สร้างวินัยเชิงบวก คือ การสร้างวินัยหรือการสอนและฝึกฝนเด็กให้ใช้ทักษะสมอง EF ในการดำเนินชีวิตประจำวันจนติดเป็นนิสัย โดยที่พ่อแม่ไม่ใช้คำสั่งห้ามและไม่มีการดุด่า
สร้างวินัยเชิงบวก ให้ลูก ป้องกันลูกดื้อ
ด้วยเทคนิคง่ายๆ จากผู้เชี่ยวชาญ
ซึ่งมาตรฐานของโรงเรียนอนุบาลในอเมริกาเกือบทุกรัฐต้องสอนทักษะ Executive Functions หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า EF เพื่อพัฒนาสมองและระบบความคิดของเด็กๆให้สามารถคิดวางแผนและแก้ปัญหาได้
ส่วนในประเทศไทย แม้กระแส EF จะมาช้าก็ยังดีกว่าไม่มา ตอนนี้รัฐบาลไทยจึงเริ่มสนับสนุนด้วยการพยายามเผยแพร่ความรู้เรื่อง EF ให้คุณครูบ้างแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่เองก็ไม่ควรพลาดเทคนิคดีๆ ที่จะช่วยกระตุ้นสมองและเสริมความคิดเชิงบริหารให้ลูกน้อยเช่นกัน แล้วทักษะ EF เป็นอย่างไร จะทำให้ลูกของเราฉลาด วางแผนและแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ ลองมาฟังคำอธิบายและคำแนะนำดีๆ จาก รศ. ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้าน ประสาทวิทยา และ ผศ. ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านวินัยเชิงบวก กันเลยค่ะ
เทคนิคสร้าง EF ให้ลูก ด้วยการสร้างวินัยเชิงบวก
ทักษะที่เด็กยุคใหม่ต้องมี!
ความหมายของทักษะการคิดเชิงบริหาร
ทักษะ “การคิดเชิงบริหาร” (Executive Functions) หรือเรียกสั้น ๆ กันว่า EF คือหน้าที่การทำงานของสมองระดับสูง ในเชิงบริหาร ซึ่งเราอาจจะคิดว่าผู้บริหารเท่านั้นที่ต้องมี แต่จริง ๆ แล้วมนุษย์เราทุกเพศทุกวัยจำเป็นต้องใช้ทักษะ EF กับการทำงานทุกเรื่องให้สำเร็จ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Goal-Directed Behavior” เป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่เป้าหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่มีความยากและใช้ระยะเวลานานหลายเดือนหรือหลายปีกว่าจะสำเร็จ เช่น การเรียน การจะทำให้จิตใจของเราจดจ่อกับเป้าหมาย ไม่ยอมแพ้ไม่ลืมหน้าที่รับผิดชอบ ไม่เบี่ยงเบนหาสิ่งที่ง่ายและสบายกว่าไปเสียก่อน รู้จักตัดสิ่งที่ไม่สำคัญออก เลือกทำสิ่งที่สำคัญ และยึดมั่นจนกว่าจะถึงเป้าหมาย
ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยทักษะ EF อย่างมากจึงจะทำได้สำเร็จเพราะทักษะวินัยเชิงบวก จะช่วยให้ลูกสามารถควบคุมอารมณ์ ความคิด และการกระทำ จนกว่าจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้
- ควบคุมอารมณ์ คือ เวลาลูกมีอารมณ์โกรธ เสียใจ หรือดีใจ เราสามารถควบคุม ไม่แสดงออกอย่างรุนแรง และกลับคืนสู่อารมณ์ปกติได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้สามารถทำงานต่อได้
- ควบคุมความคิด คือ ความสามารถในการควบคุมความคิดให้จดจ่อกับงานที่ทำไม่วอกแวกง่าย หรือหากเผลอวอกแวกไปบ้าง ลูกก็ยังสามารถดึงตัวเองกลับมาโฟกัสกับเรื่องที่ทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะในชีวิตประจำวันของลูกมีสิ่งต่าง ๆ มากมายทำให้ลูกวอกแวกได้ตลอดเวลา เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ เพื่อนหรือความบันเทิงต่าง ๆ
- ควบคุมการกระทำ คือ การควบคุมตัวเองให้กระทำแต่สิ่งที่มุ่งไปสู่เป้าหมายโดยไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน
√ ชีวิตลูกดี๊ดีเมื่อมี EF
- สร้างความพร้อมตลอดชีวิต : การหมั่นฝึกฝน EF ตั้งแต่เด็กคือการสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาท เพราะเส้นใยประสาทยิ่งใช้ก็ยิ่งแข็งแรง เมื่อไปเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ เขาจะรู้ได้ว่าต้องตอบสนองอย่างไร เมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้นทักษะนี้จะติดตัวไปด้วย ทำให้เขามีความคิดหลากหลาย ทั้งการคิดสร้างสรรค์ คิดยืดหยุ่น คิดแก้ไขปัญหา และไม่จนต่ออุปสรรคทั้งหลาย ทำให้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ยากขึ้น พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหา พร้อมสำหรับการทำงาน และพร้อมใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข เพื่อให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายในชีวิต ทักษะวินัยเชิงบวก จึงเป็นสิ่งที่พัฒนาคนได้ทั้งชีวิต
- ชะลอความอยากและควบคุมความต้องการ : หรือ Delayed Gratificationซึ่งตรงตามสำนวนว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” เป็นอีกทักษะที่เกิดจากกระบวนการ EF ขึ้น ซึ่งเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกวัยรุ่นทุกคนมี เพราะลูกวัยรุ่นมักจะตัดสินใจตามอารมณ์หรือความต้องการส่งผลให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย แต่เด็กที่ได้รับการพัฒนาทักษะวินัยเชิงบวก อย่างต่อเนื่องจะเริ่มอดทนรอคอยและชะลอความอยากได้ตั้งแต่ 4 ขวบ แม้จะเป็นการอดทนในช่วงเวลาสั้น ๆ ในเรื่องที่ไม่ยากนัก แต่เขาจะยิ่งทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีในช่วงวัยรุ่น นอกจากนี้ทักษะ Delayed Gratification ยังช่วยให้เด็กเกิดความมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย เพราะสังคมปัจจุบันจะมีสิ่งที่มาล่อใจเขาตลอดเวลา การจะโฟกัสกับงานจนเสร็จทั้งที่อยากเล่น อยากอ่านการ์ตูนอยากเล่นเกม อยากดูทีวี ฯลฯ เป็นเรื่องยากมาก แต่ Delayed Gratification จะช่วยให้เขาระงับใจไว้ได้จนกว่าจะทำงานเสร็จจึงจะไปเล่นหรือทำสิ่งต่างๆ ได้ตามความต้องการ
- สร้างสำนึกที่ดีในจิตใจ : เนื่องจากทักษะ EF ทำให้เราเข้าใจตนเองรู้ว่าเราต้องการอะไร ต้องทำหน้าที่อย่างไรและเมื่อถึงจุดหนึ่งของการที่เรารู้จักตนเองจะเกิดการพัฒนาไปสู่ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เมื่อเด็กควบคุมตนเองได้ อดทนรอคอยได้ และเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเขาจะมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นดี และพัฒนาไปสู่การช่วยเหลือผู้อื่นหรือการมีจิตอาสานั่นเอง
- ตอบโจทย์สังคมในอนาคต : สังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างรวดเร็ว สมัยคุณพ่อคุณแม่ยังเด็กการสอบแข่งขันไม่ได้เข้มข้นเหมือนปัจจุบันวิชาหรือเส้นทางให้เลือกเรียนก็มีไม่มากเท่าทุกวันนี้ จากที่เราเคยต้องการให้เด็กว่านอนสอนง่าย ยุคสมัยนี้กลับต้องการให้เด็กเรียนรู้และคิดแก้ปัญหาได้เอง การใช้คำสั่งหรือวิธีสอนแบบเดิม ๆ จึงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ทฤษฎีทักษะ EF จึงพัฒนาขึ้นเพื่อสอนเด็กให้มีคุณสมบัติพร้อมสำหรับสังคมในอนาคต ซึ่งเด็กทุกคนต้องสามารถพึ่งพาตนเอง คิดวางแผน และแก้ไขปัญหาเองได้จึงจะประสบความสำเร็จในชีวิต
⊗ ชีวิตลูกติดลบเมื่อไม่มี EF !
- ความจำไม่ดี เรียนรู้ไม่ได้ ทำผิดซ้ำซาก
- หุนหันพลันแล่น อยู่นิ่งไม่ได้
- ปรับตัวไม่ได้ อารมณ์เสียเมื่อต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม
- อารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง เศร้าเสียใจยาวนาน
- จัดการหน้าที่รับผิดชอบของตัวเองไม่ได้ ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน และข้าวของส่วนตัว
- มีปัญหาในการเข้าสังคม
- มีแนวโน้มเจ็บป่วยโรคจิตเภท เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ฯลฯ
- มีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดในชีวิต เช่น เรียนไม่จบ ติดยาเสพติด หรือตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
- เสี่ยงต่อภาวะบกพร่องทางสมอง เช่น สมาธิสั้น หรืออัลไซเมอร์
ขอเชิญคุณแม่ตั้งครรภ์ และมีลูกวัย 0-6 ปี ร่วมฟังเสวนาฟรี! “เลี้ยงลูกเชิงบวก กระตุ้นทักษะสมอง พิชิตความสำเร็จ” โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 สมัครด่วนจำนวนจำกัด!! อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และสำรองที่นั่งล่วงหน้า ได้ที่ https://bit.ly/2Sek03w
อ่านต่อ >> “8 วิธีสร้างวินัยเชิงบวกง่ายๆ
ป้องกันลูกดื้อ เริ่มได้ตั้งแต่ 1 ขวบ” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สร้าง EF วินัยเชิงบวก ง่ายๆ หนูทำได้ตามวัย!
สมองของมนุษย์พัฒนาตั้งแต่วัยเด็ก สังเกตง่าย ๆ เวลาที่คุณพ่อคุณแม่เล่นกับลูก 6 เดือน หากเราเอาผ้าคลุมของเล่นไว้เขาจะเข้าใจว่าของเล่นชิ้นนั้นหายไป จนเมื่อลูกอายุ 7 – 9 เดือน เขาจึงจะเริ่มเปิดหาของเล่นที่ซ่อนไว้ใต้ผ้าหมายความว่าสมองส่วนหน้าของเขาได้เกิดการพัฒนาแล้วเมื่อเด็กอายุมากกว่า 1 ขวบก็จะพัฒนามากขึ้นอีก โดยสังเกตจากการทดลองเมื่อเรามีผ้าคลุม 2 ผืน แต่มีของเล่นซ่อนอยู่ใต้ผ้าคลุมเพียงผืนเดียว หากเป็นวัยทารกเขาจะเปิดหาแต่ผ้าคลุมผืนเดิม จนกระทั่งเขาอายุมากกว่า 1 ขวบจึงจะเปิดหาผ้าคลุมทั้งสองผืน
ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ต้องเกิดจากการใช้ทักษะหลายด้าน เช่น การจดจำว่าของเล่นไม่ได้ซ่อนอยู่ตำแหน่งเดิม(Working Memory) จึงต้องหยุดความคิดเดิม (Inhibit) และเปลี่ยนไปหาที่ผ้าคลุมผืนใหม่ (Shift) แม้จะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ก็เป็นสัญญาณว่าสมองส่วนหน้าของลูกน้อยเริ่มมีพัฒนาการตั้งแต่ยังเล็ก และควรมีพัฒนาการต่อเนื่องอย่างเหมาะสมตามวัย ดังนี้
ป้องกันลูกดื้อ ด้วย 8 วิธี สร้างวินัยเชิงบวก ง่ายๆ
1-2 ขวบ : ควรจำ
(1)Working Memory หรือ ความจำขณะทำงานของเด็กน้อย จะเริ่มพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 1 ขวบ โดยเริ่มจากสามารถจดจำของเล่นของตัวเองได้ ทำให้รู้จักหาเมื่อของเล่นหายไป และมีความสามารถในการจดจำคนในครอบครัว จึงแยกแยะคนในครอบครัวออกจากคนแปลกหน้าได้ ด้วยเหตุนี้เด็กน้อยอายุประมาณ 1 ขวบจึงมีอาการ SeparationAnxiety หรือร้องงอแงเมื่อเจอคนแปลกหน้า แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลหรือต่อว่าลูกนะคะ เพราะเมื่อเขาโตขึ้น อาการนี้จะค่อย ๆ หายไปเอง
3 ขวบ : ยับยั้ง
เด็กอายุประมาณ 3 ขวบ (2)ควรยับยั้งตัวเอง หรือ Inhibit โดยไม่ต้องมีใครสั่งได้บ้างแล้ว เด็กควรรู้เรื่องพื้นฐานว่าสิ่งใดควรทำ หรือสิ่งใดไม่ควรทำ แม้จะอยากวิ่งเล่น แต่หากเป็นเวลามื้ออาหาร เขาควรหยุดความอยากวิ่งเล่นของตัวเองและนั่งลงกินข้าวจนเสร็จได้ หรือสามารถหยุดอารมณ์โกรธเมื่อทะเลาะกับเพื่อน หยุดอารมณ์เศร้าเสียใจเมื่อคุณพ่อคุณแม่พามาส่งที่โรงเรียนได้ หรือมีความอดทนรอคอยในการเข้าแถวรอคิวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยซึ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่จะเข้าเรียนชั้นอนุบาล เพราะหากเขาขาดการหยุดตัวเองอาจทำให้เขาเข้าสังคมได้ยาก นั่งเรียนกับเพื่อนไม่ได้ หรือกลายเป็นเด็กที่ไม่มีระเบียบวินัยนั่นเอง
4 ขวบ : ต้องเปลี่ยน
เมื่อเด็กหยุดยับนั้งความคิดได้แล้ว ในวัย 4 ขวบ เขาจะสามารถพัฒนามาสู่ขั้น (3)Shift /Cognitive Flexibility หรือ เปลี่ยนความคิดได้ ซึ่งนำไปสู่การใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กเลิกคิดได้ว่าปากกาใช้สำหรับเขียน เขาจะสามารถคิดสร้างสรรค์ได้ว่าปากกาจะนำไปใช้สร้างสรรค์สิ่งใดได้อีกบ้าง เป็นการคิดนอกกรอบ คิดริเริ่ม คิดยืดหยุ่น คิดที่ไม่เป็นการจำกัดไอเดีย หรือเมื่อเขาหยุดเศร้าเสียใจที่ต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่ได้แล้ว เขาต้องเปลี่ยนมาสนใจกิจกรรมที่โรงเรียนและสนุกไปกับเพื่อน ๆ ได้ จึงจะทำให้เขาปรับตัวและใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนอย่างมีความสุข
5 ขวบ : ควบคุมอารมณ์ + วางแผนให้เป็น
เด็กวัย 5 ขวบมีความสามารถในการพัฒนาทักษะ EF เพิ่มได้ 2 อย่าง คือ (4)Emotional Control หรือควบคุมอารมณ์ เช่น เมื่อโกรธเพื่อนต้องไม่ทำร้ายเพื่อนเมื่อเศร้าเสียใจก็ร้องไห้ไม่นาน ไม่ว่าจะมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร เขาจะสามารถคืนสู่สภาวะอารมณ์ปกติได้อย่างรวดเร็ว
และ (5)Plan / Organize หรือการวางแผนในเรื่องง่าย ๆ เช่น วางแผนสำหรับการบ้านให้เสร็จตรงตามเวลา หรือวางแผนทำงานศิลปะได้ด้วยตัวเองจนเสร็จภายในเวลาที่กำหนดจำได้ หยุดได้ เปลี่ยนความคิดได้ ควบคุมอารมณ์ได้ และวางแผนจัดการงานง่าย ๆ ให้สำเร็จได้ หรือ EF 5 ข้อที่เด็กเล็กควรมี ทั้งหมดนี้จะทำให้เขามีความพร้อมในการเรียนระดับสูงขึ้นไป เช่น ระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหา-วิทยาลัย ซึ่งภาระรับผิดชอบต่าง ๆ จะเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ตามระดับชั้น เช่น มีวิชาเรียนมากขึ้น มีตารางเวลาเรียน มีการบ้าน มีงานกลุ่ม เด็กประถมที่ได้รับการฝึกทักษะ EF มาเป็นอย่างดีจะสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ รู้ว่าเวลาไหนควรทำสิ่งใด งานหรือการบ้านต่าง ๆ จึงจะเสร็จ หรือต้องทบทวนบทเรียนอย่างไรจึงจะทำข้อสอบได้ความสำเร็จทางการเรียนจึงต้องใช้ทักษะ EF อย่างมาก
6 ขวบขึ้นไป : เพิ่มได้อีก 3 อย่าง
แม้ EF 5 ข้อข้างต้นจะช่วยให้เด็กมีศักยภาพทางการเรียนแล้ว แต่หากเพิ่มเติม EF ได้อีก 3 ข้อ ย่อมทำให้เขาพัฒนาความคิดไปได้ไกล และเข้าใกล้ความสำเร็จในชีวิตได้มากขึ้น ได้แก่ (6)Initiate หรือ การคิดริเริ่ม , (7)Self-Monitoring หรือ การประเมินตนเอง และ (8)Organize of Material หรือ การจัดการข้าวของ ทั้งหมดนี้จะทำให้เด็กมุ่งมั่นลงมือทำตามแผนที่วางไว้ รู้จักประเมินความสามารถของตนเองเพื่อให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป และช่วยให้เขาสามารถจัดการข้าวของรอบตัวได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นเด็กมีความรับผิดชอบโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเหนื่อยหรือกังวลใจมากนัก
ส่งเสริม EF เริ่มต้นอย่างไร?
วิธีส่งเสริมทักษะ EF จริง ๆ ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน แค่ใช้หลักการง่าย ๆ 3 ข้อ ดังนี้
1. เด็กต้องมีพื้นฐานที่ดีก่อน หมายถึง พ่อแม่ต้องไม่ละทิ้งการเลี้ยงดูเด็กแบบปกติ ได้แก่ การให้ความรักความอบอุ่นให้อาหารที่เพียงพอ ที่อยู่อาศัยปลอดภัยหากเด็กไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้ครบถ้วน เขาก็จะไม่พร้อมจะเรียนรู้เรื่องใด ๆ เพราะสุขภาพกายและใจเขาไม่แข็งแรงสมบูรณ์พอ
2. ให้เวลา เมื่อพ่อแม่ให้ปัจจัยสี่แก่ลูกน้อยอย่างครบถ้วนแล้ว ขณะเดียวกันลูกก็ต้องการเวลาจากพ่อแม่ด้วย เวลาที่ว่านี้คือ เวลาในการพูดคุย สั่งสอน ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การเล่นหรืออ่านนิทาน เป็นต้น
3. พ่อแม่ต้องเป็นสมองส่วนหน้าแทนลูก เพราะสมองส่วนหน้าของผู้ใหญ่พัฒนาสมบูรณ์แล้ว ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องนำทักษะ EF ที่มีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสอนลูก ยกตัวอย่างสถานการณ์ เช่น ลูกถือแก้วน้ำมาแล้วทำน้ำหก วิธีสอนแบบ EFก็คือ แทนที่จะดุด่าทันที ให้พูดกับลูกว่า “น้ำหกหรือลูก ไม่เป็นไรนะ เรามาช่วยกันเช็ด หนูไปหยิบผ้ามานะ แม่รู้ว่าหนูไม่ได้ตั้งใจ คราวหน้าหนูก็ระวังหน่อยนะ” ผลที่ได้คือ หากคราวหน้าเขาทำน้ำหกอีก เขาจะรู้ได้โดยที่เราไม่ต้องบอกว่าต้องหาผ้ามาเช็ดให้สะอาด ลูกจะเรียนรู้ปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหาได้ ในทางตรงกันข้าม หากพ่อแม่ไม่ใช้ทักษะ EF เลยก็จะลงเอยด้วยการโกรธดุด่า ตี แต่ไม่สอน เมื่อลูกทำน้ำหกแล้วโดนตีหรือว่าทันที เขาจะไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจทำน้ำหก ทำไมเขาถึงถูกตี และคราวต่อไปเขาจะกลัว ไม่กล้าหยิบจับหรือทำอะไรอีกเลย หรือทำก็ทำได้ไม่ดีเพราะจะกลัวถูกตีตลอดเวลา
ขอเชิญคุณแม่ตั้งครรภ์ และมีลูกวัย 0-6 ปี ร่วมฟังเสวนาฟรี! “เลี้ยงลูกเชิงบวก กระตุ้นทักษะสมอง พิชิตความสำเร็จ” โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 สมัครด่วนจำนวนจำกัด!! อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และสำรองที่นั่งล่วงหน้า ได้ที่ https://bit.ly/2Sek03w
อ่านต่อ >> “เทคนิคสร้าง EF ให้แข็งแกร่งและถาวร
ด้วยการฝึกวินัยเชิงบวกให้ลูก” คลิกหน้า 3
อ่านต่อ “บทความอื่นน่าสนใจ” คลิก!
- [สร้างวินัยเชิงบวก] ขัดใจทำไม ตามใจดีกว่า!!
- [สร้างวินัยเชิงบวก] 3 เทคนิคเชิงบวก ฝึกลูกเล็กควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกให้ได้ผล!
- [สร้างวินัยเชิงบวก] ชวนพ่อแม่สำรวจ เรา “สั่ง” หรือ “สอน” ลูกอยู่นะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เทคนิค สร้างวินัยเชิงบวก
ฝึก EF ให้ลูก แข็งแกร่งและถาวร
Positive Discipline หรือ สร้างวินัยเชิงบวก คือการสร้างวินัยหรือการสอนและฝึกฝนเด็กให้ใช้ทักษะสมอง EF ในการดำเนินชีวิตประจำวันจนติดเป็นนิสัย โดยที่ไม่ใช้คำสั่งห้ามและไม่มีการดุด่าว่ากล่าว เนื่องจากการสั่งห้ามและการดุด่าไม่กระตุ้นให้เกิดทักษะ EF แต่ไปกระตุ้นสมองส่วนอารมณ์ให้ทำงาน ทำให้เด็กเกิดการต่อต้านเนื่องจากเมื่อสมองเกิดความขัดแย้งระหว่างความอยากกับคำสั่งฝ่ายความอยากมักจะเอาชนะเป้าหมายที่แท้จริงเสมอ วิธีที่จะจัดการกับความอยากของเด็ก เราจึงต้องใส่ภาษาที่เขาเข้าใจพร้อมกับใส่ประสบการณ์ลงไปให้เด็กด้วย เพราะอะไรก็ตามที่เราพูดในวันนี้จะกลายเป็นประสบการณ์ของเขาในวันพรุ่งนี้
สร้างวินัยเชิงบวก จึงยึดหลักว่า พ่อแม่จะไม่ใช้คำว่า “ห้าม” “ไม่” “อย่า” “หยุด” เราจะใช้แต่คำว่า “ได้” เพียงแต่ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ “ได้อย่างไร” และ “ได้เมื่อไร” เท่านั้น!!
Good you know: “คนที่มี EF คือคนที่ครีเอทีฟ ยืดหยุ่นได้ ควบคุมตนเองได้ มีวินัยในตนเอง EF ทำงานสะสมได้ตั้งแต่เด็ก แต่ที่สำคัญพ่อแม่ควรมี EF ก่อน เพราะ EF เป็นเรื่องที่ฝึกได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม”
ความท้าทายที่พ่อแม่ต้องทำใจไว้ก่อน√
ความท้าทายในการปลูกฝังทักษะสมอง EF ให้ลูกน้อยไม่ได้มาจากการที่เขาเป็นเด็กดื้อหรือเด็กเอาแต่ใจ แต่มาจาก 2 สาเหตุสำคัญ ได้แก่
-
ความท้าทายที่ 1 : ประสบการณ์ที่แตกต่าง
คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมคะว่า… ทำไมเวลาพูดกับเด็กจึงรู้สึกเหมือนพูดกันคนละภาษา พูดกันไม่รู้เรื่อง เตือนก็แล้วพร่ำสอนก็แล้ว ดุก็แล้ว ขู่ก็แล้ว ทำไมเขายังไม่เชื่อฟังเสียที นั่นเพราะเขามีประสบการณ์เพียงน้อยนิด ถึงจะข่มขู่ดุด่าอย่างไรเขาก็ยังนึกไม่ออกว่าสิ่งที่เขาทำจะส่งผลเสียอย่างไรในอนาคต ตัวอย่างเช่น คุณแม่เตือนลูกน้อยว่า “อย่ากินลูกอมนะ เดี๋ยวฟันผุ” แต่เขาไม่เคยมีประสบการณ์ฟันผุกินวันนี้… พรุ่งนี้… อาทิตย์นี้… เดือนนี้… ฟันก็ยังไม่ผุ สิ่งที่เขาเรียนรู้จึงกลายเป็น “ลูกอมไม่ได้ทำให้ฟันผุเสียหน่อย กินก็ไม่เห็นเป็นอะไร” คุณแม่อาจแก้ปัญหาโดยเอารูปฟันผุมาให้ดู วิธีนี้จะทำให้สมองส่วนอารมณ์ทำงานแทนสมองส่วนหน้า ก่อให้เกิดความรู้สึกกลัว เด็กอาจเริ่มไม่กล้ากินลูกอมในช่วงแรก
แต่อย่าลืมนะคะว่าเด็กก็ยังมีความอยากอยู่ เพราะเขาเคยลิ้มรสลูกอมมาก่อนแล้ว ประสบการณ์เดิมที่เขาได้เรียนรู้มีเพียงความหอมหวานจากลูกอมไม่มีความเจ็บปวดจากอาการฟันผุสักนิด!หลังจากความอยากเอาชนะความกลัว เขาก็จะกลับไปกินลูกอมเช่นเดิม
-
ความท้าทายที่ 2 :พัฒนาการสวนทางกับความคิด
โครงสร้างสมองของมนุษย์มี 3 ส่วนได้แก่ สมองส่วนหน้า สมองส่วนกลางและสมองส่วนท้าย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
⇒ สมองส่วนหน้า = EF : ทำหน้าที่ควบคุมสมองส่วนอื่น ยับยั้งอารมณ์ ยับยั้งพฤติกรรมที่ขัดขวางความสำเร็จ ยับยั้งความอยาก ยับยั้งความต้องการ ช่วยให้เรามีสติคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ และสามารถใช้เหตุผลในการวางแผนและแก้ไขปัญหาได้
⇒ สมองส่วนกลาง = สมองส่วนอารมณ์ : ในสมองส่วนกลางจะมีส่วนที่เรียกว่า “ลิมบิก”(Limbic) เป็นส่วนที่ทำงานเพื่อให้เราเกิดการปรับตัวเอาชีวิตรอดตามแรงอารมณ์ที่เกิดขึ้นและอารมณ์ที่เร็วและแรงมากที่สุดของมนุษย์คือ ความกลัวและความโกรธ ซึ่งเป็นอารมณ์ด้านลบที่จะทำให้เราหลั่งสารบางอย่าง ส่งผลให้เราแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อความอยู่รอดออกมาโดยอัตโนมัติ
⇒ สมองส่วนท้าย = สัญชาตญาณของชีวิต : เป็นสมองส่วนที่ควบคุมระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ทำงานเป็นอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องสั่งหรือควบคุม เพื่อให้ร่างกายของมนุษย์มีชีวิตรอดปลอดภัย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร ฯลฯ
การทำงานของทักษะสมอง EF เป็นการใช้ความคิดระดับสูง จึงเป็นการใช้สมองจากบนลงล่าง กล่าวคือ สมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนที่อยู่สูงที่สุด คอยควบคุมและสั่งการสมองส่วนกลางและสมองส่วนท้าย แต่!!!…พัฒนาการทางสมองของเด็กกลับเริ่มพัฒนาจากสมองส่วนล่างย้อนขึ้นไปยังสมองส่วนหน้าในขณะที่สมองส่วนท้ายและสมองส่วนกลางพัฒนาจนสมบูรณ์และพร้อมใช้งานตั้งแต่แรกเกิด สมองส่วนหน้ากลับใช้ระยะเวลาในการพัฒนายาวนานกว่ามาก กว่าจะพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์ก็เมื่อลูกน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่อายุ 20 – 25 ปี
ดังนั้น การใช้ความคิดเชิงบริหารจึงสวนทางกับพัฒนาการของเขา โดยเฉพาะระบบลิมบิกหรือสมองส่วนอารมณ์ซึ่งเจริญเติบโตเต็มที่ตั้งแต่แรกคลอด สมองส่วนอารมณ์จึงทำงานได้เต็มที่นับแต่นั้น การจะให้เด็กใช้ทักษะสมอง EF ไปควบคุมอารมณ์ทั้งที่สมองส่วนหน้าหรือทักษะสมอง EF ยังพัฒนาไม่เต็มที่จึงเป็นเรื่องยากยิ่ง
ทักษะสมอง EF ของเด็ก อาจถูกกระตุ้นในบางช่วง
แม้ทักษะสมอง EF ของเด็ก อาจจะถูกกระตุ้นขึ้นในบางช่วง แต่ก็มักจะถูกขัดขวางด้วยอารมณ์ความรู้สึกจากสมองส่วนอารมณ์เช่น หิว อยากได้ความรักความอบอุ่นอยากได้รับความสนใจ และอยากรู้สึกปลอดภัย ซึ่งล้วนเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานตามสัญชาตญาณการอยู่รอดปลอดภัยของมนุษย์ เป็นเรื่องธรรมชาติของสมองเมื่อเด็กรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ หรือรู้สึกแปลกแยก พฤติกรรมและอารมณ์ด้านลบในสมองส่วนอารมณ์จะแสดงออกมาให้เขาต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนเห็น ซึ่งเด็กรู้ดีว่าการทำดีหรือทำตัวตามปกติจะเรียกร้องความสนใจได้ยาก แต่ถ้าเขาตะโกนโหวกเหวกขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่จะให้ความสนใจทันที โดยไม่สนใจว่าการให้ความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่เป็นแบบที่ดีหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้มีตัวตน เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเมื่อเราเจอเด็กเกเร เราไม่ควรโมโห เพราะมีแต่จะทำให้เขาเรียนรู้ว่าวิธีนี้ใช้เรียกร้องความสนใจได้ แถมเขายังรู้สึกฟินอีกต่างหาก!
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าการดุด่าเด็กไม่ก่อให้เกิดผลดี เช่น คุณครูที่ยืนขู่เด็กร้องไห้เมื่อไปโรงเรียนครั้งแรกว่า “ถ้าไม่เงียบจะบอกพ่อแม่ว่าไม่ต้องมารับ” หรือ “เดี๋ยวเรียกตำรวจมาจับ” คุณครูกลุ่มนี้ใช้สมองส่วนอารมณ์ในการจัดการเด็ก เนื่องจากความโมโหทำให้ควบคุมสติไม่ได้ จึงเลือกใช้การขู่มาควบคุม แต่สำหรับเด็กซึ่งมาโรงเรียนวันแรกย่อมมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย แล้วยิ่งบอกว่าพ่อแม่จะไม่มารับ ตำรวจก็จะมาจับอีก นี่คือตัวอย่างของผู้ใหญ่ที่ไปเขย่าสมอง
ส่วนอารมณ์ของเด็กให้ทำงาน ซึ่งคุณครูหรือผู้ใหญ่เช่นนี้เปรียบเสมือนคนบ้าเพราะการดุด่าเด็กเปรียบเหมือนเราไปยืนด่าฟ้าฝน เนื่องจากฟ้าฝนหรือเด็กร้องไห้คือเรื่องธรรมชาติเช่นเดียวกัน ธรรมชาติของเด็กเป็นแบบนี้ คนที่จะโมโหธรรมชาติจึงมีแต่คนบ้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่เด็กจะร้องไห้งอแง แสดงพฤติกรรมเรียกร้องเอาแต่ใจก้าวร้าว ด่าทอ ทำร้ายตัวเอง ขว้างปาข้าวของ หรือโกรธโมโหง่าย จึงไม่ใช่เรื่องน่าโมโห แต่เป็นธรรมชาติของสมองที่กำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ว่า เขากำลังรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยเขาอยากได้รับความรัก ความอบอุ่น และความปลอดภัย เมื่อเขาต้องการคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องให้ หากไม่ให้จะทำให้เขาเรียนรู้ว่าชีวิตนี้ไม่มีการให้ ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดปมในใจของเขาอย่างแน่นอน เพียงแต่การให้ความรักกับเขาไม่ได้หมายถึงการตามใจจนเสียคน แต่ต้องเป็นการให้ทักษะสมอง EF ซึ่งจะช่วยให้เขาเกิดความมั่นคงทางอารมณ์และใช้สมองคิดแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ในอนาคตต่างหาก
สงบก่อนจึงสอนได้!! √
หากเด็กกำลังร้องไห้งอแงหรืออาละวาดหนักมากแม้คุณพ่อคุณแม่จะพยายามใช้ทักษะสมอง EF กับเขาเท่าไร ลูกก็คงไม่ฟัง เพราะอารมณ์กำลังขึ้นสุดลงสุด สมองส่วนอารมณ์ก็กำลังทำงานอย่างหนักจนเบียดบังการทำงานของสมองส่วนหน้าจนหมด ก่อนจะฝึกทักษะสมอง EF ได้จึงต้องทำให้สมองส่วนกลางสงบลงเสียก่อนด้วยวิธีง่าย ๆ (แต่อาศัยความอดทนสูงมาก) ด้วยการบอกให้รู้ว่า “หนูรู้สึกอย่างไร” โดยใช้คำศัพท์บอกอารมณ์เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจเขา และเพื่อให้เขาเข้าใจอารมณ์ของตนเองเช่น เมื่อเด็กร้องไห้เนื่องจากต้องมาโรงเรียนวันแรก
“ครูเข้าใจว่าหนูคิดถึงคุณพ่อคุณแม่” หรือบอกเมื่อเด็กร้องไห้อยากได้ของเล่นว่า “แม่รู้ว่าหนูเสียใจที่ไม่ได้ของเล่นชิ้นที่ชอบ” เมื่อเขาเริ่มสงบลงแล้วจึงค่อย ๆใส่ประสบการณ์ที่เขาสามารถทำได้เพื่อบรรเทาอารมณ์เหล่านั้นเข้าไป เช่น “เมื่อหนูคิดถึงคุณพ่อคุณแม่อีกหนูมาบอกให้คุณครูช่วยปลอบได้” หรือ “หนูสามารถนำของเล่นชิ้นเก่ามาดัดแปลงให้กลายเป็นของเล่นชิ้นใหม่ได้นะ ถ้าหนูไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร หนูขอให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยคิดและช่วยกันทำได้จ้ะ” แม้วิธีนี้จะใช้เวลาในการฝึกฝนและทำความเข้าใจ แถมต้องอาศัยความใจเย็นของคุณพ่อคุณแม่สูงมาก แต่วิธีนี้จะช่วยให้ลูกน้อยได้ฝึกทักษะสมอง EF ส่งผลให้เขาควบคุมอารมณ์และแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเองต่อไปในอนาคต
ขอเชิญคุณแม่ตั้งครรภ์ และมีลูกวัย 0-6 ปี ร่วมฟังเสวนาฟรี! “เลี้ยงลูกเชิงบวก กระตุ้นทักษะสมอง พิชิตความสำเร็จ” โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 สมัครด่วนจำนวนจำกัด!! อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และสำรองที่นั่งล่วงหน้า ได้ที่ https://bit.ly/2Sek03w
อ่านต่อ “บทความอื่นน่าสนใจ” คลิก!
- เลี้ยงลูกวินัยเชิงลบ ส่งผลต่อพัฒนาการสมอง
- เทคนิค “จับ-จด” เปลี่ยนชีวิต สร้างนิสัยรู้จักคิด หยุดวิกฤติลูกงอแงร้องซื้อของเล่นได้ผลชะงัด!
- จิตแพทย์แนะ เลี้ยงลูกให้สตรอง!! ต้องใช้ “หน้าต่างแห่งโอกาส 9 บาน”
ขอบคุณบทความจากคอลัมน์ family scoop : Executive Functions ทักษะที่เด็กยุคใหม่ต้องมี นิตยสาร Amarin Baby & Kids