วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก ไม่ดุ ไม่ตี ปูพื้นฐานชีวิตใน 3 ปีแรก - Amarin Baby & Kids
เลี้ยงลูกเชิงบวก

วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก ไม่ดุ ไม่ตี ปูพื้นฐานชีวิตลูกให้ดีใน 3 ปีแรก

account_circle
event
เลี้ยงลูกเชิงบวก
เลี้ยงลูกเชิงบวก

วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก ช่วยกระตุ้นทักษะสมอง สำคัญมากใน 3 ปีแรกของชีวิต

วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก สอนอย่างไรให้โตไปพิชิตความสำเร็จ

3 ปีแรกของชีวิตลูก เป็นช่วงชีวิตที่สำคัญในการปูพื้นฐาน เสริมสร้างทักษะชีวิต ซึ่ง 3Q ที่สำคัญต่อลูกน้อย ในการปูพื้นฐานชีวิต ให้ดีใน 3 ปีแรก ต้องใช้วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก ไม่ดุ ไม่ตี และให้เวลาคุณภาพแก่ลูกในการสร้างลูกฉลาด 3 ด้าน ซึ่งได้แก่.. ฉลาดคิดบวก (OQ), ฉลาดคิดสร้างสรรค์ (CQ) และ ฉลาดเล่น (PQ)

ภายในงาน Amarin Baby & Kids presents Mom Expert’s Day พลังแม่สร้างลูกฉลาดรอบด้าน วันที่ 31 ตุลาคม ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและทักษะทางด้านสมอง EF จึงมาให้ความรู้ใน หัวข้อ เลี้ยงลูกเชิงบวก กระตุ้นทักษะสมอง พิชิตความสำเร็จ โดยได้ตั้งคำถามสำคัญไว้ว่า โลกในอนาคตต้องการเด็กแบบไหน และต้องมีพ่อแม่แบบไหน และการเปิดประสบการณ์ให้ลูกได้เรียนรู้ หรือโอกาสต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งที่ลูกคิดหรือเราคิด

ผศ.ดร.ปนัดดา เสริมว่า พ่อแม่มักจะถามว่า เลี้ยงลูกอย่างไรให้สุขภาพร่างกายและใจแข็งแรง มีคาถาว่าเลี้ยงลูกต้องสร้างตัวตน สมวัย ทักษะดี มี EF เริ่มที่สุขภาพตามคุณหมอที่บอกว่า ดูด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ สติปัญญา

“พ่อแม่มักเน้นพัฒนาการด้านสติปัญญามากที่สุด แล้วที่เหลือจะทำอย่างไร ซึ่งนอกจากพัฒนาการทั้ง 4 ด้านแล้ว ยังต้องมีพัฒนาการด้านตัวตนและ EF ด้วย ซึ่งวิธีที่สอนลูก บางครั้งไปทำลายพัฒนาการด้านตัวตนของลูก”

วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก
วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก

แรกเกิดถึง 3 ปี การมีตัวตนสำคัญมาก

ช่วงวัย 3 ปีแรก ตัวตนเป็นสิ่งสำคัญ ทารกแรกเกิดที่เพิ่งคลอดจะไม่รู้ว่าตัวเองมีตัวตน ผศ.ดร.ปนัดดา อธิบายว่า ความรู้สึกนึกคิดของลูกจะเริ่มมาตอน 6 เดือน พัฒนาการด้านตัวตนขั้นที่หนึ่ง ลูกจะรู้ว่าพ่อแม่มีอยู่จริง ซึ่งลูกรับรู้ได้จากการร้องไห้แล้วพ่อเดินมาสัมผัส แม่อุ้มลูกเข้าเต้า ลิ้มรสนมแม่แล้วอิ่มท้อง แต่เมื่อพ่อหรือแม่เดินไปล้างขวดนมสำหรับลูกแล้วคือกำพร้า เรื่องนี้จึงต้องอาศัยการทำซ้ำไปซ้ำมา 6 เดือน หากลูกเหงา พ่อแม่เดินมาให้เห็นหน้า เมื่อลูกมองเห็นก็คือการมีอยู่ เรื่องนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ที่มีคุณภาพ ลูกร้องไห้เสียใจ ต้องเดินมาให้ลูกเห็น อุ้มสัมผัส ปลอบประโลมให้ลูกอุ่นใจ จน 6 เดือนผ่านไป แค่ส่งเสียงมา ลูกจะหยุดร้องไห้ได้ เพราะภาพในหัวลูกเมื่อได้ยินเสียงคือพ่อแม่จะมาแล้ว

“นี่คือขั้นที่หนึ่งของการมีตัวตน พ่อแม่มีอยู่จริง สำคัญต่อ Power BQ ทั้งหลายมาก ภาษาจิตวิทยาเรียกว่า ความมั่นคงทางจิตใจแรกของมนุษย์ หากรู้ว่าพ่อแม่มีอยู่ ลูกจะกล้าเดิน อยากให้ลูกมีความรู้สึกว่า โลกใบนี้กล้าลองผิดลองถูก พ่อแม่ต้องมีอยู่จริง มีคนแบ็คอัพทางจิตใจอยู่ มีอะไรมาซบบ่าได้ เดี๋ยวเราช่วยกันไป ขั้นที่สอง ลูกอายุประมาณ 8 เดือน เริ่มสร้างความผูกพันที่มั่นคงปลอดภัย ไว้ใจได้ แล้วขั้นที่สามคืออายุ 2-3 ขวบ เป็นช่วงตัวตนของลูกมาแล้ว แยกได้ว่า หนูมีอยู่จริง หนูกับพ่อแม่เป็นคนละคน”

ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและทักษะทางด้านสมอง EF อธิบายว่า ช่วงวัย 2-3 ขวบ ลูกเดินได้ พูดได้ จะเห็นว่า ลูกเดินไปแล้วมองกลับมาว่า พ่อแม่อยู่ตรงนั้น เวลาลูกปฏิเสธบางอย่าง คุณแม่เกิดอารมณ์โมโห คุณพ่อเริ่มถามว่า ทำไม จะชัดเจนว่า คำพูดระหว่างลูก แม่ พ่อ คนละคนกัน แยกหน่วยจากกัน แล้วต้องใช้รูปแบบนี้ไปตลอดชีวิต เพราะลูกจะไม่ใช่เด็ก 2 ขวบชีวิต และเมื่อลูกเป็นวัยรุ่นแล้ว จะทำอย่างไรให้เรามีอยู่จริงในชีวิตลูก เมื่อลูกทำผิดพลาดอะไรไป ลูกห่างจากพ่อแม่ ติดเพื่อน มีอะไรไม่ค่อยบอก ให้หยิบรูปแบบนี้มาใช้ ทำอย่างไรให้เรา ปลอดภัย ไว้ใจได้ แล้วลูกจะกลับมา

ก่อร่างสร้างให้ลูกมีตัวตน

การรับฟังลูกควรทำตั้งแต่ลูกยังเล็ก ผศ.ดร.ปนัดดา เพิ่มเติมว่า หากไม่ถูกได้ยิน ได้ฟัง ตัวตนจะเริ่มไม่คิด ไม่อยากคิด ตอนนั่งกินข้าวกับลูก ลูกกินไปสามคำอิ่ม เราจะพูดกับลูกว่าอย่างไร ที่พูดว่า กินอีกคำลูก กินอีกห้าคำลูก เป้าหมายคืออะไร ทำไมถึงพูดแบบนั้น อยากให้เราสบายใจว่าลูกอิ่ม อยากให้พ่อแม่สบายใจ แต่ต้องจบลงที่การทะเลาะกัน เวลาที่เราอยากให้ลูกมี OQ หรือการมองโลกในแง่บวก ไม่ใช่ว่าคนมองโลกในแง่บวกจะอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ คิดอะไรเพ้อฝัน แต่คนที่คิดบวกเป็นคนที่คิดได้จากประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพเพียงพอ

วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก
วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก

“หากลูกบอกว่า อิ่ม ให้พูดว่า หนูแน่ใจนะว่าหนูจะอิ่ม มื้อต่อไปอีกสามชั่วโมงนะลูก ต่อให้ลูกยังเล็กก็บอกแบบนี้ ลองอีกคำไหม ตื๊ออีกนิดหนึ่งได้ แต่ขึ้นอยู่กับน้ำเสียง ท่าทาง สัมผัส ต้องมีอยู่จริง เมื่อลูกบอกอิ่มก็เก็บ แต่ถ้าลูกหิวก่อนมื้อต่อไปจะไม่ให้ทาน แต่เราจะไม่เป็นพ่อแม่ที่ซ้ำเติมแล้วทับถม ถ้าลูกหิวก่อนเวลาก็แค่บอกว่า ความรู้สึกแบบนี้แหละที่พ่อแม่เป็นห่วง เดี๋ยวมื้อต่อไปมาถึงปุ๊บรีบกินเลยนะลูก เดี๋ยวแม่ให้กินเร็วที่สุดเลย นี่คือความรู้สึกที่เป็นห่วง ตัวตนลูกยังอยู่ ความรู้สึกลูกจะเป็นอย่างไร พ่อแม่เป็นคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา อบอุ่น ปลอดภัย ไว้ใจได้ นี่คือการเป็นคนคิดบวกในอนาคต ระเบียบแบบแผนสำคัญมาก ไม่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ถ้าพ่อแม่ซ้ำเติม ในอนาคตถ้าลูกมีปัญหา ลูกจะมองเห็นเลยว่า ถ้ามาบอกพ่อแม่จะเกิดอะไรขึ้น ลูกจะคิดบวกได้อย่างไร อยู่ที่วิธีการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ทำให้ลูกมีตัวตน พ่อแม่รับฟังลูก ตัดสินใจร่วมกัน”

ไม่ดุ ไม่ตี เปลี่ยนวิธีการสอนลูก

หากไม่ดุ ไม่ตี แล้วพ่อแม่ควรทำอย่างไร ผศ.ดร.ปนัดดา แนะนำว่า หากไม่ดุ ให้ปลอบ ให้ชม หากไม่ตีให้สอน ทำตรงกันข้าม เพราะในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มี 2 เรื่องเกิดขึ้นเสมอ เนื้อหาของเรื่องราว ถูกผิดควรไม่ควร ที่สำคัญคือ อารมณ์ของลูก

ตัวอย่างเช่น หากพาลูกไปเดินเล่นในห้าง ลูกโกรธมากจนตีเด็กอีกคน ให้กลับมาเนื้อหาของเรื่อง ผิดถูกควรไม่ควร โดยหลักการสร้างวินัยเชิงบวก ขอให้ไปที่อารมณ์ลูกก่อน ไปด้วยวิธีการปลอบว่า รู้ว่าลูกโกรธเลยตีเพื่อน เป็นการสอนให้ลูกรู้จักชื่ออารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม มันตรงกันพอดี เด็กจะเข้าใจง่ายเพราะสอดคล้องกันพอดี

“พ่อแม่ต้องเป็นพวกเดียวกับลูก จะขอโทษลูกอีกฝ่าย ขอโทษคุณพ่อคุณแม่ก่อนก็ได้ แล้วพาลูกออกจากสถานการณ์นั้น ถ้าไม่ตีลูกก็ให้สอนลูก เช่น ถ้าครั้งหน้าโกรธ หนูคิดว่าจะทำอย่างไรแทนการตีเพื่อน ให้เด็กมี EQ และ PQ ถ้าลูกจะมีความสามารถในการเล่น ต้องมีทักษะสังคม หากลูกตอบว่า ครั้งหน้าก็จะตีอีก ให้บอกว่า รู้ว่าลูกยังโกรธอยู่ เลยตอบแบบนี้ เดี๋ยวพร้อมแล้วแม่ถามใหม่”

