การเลี้ยงลูกตามหลักพุทธศาสนานั้น ต้องเริ่ม ต้นที่พ่อแม่ คือพ่อแม่ต้องทำตัวเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ลูก เราอยากได้ลูกที่มีคุณธรรมสูง มีความกตัญญูกตเวที พ่อแม่ก็ต้องฝึกฝนตนเองให้มีคุณธรรมเหล่านั้นด้วยและทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง บุญในตัวของพ่อแม่จะดึงดูดให้ได้ลูกแก้วลูกผู้มีบุญที่เป็นยอดกตัญญู
ตามหลักมงคลที่ ๑๒ ปุตฺตสงฺคโห “สงเคราะห์บุตร” หนึ่งในมงคลชีวิต ๓๘ ประการ
“ต้นไม้ถ้าลูกมันรสไม่ดี ก็มีแต่คนจะโค่นต้นทิ้ง ไม่มีใครคิดจะบำรุงรักษาไว้ ตรงข้ามถ้าลูกมันรสดี ทั้งหวานทั้งมัน เจ้าของก็อยากใส่ปุ๋ย พรวนดินรดน้ำทะนุถนอมให้คงต้นอยู่นาน ๆ ต้นไม้ผลจะคงต้นอายุยืนได้รับการบำรุงรักษาดีเพียงไร จึงขึ้นอยู่กับลูกของมัน”
คนเราก็เช่นกัน ถ้าลูกทำดี คนทั้งหลายก็ชมมาถึงพ่อแม่ว่าเลี้ยงลูกดีความสุขกายสบายใจก็ติดตามเพราะลูก ความดีบุญกุศลก็ไหลมาเพราะลูกแต่ถ้าลูกทำชั่วช้าเลวทราม คนทั้งหลายก็แช่งด่ามาถึงพ่อแม่ด้วยเหมือนกันสร้างความลำบากให้พ่อแม่ ทั้งทรัพย์สินเงินทองชื่อเสียงเสียหายไปเพราะลูกพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ว่า สิริมงคลของคนที่เป็นพ่อเป็นแม่อยู่ที่ลูกและในทางตรงข้าม ถ้าไม่ป้องกันแก้ไขให้ดีแล้ว อัปรีย์จัญไรก็จะมาจากลูกนั่นเหมือนกัน
ทำไมจึงต้องเลี้ยงดูบุตร
วันหนึ่งเราต้องแก่และตาย สิ่งที่ยากได้กับทุกคน คือ ความปีติ ความปลื้มใจ ไว้หล่อเลี้ยงใจให้สดชื่น ความปลื้มปีติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้เห็น ผลแห่งความดี หรือผลงานดี ๆ ที่เราทำไว้ ยิ่งผลงานดีมากเท่าไร ยิ่งชื่นใจมากเท่านั้นแล้วอายุจะยืนยง สุขภาพจะแข็งแรง
สุดอดผลงานของนักปฏิบัติธรรม คือ การกำจัดกิเลสในตัวให้หมด
สุดยอดผลงานของโลก คือ การมีลูกหลานเป็นคนดี
ถ้าลูกหลานเป็นคนเลว มันช้ำใจยิ่งกว่าถูกใครจับใส่ครกโขลกเสียอีก
เลี้ยงสุนัขแล้วกัดสู้สุนัขคนอื่นไม่ได้ยังเจ็บใจ
เลี้ยงลูกแล้วดีสู้ลูกคนอื่นไม่ได้มันจะช้ำใจสักแค่ไหน
อ่านต่อ >> “ทำไมพ่อแม่จึงอยากได้ลูก และองค์ประกอบให้ได้ลูกดีมีอะไรบ้าง“ คลิกหน้า 2
ความหวังสุดยอดของชาวโลก
๑.บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้ว จักเลี้ยงตอบแทน
๒.บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้ว จักทำกิจแทนเรา
๓.วงศ์สกุลของเราจัดดำรงอยู่ได้นาน
๔.บุตรจักปกครองทรัพย์มรดกแทนเรา
๕.เมื่อเราละโลกไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้
เพราะเล็งเห็นฐานนะ ๕ ประการนี้ บิดามารดาจึงอยากได้บุตร
บุตรแปลว่าอะไร ?
บุตร มาจากคำว่า ปุตฺต แปลว่า ลูก มีความหมาย ๒ ประการ คือ
- ผู้ทำสกุลให้บริสุทธิ์
- ผู้ยังหทัยของพ่อแม่ให้เต็มอิ่ม
ประเภทของบุตร
ประเภทของบุตรแบ่งโดยความดีในตัว ได้เป็น ๓ ชั้น ดังนี้
๑.อภิชาตบุตร คือ บุตรที่ดีมีคุณธรรมสูงกว่าบิดามารดา เป็นบุตรชั้นสูง สร้างความเจริญแก่วงศ์ตระกูล
๒.อนุชาตบุตร คือ บุตรที่มีคุณธรรมเสมอบิดามารดา เป็นบุตรชั้นกลาง ไม่สร้างความเจริญแก่วงศ์ตระกูล แต่ก็ไม่ทำให้เสื่อมลง
๓.อวชาตบุตร คือ บุตรที่เลว มีคุณธรรมต่ำกว่าพ่อแม่ เป็นบุตรชั้นต่ำนำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล
องค์ประกอบให้ได้ลูกดี
๑.ตนเองต้องเป็นคนดี ทำบุญมาดีจึงได้ลูกดี เหมือนต้นไม้พันธุ์ดีก็ย่อมมีลูกพันธุ์ดี เด็กที่เกิดในท้องแม่จะมีคุณธรรมในใจที่ติดตัวมาในระดับใกล้เคียงกับของพ่อแม่ ดังนั้นพ่อแม่ที่ต้องการได้ลูกดี ก็ต้องขวนขวายสร้างความดีไว้มาก ๆ ยิ่งพ่อแม่สร้างบุญมากเท่าไร โอกาสที่จะได้ลูกดีก็มากเท่านั้น
๒.การเลี้ยงดูอบรมดี ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดต่อไป
อ่านต่อ >> “วิธีการเลี้ยงดูลูกทางโลก และวิธีการเลี้ยงดูลูกทางธรรม” คลิกหน้า 3
วิธีเลี้ยงดูลูก
การเลี้ยงดูลูกมีอยู่ ๒ ทาง คือ การเลี้ยงดูลูกทางโลกและการเลี้ยงดูลูกทางธรรม ซึ่งพ่อแม่ควรจะเลี้ยงดูลูกให้พร้อมบริบูรณ์ทั้ง ๒ ทาง
วิธีเลี้ยงดูลูกทางโลก
๑.กันลูกออกจากความชั่ว กัน หมายถึง ป้องกันกีดกัน คือ ไม่เพียงแต่ห้าม หากต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ลูกตกไปสู่ความชั่ว ซึ่งบางครั้งพ่อแม่กับลูกก็พูดกันไม่เข้าใจ สาเหตุของความไม่เข้าใจกันนั้นมักจะเกิดจากการขัดกันอยู่ ๓ ประการ คือ
– ความเห็นขัดกัน
ความเห็นขัดกัน คือ ของสิ่งเดียวกันแต่เห็นกันคนละทาง มองกันคนละแง่ เช่น การเที่ยวเตร่ เด็กวัยรุ่นมักจะเห็นว่าดี เป็นการเข้าสังคม ทำให้กว้างขวางทันสมัย แต่ผู้เป็นพ่อแม่กลับเห็นว่า การเที่ยวเตร่หามรุ่งหามค่ำนั้น มีผลเสียหายหลายประการ เช่น อาจเสียการเรียน อาจประสบภัย อาจใจแตก เพราะถูกเพื่อนชักจูงไปให้เสีย ครั้งห้ามเข้าลูกก็ไม่พอใจ ดูถูกว่าพ่อแม่หัวเก่าล้าสมัย
เรื่องนี้ ถ้าจะพูดด้วยความเป็นธรรมแล้ว ลูกควรจะรับฟังความเห็นของพ่อแม่ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ๒ ประการ คือ พ่อแม่ทุกคนหวังดีต่อลูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และพ่อแม่ย่อมมีประสบการณ์ รู้ทีได้ที่เสียมามากกว่า เราแน่ใจหรือว่าความรักของเพื่อนตั้งร้อยที่ล้อมหน้าล้อมหลังอยู่นั้น รวมกันเข้าทั้งหมดแล้วจะมากและบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เหมือนความรักในดวงใจของพ่อแม่ คนเราทุกคนเคยเห็นผิดเป็นชอบมาก่อน เมื่อยังเป็นเด็กอมมืออยู่นั้น เราเคยเห็นว่าลูกโป่งอัดลมใบเดียวมีค่ามากกว่าธนบัตรใบละร้อยใช่ไหม ? จิตใจที่อยู่ในวัยเยาว์ก็ย่อมเยาตามไปด้วยดังนั้นเชื่อฟังคำกล่าวตักเตือนของพ่อแม่ไว้เถิดไม่เสียหลาย พ่อแม่เองเมื่อจะห้ามหรือบอกให้ลูกทำอะไร ก็ควรบอกเหตุผลด้วย อย่าใช้แต่อารมณ์
– ความต้องการขัดกัน
ความต้องการขัดกัน คือ คนต่างวัยก็มีรสนิยมต่างกัน ความสุขของคนแก่คือ ชอบสงบ หาเวลาพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่ความสุขของเด็กหนุ่มสาวมักอยู่ที่ได้แต่งตัวสวย ๆ ไปเที่ยวเตร่นอกบ้าน ข้อนี้ขัดแย้งกันแน่ ลูกกับพ่อแม่จึงต้องเอาใจมาพบกันที่ความรัก ตกลงกันที่มุมรักระหว่างพ่อแม่กับลูก รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวตามสมควร การเลี้ยงลูกที่กำลังโตเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น เหมือนการเล่นว่าวโต้ลม ผ่อนไปนิด ดึงกลับมาหน่อย จึงจะเป็นผลดี
– กิเลส
กิเลส ถ้าทั้ง ๒ ฝ่าย มีความโกรธ มีทิฐิ ดื้อดึง ดื้อด้าน หลงตัวเอง หรือมีกิเลสอื่น ๆ ครองงำอยู่แล้ว ก็ยากที่จะพูดกันให้เข้าใจ ต้องทำใจให้สงบและพูดกันด้วยใจที่เป็นธรรม ด้วยเหตุด้วยผล พ่อแม่ต้องฝึกตนให้เป็นคนมีคุณธรรมและสอนลูกให้เป็นคนดีมีเหตุผลเสียแต่ยังเล็ก ปัญหาข้อนี้ก็จะเบาบางลง
๒.ปลูกฝังลูกในทางดี หมายถึง ให้ลูกประพฤติดี มีศีลธรรมพ่อแม่ต้องพยายามเล็งเข้าหาใจของลูก เพราะใจเป็นตัวควบคุมการกระทำของคน ที่ว่าเลี้ยงลูกให้ดี คือ ทำใจของลูกให้ดีนั่นเอง
สิ่งของนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ ของกินกับของใช้ สำหรับของกินทุกคนต้องกิน ทุกคนต้องกินเหมือนกันหมด เพื่อให้ร่างกายเติบโตคงชีวิตอยู่ได้ ส่วนของใช้นั้นต่างคนต่างมีตามความจำเป็น เช่น ชาวนาก็ต้องมีจอบ มีไถ เสมียนก็ต้องมีปากกา
สมบัติทางใจก็มี ๒ ประการเหมือนกัน ธรรมะ เป็นอาหารใจ / วิชาความรู้ เป็นเครื่องมือของใจ
ตามธรรมดาร่างกายคนถ้าขาดอาหารแล้วก็จะเสียกำลัง ใจคนก็เหมือนกัน ต้องมีธรรมะให้พอเพียง อาหารทางกายกินแทนกันไม่ได้ ไม่เหมือนของใช้ มีดเล่มเดียวใช้กันได้ทั้งบ้าน เรื่องของใจก็เหมือนกัน ใจทุกดวงต้องกินอาหารเอง คือ ทุกคนต้องมีธรรมะไว้ในใจตนเอง จะถือว่าใจพ่อแม่มีธรรมะแล้วใจลูกไม่ต้องมีไม่ได้ ส่วนวิชาความรู้เปรียบเหมือนของใช้ใครจะใช้ความรู้ทางไหนก็หาความรู้เฉพาะทางนั้น ขาดเหลือไปบ้างพออาศัยผู้อื่นได้ ใจที่ขาดธรรมะเหมือนร่างกายที่ขาดอาหาร ใจที่ขาดวิชาความรู้เหมือนคนที่ขาดเครื่องมือทำงาน
พ่อแม่ต้องปลูกใจลูกให้มีทั้ง ๒ อย่าง จึงจะเป็นการปลูกฝังลูกในทางดีซึ่งทำได้โดย
๑.กระทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก
๒.เลือกคนดีให้ลูกคบ
๓.หาหนังสือดีให้ลูกอ่าน
๔.พาลูกไปหาบัณฑิต เช่น พระภิกษุ ครูบาอาจารย์ที่ดี
อ่านต่อ >> “วิธีการเลี้ยงดูลูกทางโลก” คลิกหน้า 4
๓.ให้ลูกได้รับการศึกษา ภารกิจข้อนี้ความชัดอยู่แล้ว คือให้ลูกได้เล่าเรียน เพื่อให้มีความรู้สามารถช่วยตัวเองต่อไปได้
พ่อแม่สมัยนี้ควรจะติดตามดูแลลูกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ควรติดต่อกับทางโรงเรียนอยู่เสมอขอทราบเวลาเรียน ผลการเรียน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เด็กอ้างว่าทางโรงเรียนเรียกร้องด้วย พ่อแม่ที่มีลูกไปเรียนไกลบ้านต่างจังหวัด และขาดผู้ดูแลที่ไว้วางใจได้ ควรจะเป็นห่วงลูกให้มาก หากไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่ควรให้เด็กอยู่หอพัก เว้นแต่ท่านจะเชื่อใจเด็กได้ และต้องหาหอพักที่มีระเบียบข้อบังคับเคร่งครัดด้วย
๔.จัดแจงให้ลูกแต่งงานกับคนดี ความหมายในทางปฏิบัติมีอยู่ ๒ ขั้นตอน คือ
๑.พ่อแม่ต้องเป็นธุระในการแต่งงานของลูก ช่วยหาสินสอดทองหมั้นให้
๒.พ่อแม่ต้องพยาบาลให้ลูกได้คู่ครองที่ดี
ในข้อที่ ๒ อาจมีความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกอยู่ไม่น้อย คล้ายกับการกันลูกจากความชั่ว แต่การขัดแย้งกันในเรื่องคู่ครองมักจะแรงกว่าควรจะทำความเข้าใจกันให้ดีปัญหาสำคัญมีอยู่ ๒ ข้อ คือ
๑. พ่อแม่แทรกแซงความรักของลูก มีผลดีหรือเสียอย่างไร ?
๒. ใครควรเป็นผู้ตัดสินการแต่งงานของลูก
ปัญหาข้อแรก ถ้าคิดดูโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นว่าผลดีมีมากกว่าผลเสีย จะมีผลเสียอยู่เฉพาะในรายที่พ่อแม่ขาดจิตวิทยา และชอบทำอะไรเกินกว่าเหตุเท่านั้น แต่การร่วมมือกันเป็นของดีแน่ ความจำเป็นอยู่ที่ว่า ลูกยังอยู่ในวัยเยาว์ รู้จักโลกน้อย มองโลกในแง่ดีเกินไป อาจตัดสินใจผิดพลาดได้และความผิดพลาดในเรื่องคู่ครองนั้นมีผลมาก แก้ยาก
ปัญหาข้อที่สอง ใครควรเป็นผู้ที่ตัดสินการแต่งงานของลูก เช่น ควรแต่งงานหรือยัง ? ควรแต่งกับใคร ? ทางที่ประเสริฐที่สุด คือ ปรึกษาหารือและตกลงกัน พ่อแม่ควรเป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่เจ้ากี้เจ้าการจนเกินงามต้องให้ลูกได้แต่งงานกับคนที่เขารัก เพราะความรักเป็นมูลฐานของการสมรสฝ่ายลูกจะเลือกใครก็ต้องให้พ่อแม่เห็นชอบด้วย เพราะการทำให้ท่านสุขใจนั้นเป็นความกตัญญูกตเวทีของเรา และจะเป็นศรีสวัสดิ์มงคลแก่ครอบครัวสืบไป แต่ถ้าหากเป็นไปเช่นนั้นไม่ได้ พ่อแม่ควรจะถือหลักว่าคนที่เราไม่ชอบแต่ลูกรัก ดีกว่าคนที่เรารักแต่ลูกไม่ชอบ คิดเสียว่าเขาเป็นเนื้อคู่กัน เว้นแต่คนที่ลูกปลงใจรักเป็นคนเลว หลอกลวงจะชักนำลูกเราไปในทางเสีย อย่านี้ต้องห้าม แม้ว่าลูกจะรักก็ตาม
๕.มอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงกาลอันสมควร เมื่อถึงเวลาควรให้จึงให้ถ้ายังไม่ถึงเวลาอันควรให้ก็อย่าเพิ่งให้ เช่น ลูกยังเยาว์ยังไม่รู้ค่าของทรัพย์ ก็ควรรอให้เขาเติบโตเสียก่อนจึงให้ ถ้าลูกยังประพฤติชั่ว เช่น หมกมุ่นอยู่ในอบายมุขก็รอให้เขากลับตัวได้เสียก่อนแล้วจึงให้ ดังนี้เป็นต้น
