AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อากาศร้อน แม่ท้อง และ เด็กเล็ก ต้องดูแลตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัย

Credit Photo : Shutterstock

เมื่อบ้านเราเข้าสู่หน้าร้อน คนปกติที่แข็งแรงดีก็ยังมีที่ล้มป่วยกันได้ ยิ่งสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์กับเด็กเล็กนั้น ยิ่งต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลให้ดีกว่าปกติ อากาศร้อน แม่ท้อง และ เด็กเล็ก ต้องดูแลตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัย

อากาศร้อน แม่ท้อง ต้องระวังอะไรบ้าง

เริ่มต้นกันที่คุณแม่ตั้งครรภ์ นอกจากอาการแพ้ท้องที่ต้องรับมือแล้ว อาการหลักๆ ที่ต้องพึงระวังในช่วงหน้าร้อนมีดังนี้

1. โรคลมแดด (Heat Stroke)

ช่วงหลังๆ ประเทศต้องเผชิญกับผลจากภาวะโลกร้อน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงขึ้น อาการที่เริ่มพบเห็นกันได้บ่อยก็คือ โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก ซึ่งจะเกิดเมื่อร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ
อาการคือ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ความดันต่ำ ฯลฯ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาการจะหนักขึ้น จนกลายเป็นเพ้อ, ชัก, ไตล้มเหลว, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ช็อค และเกิดลิ่มเลือดอุดตันจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ป้องกัน + รักษา อย่างไร?

1. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจ้าในวันที่อากาศร้อนจัด

2. ดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้าน หากต้องอยู่ในที่ที่อากาศร้อนเป็นเวลานานควรจิบน้ำบ่อยๆ แม้จะไม่รู้สึกกระหาย

3. ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น เสื้อผ้ารูปทรงโปร่งๆ ที่ทำจากผ้าฝ้าย

4. หากมีอาการผิดปกที่เป็นสัญญาณของโรคลมแดด…ควรรีบเข้าที่ร่ม นอนราบ และยกเท้าสูง คลายเสื้อผ้าให้หลวม แล้วใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามศีรษะ, ซอกคอ, รักแร้ หากมีอาการรุนแรง ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล

อ่านต่อ อากาศร้อน คนท้องต้องระวังอะไรบ้าง คลิกหน้า 2

2 ภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydration)

ภาวะร่างกายขาดน้ำเกิดพร้อมๆ กับโรคลมแดด เนื่องจากเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ร่างกายจะขับเหงื่อออกมามากกว่าปกติ ส่งผลให้ปริมาณของเหลวในร่างกายลดลง ทำให้เลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น ภาวะนี้อาจกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอ็อกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้

อาการคือ เวียนศีรษะ, คลื่นไส้อาเจียน, เป็นลม, มีภาวะระบายลมหายใจเกิน (Hyperventilation) หรือหายใจติดขัด, กล้ามเนื้อหดตัวหรือเป็นตะคริว, ปริมาณของเหลวที่ออกจากร่างกาย เช่น เหงื่อ และปัสสาวะดลง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นโดยไม่มีสัญญาณของอาการเจ็บป่วยอื่นๆ

 

Credit Photo : Shutterstock

 

ป้องกัน + รักษา อย่างไร?

1. หลีกเลี่ยงการออกแดดจ้าหรืออยู่ในที่ที่อากาศร้อน

2. ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ

3. ลดปริมาณคาเฟอีน งดดื่มชา, กาแฟ หรือน้ำอัดลม

4. หากมีอาการผิดปกติ…รับมือเช่นเดียวกับโรคลมแดด แต่ควรดื่มน้ำหรืออมน้ำแข็งเพื่อเพิ่มของเหลวในร่างกายด้วย

5. หากเข้าที่ร่มและพักผ่อนแล้วอาการยังคงอยู่…หรือมีอาการต่อไปนี้ ได้แก่ กล้ามเนื้อช่องท้องหดรัดตัวหรือเป็นตะคริวมากกว่า 5-6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง, มีเลือดออกทางช่องคลอด, มีอาการบวมตามใบหน้าและมือ หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์

อ่านต่อ อากาศร้อน เด็กเล็ก ต้องระวังอะไรบ้าง คลิกหน้า 3

อากาศร้อน เด็กเล็ก ต้องระวังอะไรบ้าง

สำหรับเด็กเล็กนั้น เนื่องจากยังอยู่ในวัยที่สื่อสารเป็นคำพูดไม่ได้ หรือหากพูดได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ละเอียดนัก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องหมั่นคอยสังเกตอาการของลูก โดยมีข้อควรระวังและข้อปฏิบัติอยู่หลายประการดังนี้

1. เบบี๋ท้าแดดได้แค่ไหน

ลูกน้อยอายุต่ำกว่า 6 เดือนไม่ควรสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง เวลาพาเขาออกนอกบ้านควรแต่งตัวให้ด้วยเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว แต่เนื้อผ้าเบาสบาย ระบายอากาศได้ดี มีร่ม หรือผ้าคลุมบังแดดทุกครั้ง และสำหรับลูกน้อยอายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถสนุกกับกิจกรรมกลางแจ้งที่มีแสงแดดอ่อนๆได้ระยะเวลาสั้นๆ ก่อนพาเขาออกแดด ควรปกป้องผิวลูกด้วยครีมกันแดดสำหรับเด็กที่มีค่า SPF 15-30 ด้วยค่ะ

Credit Photo : Shutterstock

 

2 เบบี้ไม่กินน้ำได้นานแค่ไหน

การขาดน้ำของเด็กๆ ในช่วงหน้าร้อน เป็นเรื่องต้องระวัง พ่อแม่อาจคิดว่าควรให้ลูกกินน้ำมากๆ แต่สำหรับเบบี๋ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายค่ะ เพราะลูกเล็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนที่ยังกินนมแม่อยู่นั้นผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าใช้วิธีให้นมลูกถี่ขึ้นเพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปจากสภาพอากาศร้อนได้ค่ะ ส่วนเบบี๋ที่กินอาหารตามวัยนอกจากนมแม่ได้แล้ว การให้เขาจิบน้ำเปล่าบ่อยๆ หรือกินผักผลไม้ที่ฉ่ำน้ำ อย่าง แตงโม แตงกวา ลูกพีช สาลี่ หรือส้ม ก็ช่วยได้ค่ะ

3 ผดผื่นของคู่เบบี๋ยามหน้าร้อน

เพราะเหงื่อที่เกิดขึ้นจากการระบายความร้อนของร่างกายส่งผลให้รูขุมขนเล็กๆ ของลูกน้อยอุดตัน โดยเฉพาะบริเวณผิวที่บอบบางเป็นพิเศษ ได้แก่ หน้าผาก หน้าอก คอ ข้อพับ ก้น และส่วนที่เสียดสีกับเสื้อผ้าบ่อยๆ วิธีป้องกันไม่ให้ผดผื่นมากวนเบบี๋ได้ดีคือ อาบน้ำให้เขาบ่อยขึ้น อาจไม่ต้องใช้สบู่ทุกครั้งเพราะยิ่งทำให้ผิวแห้ง เกิดการอักเสบได้ง่าย เลือกเสื้อผ้าเนื้อบางเบาหรือเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าฝ้าย 100% เพราะจะช่วยดูดซับเหงื่อและความชื้นได้ดี ถ้าอยู่ในบ้านควรเปิดพัดลมห่างๆ เพื่อระบายความร้อนหรือจัดที่นั่งที่นอนลูกให้อยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวก ช่วยลดการเกิดผดผื่นได้

อ่านต่อ อากาศร้อน เด็กเล็ก ต้องระวังอะไรบ้าง คลิกหน้า 4

Credit Photo : shutterstock

 

4 เล่นน้ำหน้าร้อนแบบปลอดภัย

เชื่อว่าหลายๆ บ้านคงวางแผนพาลูกๆ ไปคลายร้อนด้วยการเล่นน้ำในที่ต่างๆ หรือไม่ก็ที่บ้านแน่นอน ดังนั้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่าคิดว่าในบ้านตัวเองจะเป็นอันตราย โดยเฉพาะเวลาเบบี๋อยู่ในน้ำ ไม่ว่าน้ำจะตื้นมากแค่ไหน ก็ต้องอยู่กับลูกตลอดเวลา ห้ามทิ้งลูกไว้ในน้ำคนเดียวเด็ดขาด เพราะเพียงแค่คิดว่าเข้าไปหยิบของเดี๋ยวเดียวหรือหันไปคุยโทรศัพท์แป๊บเดียว ก็เป็นสาเหตุให้ทารกเสียชีวิตเพราะจมน้ำมาแล้ว

5 ระวังอาการจู๊ด จู๊ด มาเคาะประตูหา

ในช่วงหน้าร้อนเชื้อโรคบางชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงจะเจริญเติบโตได้ดี ถ้าเจ้าเชื้อโรคไปปนเปื้อนอยู่ในนมหรืออาหารของลูกน้อย จะทำให้ลูกเกิดอาการท้องเสียได้ค่ะ ดังนั้น ควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด ถ้าเขาถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งหรือถ่ายมีมูกเลือดด้วย เป็นอาการที่ผิดปกติ ต้องรีบไปพบคุณหมอ เพื่อความปลอดภัยจึงควรใส่ใจเรื่องความสะอาดทั้งอาหารและภาชนะต่างๆ เพราะเบบี๋เป็นวัยเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยการหยิบเข้าปาก ที่ลืมไม่ได้ คุณแม่และคนใกล้ชิดลูกน้อยต้องหมั่นล้างมือค่ะ

6 ความร้อนในรถยนต์

หากจำเป็นต้องพาเบบี๋นั่งรถยนต์ไปด้วย ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ห้ามทิ้งลูกไว้ในรถยนต์ตามลำพังเด็ดขาด เพราะความร้อนภายในรถจะสูงขึ้นจนทำให้ร่างกายทนไม่ไหว ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้เชี่ยวชาญได้ย้ำว่าแม้การจอดรถในที่ร่มหรือเปิดกระจกทิ้งไว้ก็ไม่ได้ช่วยให้อุณหภูมิในรถไม่สูงขึ้น

 

ช่วงหน้าร้อนการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน แต่กับแม่ท้อง และเด็กเล็ก อาจต้องให้ความใส่ใจมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะทั้งคนท้อง และเด็กเล็กๆ สามารถเกิดอันตรายทางสุขภาพจากอากาศร้อนได้ง่าย ฉะนั้นเมื่อรู้ว่าอะไรที่จะสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพขอให้งดเว้น หลีกเลี่ยงอย่าไปเข้าใกล้กันนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

ผิวลูกไหม้แดด ช่วงหน้าร้อน ดูแลอย่างไรดี?
โรคท้องร่วง ช่วงหน้าร้อน เด็กเล็กควรระวัง!
เด็กจมน้ำ ช่วงปิดเทอมหน้าร้อน เรื่องใกล้ตัวที่พ่อแม่ต้องระวัง