AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ประโยชน์ของการเล่น “จ๊ะเอ๋” ที่พ่อแม่คาดไม่ถึง

จ๊ะเอ๋

เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนเคยเล่น “จ๊ะเอ๋” กับลูกมาแล้ว โดยเฉพาะลูกที่อยู่ในวัยทารก รู้หรือไม่ว่านอกจากจะทำให้ลูกสนุกแล้ว การเล่นจ๊ะเอ๋ยังมีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กอีกด้วย

ประโยชน์ของการเล่น “จ๊ะเอ๋” ที่พ่อแม่คาดไม่ถึง

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตได้กล่าวไว้ว่า “พ่อแม่ควรหันมาใส่ใจเรื่องการเล่นของเด็กมากขึ้น ไม่ว่าจะเล่นคนเดียว หรือเล่นกับเพื่อน เด็กจะทุ่มเทใจและจริงจังกับการเล่นมาก เพราะการเล่นคือการทำงานของเด็ก เด็กจะคิด พลิกแพลงการเล่นตลอดเวลา ยิ่งเล่นมาก จะเกิดความชำนาญจากการค้นหา เปลี่ยน ปรับ แก้ปัญหา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ สะสมเป็นความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ที่เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเอง ผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศยืนยันตรงกันว่า ยิ่งเด็กมีโอกาสเล่นมากเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง กระโดด คืบคลาน เล่นดิน เล่นทราย หยิบจับสิ่งของ เล่นของเล่น เล่นตุ๊กตา เล่นตั้งเต เล่นบล็อก เล่นตัวต่อ ฯลฯ ก็จะยิ่งได้รับการพัฒนาเซลล์ประสาทในสมองที่มีนับแสนล้านเซลล์เชื่อมต่อกันเป็นร่างแห เด็กจะมีความสามารถในการคิด เรียนรู้ โดยเฉพาะการเล่นที่มีการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ร่วมกันจะทำให้การเชื่อมโยงเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20-25 นอกจากนี้การเล่นของเด็กจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความฉลาดทางปัญญา อารมณ์และสังคมไปพร้อม ๆ กันด้วย” การเล่นจ๊ะเอ๋ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกน้อยในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านสังคม

เล่น “จ๊ะเอ๋” อย่างไรให้ลูกชอบ?

การเล่นจ๊ะเอ๋ สามารถเล่นได้หลากหลายวิธี เริ่มตั้งแต่วิธีง่าย ๆ คือการเอามือปิดหน้าสักพักแล้วเอามือเปิดหน้าออกมาให้ลูกเห็นพร้อมทั้งพูด “จ๊ะเอ๋” การเริ่มเล่นแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนนี้ สามารถเล่นได้ตั้งแต่ลูกมีอายุ 3-6 เดือน แต่เมื่อลูกโตขึ้นมาหน่อย คุณพ่อคุณแม่อาจปรับเปลี่ยนการเล่นให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะใช้ผ้ามาคลุมหน้าแล้วค่อยโผล่ออกมาให้ลูกเห็น และเมื่อลูกโตขึ้นไปอีกนิด คุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้วิธีเดินออกไปให้พ้นจากสายตาลูกเพียงเล็กน้อย และค่อยโผล่มาจ๊ะเอ๋ให้ลูกตื่นเต้น ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีเดินออกไปให้พ้นสายตาลูกเพื่อเล่นจ๊ะเอ๋ สิ่งสำคัญ คือ จะต้องคอยส่งเสียงให้ลูกรู้อยู่ตลอดเวลาว่า เช่น อยู่ที่ไหนเอ่ย? แม่อยู่ไหน? เพื่อย้ำให้ลูกมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่ไกลเขานัก

เคล็ดลับในการเล่น จ๊ะเอ๋ ให้สนุกคือ คุณพ่อคุณแม่ควร เปลี่ยนช่วงเวลาซ่อนสั้น – ยาวสลับกันไป และใช้โทนเสียงหลาย ๆ แบบ (สูง ดัง ตื่นเต้น) เพื่อกระตุ้นให้เกิดอารมณ์สนุกให้ลูกได้ และควรเลี่ยงเสียงต่ำหรือเสียงเรียบ / โทนเดียว

และเมื่อลูกเริ่มเบื่อที่จะเป็นคนถูกจ๊ะเอ๋แล้ว คุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนให้ลูกเป็นคนเล่นจ๊ะเอ๋แทน โดยการเอาผ้ามาปิดหน้าลูก แล้วพูดว่า ลูกอยู่ไหนน้า? เพื่อให้ลูกใช้มือเปิดผ้าออกมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นหน้า (อย่าลืมแกล้งทำเป็นประหลาดใจเมื่อได้เห็นหน้าลูกนะคะ)

เล่นจ๊ะเอ๋

เกมนี้สามารถเรียกเสียงหัวเราะสดใสบอกอารมณ์พอใจสุด ๆ ของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่จะสัมผัสได้ว่าลูกชอบมาก เพราะนอกจากเกมนี้จะสนุกแล้ว การที่ได้เล่นกับคุณพ่อคุณแม่ การที่ได้จ้องหน้ามองตาคุณพ่อคุณแม่ เป็นสิ่งที่วิเศษที่สุดสำหรับลูกเลยล่ะค่ะ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ การเล่นจ๊ะเอ๋ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้อย่างไร?

จ๊ะเอ๋! ส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้อย่างไร?

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเล่นจ๊ะเอ๋ เป็นกิจกรรมพื้นบ้านที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนี้ และยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการและช่วยพัฒนาสมองในหลาย ๆ ด้านได้อย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย โดยประโยชน์ของการเล่นจ๊ะเอ๋ที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก มีดังนี้

การเล่นจ๊ะเอ๋ช่วยให้เด็กใน 2 ขวบปีแรกได้เรียนรู้เรื่องการคงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ (Object permanence) จากการที่แม่ปิดหน้า หรือซ่อนแอบตรงไหน แล้วเดี๋ยวเดียวก็เปิดหน้าออกมาให้เห็น เด็กจะเรียนรู้ว่าแม่หายไปจากสายตาเพียงแค่ชั่วคราวและเดี๋ยวแม่ก็กลับมานะ

ประโยชน์ในข้อนี้ จะช่วยเรื่องการฝึกสมองของลูกได้โดยตรง เพราะลูกจะต้องใช้การจดจำว่าพ่อแม่นั้นมักจะโผล่ทางไหน และความสนุกจะเกิดจากการจดจำว่าพ่อกับแม่เคยโผล่มาด้านไหน ตอนไหน และคาดเดาว่าครั้งต่อไปพ่อกับแม่จะโผล่ออกมาทางเดิมหรือเปล่านะ

นอกจากการสร้างความเชื่อให้ลูกแล้วว่าพ่อแม่จะยังอยู่ไม่ได้จากไปไหน ลูกจะเรียนรู้ว่าพ่อแม่นั้นมีอยู่จริง เพียงแต่อาจจะหายไปจากสายตาบ้าง แต่อีกสักพักพ่อแม่ก็จะกลับมาใหม่ สิ่งนี้ทำให้ลูกเกิดความเชื่อมั่นในตัวพ่อแม่ และเรียนรู้ที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกัน ลูกก็จะเรียนรู้ที่จะอดทนรอคอยในช่วงเวลาที่แม่ปิดหน้า หรือซ่อนหลังผ้า เด็กก็ต้องรอว่าเมื่อไรแม่จะเปิดหรือโผล่มา ซึ่งพัฒนาการนี้ สามารถพัฒนาไปสู่การอดทนรอคอยในเรื่องอื่น ๆ ที่มีความยากและซับซ้อนขึ้นตามมา เช่น แม่ไปเข้าห้องน้ำ ไปทำกับข้าว หรือออกไปทำงานนอกบ้าน

เล่นจ๊ะเอ๋กับลูก

เพราะการสื่อสารสำหรับเด็กเกิดขึ้นเมื่อการยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ มองตา หรือขยับมือ แขนขาของเด็กทารกได้รับการตอบสนอง เช่นเดียวกับปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นขณะที่ลูกเล่นจ๊ะเอ๋กับพ่อแม่ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการสื่อสารระหว่างกันประสบผลสำเร็จ ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้ จึงช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางการสื่อสารระหว่างกันได้เป็นอย่างดี

การเล่นจ๊ะเอ๋ คือช่วงเวลาที่มีลูกเป็นศูนย์กลาง การสบตา ทำเสียงสูงต่ำให้เร้าใจ ถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวให้แน่นแฟ้นจนเกิดความผูกพันขึ้นในหัวใจของลูก

สิ่งสำคัญที่สุดในการเล่นกับลูก คือ การที่คุณพ่อคุณแม่สนใจ มองตา มีปฏิสัมพันธ์กับลูกเพียงคนเดียว ไม่สนใจมือถือ งาน หรือสิ่งอื่น ๆ อยู่เมื่อเล่นกับลูก สิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างเวลาที่มีคุณภาพของครอบครัวได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้สำคัญมากนะคะ เพราะเมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะยังจำความรักและความเอาใจใส่ของคุณพ่อคุณแม่ได้เป็นอย่างดี เมื่อลูกเจอปัญหาใด ๆ มา ก็จะรับรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะยังคงอยู่ คอยให้กำลังใจและช่วยเหลือเขาได้ทุกเวลา

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

วิธีเล่นสนุกสร้างเสียงหัวเราะ เสริมพัฒนาการให้กับลูกน้อยวัย 0-1 ปี

เคล็ดลับดี๊ดี..กระตุ้นพัฒนาการ ทารกแรกเกิด-12 เดือน

7 ท่าคลานทารก เมื่อลูกน้อยคลาน ลูกเราคลานท่าไหนนะ

เสียงหัวเราะ เพิ่มอีคิวลูก ได้จริงหรือ?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids