AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เทคนิคสร้างSelf-efficacyช่วยลูก แก้ปัญหา ได้ด้วยตัวเอง

เทคนิค

แก้ปัญหา ได้เองเป็นทักษะที่พ่อแม่อยากให้ลูกมี นักจิตวิทยาแนะจะเพิ่มพูนทักษะนี้ต้องสร้าง Self-efficacyการรับรู้ความสามารถของตนเองก่อน สร้างอย่างไรเรามีเทคนิค

เทคนิคสร้างSelf-efficacyช่วยลูก แก้ปัญหา ได้ด้วยตัวเอง

เมื่อโลกไม่หยุดนิ่ง การเรียนรู้ของมนุษย์ก็ไม่หยุดตาม ความเป็นพ่อเป็นแม่ก็คงต้องพัฒนาให้ทันสมัยอยู่เสมอด้วยเช่นกัน ทฤษฎีทางจิตวิทยาหลากหลายเริ่มเข้าสู่กระบวนการเลี้ยงลูกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่พ่อแม่อย่างเรา ๆ สามารถเข้าใจถึงหลักความคิดของมนุษย์ อันเป็นหลักที่ซับซ้อน ประกอบด้วยหลายปัจจัย แต่ถ้าเราทราบถึงแนวทางทฤษฎีทางด้านจิตใจของมนุษย์ไว้บ้างแล้วละก็ การอบรมเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่นั้น ก็คงจะเดินไปในทางที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องลองผิดลองถูกให้เสียเวลา เพราะชีวิตลูกของเรานั้นคงไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่อยากให้เขาประสบแต่ความสุข ความสำเร็จในชีวิตเป็นแน่

ทำความรู้จักกับ Self-efficacy กันก่อน

Self Efficacy Theory ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถของตนเอง ของนักจิตวิทยาชาวแคนนาดา อัลเบิร์ต แบนดูร่า ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งในทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม

คุณพ่อคุณแม่ในยุคปัจจุบันคงเคยคุ้นหูคุ้นตากับคำว่า Self-esteem หรือความภาคภูมิใจในตนเอง กันมามากแล้ว ส่วน Self-Efficacy หรือการรับรู้ความสามารถตนเองนั้น จะเป็นรากฐานของการเกิด Self-esteem หรือความภาคภูมิใจในตนเองต่อไป จึงนับได้ว่าทั้งสองสิ่งนี้มักมาคู่กันเสมอ

นั่นคือ ถ้าบุคคลมีความเชื่อว่าตนเองมีความสามารถ(Self-efficacy)อย่างไร ก็จะแสดงออกถึงความสามารถนั้นออกมาตามนั้น   คนที่มีความเชื่อในตนเองว่ามีความสามารถพอ ก็จะมีความอดทนอุตสาหะ ไม่ท้อถอย กล้า เผชิญหน้ากับอุปสรรค จัดการปัญหาในชีวิตที่เกิดขึ้นได้ และจะพยายามจนประสบความสำร็จ เมื่อคนนั้นสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเองแล้วก็จะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-esteem)ตามมา

แก้ปัญหา ด้วยself-efficacy

องค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการสร้าง Self-efficacy การรับรู้ความสามารถของตนเอง

  1. ประสบการณ์ที่ตนเองสามารถประสบความสำเร็จด้วยตนเอง(Enactive mastery experience)เป็นสิ่งที่ส่งผลมากที่สุดในการพัฒนาการรับรู้ความสามารถของตนเอง เนื่องจากการที่บุคคลกระทำและประสบความสำเร็จด้วยตนเองจะส่งผลให้บุคคลเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองเพิ่มมากขึ้น จนทำให้มีความพยายามในการปฏิบัติพฤติกรรมต่าง ๆ แม้ว่าจะพบเจอกับอุปสรรค หรือพบกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังก็ไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากบุคคลจะไม่ได้มองว่าความล้มเหลวนั้นมาจากการที่ตนขาดความสามารถ แต่เป็นผลจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ยังพยายามไม่พอ สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนสถานการณ์ให้เกิดความสำเร็จได้โดยพยายาม และฝึกทักษะมากขึ้นเพื่อให้บรรลุผลตามที่คาดหวังไว้
  2. การได้เห็นแบบอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จ(Vicarious experience หรือ modeling) การได้เห็นประสบการณ์หรือแบบอย่างจากบุคคลอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับตนกระทำพฤติกรรมใดๆ แล้วประสบความสำเร็จ จะทำให้ผู้สังเกตรับรู้ว่าตนเองนั้นก็สามารถที่จะกระทำหรือประสบความสำเร็จได้เช่นกัน หากมีความพยายามจริงและไม่ย่อท้อ ซึ่งตัวแบบนั้นมีสองประเภท คือ ตัวแบบที่เป็นบุคคลจริง คือ ตัวแบบที่บุคคลได้มีโอกาสสังเกตและมีปฏิสัมพันธ์โดยตรง และตัวแบบสัญลักษณ์ คือ ตัวแบบที่ได้รับผ่านสื่อต่างๆ หรือนิทาน
  3. การมีคำพูดชักจูง (Verbal persuasion) การได้รับคำพูดโน้มน้าวให้บุคคลเชื่อมั่นว่าตนเองมีความสามารถที่จะกระทำพฤติกรรมได้สำเร็จ อาจเป็นคำพูดในลักษณะชักจูง แนะนำ อธิบาย ชื่นชม ทำให้เกิดกำลังใจและความมั่นใจ อย่างไรก็ตามปัจจัยนี้ไม่ค่อยได้ผลนัก อาจช่วยได้ในระยะสั้น ถ้าจะให้ได้ผลต้องเกิดควบคู่กับปัจจัยแรก เช่น คำคมสร้างแรงบันดาลใจ
  4. สภาวะด้านร่างกายและอารมณ์ (Physiological and affective states) การมีสภาวะร่างกายแข็งแรง มีภาวะสุขภาพที่ดีจะทำให้บุคคลมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน หากบุคคลมีสภาวะร่างกายอ่อนแอ หรือมีอาการเจ็บป่วย ย่อมจะส่งผลในทางตรงกันข้าม เช่นกันกับสภาวะด้านอารมณ์ ถ้ามีอารมณ์บวก เช่น รู้สึกมีความสุข รู้สึกมีคุณค่าในตนเอง มีความพอใจ จะส่งผลให้มีความเชื่อในความสามารถแห่งตนเพิ่มขึ้น แต่หากสภาวะด้านอารมณ์เป็นลบ เช่น เครียด วิตกกังวล กลัว จะส่งผลให้ความเชื่อในความสามารถแห่งตนของบุคคลลดลง และอาจหลีกเลี่ยงการกระทำพฤติกรรมนั้นๆ ได้

เทคนิคเสริมสร้าง Self-efficacy ตั้งแต่วัยเด็ก

พ่อแม่หลาย ๆ คนมักจะคิดแค่ว่า วัยเด็กนั้นหน้าที่สำคัญก็คือ “การเรียน” แต่ถ้าเราไปโฟกัสเฉพาะแค่เรื่องเดียว ก็เท่ากับเราทำให้ลูกพลาดโอกาสที่จะรับรู้ว่าตัวเขาเองมีความสามารถอะไรบ้าง เพราะคนเราทุกคนคงไม่ได้มีความสามารถเฉพาะแค่เรื่องเรียนเท่านั้นที่สมควรแก่การได้รับการชื่นชม และถ้าบังเอิญลูกไม่สามารถทำผลการเรียนได้ดีเท่าที่คุณพ่อคุณแม่หวัง ก็จะกลายเป็นการทำลาย Self-efficacy ของเขาไป

แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วเดี๋ยวลูกจะกลายเป็นเด็กไม่สนใจเรียน เรียนไม่เก่ง เพราะเมื่อคุณชื่นชมในตัวลูกให้เขารับรู้ได้ถึงความสามารถในตัวเองแล้ว เท่ากับเราไปสร้าง Self-efficacy ทำให้เกิดความมุ่งมั่น ความพยายาม บากบั่นให้กับเขาในทุก ๆ เรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องยาก ๆ เช่น การเรียนในวิชาที่ไม่ชอบ ลูกก็จะมี Mindset ที่ว่าเขามีความสามารถทำให้มันดีได้ แต่อาจจะพยายามไม่มากพอ เมื่อเขาพยายามความสำเร็จก็รอเขาอยู่แน่นอน

ชื่นชมลูกเพิ่มทักษะ แก้ปัญหา

งานวิจัยทางจิตวิทยาจาก Harvard Grant Study พบว่า การสอนให้ลูกทำงานบ้านนั้น มีประโยชน์หลายอย่างในระยะยาว เพราะลูกของเราจะมีการเตรียมตัวให้พร้อมต่อการทำงานในอนาคตได้ฝึกการวางแผน ฝึกการจัดลำดับความสำคัญ ฝึกการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า กล้าคิด กล้าตัดสินใจ ฝึกระเบียบ และที่สำคัญทำให้ลูกของเรามี Self-efficacy และมี Self-esteem ตามมา

การเลือกงานบ้านใด ๆ ให้ลูกได้รับผิดชอบ เป็นสิ่งที่ต้องระวังสำหรับคุณพ่อคุณแม่สักหน่อย เพราะควรเลือกงานที่เหมาะสมกับวัยของลูก ประเมินดูว่าเขาโตพอที่จะสามารถทำงานบ้านงานนั้นได้สำเร็จลงด้วยตนเองไหม ในช่วงแรกคุณแม่อาจจะให้ลูกเป็นลูกมือก่อน ลงมือทำเป็นตัวอย่างให้เขาได้เห็นก่อนสักพัก จึงค่อยปล่อยให้เขาได้ลงมือทำเอง สิ่งสำคัญคือ เมื่อเราคิดว่าเขาสามารถทำได้เองแล้ว เราควรปล่อยให้เขาได้ลองทำด้วยตนเองจริง ๆ ทำผิดบ้างถูกบ้าง ก็ต้องปล่อยให้เขาทำจนสำเร็จ เพราะลูกจะได้รู้สึกว่าผลงานนั้นเป็นของเขาเองจริง ๆ และลูกจะภูมิใจในตัวเอง และรับรู้ถึงความสามารถที่ตนเองมีแน่นอน

