี๊ดกร๊าดตลอดเวลา บางทีถึงขั้นไปนอนชักดิ้นชักงอที่พื้นเลยก็มี ดิฉันควรจะทำอย่างไรดีคะ กลัวคนรอบข้างไม่เข้าใจ แล้วจะมาพลอยว่าลูกดิฉันเป็นเด็กเอาแต่ใจไป ทีมงานพอจะมีคำแนะนำอะไรให้ได้บ้างไหมคะ
หลังจากที่ทีมงานได้รับข้อความหลังบ้านจากคุณแม่ท่านนี้ ทีมงานก็ทราบทันทีเลยค่ะว่า การกระทำของลูกสาวของคุณแม่นั้น ถือเป็นหนึ่งในอาการของเด็กทุกคนที่เราเรียกกันว่า “วัยต่อต้าน” จึงได้รีบค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมทันที พร้อมกับ วิธีรับมือลูกชอบกรี๊ด โวยวายเอาแต่ใจ เพราะคาดว่า ยังมีคุณแม่อีกหลาย ๆ ท่านกำลังประสบกับปัญหาเช่นเดียวกันนี้อยู่แน่นอน
วัยต่อต้าน คือวัยที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 1 – 3 ปีค่ะ เป็นวัยที่เริ่มมีความคิดความอ่านเป็นของตัวเอง วัยที่พร้อมจะกระทืบเท้า ร้องกรี๊ด โวยวาย อาละวาดลงไปชักดิ้นชักงออยู่ที่พื้น เพื่อต้องการเอาชนะคุณพ่อคุณแม่ เพราะมั่นใจว่า การกระทำนี้คือท่าไม้ตายที่เมื่อไรก็ตามที่เขาทำ คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องใจอ่อนยอมตามใจแต่โดยดี แล้วคุณจะยอมให้เป็นอย่างนั้นหรือ???
ด้านแพทย์หญิงสินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี ได้กล่าวถึงพฤติกรรมนี้ว่า การแสดงออกเช่นนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการลูก คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยนี้ควรที่จะเข้าใจมากกว่า การดุด่า ว่าทอ หรือตบตีลูก
เนื่องจากพวกเขา เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง อยากรู้อยากเห็น มีความต้องการที่จะควบคุมทุกอย่าง อยากมีอิสระ และพยายามที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ที่เกินความสามารถของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่โตพอที่จะรู้จักควบคุมตัวเองได้ดีพอ และเมื่อไรก็ตามที่เหนื่อย หิว หงุดหงิด หรือกลัว ความก้าวร้าวก็เริ่มทวีคูณมากขึ้นตามไปด้วย
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นเช่นนี้?
- ข้อจำกัดเรื่องภาษา – ด้วยความที่ลูกยังเล็กเกินไป ลูกก็เลยยังไม่รู้จะสื่อให้คุณพ่อคุณแม่ทราบได้อย่างไรว่า อาการที่ลูกเป็นนั้น เป็นเพราะลูกหิว ลูกร้อน ลูกหงุดหงิด หรือแม้แต่ง่วงนอน ลูกรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ดี และด้วยสาเหตุดังกล่าวยิ่งส่งผลทำให้พวกเขาหงุดหงิดเพิ่มมากขึ้น
- อยากทำบางสิ่งบางอย่างแต่ทำไม่ได้ – ยกตัวอย่างเช่น ลูกอยากที่จะเขียนหนังสือ อยากผูกเชือกรองเท้า หรืออยากติดกระดุมเสื้อเอง แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร พอพวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะทำ แต่กลับทำไม่ได้เลยยิ่งส่งผลทำให้หงุดหงิด และร้องโวยวายมากขึ้น
- อยากเป็นหนึ่ง – เด็กวัยนี้ รับรู้มาตลอดว่าทุกคนให้ความรักและความสำคัญเพราะพวกเขาเด็กที่สุด แต่เมื่อไรก็ตามที่มีน้อง หรือมีเด็กคนอื่น หรือบุคคลอื่นมาทำให้ความสำคัญของเขาลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ ลูกก็จะยิ่งแสดงความไม่พอใจออกมา เนื่องจากเกิดอาการหึงหวง และรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญลดน้อยลงด้วย เป็นต้น
- ไม่สบายตัว – เมื่อไรก็ตามที่ลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่สบายตัว ยกตัวอย่างเช่น อยู่ในอากาศที่ร้อนหรือหนาวจัด ง่วงนอนหรือนอนไม่พอ หรือแม้แต่หิวละก็ ลูกก็จะไม่สามารถบอกคุณพ่อคุณแม่ให้เข้าใจได้ ดังนั้น จึงเกิดเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารักนี้ขึ้น
วิธีรับมือลูกชอบกรี๊ด โวยวายเอาแต่ใจ
สำหรับ วิธีรับมือลูกชอบกรี๊ด เอาแต่ใจนั้น แพทย์หญิงสินดี ได้มีคำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ดังต่อไปนี้ค่ะ
- เบี่ยงเบนความสนใจลูก – หากคุณพ่อคุณแม่รู้แล้วว่า ลูกกำลังจะมีพฤติกรรมดังกล่าว หรือกำลังมีพฤติกรรมดังกล่าวอยู่ ให้รีบเบี่ยงเบนความสนใจของลูกโดยทันทีค่ะ แต่ต้องเป็นคำพูดที่อ่อนโยนละมุนละม่อมนะคะ
- ใจเย็น – สำหรับข้อนี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำให้ได้เลยละค่ะ สูดหายใจลึก ๆ อย่าได้ตะคอกหรือไปตีลูกนะคะ เพราะอาการดังกล่าวไม่ได้ช่วยทำให้ลูกหยุด แต่จะยิ่งทำให้ลูกแสดงอาการที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น
- ปล่อย – หากลูกมีพฤติกรรมนั้นอยู่ เช่น ร้องไห้ กรีดร้อง เตะขา ลงไปนอนดิ้นที่พื้นละก็ ให้คุณพ่อคุณแม่อดทนค่ะ ปล่อยให้เขาเป็นแบบนั้นสัก 1-2 นาที ให้ลูกได้รู้ว่า การกระทำดังกล่าว ไม่ได้ช่วยให้เขาได้ในสิ่งที่เขาต้องการ พอลูกเริ่มนิ่งมากขึ้น แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าไปกอดลูก แล้วค่อย ๆ ถามลูกว่า เกิดอะไรขึ้น พอลูกบอกก็ให้แนะนำลูกด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลว่า การทำแบบนี้ไม่น่ารัก และก็จะไม่ช่วยให้ลูกได้ในสิ่งที่ลูกต้องการนะจ้ะ และแม่ก็เชื่อว่า หนูก็คงไม่อยากให้ใครมองว่าหนูไม่น่ารักด้วยเช่นกันใช่ไหมละจ้ะ เพราะฉะนั้น คราวหน้าเราไม่ทำแบบนี้กันแล้วนะคะ มีอะไรให้ลองพยายามพูดกับคุณแม่ก่อน ถ้าคุณพ่อคุณแม่ช่วยได้ก็จะรีบช่วยเหลือแน่นอน เป็นต้น
- พาลูกออกมาข้างนอก – หากลูกร้องไห้โวยวายให้คุณพ่อคุณแม่นำพาลูกออกมาจากบริเวณนั้นก่อนค่ะ และค่อย ๆ พูดกับลูก ถามลูกว่าเกิดอะไรขึ้น ลูกก็จะค่อย ๆ บอกคุณพ่อคุณแม่เอง แต่ต้องไม่ตะคอกลูกโดยเด็ดขาดนะคะ เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงได้
- ตั้งกฎเกณฑ์ – ให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งกฎเกณฑ์ที่ไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าเคร่งมากจนเกินไปกันเองภายในบ้าน แต่ต้องให้เป็นตอนที่ลูกอารมณ์ดี ๆ เป็นปกตินะคะ พยายามแนะนำลูกไปในตัวว่า ต่อไปนี้เวลาที่ลูกไม่พอใจอะไร โกรธ หิว ร้อนหรือแม้แต่ง่วงนอน ลูกจะมาบอกแม่นะจ้ะ เราจะไม่มีการร้องกรี๊ดโวยวายอีกนะจ้ะ เพราะแม่ฟังไม่รู้เรื่อง (อาจจะพูดแนวติดตลกแบบนี้ไปบ้างก็ได้นะคะ ลูกจะได้ไม่เครียด)
อาการดังกล่าว สามารถเป็นและหายได้เอง เมื่อลูกก้าวเข้าสู่วัย 4 ปี ดังนั้น ในช่วงนี้สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ ทำความเข้าใจกับอารมณ์ของลูกก่อน หากรู้อยู่แล้วว่าลูกกำลังหิว เมื่อลูกเริ่มแสดงท่าทีจะกรี๊ดหรืออาละวาด ก็ให้ถามลูกด้วยน้ำเสียงดี ๆ ว่า ลูกกำลังหิวใช่ไหมจ้ะ หรือหากลูกง่วงนอนมาก ๆ ก็ให้ถามลูกเช่นกันค่ะว่า ลูกกำลังง่วงนอนใช่ไหมจ้ะ แบบนี้เป็นต้น เพราะการถามคำถามลูกเช่นนี้ จะเป็นการช่วยอธิบายและสอนลูกไปในตัวด้วยค่ะว่า ที่เขากำลังเป็นอยู่นั้นเขาเรียกกันว่าอย่างไรนั่นเอง
มาถึงตอนนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็พอจะทราบ วิธีรับมือลูกชอบกรี๊ด โวยวายอาละวาดกันแล้วใช่ไหมละคะ อย่าลืมนำไปลองปรับใช้กันดูนะคะ
อ้างอิง: แพทย์หญิงสินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่