การทำธุระเกี่ยวกับทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นก่อนตาย เป็นการชอบด้วยพุทธประสงค์วงศ์ตระกูลก็มีความสงบสุขต่อไป รายใดที่พ่อแม่ไม่ทำพินัยกรรมไว้ให้เรียบร้อย ปล่อยให้ลูก ๆ จัดการกันเอง ก็มักเกิดเรื่องร้าวฉานขึ้นในวงพี่ ๆ น้อง ๆ จนถึงกับฟ้องร้องขึ้นศาลกันก็มี พี่น้องแตกความสามัคคี ทรัพย์สินก็เสื่อมหายลงเป็นเรื่องที่น่าสลดใจยิ่งนัก
อ่านต่อ >> “วิธีการเลี้ยงดูลูกในทางธรรม และอานิสงส์การเลี้ยงดูบุตร ” คลิกหน้า 5
วิธีเลี้ยงดูลูกในทางธรรม
๑.พาลูกเข้าวัดเพื่อศึกษาหาความรู้ทางศาสนา
๒.ชักนำลูกให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคือ
๓.ชักนำให้ลูกทำบุญ เช่น ตักบาตร รักษาศีล เป็นต้น
๔.ชักนำให้ลูกทำสมาธิภาวนา
๕.ถ้าลูกเป็นชายให้บวชเป็นสามเณรหรือเป็นพระภิกษุ แล้วเข้าปฏิบัติกรรมฐาน
ข้อเตือนใจ
๑.รักลูกแต่อย่าโอ๋ลูก อย่าตามใจลูกเกินไป จะทำให้เด็กเสียนิสัยเหตุที่พ่อแม่ตามใจลูกเกินไป มักเป็นเพราะ
- รักลูกมากเกินไป รักมากจนไปไม่กล้าลงโทษสั่งสอน
- ไม่มีเวลาอบรม รู้สึกเป็นความผิดของตัว ที่ไม่มีเวลาให้ลูกจึงปลอบประโลมตนเองด้วยการตามใจลูกจึงปลอบประโลมตนเองด้วยการตามใจลูก ซึ่งเป็นวิธีแก้ที่ผิด
๒.อย่าเคร่งระเบียบจนเกินไป รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว
๓.ให้ความอบอุ่นแก่ลูกให้เพียงพอ ไม่ว่างานจะยุ่งมากเพียงไร ก็ต้องหาเวลาให้ลูก มิฉะนั้นจะต้องน้ำตาตกในภายหลัง
๔.เมื่อเห็นลูกทำผิด การตำหนิทันทีจำเป็นมาก จะได้แก้ไขทันท่วงทีแต่ต้องใช้เหตุผล อย่าใช้อารมณ์ และเมื่อเห็นลูกทำดี ก็ชมเพื่อให้เกิดกำลังใจ
๕.ต้องฝึกให้ลูกทำงานตั้งแต่ยังเล็ก การปล่อยให้เด็กอยู่อย่างสบายเกิดไปทุกอย่างมีคนรับใช้ มีเวลาว่างมากเกินไป จะกลับเป็นผลเสียต่อเด็กโตขึ้นจะช่วยตัวเองไม่ได้
๖.การเลี้ยงลูกให้แต่ปัจจัย ๔ ยังไม่พอ จะต้องให้ธรรมะแก่ลูกด้วย
อานิสงส์การเลี้ยงดูบุตร
๑.พ่อแม่จะได้ความปีติภาคภูมิใจเป็นเครื่องตอบแทน
๒.ครอบครัวจะสงบร่มเย็นเป็นสุข
๓.ประเทศชาติจะมีคนดีไว้ใช่
๔.เป็นต้นแบบที่ดีงามของสังคมสืบไปตลอดกาลนาน
“บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมปรารถนาอภิชาตบุตร อนุชาตบุตร ไม่ปรารถนาอวชาตบุตรผู้ตัดสกุล บุตรเหล่านี้แล มีพร้อมอยู่ในโลก บุตรเหล่าใดเป็นอุบาสก มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ บุตรเหล่านั้น ย่อมไพโรจน์ในบริษัททั้งหลาย เหมือนพระจันทร์พ้นจากก้อนเมฆ ไพโรจน์อยู่”
ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ (ออนไลน์)
และ เว็บไซต์ bannpeeploy.m.exteen.comมงคลชีวิต 38 ประการ,มงคลที่ 12 เลี้ยงดูบุตร,การเลี้ยงลูก