ข่าวทำร้ายร่างกาย ใช้ความรุนแรงต่าง และคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นบ่อย จนคุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นกังวลกับอนาคตของลูกน้อย ไม่ใช่แค่กลัวว่าจะ “ตกเป็นเหยื่อ” แต่จะทำอย่างไรหากลูกกลายเป็น “ฆาตกร” เสียเอง …ปัจจัยหนึ่งที่หลอมให้เด็กคนหนึ่งโตขึ้นเป็นอย่างไร มาจากครอบครัว และพ่อแม่คือคนทำหน้าที่ เลี้ยงลูกไม่ให้โตไปฆ่าใคร
ลูกเป็นคนแบบไหนเริ่มต้นที่พ่อแม่ เลี้ยงลูกไม่โตไปฆ่าใคร
เบื้องหลังของฆาตกรเลือดเย็นที่ก่อเหตุเลวร้ายได้อย่างสะทกสะท้าน กลับมาจากสภาพจิตใจที่เปราะบาง สิ่งแวดล้อมบีบคั้น และสภาพครอบครัว ที่ขาดความรัก นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่คนๆ หนึ่งจะฆ่าคนได้อย่างไม่รู้สึกผิดไว้ว่า
“ในเชิงจิตวิทยา โจรมี 2 แบบ คือ ทำร้ายคน กับไม่ทำร้ายคน ถึงความรุนแรงจะไม่เท่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่โจรทั้งสองแบบนี้เหมือนกันคือ “ขาดความสามารถในการเข้าถึงความทุกข์ของผู้อื่น” (หรือขาดเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ) จึงไม่เข้าใจความรู้สึกของเหยื่อที่ว่าเจ็บปวด สูญเสียอย่างไร ผู้ร้ายที่ฆ่าคนได้เป็นตัวอย่างของการสูญเสียความสามารถนี้สมบูรณ์แบบ นั่นคือไม่รู้เลยว่าการกระทำของตนสร้างความเจ็บปวดแสนสาหัสทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อเหยื่ออย่างไร”
ข้อมูลวิชาการเชิงจิตวิทยา ระบุว่า 75 % ของฆาตกรไม่มีอารมณ์อาทรผู้อื่น ไม่รู้สึกรับผิดชอบใดๆจากการกระทำของตน จะคิดแต่ความต้องการของตัวเองเท่านั้น จากการทดสอบสภาพจิตใจเมื่อได้ยินเสียงดัง หรือได้ยินคำที่ส่ออารมณ์เชิงลึก เช่น “ฆ่า” “สังหาร” หรือ “ทำร้าย” คนร้ายจะไม่ตกใจ กระสับกระส่าย เหงื่อแตก หรือมีผลต่อจิตใจอย่างกับคนปกติทั่วไป
กระบวนการสร้าง ความเข้าใจถึงจิตใจผู้อื่น เป็นเรื่องควรปลูกฝังให้เด็กตั้งแต่ยังเล็ก เรื่องนี้ไม่เกิดจากการสั่งสอน หากเกิดจากการบ่มเพาะทางจริยธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่ “ห้ามฆ่าสัตว์” เท่านั้น “ แต่เริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆในบ้าน ว่าคุณพ่อคุณแม่จะ เลี้ยงลูกโตไปไม่ฆ่าใครได้อย่างไร
เลี้ยงลูกโตไปไม่ฆ่าใคร ทำอย่างไร
ปลูกฝังความเห็นใจผู้อื่นด้วย “งานบ้าน”
เด็กๆ จะเรียนรู้วิธีคิดว่า สิ่งใดถูกต้อง ไม่ถูกต้อง รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำ รู้วิธียับยั้บชั่งใจ ด้วยตัวเอง ไม่ได้มาจากคำพร่ำสอนของพ่อแม่เท่านั้น แต่เริ่มต้นด้วยให้ลูกดูแลร่างกายตัวเอง (ตามวัย) เช่น กินข้าวเอง อาบน้ำถูสบู่เอง ถัดมาก็ให้รับผิดชอบเรื่องรอบตัว อย่าง ใส่เสื้อผ้า รองเท้าเอง เก็บที่นอนเอง แล้วค่อยขยายวงให้กว้างขึ้นด้วยการรับผิดชอบเรื่องงานบ้าน ช่วยแม่ล้างจาน กรอกน้ำ กวาดถูบ้าน ซักตากถุงเท้า เป็นต้น
เมื่อเด็กทำได้แล้ว จึงค่อยสอนให้เคารพกติกาสาธารณะ เช่น ไม่ส่งเสียงดัง หรือ วิ่งเล่นในร้านอาการ ทิ้งขยะให้เป็นที่ ไม่แซงคิว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนเอง รู้วิธียับยั้งชั่งใจ (โดยไม่ต้องคอยบอก) และเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น นี่เป็นขั้นตอนแรกในการ เลี้ยงลูกไม่ให้โตไปฆ่าใคร
ฝึกลูก “รักตัวเอง” จากคำชมมากกว่าคำติ
เด็กทุกคนต้องการ “คำชม” จากพ่อแม่ เพราะนั่นเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ดี กลายเป็นความภาคภูมิใจ มีตัวตน เมื่อทำได้ลูกก็อยากทำอีก ซึ่งเป็นเกราะป้องกันไม่ให้หันไปทำเรื่องเลวร้าย ในทางตรงกันข้าม พ่อแม่มีแต่คำติ ไม่เคยชม ไม่กอด ไม่แสดงความรัก ความภูมิใจในเรื่องดีจะค่อยๆหายไป และหันไปทำเรื่องแย่ๆแทน เพื่อได้รับความสนใจ จากพ่อแม่ หรือคนรอบตัว
อ่านต่อ วิธีเลี้ยงลูกไม่โตไปเป็นฆาตรกร หน้า 2
ขณะที่ คุณหมอจิตวิทยา เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้แนะนำวิธีเลี้ยงลูกให้ห่างไกลจากการเป็นผู้ร้ายเลือดเย็น ซึ่งเริ่มต้นจากตัวของคุณพ่อคุณแม่เอง ดังต่อไปนี้
พ่อแม่ต้องใกล้ชิดผูกพัน ให้ความอบอุ่น
เด็กจะรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ไว้วางใจพ่อแม่ เป็นพื้นฐานจิตใจที่จะนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น เด็กก็จะทำพฤติกรรมแบบเดียวกันกับพ่อแม่ โดยเริ่มจากการเห็นใจพ่อแม่ตัวเองก่อน เพราะไม่อยากให้ท่านป็นทุกข์ใจ
เข้าใจให้มาก รักแต่พอดี
แม้ฆาตกรส่วนใหญ่จะมีภูมิหลังครอบครัวที่เจ็บปวด ขาดความรัก โดนทิ้ง โดนทำร้ายทั้งกายและใจ จึงไม่ไว้ใจใครและเลียนแบบพฤติกรรมนี้กับคนอื่นๆ ในทางกลับกัน การได้รับความรักมากเกินไป แบบ Overprotected ตามใจทุกอย่างลูกก็จะกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่สนใจถ้าทำในเรื่องที่คนอื่นเดือดร้อน
เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น
ความเสี่ยงหนึ่งของเด็กที่กลายเป็นอาชญากร ก็คือ พ่อแม่ทำในเรื่องผิดๆให้ลูกเห็นบ่อยๆ หรือเด็กเห็นตัวอย่าง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอาชญากรรม หมอเคยดูคนไข้ที่มาด้วยเรื่องขโมยของเพื่อน เมื่อซักประวัติไป ก็พบว่าพ่อของเด็กก็เป็นคนที่ชอบคดโกง เอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง เมื่อเด็กเห็นสิ่งไม่ดีมาตั้งแต่เด็ก ก็มีแนวโน้มที่จะมองว่าเรื่องไม่ดีเป็นเรื่องปกติที่คนทำกัน
สอนให้ลูกมีความรับผิดชอบและควบคุมตัวเอง
เด็กๆจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ต้องรู้จักที่จะควบคุมตัวเองได้ รู้ว่าอะไรควรไม่ควรทำ มีวินัย รับผิดชอบ ถ้าพ่อแม่ไม่สอน เด็กๆก็จะไม่รู้
สอนให้รู้จักว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ
พ่อแม่ควรจะใจดี ใจเย็น แต่ไม่ควรใจอ่อนเกินไป เวลาที่บอกเด็กว่าอะไรที่ต้องทำ หรือห้ามทำอะไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น อย่างไรก็ตามก็ต้องเข้าใจความต้องการ ความรู้สึกว่าเด็กคงไม่ชอบที่พ่อแม่ขัดใจ แต่ก็ต้องยืนยันไปตามที่ตกลงกัน เขาจะรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ
จับถูก (แทนจับผิด) และชมเชย
เมื่อเห็นว่าเด็กทำอะไรที่ดี ก็ต้องรีบชมเชย เป็นกำลังใจและสร้างแรงจูงใจที่ให้เขาทำดีต่อไป
เอาใจลูกมาใส่ใจเรา
เด็กจะรู้สึกดีถ้าพ่อแม่เห็นอกเห็นใจ รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของเขา ในสถานการณ์ความขัดแย้งกัน การแสดงออกว่าพ่อแม่เข้าใจว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร จะทำให้คุยกันเข้าใจขึ้น และเมื่อลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ก็เข้าใจและเห็นใจเขา เขาก็จะเข้าใจและเห็นใจคนรอบข้างต่อไป
สอนวิธีจัดการกับความโกรธให้ลูก
อารมณ์โกรธเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ที่สำคัญกว่าคือ การจัดการความโกรธนั้นของตัวเอง เช่น โกรธได้เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การจัดการความโกรธอย่างเหมาะสมสำคัญกว่า ไม่ใช่ว่าโกรธแล้วจะต้องทำร้ายทำลายคนอื่น พ่อแม่ก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง ว่าโกรธได้ แต่สามารถจัดการได้ เช่น โกรธก็ไปหาอะไรทำ ปรึกษาคนที่ไว้ใจ ไปออกกำลังกาย เป็นต้น
สอนให้ลูกคิดถึงอนาคต มีเป้าหมายในชีวิต
หลายๆครั้งเด็กที่ทำผิดรุนแรง เป็นเพราะตามเพื่อน หรือ คิดอะไรง่ายๆ สั้นๆ ถ้าเด็กมีเป้าหมายว่าอนาคตอยากทำอะไร เป็นอะไร เด็กก็จะมีแนวโน้มดูแลตัวเองเพื่อไปสู้เป้าหมายนั้นได้ ลองพูดคุยถึงความฝันความหวังของเด็กเมื่อมีโอกาส
ปลูกฝังความกล้าที่จะปฏิเสธในเรื่องไม่ถูกต้อง
เด็กๆส่วนหนึ่งที่ทำผิด เกิดเพราะการกดดันจากกลุ่มเพื่อน ว่าถ้ารักเพื่อนต้องทำตามๆกัน ต้องช่วยกัน แม้ว่าบางครั้งจะเป็นเรื่องที่ผิด เช่นไปเสพยาเสพติด ไปล้างแค้นฝ่ายตรงข้าม ควรปลูกฝังเรื่องความหนักแน่น กล้าที่จะปฏิเสธในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
รู้จักเพื่อนของลูก
ลองชวนเพื่อนลูกมาเที่ยวบ้าน ทำอาหารให้กิน พูดคุยกัน พ่อแม่จะได้รู้เขารู้เรา ว่าเพื่อนๆที่ลูกคบอยู่เป็นคนแบบไหนยังไงบ้าง
อย่าทำโทษลูกด้วยวิธีรุนแรง
เวลาลูกทำผิด บอกเขาว่าอะไรที่ไม่ควรทำ และเพราะอะไร หลีกเลี่ยงการทำโทษรุนแรง เช่น การใช้คำพูดรุนแรง การตีรุนแรง หรือการทำร้ายร่างกาย การถูกกระทำรุนแรงบ่อยๆโดยเฉพาะจากพ่อแม่ จะทำให้ลูกเกิดบาดแผลทางใจ และซึมซับพฤติกรรมรุนแรง และอาจจะกลายเป็นคนรุนแรงที่ไม่เห็นอกเห็นใจใคร
อ่านเรื่องน่าสนใจอื่นๆ
เลี้ยงลูกอย่างไร? ให้ลูกมี พัฒนาการด้านอารมณ์ ที่ดี
เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นโรค “ฮ่องเต้ซินโดรม”?
สิ่งที่ควรสอนลูก 10+1 ข้อ พ่อแม่ห้ามพลาด! เพื่อลูกมีความสุขไปตลอดชีวิต