AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

มหัศจรรย์การอ่าน นิทาน ออกเสียงกระตุ้นพัฒนาการลูก??

อ่านนิทานออกเสียงดีต่อพัฒนาการลูก

นิทาน แหล่งรวมคติสอนใจ ที่จุดประกายฝัน แต่รู้ไหมประโยชน์ของมันยังมีอีกมากเป็นธนาคารคำศัพท์ สร้างสัมพันธ์ครอบครัว สิ่งดีๆมีให้ลูกรักเพียงคุณเริ่มอ่านออกเสียง 

มหัศจรรย์การอ่าน นิทาน ออกเสียงกระตุ้นพัฒนาการลูก??

มหัศจรรย์แห่งการอ่าน เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต่างก็ยอมรับกันแล้วว่า การอ่านนั้นเป็นเรื่องที่ดี พ่อแม่ทุกคนต่างก็ภูมิใจ และสุขใจเมื่อเห็นลูกน้อยของเราหยิบหนังสือนิทานขึ้นมาอ่าน การดูเจ้าตัวน้อยนั่งอ่านหนังสือนิ่ง ๆ ด้วยท่าทีสนอกสนใจเป็นความรู้สึกที่ตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูกเลยทีเดียวใช่ไหม

การจะทำให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านนั้น เราต้องเริ่มต้นอย่างไร สั่งสอนกันแค่ไหน เลี้ยงดูกันมาอย่างไรนั้น ดูจะเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับพ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลา แต่เชื่อไหมว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำตามคำแนะนำของ นายแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่ได้ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส นอกจากชวนอ่านแล้วคุณหมอผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนานยังได้ขยายความและตีความในแบบฉบับสังคมไทย ๆ แล้วละก็ อาจจะอุทานในใจว่า ทำง่ายเพียงแค่นี้เอง

คุณพ่อคุณแม่คงเป็นคนหนึ่งที่มีนิสัยรักการอ่าน เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่ได้อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้เป็นแน่ รู้ไหมว่าคำตอบที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการว่า จะทำเช่นไรที่จะปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่ลูกนั้น มีวิธีที่ง่ายดายอย่างมาก นั่นคือ ลองอ่านสิ่งที่คุณอ่านออกเสียงออกมาดัง ๆ ให้เจ้าตัวน้อยไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดได้ยิน แค่นั้นเอง

หยิบยกตัวอย่างความมหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง

ความมหัศจรรย์ที่ 1 : นิทานเริ่มอ่านออกเสียงได้ตั้งแต่ในท้อง แล้วคอยตามเก็บเกี่ยวผลลัพธ์ที่น่าภาคภูมิใจ

บางคนอาจเข้าใจกันว่า การอ่านนิทานนั้นคงต้องเริ่มต้นในวัยที่ลูกสามารถรับรู้ สื่อสารกับคนอื่นได้ แต่คุณหมอได้แนะว่าการอ่านนิทานโดยที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคนอ่านออกเสียงให้ลูกฟังนั้น มีข้อดีคือ สามารถอ่านนิทานได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์ ถึงแม้ว่าเราจะเห็นว่าลูกไม่สามารถโต้ตอบ หรือแสดงอาการใด ๆ ที่สื่อให้เราเห็นถึงความเข้าใจของเขาในวัยทารกที่ยังมีพัฒนาการที่ไม่มากพอ แต่เขาจะซึมซับทั้งน้ำเสียง เรื่องราว วิธีการออกเสียง และความสัมพันธ์อันดีของพ่อแม่ไว้ เมื่อใดที่ศักยภาพทางด้านร่างกายของลูกพร้อมเขาก็จะสามารถแสดงมันออกมาราวกับว่าเขาคุ้นเคยมานาน จนคุณพ่อคุณแม่อาจประหลาดใจ และเชื่อเถอะว่าผลลัพธ์ที่ได้ช่างวิเศษ เสริมสร้าง IQ ที่ดีเป็นแน่

ทำไมการได้ยินเป็นเรื่องสำคัญ คำอธิบายง่ายๆ คือทารกได้ยินเสียงก่อนการอ่าน เราไม่จำเป็นต้องรอเด็กเล็กให้อ่านได้ เราควรพูดกับเขาและอ่านออกเสียงให้เขาฟังได้เลย นั่นเท่ากับการสร้างคลังคำศัพท์จำนวนมหาศาลตั้งแต่วันแรก และในงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่เราเคยได้ยินมาบอกแล้วว่าท่านอ่านนิทานให้ลูกฟังได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ แม้ว่าประการหลังนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างคลังคำศัพท์ แต่เสียงที่คุ้นเคยของแม่ตั้งแต่ในครรภ์จะช่วยให้เขาเป็นเด็กที่มีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดีได้ (temperament)

