ภาษาทารก …ทุกครั้งที่เห็นลูกยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ หรือทำท่าทางต่างๆ ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ว่า ลูกมีพัฒนาการก้าวล้ำมาอีกขั้น พ่อแม่ต่างก็ปลาบปลื้มใจ แต่สิ่งที่ตามมาคือ ความสงสัยปนแปลกใจว่าสิ่งที่ลูกแสดงออกมาเมื่อตอนนั้น มันหมายความว่าอะไร แล้ว ลูกน้อยกำลังคิดอะไรอยู่ หรือต้องการอะไรกันแน่
แม้จะยังพูดไม่ได้ แต่ทารกก็เกิดมาพร้อม กับความสามารถในการสื่อสาร ทั้งสีหน้าและท่าทาง “จากการศึกษาพบว่า กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการสื่อสาร ระหว่างเบบี๋กับผู้ใหญ่ล้วนเป็นภาษาท่าทางทั้งสิ้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านออกว่าเบบี๋ต้องการบอกอะไรและตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ข้อดีก็คือ เจ้าตัวเล็กรู้สึกปลอดภัยและเกิดความผูกพันกับพ่อแม่มากขึ้น”
ซึ่งการอ่านสีหน้า ต้องหมั่นสังเกตทั้งหน้าตา ท่าทาง และเสียงร้องไห้ของลูกให้ดีๆ เพราะนั้นอาจเป็นการส่งสัญญาณ ขอความช่วยเหลือ ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง จึงไม่ยากเกินกว่าพ่อแม่จะอ่านออกแน่นอน
ศ.ดร.ลินดา อเคร-โดโล อาจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส และผู้เขียนหนังสือ BabySigns อธิบายความอีกความน่าทึ่งของเด็กทารกไว้ รวม 11 สัญญาณ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ สีหน้าและท่าทาง ขอเพียงเวลาให้พ่อแม่เรียนรู้การอ่านท่าทางลูกน้อยก็ไม่ยากเกินมือคุณแม่แน่นอนค่ะ แล้วสีหน้า ท่าทาง หรือเสียงร้องของลูกจะบ่งบอกถึงอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไรตอบกลับไปหาลูกจากภาษาทางกายนั้นๆ ตามไปถอดรหัสกันค่ะ
ภาษาทารก
√ ถอดรหัสสีหน้าทารก
1. หันหน้าหนีไม่ยอมสบตา
เป็นรหัสที่ลูกน้อยกำลังส่งสัญญาณว่า “คุณอาจยังเอาใจใส่เขาไม่เพียงพอ” ดร.อเครโดโลอธิบาย “ลักษณะนี้จะชัดขึ้น เมื่อลูกอายุได้ราว 2 เดือน ที่เขาไม่ยอมมองหน้าหรือสบตาคุณนั่นก็เป็นเพราะว่าไม่ได้รับการกระตุ้น พ่อแม่อาจเข้าไปสัมผัส กอด อุ้มเล่นหรือพูดคุยกับลูกน้อยเกินไปจนทำให้ลูกสนใจเล่นนิ้วเท้าหรือนิ้วมือของตัวเองมากกว่ามองหน้าหรือสบตาพ่อแม่”
ตอบกลับแสนง่าย : เพิ่มปฏิสัมพันธ์กับเบบี๋ให้มากขึ้น แต่ไม่บังคับ คือ ถ้าลูกเบือนหน้าหนีอย่าเพิ่งพยายามเอาหน้าตัวเองเข้าไปใกล้ๆ หรือจับลูกให้หันมาสบตาคุณให้ได้ สิ่งที่คุณควรทำคือ ค่อยๆ เพิ่มกิจกรรมกับลูกให้มากขึ้น และอดทนรอคอยให้ลูกหันกลับมาสนใจเอง เช่น อุ้ม กอด และชวนพูดคุยบ่อยๆ ตอบรับเสียงอ้อแอ้ของลูก อุ้มสัมผัสลูกในขณะที่เจ้าตัวเล็กยังตื่นอยู่ เล่นของเล่นด้วยกันอย่างนุ่มนวล เป็นต้น
