AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ ดูแลของเล่นชิ้นโปรด รักษาสมบัติส่วนตัว

สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ วิธีสอนลูกตั้งแต่ยังเล็กให้เป็นเด็กรักษาของ ให้ความสำคัญกับสมบัติส่วนตัว ดูแลของเล่น

อยากให้ลูกโตไปมีระเบียบ รักษาของส่วนตัวไม่ให้หาย พ่อแม่เริ่มได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ ดูแลของให้ดี ไม่วางทิ้งขว้าง

สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ โตไปรู้คุณค่าการเก็บรักษาสมบัติส่วนตัว

เรื่องระเบียบวินัย เป็นสิ่งที่พ่อแม่ค่อย ๆ สอนลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก นอกจากจะช่วยให้เจ้าตัวน้อยสามารถดูแลข้าวของให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้แล้ว การวางของเป็นที่เป็นทาง รู้จักรักษาสมบัติส่วนตัว ยังช่วยให้ของไม่หาย โดยเฉพาะเวลาที่ลูกต้องเข้าโรงเรียน

ฝึกลูกให้มีระเบียบวินัย สู่การเป็นคนรักษาข้าวของในอนาคต

อย่างแรกที่พ่อแม่สามารถฝึกให้ลูกเคยชินได้ คือการบ่มเพาะเรื่องระเบียบวินัยตั้งแต่ยังเล็กดังนี้

สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ

ฝึกลูกให้เป็นคนรักษาของ

ปัญหาสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่มักจะปวดหัว เมื่อลูกเริ่มไปโรงเรียนแล้วนั่นก็คือ ของหายทุกวัน ดินสอหาย ยางลบไม่อยู่ ของที่พกไปตอนเช้ากลับมาไม่ครบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ หากมีการฝึกการรักษาของและเก็บของให้เป็นระเบียบตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยลดปัญหาน่าหนักใจไปได้เยอะ แต่อย่าเพิ่งท้อใจ ถึงแม้ลูกเข้าโรงเรียนแล้ว ก็ยังสามารถปรับแก้พฤติกรรมให้เด็กรักษาสมบัติส่วนตัว ดูแลของตัวเองได้เช่นกัน เพียงแต่ในเด็กที่โตแล้วอาจต้องใช้เวลา ความอดทน ค่อย ๆ ฝึกฝนกันไป

พญ.วรรณพักตร์ วิวัฒนวงศา จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลเวชธานี แนะนำว่า เด็กในวัยอนุบาลหรือเด็กเล็ก ๆ ความคิดของเด็กยังคงห่วงเล่น สนุกกับเพื่อนจนลืมเวลา ลืมของใช้ส่วนตัวว่าไปเก็บไว้ไหน สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องมีหน้าที่ในการฝึกความรับผิดชอบของเจ้าตัวน้อย โดยเฉพาะวัย 3-5 ปี

3 อย่า เคล็ดลับฝึกให้ลูกรักษาของ ทำได้ดังนี้

  1. อย่าพกของไม่จำเป็นไปโรงเรียน คุณแม่ควรนำสิ่งของเครื่องใช้ให้ลูกไปโรงเรียนเท่าที่จำเป็น เด็กจะได้จำได้ง่าย ๆ ว่าพกอะไรไปโรงเรียนบ้าง พร้อมทั้งสอนลูกจัดของให้เป็นระเบียบ แม่อาจจะสอนว่า เวลาลูกเก็บของกลับบ้านต้องตรวจเช็คอะไรบ้าง เก็บไว้ตรงไหนดี เพื่อให้ง่ายต่อการหยิบใช้
  2. อย่าปล่อยของไว้ระเกะระกะ ของเล่นถ้าเล่นเสร็จต้องเก็บทันที ถ้าอยู่บ้านให้หมั่นฝึกเก็บของเล่น หากลูกอยู่ในวัยเข้าเรียนแล้ว ก็ค่อย ๆ สอนเรื่องการเก็บของเล่นให้เป็นที่ เริ่มแรกอาจช่วยลูกเก็บไปก่อน แต่พอลูกเริ่มโตขึ้น หยิบจับของเก่งขึ้นก็ค่อย ๆ ปล่อยให้ลูกเก็บของเล่นด้วยตัวเอง
  3. อย่าซื้อของใหม่ให้ทันที หากลูกมีนิสัยหลงลืม ทำของหายที่โรงเรียนเป็นประจำ แม้ว่าจะโตขึ้นแล้ว ก็ควรฝึกความรับผิดชอบในการดูแลสมบัติของลูก ด้วยการหักเงินค่าขนมเพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกเคยชินว่า ทำของหาย ก็ไม่เห็นเป็นอะไร วิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกหวงแหนและดูแลสิ่งที่เป็นของตัวเอง

ก่อนลูกไปโรงเรียนทุกวัน ควรคุยกับลูกว่า นำอุปกรณ์เครื่องเขียนอะไรไปโรงเรียนบ้าง อาจเก็บกระเป๋าในตอนกลางคืนพร้อมกันกับลูกแล้วบอกด้วยว่าเอาอะไรไว้ตรงไหน เช่น ในกล่องดินสอ คุณแม่ใส่ดินสอ ใส่ยางลบ ใส่ไม้บรรทัด เก็บไว้แบบนี้นะคะ เพื่อฝึกให้ลูกสังเกตว่า ของที่นำไปโรงเรียนมีอะไรบ้าง แม่เก็บไว้ที่ไหน เมื่อลูกกลับบ้าน ก็มาตรวจดูว่า ของที่นำไปโรงเรียนนั้นลูกเอากลับมาครบหรือไม่ เพื่อฝึกให้ลูกตรวจสอบความเรียบร้อยทุกครั้ง ในกรณีที่ลูกเอาของกลับมาไม่ครบ ให้พูดคุยกับคุณครูเพื่อถามหาของสิ่งนั้น แต่หากลูกหยิบของเพื่อนกลับบ้านก็บอกให้ลูกนำไปคืนเพื่อนที่โรงเรียนในวันถัดไป สอนลูกไปด้วยได้ว่า สิ่งที่เป็นของคนอื่นก็ควรนำกลับไปคืน เพราะเวลาของเราหายเราก็อยากได้คืนเช่นกัน

สอนลูกให้เป็นคนรักษาของ

ลูกทำของหายบ่อย ๆ พ่อแม่ต้องใส่ใจ

การทำของหายในโรงเรียน ของกลับมาไม่ครบ ถ้าเกิดขึ้นเป็นประจำ ต้องคอยสังเกตและหมั่นสอบถามลูกว่า ทำไมเก็บของมาไม่ครบ พร้อมสังเกตอาการของลูกด้วยว่า มีปัญหาอะไรที่โรงเรียนหรือไม่ เช่น โดนเพื่อนแกล้ง หรือถูกเพื่อนขโมยไป ถ้าหายบ่อยจนผิดสังเกต ร่วมกับลูกมีพฤติกรรมที่ไม่กล้าบอกบางอย่าง คุณพ่อคุณแม่อาจสอบถามคุณครูโดยตรงให้ช่วยกันเฝ้าสังเกตและหาวิธีป้องกัน

หากลูกไม่รักษาของ ของหายเป็นประจำ แม้จะแก้ไขพฤติกรรมหรือสอนลูกแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะเด็กอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ต้องระวัง อาทิ สมาธิสั้นหรือสมองบกพร่อง เมื่อพบพฤติกรรมที่ผิดสังเกต อย่ารีรอที่จะพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป

อ้างอิงข้อมูล : thaihealth และ mgronline.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

13 ทักษะที่ลูกควรมีก่อนเข้า โรงเรียนอนุบาล

ลูกถนัดซ้าย เปลี่ยนได้ไหม หรือปล่อยให้ลูกใช้เหมือนเดิม

ของเล่น เสริมIQ EQลูกน้อย..ใครว่าอัจฉริยะสร้างไม่ได้!