งานวิจัยที่ทำในนักเรียน 150,000 คนจาก 35 ประเทศเมื่อปี 2010 พบว่าบ้านที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อยๆ ทำคะแนนเมื่อชั้นประถม 4 มากกว่าบ้านที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นบางครั้ง 30 คะแนน

อ่านนิทานออกเสียง

ความมหัศจรรย์ที่ 2 : เมื่อคนอ่านสนุก นิทานเรื่องไหนก็สนุก สายสัมพันธ์ครอบครัวจึงบังเกิด

ไม่จำเป็นต้องเลือกนิทานที่ลูกชอบเสมอไป การนำนิทานที่พ่อแม่ชอบมาอ่านออกเสียงให้ลูกฟัง นอกจากผู้เล่าจะสามารถเสริมเพิ่มแต่งเทคนิคต่าง ๆ ได้ตามเนื้อเรื่อง เพราะเราชอบ และคุ้นเคยเนื้อเรื่องเป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายของสิ่งที่ลูกจะได้เรียนรู้ไปในตัวอีกด้วย อาจเป็นการเพิ่มสิ่งที่ลูกสนใจให้มีมากขึ้น เรียนรู้โลกได้แค่อยู่บ้าน ฟังนิทาน และเชื่อเถอะว่าเสียงของพ่อแม่นั้น ฟังยังไงก็น่าฟังสำหรับลูกเสมอ

การอ่านนิทานให้ลูกฟังมีข้อสำคัญข้อหนึ่งคือเราต้องสนุก จะเป็นนิทานเรื่องอะไร เหมาะกับเด็กอายุเท่าไร อาจจะเป็นเรื่องควรพิจารณาอยู่บ้าง แต่สำหรับบ้านเราที่วัฒนธรรมการอ่านไม่เข้มแข็ง ผมเลือกที่จะสื่อสารสาธารณะซ้ำๆ ว่า “อ่านไปเถอะ”

สำหรับในบางกรณีที่จำเป็นต้องลงรายละเอียดในการเลือกหนังสือนิทานมาอ่านออกเสียงนั้น คุณหมอก็พอมีแนวกว้าง ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ได้ใช้ในการเลือก ดังนี้

  1. ใส่ใจหน้าปก ขนาด หน้าหนังสือ ขนาดรูปภาพ และขนาดตัวอักษร
  2. เลือกที่มีคำซ้ำหรือคำคล้องจอง
  3. เลือกเรื่องสั้นๆ ข้อความไม่เยอะ
  4. เลือกเรื่องที่มีรูปภาพง่ายๆ ไม่รกตา
  5. เลือกเรื่องที่มีการตั้งคำถาม
  1. Books ให้หนังสือแก่เด็ก ให้เด็กได้เขียนชื่อตัวเองและเป็นเจ้าของหนังสือ มิใช่ทุกเล่มต้องขอยืมจากห้องสมุด
  2. Baskets ทำตะกร้าหนังสือไว้ในที่ที่เด็กจะได้หยิบ และหยิบง่าย วางหนังสือไว้ทั่วบ้านดีกว่าเก็บหนังสือไว้กระจุกเดียว
  3. Bed Lamp ซื้อโคมไฟหัวเตียงอ่านหนังสือให้แก่ลูก ข้อนี้อ่านแล้วออกจะโหดเล็กน้อย ถ้าเด็กอ่านหนังสือเราจะเปิดไฟให้อ่านแล้วขยายเวลาเข้านอนไปได้อีก 15 นาที ถ้าเด็กไม่อ่านหนังสือเราจะปิดไฟนอนตามเวลาเดิม เป็นไปได้หากทำจนเป็นนิสัยตั้งแต่เล็กเพียงเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านก่อนเข้านอน

ความมหัศจรรย์ที่ 3 : คำศัพท์แห่งการฟังเป็นต้นทุนของการพูด อ่าน เขียน จุดเริ่มต้นการเกิดพัฒนาการทางสติปัญญา

คุณพ่อคุณแม่สมัยนี้มักเริ่มวางแผนอนาคตลูกด้วยการออมเงิน ฝากธนาคารให้แก่เขาตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อเขาจะได้มีทุนสร้างตัวในภายภาคหน้า การเรียนรู้ก็เช่นกัน หากเราเริ่มอ่านนิทานออกเสียงให้กับลูกฟังตั้งแต่ยังเล็ก ก็เปรียบเสมือนการให้ลูกสะสมคำศัพท์ ค่อย ๆ เรียนรู้ไปทีละคำสองคำ เมื่อสะสมได้มากเข้า การอ่าน หรือ การเขียนก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

เราอ่านนิทานให้เด็กฟังเพื่อสร้างคลังคำ คลังคำจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับชั้น กลุ่มแรก คือคำศัพท์เพื่อการฟัง (listening vocabulary) อ่างน้ำที่ใช้เก็บคลังคำเพื่อการฟังได้จากการฟัง ฟังจนล้นแล้วจึงไหลลงสู่อ่างที่สองอันเป็นที่อยู่ของคลังคำกลุ่มต่อมาคือคำศัพท์เพื่อการพูด (speaking vocabulary)

พัฒนาการด้านภาษาเป็นเช่นนี้เอง การสร้างคลังคำที่เกิดจากการได้ยินจึงเป็นเรื่องสำคัญและเราสร้างได้ทันทีตั้งแต่แรกเกิด เด็กที่มีคลังคำเพื่อการฟังมากกว่าจะฟังเก่งขึ้นทุกวัน นำไปสู่พัฒนาการของคลังคำด้านอื่นๆ มากขึ้นทุกเดือน แล้วเรื่องก็จะไปจบที่โรงเรียน

คลังคำศัพท์จาก นิทาน

คุณหมอได้ชี้ให้เห็นถึงว่า เวลาเราพูดจะมีการใช้คำศัพท์ประมาณ 5,000-10,000 คำเท่านั้น แต่การอ่านนั้นจะทำให้ลูกได้พบกับคำศัพท์เพิ่มจากความหมายเดียวกัน เช่น สวย เลอโฉม งดงาม เป็นต้น

การพูดจากันในชีวิตประจำวันของคนเราใช้คำศัพท์เพียง 5,000 คำ อย่างมากไม่เกิน 10,000 คำ และคำที่ใช้บ่อยจริงๆ มีเพียง 1,000 คำ ตัวเลขเหล่านี้แตกต่างกันบ้างในตำราเล่มต่างๆ แต่ก็ใกล้เคียงกัน ความละเอียดมีปรากฏในบทที่ 1 หน้า 43 ของหนังสือเล่มนี้ แต่ในหนังสือนิทานสำหรับเด็ก หรือหนังสือนิทาน หรือหนังสือวรรณกรรมเยาวชน มีคลังคำศัพท์มากมายกว่าตัวเลขนี้มาก ดังนั้นการอ่านนิทานด้วยการอ่านออกเสียงเป็นเรื่องสำคัญ

ความมหัศจรรย์ที่ 4 : พักสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เงี่ยหูฟังเสียงกระซิบแห่งแรงบันดาลใจ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และมีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ การมีปฎิสัมพันธ์โต้ตอบกับผู้คนรอบข้างจึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาการทั้งทางด้านสติปัญญา และทางสังคม ส่วนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ในปัจจุบันแม้จะสามารถมอบความรู้ที่มากมายท่วมท้น แต่ก็ไม่สามารถทำให้เกิดการโต้ตอบ ปฎิสัมพันธ์ระหว่างกันได้

การที่มีภาพและเสียงเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงถึงปฎิสัมพันธ์ระหว่างสื่ออิเล็กทรอนิกส์กับโรคสมาธิสั้น ดังนั้นการได้หยุดพักสื่อต่าง ๆ เหล่านี้บ้าง แล้วลองหยิบหนังสือมาอ่านออกเสียงให้แก่ลูกได้ฟัง หรือพักชีวิตให้ช้าลงบ้าง เพื่อให้เขามีเวลา และความสงบในการได้ยินเสียงกระซิบแห่งแรงบันดาลใจจากภายในตัวเอง เพื่อค้นพบตัวตนบ้างก็ดีไม่น้อย

วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง สื่ออิเล็กทรอนิกส์จะมีประโยชน์เพียงใดก็แย่งเวลาไปจากเด็กๆ ทั้งสิ้น มีงานวิจัยจำนวนมากที่บอกว่าจำนวนเวลาที่เด็กใช้ดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์สัมพันธ์กับสมาธิสั้น ผลสัมฤทธิ์การศึกษาที่ลดลง และ EQ ที่ลดลง สื่ออิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้คลังคำของเด็ก 3 ขวบมากขึ้นแต่หลังจากนั้นจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ และจะไม่มีคำใหม่อะไรอีกเลยหลังจาก 10 ขวบ เพราะรายการทั้งหมดที่เราดูใช้คำศัพท์วนเวียนไปมาในจำนวนคงที่

ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ที่หยิบยกมานั้น เป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่ข้อ ที่แสดงให้เราเห็นถึงประโยชน์ในการอ่านนิทานออกเสียงให้แกลูกฟังเท่านั้น คุณหมอยังมีประเด็นดี ๆ น่าสนใจอีกมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่ดีต่อพัฒนาการในทุกด้านของลูก แค่เพียงพ่อแม่อย่างเราเริ่มลงมือทำ ซึ่งอยากขอเป็นแรงสนับสนุนอีกเสียงในเรื่องนี้ จากประสบการณ์โดยตรงของตัวผู้เขียนเองที่ได้นำวิธีการอ่านนิทานออกเสียงให้ลูกฟังทุกคืนก่อนนอนว่าผลลัพธ์มันดีจริง ๆ

พักสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาฟัง นิทาน

การอ่านนิทานออกเสียงนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเย็น และคนทุกคนไม่ว่ามีฐานะใด สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ขอเพียงแค่มีความตั้งใจจริงในความต้องการพัฒนาลูกให้ได้รับพัฒนาการที่ดี ที่จะเป็นบ่อเกิดความสำเร็จในอนาคตของเขาได้ รับรองได้ว่าเพียงแค่อ่านนิทานออกเสียงให้เขาฟัง เป้าหมายที่ตั้งใจหวังไว้นั้นก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

“ขอผมเตือนใจคุณว่าวรรณกรรมรูปแบบต่างๆ ล้วนมีศักยภาพที่จะขยายขอบเขตความรู้ของเด็กทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะมีภูมิหลังหรือประสบการณ์แบบไหน จะมีอภิสิทธิ์หรือความยากจน เมื่อเราอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง เราทำให้พวกเขาได้เห็นสิ่งใหม่ๆ และมีวิสัยทัศน์ใหม่ๆ เราทำให้พวกเขามีวิธีใหม่ๆ ในการรับมือกับความทุกข์และสุขในชีวิต เรามอบโอกาสใหม่ๆ ในการเพิ่มพูนภาษาและความเข้าใจ เราช่วยให้พวกเขาตระหนักว่ายังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากมายแค่ไหน

เมื่อเราอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง เราแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเมื่อมีความรู้เพิ่มขึ้นนิดหน่อยเราก็ตั้งคำถามได้ดีขึ้น และเมื่อตั้งคำถามได้ดีขึ้นก็ยิ่งผลักดันให้เราอ่านมากขึ้น เมื่อเราอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง เราแนะนำพวกเขาให้รู้จักผู้คนที่เหมือนกับพวกเขา และผู้คนที่พวกเขาไม่เคยแม้แต่จะจินตนาการถึง … เราช่วยให้พวกเขาตระหนักว่าครอบครัวของพวกเขา เป็นเพียงหนึ่งในครอบครัวหลากหลายรูปแบบ … แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่สื่อออกมาจากการอ่านออกเสียงให้เด็กฟังก็คือ การใช้เวลาอ่านหนังสือกับเด็กๆ เป็นเรื่องคุ้มค่าสำหรับเรา”

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก FB : นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ / Bookscape

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก 

โหลดฟรี! 100 นิทานก่อนนอนสำหรับเด็ก อ่านให้ลูกฟังทุกคืนมีแต่ได้กับได้

หมอเผย..แท้จริงแล้ว! ลูกควรเข้าโรงเรียนกี่ขวบ กันแน่?

7 นิทานไทย นิทานพื้นบ้านสนุก ๆ ให้แง่คิด สอนใจลูกทุกวัย

กระต่ายกับเต่า นิทานอีสปสุดคลาสสิค สอนลูกเข้าใจ “แค่เก่งอย่างเดียวอาจไม่พอ”

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids