AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เทคนิค “จับ-จด” เปลี่ยนชีวิต สร้างนิสัยรู้จักคิด หยุดวิกฤติลูกงอแงร้องซื้อของเล่นได้ผลชะงัด!

ลูกร้องซื้อของเล่น …เพราะเด็กๆ กับของเล่นเป็นของคู่กันเพราะงานหลักของเด็กคือการเล่นและการเล่นคือการเรียนรู้ …ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเล่น แต่ไม่อยากซื้อของเล่นให้ลูกจะทำอย่างไร? ไม่อยากให้ลูกฟุ่มเฟือยจะทำอย่างไร? และของเล่นลูกต้องเยอะแค่ไหนถึงจะพอ?

จริงอยู่ว่าสำหรับเด็กๆ แล้วการเล่นนั้นมีประโยชน์มากมาย เพราะจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กรอบด้านไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านร่างกายอารมณ์จิตใจสังคมภาษากระบวนการรู้คิดและทักษะสมอง EF แต่การเล่นก็อาจเสริมสร้างนิสัยที่ไม่เหมาะสมได้เช่นกันหากเรามองข้ามเรื่องการสอนวินัยกฎกติกาและมารยาทให้กับลูก

Good to know : การฝึกทักษะสมอง EF เพื่อสร้างนิสัยให้ลูกรู้จักคิด Executive Function (EF) คือ การทำงานของสมองด้านการจัดการ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในชีวิต โดยอาศัยกระบวนการทางปัญญา เช่น การยับยั้งความคิด การแก้ปัญหา การวางเป้าหมาย การวางแผนการปฏิบัติ การจดจำ ความยืดหยุ่นทางปัญญา เป็นความสามารถในการควบคุมความคิดตนเอง เช่น มีรูปแบบความคิดที่หลากหลาย การคิดนอกกรอบ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิดและความสนใจตามสถานการณ์ รวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งที่ซับซ้อน

โดยปกติ เวลาเด็กส่วนใหญ่เจอของเล่นก็อยากได้เป็นธรรมดา พฤติกรรมที่เด็กเรียกร้องแล้วร้องไห้ลงไปนอนดิ้นกับพื้นแล้วกรี๊ดก็พบเห็นได้บ่อย คำถามก็คือแล้วทำไมลูกของเราถึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ผู้เป็นพ่อแม่ต้องมองย้อนกลับมาดูว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่

ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่ที่มีลูกน้อยมีพฤติกรรมแบบนี้ มักเกิดคำถามว่าทำไมลูกเราถึงเป็นแบบนี้ และพยายามหาวิธีจัดการแก้ปัญหา หรือปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูกออกไปให้ได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนวิธีคิด จากที่ว่าจะจัดการพฤติกรรมของลูกอย่างไร มาเป็นการปรับพฤติกรรมของตัวเราเองกันก่อน ดังนี้

1. ตรวจสอบตัวเอง

พ่อแม่ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราเป็นพ่อแม่ที่มักจะตามใจลูกอยู่เสมอหรือไม่ ลูกอยากได้อะไรก็ไม่ค่อยขัด ถ้าใช่แล้วล่ะก็ต้องปรับตัวเองก่อนว่าจากนี้ไปจะไม่ตามใจลูกพร่ำเพรื่อ ควรจะมีขอบเขตบ้าง บางอย่างก็ต้องขัดใจบ้าง แต่เวลาขัดใจต้องอธิบายให้ลูกฟังด้วยว่าเพราะอะไร เช่น ของเล่นชนิดนี้หนูมีหลายชิ้นแล้ว หรือไม่ก็ต้องบอกว่าลูกมีของเล่นมากแล้ว เราลองเอาของเล่นที่มีอยู่มาปรับเปลี่ยนวิธีเล่น หรือพ่อแม่ก็สามารถร่วมเล่นกับลูกด้วย

♥ บทความแนะนำน่าอ่าน!“เล่นสมมติ” ดีต่อลูกเล็กครบทั้งกาย ใจ สมอง แถมสนุกไม่ธรรมดา!
♥ บทความแนะนำน่าอ่าน!การเลือกของเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก

อ่านต่อ >> “เทคนิคหยุดวิกฤติลูกงอแงร้องซื้อของเล่นได้ผลชะงัด” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

2. ต้องใจแข็ง

เวลาเจอเสียงร้องของลูก คนเป็นพ่อแม่มักทนไม่ได้ กลัวลูกไม่รักบ้าง กลัวลูกเสียใจ กลัวลูกไม่มีเหมือนคนอื่น กลัวลูกเสียงแหบ กลัวลูกจะกลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ ฯลฯ เรียกว่ามีเหตุให้กลัวมากมาย และนั่นก็นำไปสู่อาการใจอ่อนกับลูกทุกครั้งเมื่อลูกร้องไห้ แล้วจะไม่ให้ลูกจับทางพ่อแม่ถูกได้อย่างไร เด็กฉลาดกว่าที่เราคิด และมักใช้ความรักของพ่อแม่เป็นเครื่องมือต่อรองอยู่เสมอ ที่สำคัญมักสำเร็จด้วย เพราะเขารู้ว่าจะต้องทำแบบไหนเดี๋ยวพ่อหรือแม่ก็ใจอ่อนเอง

♥ บทความแนะนำน่าอ่าน!ลูกร้องอาละวาดในที่สาธารณะ แม่จะทำยังไงดี?

3. ตกลงกันก่อน

ทุกครั้งที่จะต้องเดินทางออกนอกบ้านไม่ว่าจะไปที่ไหนทั้งครอบครัว ควรจะพูดคุยกับเจ้าตัวน้อยของเราให้ชัดเจน เช่น เราจะไปห้างสรรพสินค้า จะไปเที่ยวทะเล ไปบ้านญาติ ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่ควรจะพูดคุยกับลูกก่อนที่จะไปในสถานที่นั้นๆ เช่นจะไปห้างสรรพสินค้า ก็ควรตกลงกันว่าจะไม่ซื้อของเล่น (อย่าคิดว่าเขาเล็กเกินไปนะคะ) เขารู้เรื่องค่ะ เพียงแต่แรกๆ หนูน้อยอาจจะอยากลองของกันบ้าง ก็บอกเขาว่าเราตกลงกันแล้วนะจ๊ะ ว่าแม่ไม่อนุญาตให้ซื้อของเล่น อย่าใช้อารมณ์ค่ะ พยายามพูดกับลูกดีๆ และต้องยืนยันคำพูดเดิมว่าเราตกลงกันไว้แล้วนะลูก พร้อมกับเตือนตัวเองในข้อสองด้วย

ข้อเท็จจริงที่สำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับการเล่นของลูก คือ การเล่นที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมพัฒนาการนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับของเล่น จำนวนของเล่นและ ราคาของเล่นแต่ขึ้นอยู่กับ กระบวนการเล่นให้เป็นไปตามวินัย กฎ กติกา และมารยาทในการเล่น

ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ต้องเป็นกังวลว่า ของเล่นจะต้องเยอะแค่ไหน ลูกถึงจะมีพัฒนาการที่ดี และการไม่ซื้อของเล่นก็ไม่ได้แปลว่า เราไม่รักไม่ส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูก!!!

ในทางตรงกันข้าม การไม่ซื้อของเล่น กลับใช้เป็นการส่งเสริมลักษณะนิสัยให้กับลูกน้อยได้เช่นกัน ซึ่งเทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก นั้นคือ “การหยุดคิดก่อนซื้อ” ด้วยเทคนิคการ “จับจด” ซึ่งมี 2 ขั้นตอนดังนี้ค่ะ

ขั้นตอนนี้คือการทำข้อตกลงกับลูกว่า วันพิเศษที่เราจะอนุญาตให้ลูกซื้อของได้ คือวันอะไรบ้าง เช่น วันสุดท้ายของการสอบ วันเกิด วันคริสต์มาส วันปีใหม่ เป็นต้น เมื่อตกลงได้แล้ว ให้เขียนวันพิเศษในกระดาษ หน้าละ 1 วัน และเหลือพื้นที่เอาไว้เขียนรายการชื่อของเล่นที่ลูกอยากได้

ขั้นตอนนี้ คือ ให้ลูกจดชื่อของเล่นที่อยากได้ลงในวันต่างๆ ซึ่งลูกจะต้องเลือกว่าของเล่นชิ้นไหน จะซื้อในวันไหน คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยกับลูกและให้เขาเลือกได้ว่า ของเล่นที่ไหนที่หนูอยากได้มากที่สุด และอยากได้เร็วที่สุด และหนูลองดูว่า วันพิเศษไหน ที่จะมาถึงก่อนเพื่อน หนูก็จับวันพิเศษนั้น มาจดชื่อของเล่นลงไป และเมื่อถึงวันพิเศษ คุณพ่อคุณแม่ก็ซื้อของเล่นชิ้นที่ลูกจดไว้ให้ลูก

อ่านต่อ >> “เทคนิคหยุดวิกฤติลูกงอแงร้องซื้อของเล่นได้ผลชะงัด” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

โดยคุณแม่สามารถช่วยลูกจับวันพิเศษและจดชื่อของเล่น ได้ดังนี้

วันสอบ
–  ตุ๊กตาหมี

–  รถไฟของเล่น

วันเกิด
–  บล็อกไม้

–  ตัวต่อเลโก้

วันคริสต์มาส
–  รถของเล่น

–  เครื่องบิน

วันปีใหม่
–  ลูกบอล

–  กลอง

หากว่าลูกยังเล็กคุณพ่อคุณแม่อาจเป็นคนจดรายการของเล่นให้ลูกหรือให้ลูกวาดรูปไว้ก็ได้ค่ะและเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกร้องอยากได้ของเล่นอีกบอกลูกไปเลยค่ะว่า “ได้เลย พ่อ/แม่อยากซื้อให้ หนูไปจับวันพิเศษ มาจดชื่อของเล่นไว้เลย วันไหนมาถึงก่อน พ่อ/แม่ซื้อให้เลย” รับรองว่านอกจากจะช่วยให้ลูกรู้จักหยุดคิดก่อนจะซื้อแล้ว ยังสามารถช่วยลดปัญหาการทะเลาะกับลูกเรื่องไม่ซื้อ ของเล่นให้ลูกหรือการร้องไห้ดิ้นกับพื้นเพราะอยากได้ของเล่นได้อีกด้วยค่ะ

4. ตักเตือนและเบี่ยงเบน

แม้คุณพ่อคุณแม่จะทำการบ้านมาดี แต่เวลาเด็กเห็นของเล่นแล้ว น้อยคนที่จะบังคับใจตัวเองไม่ให้อยากได้ มันเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจด้วย ไม่ใช่ดุว่าอย่างเดียวว่าตกลงกันแล้วไงว่าไม่ซื้อๆ หน้าตาขมึงเชียว เด็กก็คือเด็ก พ่อแม่ควรเตือนควบคู่ไปกับการปลอบใจว่า “เราตกลงกันแล้วนะลูกว่าจะไม่ซื้อของเล่นในคราวนี้ แม่ว่าเราลองไปดูหนังสือกันไหม” เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของลูกให้ไปสนใจในสิ่งอื่น หรือในสิ่งที่พ่อแม่อยากชักชวนให้ลูกเรียนรู้ร่วมกัน เพราะความสนใจของเด็กยังสั้นอยู่

5. เดินหนี

การเดินหนี ไม่การเดินหนีไปที่อื่น จริงอยู่ว่าโดยปกติเด็กจะจะร้องอยู่สักพัก แต่เมื่อแน่ใจว่าไม่ได้แน่ๆ เขาจะวิ่งไปหาพ่อแม่เอง แล้วเขาก็จะเรียนรู้ว่าทำวิธีนี้ก็ไม่ได้อยู่ดี ซึ่งส่วนใหญ่คนเป็นพ่อแม่มักจะไม่สามารถผ่านด่านลูกร้องไห้แล้วดิ้นไปได้ สุดท้ายก็เลยกลายเป็นปัญหาทางด้านพฤติกรรมของลูกต่อไป

วิธีการเดินหนีอยากจะให้เป็นหนทางสุดท้าย เพราะเป็นการทำร้ายจิตใจเด็กด้วย และแนวโน้มคนเป็นพ่อแม่ก็มักพลาดพลั้งเพราะทนไม่ได้ที่เห็นลูกร้อง หรือเพราะอายผู้คนก็ตาม ฉะนั้น ถ้ามีการเตรียมรับมืออย่างดีมาก่อนหน้านี้ ก็อาจไม่ต้องมีใครเสียน้ำตา และไม่ต้องมีใครมาเสียใจในภายหลังด้วย

◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊

นอกจากการซื้อของเล่นให้กับลูก คุณพ่อคุณแม่อาจประยุกต์ของเล่นของใช้อื่นที่มีอยู่แล้วในบ้าน มาเล่นให้ได้ประโยชน์เดียวกันทดแทนของเล่นชิ้นใหม่ได้ เช่น อาจนำตัวต่อมาเรียงต่อกัน ให้ลูกเอาไม้ตีแทนการเล่นระนาด หรือ ของใช้ประจำวันของคุณพ่อคุณแม่นำมาประยุกต์เป็นของเล่นให้ลูกเล่น ก็สร้างความตื่นเต้นเสริมสร้างพฤติกรรมเลียนแบบให้สนุกได้ง่ายๆ รวมทั้งการลงมือทำของเล่นด้วยตัวเอง นอกจากจะสร้างคุณค่าทางจิตใจที่ดีของลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจที่เห็นลูกเล่นสนุกตามไปด้วย

การเล่นและของเล่นของเด็กเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ เพราะจะเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่ซับซ้อนมากขึ้นในช่วงวัยต่อๆมา เด็กที่ขาดโอกาสในการเล่นอาจทำให้ประสบปัญหาการเรียนรู้และมีพัฒนาการล่าช้าได้ อย่างไรก็ดี ของเล่นที่ดีสุดของลูกก็คือคุณพ่อคุณแม่เอง ดังนั้นขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่จัดสรรเวลาเพื่อเล่นกับลูกให้มากขึ้นแทนการหาของเล่นเพิ่มขึ้น นอกจากจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการสมวัยได้อย่างแน่จริงแล้ว ยังเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆอีกด้วย 

ทั้งนี้หลายพฤติกรรมของลูกที่เป็นปัญหามากมาย ผู้ใหญ่มักสรุปว่าเป็นเพราะนิสัยใจคอของเด็ก ลูกชอบเอาแต่ใจ ลูกดื้อ ลูกไม่เชื่อฟัง หรือสอนแล้วไม่จำ แต่แท้จริงแล้วพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหลายอย่างของเด็ก ก็บ่งบอกและสะท้อนถึงการถูกเลี้ยงดูมาอย่างไรด้วย เพราะบางครั้งก็เกิดจากพฤติกรรมของคนเป็นพ่อแม่ค่ะ…

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณบทความโดย : ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร  อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์  สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว  มหาวิทยาลัยมหิดล