2. ยิ้มหวาน
“ยิ้มช่วงแรกของทารกยังเป็นปฏิกิริยาตอบกลับอัตโนมัติ ต่อมาเมื่อเริ่มโตขึ้นรอยยิ้มก็จะมีความหมายมากขึ้น และมีอารมณ์ต่างๆเข้าไปเกี่ยวข้องเมื่อตอนเขาอายุได้ราว 6 -8 สัปดาห์ “การยิ้มของทารกเป็นการบอกความพึงพอใจ ความรู้สึกสบายตัว อย่างลูกของฉันยิ้มแรกของเขาเกิดขึ้นตอนได้ซุกตัวอยู่ในผ้าขนหนูอุ่นๆหลังจากอาบน้ำเสร็จ
แม้พอใจลูกก็อยากให้ตอบกลับ : เมื่อได้ เห็นยิ้มแรกของลูก คุณควรยิ้มกลับทันที จะพูดสั้นๆด้วยก็ได้ เช่น “เก่งมากเลยลูก” หรือชวนคุยสัพเพเหระ ลูกยังไม่เข้าใจสิ่งที่คุณ พูดหรอก แต่กระตุ้นพัฒนาการได้ดีเชียวล่ะ
3. นั่นแน่! … ทำหน้าเลียนแบบแม่ด้วย
“เพราะพ่อแม่คือต้นแบบของลูก” ช่วง อายุ3-6 เดือน ทารกส่วนมากจะเรียนรู้ที่จะเลียนแบบการแสดงออกทางสีหน้าจากผู้ใหญ่ และเมื่ออายุประมาณ 9 เดือนเขาจะเริ่มแสดง ออกทางสีหน้าที่ได้เรียนรู้มาแบบมีอารมณ์ ต่างๆเข้ามาด้วย เช่น เวลาที่พบคนแปลกหน้า เบบี๋ส่วนใหญ่จะหันไปมองหน้าแม่ของ ตัวเอง และถ้าเห็นว่าแม่ทำหน้าเศร้าหรือไม่มี ความสุข ความวิตกกังวลของเจ้าตัวเล็ก ก็จะเพิ่มมากขึ้นๆ จนบางคนก็ร้องไห้แงๆได้
อยากให้ลูกเลียนแบบอารมณ์ดี : เคล็ดลับ คือ เราสุขลูกสุขกว่า เราเครียดลูกเครียดกว่า ดังนั้นถ้าคุณกังวล เครียด หรืออารมณ์ไม่ดี หาวิธีผ่อนคลายอารมณ์ตัวเองก่อน อย่างการ หายใจเข้าออกลึกๆหรือทำสมาธิ แม้แต่ มองกระจกแล้วยิ้มให้ตัวเองก็ช่วยให้อารมณ์ เย็นลงได้เหมือนกัน เมื่อคุณรู้สึกดีขึ้น ค่อยกลับมาหาลูก แล้วกอดหรือสัมผัส ลูบหลังเบา ๆ เพื่อทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย ทางที่ดีควรส่งลูกให้คนอื่นช่วยดูแลก่อน แต่ถ้าคุณอยู่กันสองคน แค่วางลูกลงในเปลหรือสถานที่ที่ปลอดภัย แล้วไปสงบ สติอารมณ์ตัวเองก่อนนะคะ
อ่านต่อ >> “ถอดรหัสกระบวนท่าภาษากายของลูกน้อย” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
√ ถอดรหัสกระบวนท่าภาษากาย
4. แอ่นตัว แอ่นหลัง
ถ้าลูกน้อยอายุเพียง 2 – 3 สัปดาห์ นอนหงายอยู่และทำท่า แอ่นหลัง ส่วนใหญ่เด็กอ่อนจะทำท่านี้และร้องไห้งอแงร่วมด้วยผู้เชี่ยวชาญมักฟันธงว่าเจ้าตัวเล็กกำลังรู้สึก “ไม่สบายตัว” ซึ่งอาจเกิดจากนอนไม่สบายเลยดิ้น เพื่อหาตำแหน่งที่ตัวเองรู้สึกสบาย หรือเบบี๋ทำท่านี้ตอนกินก็เพื่อบอกว่า “อิ่มนมแล้วจ้า”
ถ้าลูกอายุ4 – 5 เดือน ทำท่านี้โดยไม่ได้ร้องไห้ จะตีความได้ว่ากำลังพยายามกลิ้งพลิกตัวเป็นครั้งแรก
พ่อแม่ตอบสนองอย่างไรดี : เพราะลูกรู้สึกไม่สบายตัว แต่พัฒนาการของการเคลื่อนไหวยังจำกัด ท่าทางนี้จึงเป็นการสื่อสารขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าลูกจะอยู่ในเปล ที่นอนคาร์ซีต หรือรถเข็น เพียงแค่คุณลุกขึ้นไปอุ้มลูก ให้ศีรษะของเขาซบลงที่ไหล่ของคุณให้รู้สึกผ่อนคลายสัก 4-5 นาที จากนั้นก็วางเขาลงที่นอนหรือที่เดิมและจัดท่าทางให้สบาย (สำหรับลูกอ่อน) และวางลงบนพื้นให้ลูกได้เกลือกกลิ้งบนพื้นบ้าง ช่วยให้เบบี๋รู้สึกสบายตัวขึ้นได้ค่ะ
5. ขยี้หูขยี้ตา
คุณพ่อคุณแม่อาจคุ้นเคยว่าท่าทางอย่างนี้คือสัญญาณว่าลูกกำลังง่วงหรือเหนื่อยแต่ผู้เชี่ยวชาญอธิบายเพิ่มเติมว่า“สำหรับเบบี๋อายุก่อน 6 เดือน ทำท่าทางนี้ เขาอาจกำลังบอกว่าเหนื่อย ง่วง หรือคัน แต่ถ้าลูกอายุ6 เดือนไปแล้ว อาจหมายถึงว่าเขากำลังเพลิน สบายใจกับการเล่นหูของตัวเอง เพราะไปสัมผัสเจอโดยบังเอิญเพราะหูเป็นจุดที่ค่อนข้างไวต่อความรู้สึกนั่นเองอีกกรณีหนึ่งถ้าลูกขยี้หูบ่อยๆและมีไข้สูง อาจเกิดอาการติดเชื้อในหู ควรรีบพาลูกไปหาหมอโดยเร็ว
พ่อแม่ทำอะไรได้บ้าง : สำหรับการขยี้หูขยี้ตาที่เป็นสัญญาณง่วงหรือต้องการพักผ่อน คุณสังเกตว่าลูกจะมีอาการตอนไหน ตั้งเป็นเวลางีบระหว่างวันและปรับเวลาไปตามอายุลูก
6. ขยับปาก
สำหรับเบบี๋ การขยับปากมี2 อย่างเช่นกัน คือช่วงแรกคลอด2-3 สัปดาห์ เมื่อคุณเขี่ยแก้มลูกน้อย เขาจะหันหน้าและขยับปากตามหาสิ่งที่สัมผัสแก้มเขา นี่เป็นปฏิกิริยาตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ หลังจาก 3 สัปดาห์ การขยับปากของเบบี๋เป็นสัญญาณที่บอกให้พ่อแม่รู้ว่า “ลูกหิวแล้วจ้ะ”
ท่าทางนี้มีประโยชน์ : ปฏิกิริยานี้ช่วยคุณแม่หลังคลอดกระตุ้นให้ลูกน้อยกินนมได้เป็นอย่างดี โดยให้คุณแม่ใช้หัวนมเขี่ยข้างแก้มของลูก ลูกน้อยจะค่อยๆ หันหน้าไปหาหัวนมและงับหัวนมคุณแม่ได้
√ ถอดรหัส “เสียงร้องไห้ของทารก”
7. แง้…ตกใจไฟสว่างหรือเสียงดัง
เป็นปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติค่ะ เพราะเบบี๋อยู่ในท้องแม่ที่มืดสลัวและเงียบสงบมาตั้ง 9 เดือนจนคุ้นเคย พอมาเจอแสงสว่างหรือเสียงดังก็ย่อมเกิดอาการตกใจเป็นธรรมดาแต่เมื่อเบบี๋โตขึ้นอายุ3-6 เดือน อาการเหล่านี้ก็จะค่อยๆหายไปค่ะ
พ่อแม่ทำอะไรได้บ้าง : สําหรับลูกน้อยอายุต่ำกว่า 4 เดือน การใช้ผ้าห่อตัวหรือผ้าห่มผืนบางห่มตัวไว้จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเหมือนตอนที่อยู่ในท้องแม่
8. แง้…ลูกหิว
ส่วนใหญ่มักเป็นเสียงร้องหลังตื่นนอน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้บอกวิธีสังเกตเสียงเบบี๋ร้องไห้เพราะหิว เพื่อให้คุณมั่นใจขึ้นอีกว่า “เบบี๋จะร้องเสียงสั้นๆ โทนเสียงต่ำ และถ้าแม่ไม่ให้กินสักทีเสียงร้องก็จะดังและหนักขึ้นเรื่อยๆ”