งานวิจัยทางจิตวิทยาจาก Harvard Grant Study พบว่า ความสุขในชีวิต   แปรผันตรงกับการได้รับความรัก นั่นก็คือ ยิ่งลูกของเราได้รับความรักมากเท่าไร เขาก็จะมีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งความรักที่ได้ต้องเป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไขใด ๆ สังคมไทยเรามักจะอายเวลาที่จะแสดงความรักให้ลูกเห็น ยิ่งโตการแสดงความรักยิ่งน้อยลง แต่เรามักจะแสดงความรัก ความภูมิใจในตัวลูกก็ต่อเมื่อเขาทำตามความคาดหวังของเราสำเร็จเท่านั้น สิ่งนี้คือเงื่อนไขที่เราอาจสร้างขึ้นโดยไม่รู้ตัว เช่น อยากให้พ่อแม่รักต้องทำตามที่ท่านบอกเท่านั้น ความคิดเช่นนี้จะนำพาความเครียด โรคซึมเศร้า หรือพฤติกรรมการต่อต้านพ่อแม่ตามมาหากเขารู้สึกว่าพ่อแม่เป็นตัวกดดัน ไม่ใช่คนที่คอยให้กำลังใจ

งานบ้านสอน แก้ปัญหา

อย่างที่กล่าวไว้แต่ต้นว่า Self-efficacy นั้นเกิดจากการที่คน ๆ นั้น ผ่านประสบการณ์การประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเอง สิ่งสำคัญคือ คำว่าด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าลูกจะได้รับรางวัลมากมายแค่ไหน แต่ถ้าเขาไม่รู้สึกว่ามันมาจากตัวเองก็เปล่าประโยชน์ในการสร้าง Self-efficacy เพราะลูกจะรู้สึกแค่ว่าเขาได้ทำตามคำสั่งสำเร็จเท่านั้น มิใช่ประสบความสำเร็จ ความภาคภูมิใจที่ได้รับต่างกัน ดังนั้นเราควรปรับบทบาทจากผู้ควบคุมให้ลูกทำอะไร มาเป็นคนคอยให้คำปรึกษา หรือชี้แนะแนวทางช่วยเหลือเขาจะดีกว่า

เลือกใส่ใจให้ถูกจุด หากคุณพ่อคุณแม่มัวแต่ใส่ใจ ชื่นชมในผลลัพธ์ หากมันออกมาไม่ได้ดั่งใจ อาจทำให้ลูกเสียกำลังใจ และคิดว่าเขาไม่เก่งพอ ความกล้า ความเชื่อมั่นในการ แก้ปัญหา ของลูกคงไม่พัฒนาไปในทางที่ดีแน่ แต่ถ้าเราเปลี่ยนการใส่ใจเป็นการใส่ใจที่วิธีการที่จะได้มาซึ่งเป้าหมาย จะทำให้ลูกเข้าใจว่าแม้อาจจะพลาดเป้าไปบ้าง แต่ถ้าพยายาม รู้จักปรับเปลี่ยนวิธีการก็สามารถนำพาตนเองไปถึงเป้าหมายได้ การรับรู้ในความสามารถของตนเองของลูกก็ยังคงอยู่ และได้เรียนรู้เพิ่มว่าจะทำตัวยังไงให้ประสบผลสำเร็จ ก็ต้องพัฒนาตนเองยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อใดก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้าง Self-efficacy การรับรู้ความสามารถของตนเอง จนเกิด Self-esteem ความภูมิใจในตนเองให้แก่ลูกได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นลูกก็จะเกิดความรู้สึกหนึ่งในใจ I Can ฉันสามารถทำได้ แล้วจะตามมาด้วย I will ฉันจะทำให้มันสำเร็จ และเชื่อเถิดว่าถ้ารากฐานทางความคิดของลูกดีพอแล้ว ทักษะทางการแก้ปัญหาของเขาที่ได้รับจากคุณ จะทำให้ลูกได้รับผลสำเร็จจากความพยายามแก้ปัญหาในชีวิตของเขาเองได้อย่างแน่นอน นั่นคือ I Success

   ข้อมูลอ้างอิงจาก FB:Phychology CU / iStrong Mental Health

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

5 นิทานคุณธรรม ปลูกฝังให้ลูกทำดีได้ตั้งแต่เล็ก!

วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้ว! 10 ปัจจัยนี้ทำให้ลูกฉลาดได้

เลี้ยงลูกแบบไม่ดุ 5 วิธีง่ายๆ ทำแบบนี้ลูกก็เชื่อฟังได้

8 วิธีสอนลูกเมื่อลูกทําผิด พร้อมหลัก 4 ข้อเพื่อฝึกวินัยให้ได้ผล

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids