พบกับ ทารกคลอดก่อนกำหนด ที่ตัวเล็กที่สุด ที่ใคร ๆ ก็ว่าไม่น่ามีชีวิตรอด! แต่เธอและครอบครัวพิสูจน์แล้วว่ามันไม่ใช่!!
โดยปกติแล้ว ทารกส่วนใหญ่ ต้องใช้เวลาอยู่ในท้องแม่นานเก้าเดือน เพื่อให้ร่างกายมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ที่สุดก่อนที่จะลืมตาดูโลก ผิดกับ มานูชิ ที่ต้องกลายเป็น ทารกคลอดก่อนกำหนด ที่ตัวเล็กและมีชีวิตรอดที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น มานูชิ เกิดก่อนล่วงหน้า 12 สัปดาห์ก่อนวันครบกำหนดคลอด เธอเกิดมาด้วยน้ำหนักตัวเพียง 400 กรัม ซึ่งถือว่าเป็น ทารกคลอดก่อนกำหนด ที่ตัวเล็กที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น เนื่องจากน้ำหนักโดยเฉลี่ยของทารกแรกคลอดนั้นจะอยู่ระหว่าง 2,700 กรัมถึง 4,100 กรัม
น้ำหนักของ มานูชิ ถือเป็นน้ำหนักที่น้อยมากจนถึงขั้นแม่แต่ทีมหมอผู้ทำคลอดเองยังกล่าวว่า โอกาสรอดนั้นมีเพียงแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้คุณหมอได้ทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ให้กับแม่ขอมานูชิที่มีอายุ 48 ปี จนพบว่า นั้นต้องประสบกับปัญหาไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ คุณหมอจึงตัดสินใจให้ทำการผ่าคลอดโดยทันที
เนื่องจากอวัยวะภายในร่างกายของ มานูชิ ยังไม่สมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็น ไต สมอง หรือแม้แต่หัวใจ ร่างกายของเธอถูกห่อหุ้มด้วยผิวหนังบาง ๆ ราวกับกระดาษเท่านั้น คุณหมอบอกให้คุณแม่ของเธอทำใจ เพราะโอกาสที่เธอจะอยู่และมีชีวิตรอดนั้นริบหรี่เหลือเกิน
ดร. ซุนิล เล่าว่า “อาการของมานูชิน่าเป็นห่วง เพราะแม้แต่การหายใจยังเป็นไปด้วยความยากลำบากเลย แต่เราก็ไม่สามารถละทิ้งความพยายามที่จะช่วยเหลือทารกรายนี้ได้ เราต้องเริ่มต้นให้อาหารทารกคลอดก่อนกำหนดรายนี้ด้วยการให้อาหารเสริมผ่านทางหลอดเลือดดำ ซึ่งหมายความรวมถึงสารอาหารที่จำเป็นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กรดอะมิโน คาร์โบไฮเดรต แร่ธาตุ และวิตามิน”
จากวันนี้ถึงวันนี้ มานูชิ พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่า เธอแข็งแกร่งเพียงใด ถึงแม้เธอจะตัวเล็ก แต่เธอก็สามารถสู้และฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ จนพ้นจากเงื้อมมือของมัจจุราชได้ และปัจจุบันทารกน้อยรายนี้มีอายุได้ 6 เดือนแล้ว แถมมีพัฒนาการที่ดีและสมบูรณ์อีกเสียด้วย
การดูแล ทารกคลอดก่อนกำหนด ให้มีชีวิตรอดและอยู่ได้อย่างแข็งแรงนั้นนอกจากจะอาศัยปาฏิหาริย์แล้ว ยังต้องอาศัยความรู้อันเกี่ยวกับวิธีการดูแล ทารกคลอดก่อนกำหนด ให้ถูกวิธีอีกด้วย ซึ่งทีมงาน Amarin Baby And Kids ได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวนี้ มาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านเพื่อเป็นข้อมูลด้วยเช่นกัน จะมีรายละเอียดอะไรบ้างนั้น ไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
วิธีการดูแล ทารกคลอดก่อนกำหนด
1.การดูแลรักษาความสะอาด เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องระวังให้มาก รวมถึงสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น ขวดนม ควรนึ่งหรือต้มทุกครั้งก่อนใช้ ทุกครั้งที่ให้นม หรือชงนม คุณพ่อ คุณแม่ต้องล้างมือให้สะอาด เพราะทารกคลอดก่อนกำหนดมักมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป
2.จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ควรมีอากาศถ่ายเท ไม่อับชื้น เพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายของลูก ไม่ร้อน หรือเย็นจนเกินไป ถ้าลูกน้อยมีอาการตัวร้อน ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
3.ให้ลูกกินนมแม่ คุณหมอจะแนะนำให้กินนมแม่เป็นหลัก เพราะย่อยง่าย และมีสารอาหารที่จำเป็น ลูกจะได้รับภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับช่วงที่อยู่ในครรภ์ คุณแม่อาจจะเสริมด้วยนมสูตรพิเศษสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้ลูกน้อยน้ำหนักเป็นไปตามเกณฑ์ นมสูตรนี้ จะให้พลังงาน และเพิ่มสารโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ มากกว่าสูตรปกติ และเมื่อลูกน้อยอายุเกิน 2 สัปดาห์แล้ว ควรรับประทานวิตามินรวมเพิ่มด้วย โดยเฉพาะธาตุเหล็ก และแคลเซียม เพราะทารกคลอดก่อนกำหนดมักจะขาดแร่ธาตุเหล่านี้
4.การอาบน้ำ ให้คุณแม่ อาบน้ำให้ลูกน้อยเพียงวันละ 1 ครั้ง ถ้าวันไหนที่อากาศเย็น ก็ไม่ต้องอาบ ไม่ควรอาบน้ำบ่อย ๆ เพื่อเป็นการรักษาพลังงานที่อยู่น้อยเอาไว้ จนกว่าลูกน้อยจะสามารถดูดนมได้มากกว่า 100 ซีซี และมีน้ำหนักตัวมากกว่า 3 กิโลกรัมขึ้นไป จึงจะอาบน้ำได้ปกติ เหมือนเด็กทั่วไป
5.ใส่ใจกับการชงนม เวลาชงนม คุณแม่ไม่ควรชงนมให้ข้นมากจนเกินไป เพียงแต่พยายามให้ลูกน้อยกินนมให้มากขึ้น โดยชงตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งโดยเฉลี่ยเด็กจะกินนมวันละ 150 – 180 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
6.ส่งเสริมพัฒนาการ ระบบสมองของทารกโดยทั่วไปจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 6 – 7 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ สำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด อาจมีพัฒนาการล่าช้า ส่วนใหญ่คุณหมอ จะคอยตรวจสอบพัฒนาการต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น การได้ยิน การมองเห็น คุณพ่อ คุณแม่อาจกระตุ้นให้ลูกน้อยได้ ด้วยเสียงดนตรีเบา ๆ พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ รวมถึงการใช้สี และแสงอย่างเหมาะสม
7.ระบบหายใจ การหายใจของทารกอาจมีปัญหา เช่น มีน้ำมูก เสมหะอุดตัน อาจทำให้หายใจไม่สะดวก อกบุ๋ม หายใจดังครืดคราด คุณแม่ต้องพาลูกน้อยไปพบแพทย์ เวลาอุ้มให้นมควรอุ้มให้สูงขึ้น เพื่อระวังการสำลักนม
8.สังเกตอาการที่บ่งบอกว่าไม่สบาย เช่น ถ้าลูกมีไข้ ตัวร้อน หรืออุณหภูมิสูงผิดปกติ คอยเช็ดตัวให้ลูกน้อยอยู่เสมอ สังเกตการติดเชื้อ น้ำมูกเขียวข้น หายใจเร็วเหมือนหอบ โดยเฉพาะถ้าไอ หรือมีน้ำลายฟูมปาก หน้าซีดขาว มีเสียงร้องเบาผิดปกติ ท้องอืด ท้องแข็งกะทันหัน ชัก ดูดนมน้อยลง น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น ตาเหลือง ตัวเหลือง ถ้ามีอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
ขอบคุณที่มา: MedThai และ Incredible Nature
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่