ทำแบบนี้สิ : ตอบสนองลูกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะในช่วง 2 – 3 เดือนแรกเพราะจะทำให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ซึ่งการตอบสนองอย่างรวดเร็ว มีผลดีต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์ในอนาคตค่ะ
9. แง้…ไม่สบายตัว
เสียงร้องไห้เพราะเจ็บหรือไม่สบายตัวจะดังชัดเจนกว่าเสียงร้องไห้เพราะหิว สังเกตได้ว่าเจ้าตัวเล็กจะร้องแบบจู่ๆก็ร้องทันทีทันใด ด้วยเสียงสูง แหลม และดังยาวอย่างต่อเนื่อง
เสียงร้องลักษณะนี้ : คุณแม่ต้องเข้าไปหาลูกน้อยโดยเร็ว และตรวจดูว่าผ้าอ้อมเปียกและเลอะเทอะหรือเปล่า หรือเป็นเพราะอากาศร้อนหรือเย็นเกินไป หรือตรวจดูตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าของลูกว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ จะได้ช่วยแก้ที่ต้นเหตุค่ะ
10. แง้…เหนื่อยจัง
เมื่อเบบี๋อายุขยับขึ้นมาเป็น 2-3 เดือน การร้องไห้จะมีสาเหตุหลากหลายมากขึ้น ที่พบบ่อยคือ ร้องเพราะเหนื่อยหลังจากตื่นนอนมาแล้ว 2 – 3 ชั่วโมง เสียงร้องจะครางขึ้นจมูกและค่อยๆดังขึ้น
ลองทำแบบนี้สิ : อุ้มและโยกตัวลูกไปมาเป็นจังหวะ หรืออุ้มลูกไว้แล้วนั่งบนเก้าอี้โยก โยกเบาๆ หรือจะฝึกให้ลูกหลับเองก็ได้เมื่อลูกเริ่มร้องไห้ก็อุ้มเขามาวางลงบนที่นอนแล้วลูบหน้าอกหรือตบก้นเบาๆ ลูกน้อยจะค่อยๆสงบลงค่ะ
11. อ้อแอ้เป็นแล้วจ้า
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า นี่ละวิธี “คุย” โต้ตอบของเบบี๋จะเริ่มเมื่อลูกน้อยอายุได้ 2-3 เดือน ซึ่งเขาก็เลียนการออกเสียงของพ่อแม่นั่นเอง จนกระทั่งอายุ 4-6 เดือน เสียงอ้อแอ้ของเขาจะมีอารมณ์ต่างๆ เช่น ดีใจ พอใจ หงุดหงิด ฯลฯ เข้ามาด้วย
ทำอย่างไรดี : อย่าปล่อยให้ลูกน้อยคุยเก้อนะคะ โต้ตอบและชวนเขาพูดคุยด้วย เช่น “แม่กำลังพาหนูไปอาบน้ำนะคะ, ดูโน่นสิ มีผีเสื้อเกาะที่ดอกไม้ด้วย” หรือทำเสียงเลียนแบบลูกบ้างก็ได้
ข้อควรระวัง! พ่อแม่มักจะอ่านอารมณ์ลูกโดยตีความเกินจากสิ่งที่เห็นมากเกินไป ควรมองว่าลูกพอใจหรือไม่พอใจโดยดูจากสิ่งใกล้ตัวหรือสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะอยู่ตรงหน้าคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง …เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่รู้ อ่านออกว่าสีหน้าเหล่านี้ลูกกำลังบอกอะไร ก็จะทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกได้ตรงจุดที่สุดค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- นิสัยลูกน้อย 8 แบบ อยากให้เป็นคนแบบไหนขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู
- ท่าทางแบบไหนการันตี เบบี๋สุขใจสุดๆ
- ชวนพ่อแม่ ถอดรหัสสีหน้า-ท่าทางเบบี๋
บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids