ลูกนอนคว่ำ หนึ่งในสาเหตุของการสูญเสีย ที่พบได้บ่อยหากพ่อแม่ไม่ระวังให้ดี!
คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านที่มีลูกเล็กคะ ทราบกันหรือไม่คะว่า สาเหตุของการสูญเสียชีวิตของทารกที่พบได้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือต่างประเทศนั้นก็คือ การสูญเสียลูกจากการปล่อยให้ลูกรักนั้นนอนคว่ำ จนเป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจในที่สุด ซึ่งอาการดังกล่าวนั้น เราเรียกว่า โรคไหลตาย หรือ SIDS นั่นเองค่ะ
และเช่นเดียวกับเรื่องราวที่ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้นำมาเสนอในวันนี้ เป็นเรื่องราวสุดสะเทือนใจของครอบครัวหนึ่งที่ต้องสูญเสียลูกสาววัยเพียงสองเดือนไป ด้วยสาเหตุเพราะลูกสาวนอนคว่ำ จนเกิดภาวะการขาดอากาศหายใจและสูญเสียชีวิตในที่สุด
อ่านต่อเรื่องราวดังกล่าวได้ที่หน้าถัดไปเลยค่ะ
เรื่องราวนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นอุทาหรณ์สำหรับทุกครอบครัวที่มีลูกทุกคนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดที่ต่างประเทศนะคะ แต่เป็นประเทศไทยของเราเอง
โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ร.ต.อ.ดนัย ถือดียิ่ง ร้อยเวร สภ.ปลวกแดง ระยอง ได้รับแจ้งเหตุเด็กทารกเสียชีวิต ที่หมู่บ้านเติมอนันต์ เลขที่ 622/3 ม.1 ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง จึงพร้อมด้วยแพทย์เวรรพ.ปลวกแดง และ เจ้าหน้าที่กู้ภัยปลวกแดง ตรวจสอบที่เกิดเหตุทันทีเป็นบ้านจัดสรรชั้นเดียว พบเสียงร้องไห้ด้วยความเศร้าโศกในบ้าน เข้าไปพบร่างของเด็กทารกวัย 2 เดือน นอนเสียชีวิตอยู่ในบ้าน
โดยมีคุณพ่อและคุณแม่ของน้องกำลังอยู่ในความโศกเศร้า ร้องไห้ปริ่มจะขาดใจ หลังจากการตรวจสอบเบื้องต้นนั้นพบว่า ร่างกายของทารกไม่มีร่องรอยของการถูกทำร้ายแต่อย่างใด จากการบอกเล่าของคุณแม่เล่าว่า
เมื่อช่วงกลางดึก น้องบีงอแงร้องไห้ตลอดเวลา จึงพยายามอุ้มและให้นอน จนกระทั่งน้องพลิกตัวนอนในท่าคว่ำหน้าแล้วก็เงียบ ตนพยายามดู กระทั่งตื่นมาในช่วง 06.40 น. น้องยังหายใจปกติ ตนเองไปทำงาน ก่อนออกจากบ้านยังได้ปลุกสามีบอกให้ดูน้องด้วย กระทั่งสามีตื่นมาในช่วงสาย ปรากฎว่าน้องตัวแข็งสิ้นใจแล้ว
โดยสามีได้รีบโทรบอกกับตนเองจึงรีบกลับมา โดยก่อนหน้านี้ทางสามีพยายามปั๊มหัวใจแต่ก็สายไปแล้ว เสียใจมาก คาดคงเกิดจากการที่น้องนอนคว่ำหน้า และพลิกตัวด้วยตนเองจึงทำให้ขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต ยังทำใจไม่ได้กับการจากไปของบุตรสาวที่ลืมตาดูโลกได้เพียงสองเดือน จึงอยากฝากเตือนผู้ปกครองที่มีลูกอ่อนไว้เป็นอุทาหรณ์ ให้ระวังเรื่องท่านอนของลูก เพราะอาจจะเกิดเหตุสลดเหมือนกับตนได้ ไม่ควรให้นอนคว่ำหน้าในช่วงที่ไม่มีคนดูแล เพราะเด็กไม่สามารถพลิกตัวด้วยตนเองได้ จึงทำให้ไม่สามารถหายใจได้จนขาดอากาศหายใจ
ทีมงานของแสดงความเสียใจต่อการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของน้องด้วยนะคะ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นกับครอบครัวใดอีก
ทำความรู้จักกับโรคไหลตาย หรือ SIDS คลิก!!
เครดิต: ข่าวสด
โรคไหลตายหรือ SIDS คืออะไร?
โรคไหลตายในทารกหรืออาการหลับไม่ตื่นในทารก มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) อาจเรียกว่า cot death หรือ crib death ก็ได้ค่ะ โรคดังกล่าวจัดเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตลูกน้อยมากกว่าสามพันคนต่อปี โดยที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ทันเตรียมใจกับการสูญเสียครั้งนี้ เนื่องจากโรคไหลตายในเด็กสามารถเกิดขึ้นในทารกที่มีสุขภาพแข็งแรง และอาจเกิดขึ้นขณะพ่อแม่นำลูกเข้านอนและเมื่อตื่นมาพบว่าปลุกลูกไม่ตื่นอีกเลย
เป็นการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุและสามารถเกิดได้กับทารกทุกคนและทุกช่วงเวลา โดยทั่วไปแล้วจะเกิดกับทารกที่อายุตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 1 ขวบ ช่วงเวลาที่เกิดคือเที่ยงถึงสามโมงเช้าของวันใหม่ โรคไหลตายในทารกจะเกิดในทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือนประมาณร้อยละ 90 โดยทารกจะไม่ปรากฏอาการใดนำมาก่อน เช่น ร้องงอแงหรือเคลื่อนไหวใด ๆ ทั้งสิ้นก่อนเสียชีวิต ในประเทศที่กำลังพัฒนาอัตราการเกิดโรคไหลตายในเด็กจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า พบทารกเสียชีวิต 10 คน ในทารกเกิดใหม่ 1000 คน
วิธีการป้องกัน
- คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกลูกนอนหงายหรือนอนตะแคง เพราะลูกจะสามารถหายใจนำอากาศเข้าปอดได้ดีกว่าท่านอนคว่ำ ซึ่งแต่เดิมเคยเชื่อว่าการนอนคว่ำจะลดอัตราการสำลักน้ำลายขณะหลับ
- ควรแยกที่นอนลูกออกจากที่นอนของพ่อแม่ พร้อมทั้งวัสดุรองนอนของลูกนั้นจะต้องแข็งแรงและไม่อ่อนยวบ เมื่อวางตัวลูกลงไป เพราะอาจเป็นสาเหตุของการอุดทางเดินหายระหว่างหลับได้ ที่สำคัญอย่านำตุ๊กตาหรือของเล่นวางไว้บนที่นอนของลูกโดยเด็ดขาด และผ้าห่มที่เลือกให้ลูกใช้นั้น ควรเป็นผ้าห่มที่สามารถหายใจผ่านได้
- อุณหภูมิของห้องนอนลูกไม่ควรอุ่นหรือเย็นเกินไป เนื่องจากอากาศที่ร้อนทำให้ลูกไม่สบายตัว หายใจลำบากมากขึ้น ส่วนอากาศที่เย็นเกินไปอาจทำให้ลูกน้อยป่วยได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับก็คือ 25-26 องศาเซลเซียสค่ะ
- หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมของควันไฟโดยเฉพาะควันบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุหลักของการหายใจที่ผิดปกติของลูก และอาจก่อให้เกิดภูมิแพ้หรือหลอดลมตีบเฉียบพลันได้
- คุณพ่อคุณแม่อาจใช้จุกนมปลอมให้ลูกดูดเพื่อให้ลูกน้อยหลับสบายขึ้น เพราะการดูดจุกนมมีส่วนช่วยให้ลูกหายใจได้สม่ำเสมอ
นอกจากนี้การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังมีส่วนช่ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไหลตายในทารกได้อีกด้วยนะคะ นอกจากนั้นนมแม่ยังอุดมไปด้วยภูมิคุ้มกันจากแม่และเป็นสายใยรักของแม่ส่งผ่านสู่ทารกโดยตรงอีกด้วยค่ะ
ขอบคุณที่มา: อาจารย์ ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่