อาบน้ำต้มใบมะขาม …ในสมัยก่อน การดูแลเด็ก จะใช้วิธีการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่สมัยคุณย่าคุณยาย ลองผิดลองถูกและสืบทอดกันมา โดยเฉพาะเวลาที่ทารกป่วย ปู่ย่าตายายมักใช้สูตรโบราณด้วยสมุนไพรต่างๆ ในการรักษาอาการเจ็บป่วยของทารก
สูตรโบราณ ให้ลูกน้อย อาบน้ำต้มใบมะขาม + หัวหอม
แก้หวัดได้
เพราะสมัยก่อนยังไม่มีวิทยาการแพทย์ที่ก้าวหน้าเท่าไหร่ การเลี้ยงดูทารกเมื่อยามเจ็บป่วยจึงต้องพึ่งสมุนไพร เพื่อช่วยบรรเทาอาการไม่สบายให้เด็กและใช้ได้ผลจริง เพียงแต่ปัจจุบันเมื่อมียาทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาแทนที่ทำให้อาจหลงลืมไปบ้าง Amarin Baby & Kids จึงมีวิธีดูแลลูกน้อยแบบเก่า ๆ แต่นำมาประยุกต์ใช้ใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยได้เป็นอย่างดีมาฝาก
ซึ่งเคล็ดลับนี้เป็นเคล็ดลับที่แม่ๆ หลายคนพูดกันปากต่อปากและนำมาลองใช้กับลูกๆ หลานๆ จนได้ผล แล้วมาบอกต่อกัน นั่นคือ ต้มน้ำใบมะขาม และหัวหอมแก้หวัด
เนื่องจากในสมัยก่อนเมื่อเด็กมีอาการไม่สบาย ป่วยเป็นไข้หวัด ตามอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คนสมัยก่อนมักจะใช้ใบมะขามอ่อน หอมแดงเผา ตะไคร้ หรือ ใบมะกรูด มาผสมกับน้ำอุ่นให้เด็กอาบ เมื่อเด็กได้กลิ่นระเหยของสมุนไพรต่างๆ ก็จะช่วยให้สุขภาพของเด็กโดยเฉพาะทางเดินหายใจ ปอด ก็จะดีขึ้น ทั้งยังช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคหวัดและหืดหอบได้อีกด้วย ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า อาบน้ำจับหวัด
♥ บทความแนะนำน่าอ่าน : อาหารแก้หวัด 13 ชนิด! เพิ่มภูมิต้านทานให้กับลูกน้อย
♥ บทความแนะนำน่าอ่าน : ลูกเป็นหวัด มีน้ำมูก 5 วิธีรักษาแบบไม่ต้องพึ่งยา
ทั้งนี้ในโลกโซเชียลก็มีคุณแม่ท่านหนึ่งโดยใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า ญิ๋งป้อม ญิ๋งป้อม ได้ออกมาโพสต์ภาพลูกสาวตัวน้อยวัย 1 เดือนกว่า ซึ่งกำลังอาบน้ำต้มใบมะขาม ที่คุณยายทำให้ เรียกได้ว่าเป็นสูตรโบราณขนานแท้ โดยสร้างกระแสและเป็นที่น่าสนใจกับคุณแม่ๆ ท่านอื่นได้เป็นอย่างมาก โดยมีสูตร คือ
สูตรสำหรับให้ลูก อาบน้ำต้มใบมะขาม + หัวหอม แก้หวัด
นำหัวหอมแดงทุบ 3-4 หัว ใบมะขามก็ต้องเป็นมะขามที่นำมาแกงได้เท่านั้น ใส่น้ำพอประมาน แล้วต้มรวมกัน จนเดือด หรือจนสีของใบมะขามออก จากนั้นก็รอให้อุ่นๆ แล้วผสมกับน้ำเย็นในอ่างอาบน้ำ และนำน้องมาอาบแช่ในน้ำได้เลย หรือจะเอาใบมะขามปิดกระหม่อมช่วงที่อาบน้ำ ก็สามารถช่วยได้ ซึ่งหลังจากแช่น้ำต้มใบมะขามเสร็จควรล้างน้ำเปล่าให้ลูกน้อยอีกครั้งด้วยนะคะ
ทั้งนี้ยังไม่มีการยืนยันทางการแพทย์ว่าสูตรนี้มีผลอะไรกับทารก ดังนั้นการใช้วิธีนี้จึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของพ่อแม่ และควรให้ความระมัดระวังลูกน้อยด้วยนะคะ
อ่านต่อ >> “ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรกับลูกน้อย” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : น้องพิม ลูกคุณแม่ ญิ๋งป้อม ญิ๋งป้อม
คำแนะนำก่อนใช้สมุนไพรกับลูก
1.ใช้ให้ถูกต้น สมุนไพรแต่ละชนิดมีชื่อพ้องหรือซ้ำกัน บางท้องถิ่นก็เรียกไม่เหมือนกัน คุณแม่ควรทำความรู้จักกับสมุนไพรแต่ละชนิดให้ถูกต้อง สังเกตลักษณะเฉพาะ และใช้ให้ถูกต้น
2.ใช้ให้ถูกส่วน แต่ละส่วนของสมุนไพรไม่ว่าจะเป็น ราก ใบ ดอกเปลือก ฯลฯ มีฤทธิ์ไม่เท่ากัน บางครั้งผลแก่ ผลอ่อนยังให้ฤทธิ์ต่างกัน คุณแม่จำเป็นต้องรู้ว่าส่วนใดใช้เป็นยาได้หรือไม่ได้
3.ใช้ให้ถูกขนาด อย่าใช้ปริมาณมากหรือน้อยเกินกว่าที่ตำราแนะนำไว้ สมุนไพรบางชนิดใช้น้อยไปก็ไม่เกิดผล มากไปก็เป็นอันตราย
4.ใช้ให้ถูกวิธี สมุนไพรบางชนิดต้องใช้สด บางชนิดต้องต้ม คุณแม่ต้องใช้ให้ถูกวิธีอย่างเคร่งครัด เพราะถ้าใช้ผิดวิธีสมุนไพรบางตัวก็ออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ หรืออาจมีผลข้างเคียงได้
5.ใช้ให้ถูกกับโรค คุณแม่ต้องศึกษาให้ดี เพราะโรคบางโรคไม่ถูกกับยาบางตัว ใช้ผิดอาจทำให้อาการกำเริบหนักมากขึ้นไปอีก
6.ใช้ให้ถูกกับวัย มูลนิธิสุขภาพไทยให้การยอมรับว่าสมุนไพรสามารถใช้กับเด็กได้ทุกวัยโดยไม่เกิดผลข้างเคียง โดยเฉพาะการใช้กับผิวหนัง แต่ถ้ากังวลว่าลูกน้อยจะแพ้ คุณแม่สามารถทดสอบได้โดยลองแตะ ๆ สมุนไพรเล็กน้อยบริเวณท้องแขนของเด็ก และทิ้งไว้สักประมาณ 15 นาที ถ้าไม่มีปฏิกิริยาว่าแพ้ก็สามารถใช้ต่อได้ ส่วนสมุนไพรที่ต้องมีการรับประทานแนะนำให้อยู่ในช่วงวัยที่เริ่มหม่ำ ๆ อาหารเสริมแล้ว
รวมสรรพคุณสมุนไพร ในน้ำต้มแก้หวัด
- ใบมะขาม : เป็นยาถ่าย ยาระบาย ขับลมในลำไส้ แก้ไอ แก้บิด รักษาหวัด ขับเสมหะ หยอดตารักษาเยื่อตาอักเสบ แก้ตามัว ฟอกโลหิต ขับเหงื่อ อีกทั้งยังสามารถเอามาต้มผสมกับสมุนไพรอื่นๆ อาบหลังคลอดช่วยให้สะอาดขึ้น
ใบมะขามแก่ : รสเปรี้ยวฝาด สรรพคุณ ขับ (ล้าง) เสมหะในลำไส้ แก้บิด แก้ไอ ใบมะขามต้มรวมกับหัวหอมแดง 2 – 3 หัว โกรกศีรษะเด็กในเวลาเช้ามืดแก้หวัดคัดจมูกได้
ทั้งนี้สำหรับตัวเนื้อมะขามแก่ ก็ยังสามารถใช้ “น้ำมะขามเปียก” เป็นยาล้างเลือดที่ตกค้างภายในของคุณแม่หลังคลอดใหม่ ๆ หลังจากรกออกแล้ว โดยใช้มะขามเปียก คั้นเป็นน้ำข้น ๆ ผสมเกลือเล็กน้อย แล้วรับประทาน 1 ชามใหญ่
- หอมแดง : สรรพคุณทางยาใบใช้แก้หวัดและเลือดกำเดาออก หัวหอมแก้ไข้มีเสมหะ ขับลม แก้ท้องอืดแน่น ช่วยย่อยอาหารทำให้เจริญอาหาร แก้บวมน้ำ ฆ่าพยาธิ แก้อาการอักเสบ หากใช้ในปริมาณน้อย บำรุงผมให้งอกงาม ทำให้ผิวหนังสดชื่น แก้ไข้ ถูทาผิวหนังทำให้ร้อน ขับเสมหะ แก้โรคในปาก บำรุงธาตุ แก้หวัดคัดจมูก
วิธีใช้หัวหอม สำหรับแก้หวัดคัดจมูก ให้ตั้งหม้อน้ำบนเตาไฟ ทุบหัวหอมแดงหลายๆ หัวลงไป พอมีไอร้อนเกิดขึ้น เอาหน้า (คนที่ป่วย) เข้าไปอังสูดดมไอนั้น เพื่อบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก หรือใช้หัวเล็กปอกเปลือกทุบพอแตก ห่อผ้าบางๆ วางไว้ตรงหัวนอน เพื่อให้กลิ่นหัวหอมเข้าจมูก ช่วยทำให้จมูกโล่ง บรรเทาหวัด
ส่วนหัว ใช้ผสมกับหัวเปาะหอม ว่านน้ำ ดินประสิว ใช้สุมหัวเด็กเล็กแก้หวัดคัดจมูก หายใจไม่สะดวก ขับลมในลำไส้ หรือหัวหอมอย่างเดียวใช้ดับพิษแมลงกัดต่อย
ทั้งยังสามารถแก้หอบหืด ไอเรื้อรัง ใช้หัวหอมขนาดประมาณหัวแม่มือ ใส่ขิงและกระเทียม ผสมน้ำ 1 แก้ว แล้วปั่นกรองเอาแต่น้ำใส่น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ บีบมะนาว 2-3 ลูก ดื่มวันละ 1 แก้ว หลังแปรงฝันเสร็จ อาการหอบหืดจะค่อยๆ ดีขึ้น
♥ บทความแนะนำน่าอ่าน : ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก แต่ละยี่ห้อแตกต่างกันอย่างไร พ่อแม่ควรรู้!
♥ บทความแนะนำน่าอ่าน : ยาแก้ไอ สําหรับทารก เลือกแบบไหน อย่างไรให้ลูกดี?
อ่านต่อ >> “รวมสมุนไพรสำหรับเด็กใช้รักษาโรคอื่นๆ” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ทั้งนี้เพื่อช่วยสืบทอดยาสมุนไพรจากรุ่นปู่ย่าตายาย ที่ได้ช่วยบรรเทาอาการไม่สบายให้เด็กมาอย่างยาวนานและใช้ได้ผลจริง รวมสมุนไพรสำหรับเด็กใช้รักษาโรคอื่นๆ
ยามหาหิงคุ์
สมุนไพรสำหรับเด็กนี้ใช้ได้ทั้งยาภายในและภายนอก ทำมาจากต้นมาหิงคุ์ โดยคนโบราณสมัยก่อนจะเอาก้อนมหาหิงคุ์มาผูกไว้กับข้อมือเด็ก เพื่อให้กลิ่นหรือหลักการแบบอโรม่าเทอราปี ช่วยบำบัดอาการท้องอืดเฟ้อในเด็กอ่อน หรือไม่ก็นำมหาหิงคุ์มาฝนกับสุรา นำน้ำยามาทาท้องเด็กแก้ท้องอืดเช่นกัน
ซึ่งในปัจจุบันมีการผลิตที่ก้าวหน้าก็ทำการสกัดมหาหิงคุ์ในรูป ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ ซึ่งเป็นยาน้ำ ให้คุณแม่ลูกอ่อนพกติดตัวไว้เพื่อนำไปทาบริเวณท้อง ฝ่ามือฝ่าเท้า และแผ่นหลัง ของลูกน้อย ช่วยแก้อาการท้องอืดเฟ้อ ได้ผลดีเลยทีเดียว
♥ บทความแนะนำน่าอ่าน : แก้ปัญหาลูกน้อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง เลือกยาตัวไหนให้ลูกดี?
ดอกกานพลูแห้ง
มีสูตรช่วยแก้ท้องอืด โดยนำดอกกานพลูแห้ง 1-2 ดอก แช่ในน้ำสะอาด 1 ขวดน้ำปลาหรือประมาณ 1 ลิตร น้ำที่แช่ดอกกานพลูนี้ให้นำมาใช้ในการชงนมให้เด็กกิน ตัวยาอ่อนๆ ของกานพลูที่ละลายในน้ำจะช่วยแก้ท้องอืดได้
ใบพลู
ใบพลูสำหรับกินกับหมาก ใช้ 4-5 ใบ เอามาอังไฟหรือลนกับเทียนก็ได้ ให้ใบพลูอ่อนและพออุ่นๆ ให้นำไปวางบนท้องเด็กซ้อนกันหลายชั้น พอใบพลูเย็นก็ให้เปลี่ยนใบพลูใบใหม่ไปอังไฟแล้ววางไว้ ทำซ้ำหลายครั้ง สัก 15-30 นาที จะมีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อได้เช่นกัน และการที่เอายาทาที่ท้อง (เว้นตรงสะดือ) หรือเอาใบพลูอุ่นๆ ปิดไว้นั้น ตัวยาสามารถซึมผ่านผิวบางๆ ของเด็กได้
ส่วนอีกสูตรคือ ใช้ทำเป็นยาแก้ท้องผูกและท้องเสีย สำหรับเด็กทารกที่ยังกินนมแม่โดยปกติก็ถ่ายท้องประจำ แต่พอเริ่มพ้น 6 เดือน อาจเริ่มกินนมผง และอาหารอ่อนได้บ้างแล้ว ถ้าคุณแม่สังเกตว่าลูกไม่ค่อยได้ถ่าย แนะนำให้ทานอาหารที่มีกากใยอาหารตามธรรมชาติ อย่างกล้วยน้ำว้า โดยให้เลือกขูดเนื้อกล้วยน้ำว้าที่สุกงอม อย่ากินกล้วยที่ยังห่ามและดิบเด็ดขาดเพราะจะทำให้ย่อยยาก
กล้วย
กล้วยหักมุกเผา จะทำให้โปรตีนในกล้วยถูกย่อยให้กินง่าย เด็กๆ กินแล้วไม่ทำให้ท้องอืด กินแล้วเป็นอาหารเสริมที่ดีมาก และช่วยเพิ่มการขับถ่าย ให้กินครั้งละ 1 ลูก วันละ 2 ครั้ง รวมทั้งการฝึกนิสัยให้เด็กกินกล้วยน้ำว้าเป็นประจำ นอกจากจะได้สารอาหารที่ดีแล้ว กล้วยยังช่วยรักษาระบบการขับถ่ายให้เป็นปกติด้วย
ต้นทับทิม
หากลูกน้อยมีอาการท้องเสียนั้น ถ้าลูกมีอาการซึมกินอาหารไม่ได้ ร่วมกับมีไข้ ควรรีบพาส่งโรงพยาบาล แต่ถ้าลูกน้อยถ่ายเหลวหรือท้องเสียไม่มาก ยังยิ้มร่าเริง กินอาหารได้ปกติ ให้นำยอดอ่อนต้นทับทิมมาสัก 1 กำมือล้างน้ำให้สะอาด ใส่น้ำลงไปสัก 3-4 แก้ว ต้มเดือดนานครึ่งชั่วโมง ให้ลูกกินครั้งละ 1-2 ถ้วยชา กินทุกๆ 2-4 ชั่วโมง แต่ถ้าผ่านไป 1 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์
ข้อควรระวังกับการใช้สมุนไพรในเด็ก
- มีไข้สูง ตัวร้อนจัด ตาแดง ซึม ลักษณะนี้อาจเป็นอาการไข้หวัดใหญ่
- มีไข้สูง ตัวเหลือง อ่อนเพลียมาก หรือเจ็บแถวชายโครง ลักษณะนี้อาจเป็นโรคตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ
- มีไข้สูง ไอมาก หายใจมีเสียงผิดปกติ คล้ายอะไรติดคอ เด็กบางรายอาจมีอาการหน้าเขียว เป็นเช่นนี้ควรรีบพาลูกพบแพทย์เพราะอาจมีอาการของโรคคอตีบ
อย่างไรก็ดี แม้การให้ลูกน้อย อาบน้ำต้มใบมะขาม จะช่วยแก้หวัดได้แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงของร่างกายด้วยนะคะ เพราะเด็กบางคนอาจมีผื่นแพ้จากสมุนไพรต่างๆ หากมีอาการผิดปกติควรมีพาไปหาหมอทันที รวมไปถึงการเลือกใช้วิธีรักษาลูกกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ ด้วยสมุนไพรตามสูตรโบราณ ซึ่งบางอาการเจ็บป่วย ก็ไม่สามารถใช้พืชผักสมุนไพรในครัวช่วยแก้อาการเบื้องต้นให้ลูกได้ โดยคุณแม่ต้องสังเกตให้ดี ๆ หากเข้าข่ายอาการเหล่านี้ ควรรีบทิ้งสมุนไพรแล้วพาลูกไปหาคุณหมอด่วนนะคะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- สีของน้ำมูก สามารถบอกสุขภาพของลูกได้
- รวมผลิตภัณฑ์ ยาพ่น และ น้ำเกลือล้างจมูก เลือกแบบไหนดี!
- ลูกเป็นไข้หวัด ไม่รับประทานยา จะหายได้หรือไม่?
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับเรื่องที่คุณพ่อ คุณแม่ควรรู้
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.facebook.com/folkdoctorthailand , www.facebook.com/FoodandHealthforyou , www.thaihealth.or.th