ส่วนการเลี้ยงลูกให้มี OQ, CQ และ PQ จำเป็นกับเด็กยุคนี้อย่างไร ผศ.ดร.ปนัดดา ตอบว่า พ่อแม่ต้องสร้างตัวตนลูกเพราะเป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อไหร่ที่ลูกรู้สึกสูญเสียตัวตน ลูกจะใช้โหมดปกป้องตัวเอง (Defense Mechanisms) ลูกอาจจะเป็นคนก้าวร้าว สู้เรา หรือหนีปัญหา ไม่สู้หน้า สมยอม หรือยอมทำตามพ่อแม่เพราะกลัว Power BQ จะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะลูกขาดพ่อแม่ไม่ได้ พ่อแม่ต้องคิดให้เป็นคนตั้งต้น ถ้าสร้างตัวตน ยอมรับฟังตัวตน อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นเพื่อนลูก จะทำให้ลูกร่วมคิดด้วย หากลูกโกรธ ครั้งหน้าโกรธต้องทำอย่างไร ลูกกำลังจะมีประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพเพียงพอกับพ่อแม่ แต่ถ้าประสบการณ์เดิมถูกกดตัวตนไว้ เด็กจะเติบโตยาก เล่นกับคนอื่นยาก แล้วความคิดสร้างสรรค์ก็ยากมากที่จะเกิดขึ้น เพราะเด็กจะใช้พลังงานทั้งหมดในการครุ่นคิดที่จะระแวงปกป้องตัวเองจากประสบการณ์เดิมที่ถูกสั่งสมมา

เลิกใช้คำว่า ห้าม ไม่ อย่า หยุด ยิ่งพูดเด็กยิ่งทำ

ผศ.ดร.ปนัดดา เสริมว่า เด็กจะเรียนรู้แล้วพฤติกรรมนั้นจะเร็วขึ้น เพราะเรียนรู้ว่าพ่อแม่จะพูดคำนี้ เมื่อตัวลูกอยากทำอะไร ในทางสมองคำพูดที่ทำให้สมองต้องประมวลผล 2 ครั้ง ถ้าพูดว่าอย่าวิ่ง สมองจะไม่สามารถประมวลคำว่า อย่า ได้ก่อน จะประมวลคำว่า วิ่ง สมองของเด็กจะกระตุ้นให้พฤติกรรมเกิดขึ้นหรือตอนที่ลูกจะวิ่งไปหยิบขนม แล้วพ่อแม่บอกว่าอย่าวิ่ง ลูกจะหยุดนิดหนึ่ง แต่ใจอยากจะไปเลยทำให้ประมวลผลไม่ทัน

บางครั้งพ่อแม่ก็พูดเพื่อป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นคำบอกของพ่อแม่ชี้นำ เช่น เดี๋ยวถือเค้กมา อย่าจิ้มนะ ลูกจะทำทันที เป็นทฤษฎีช้างสีชมพูที่เมื่อห้ามว่าอย่าคิดถึงช้างสีชมพูเด็ดขาด สมองก็จะคิดถึง ให้ลองเปลี่ยนคำพูดจาก อย่าวิ่ง เป็นเดินช้า ๆ มาจูงมือแม่ เลือกใช้คำพูดที่ไม่ต้องแปลเยอะ พูดด้วยน้ำเสียงที่ทำให้ลูกมีตัวตน ไม่ใช่กดดัน ถ้าลูกยังทำอยู่ ให้พูดวนไป เพื่อให้เกิดการเรียนรู้

การเลี้ยงลูกเชิงบวกอาจต้องใช้เวลา แต่จะดีกับลูกมากกว่าในระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงวัย 3 ปีแรกของชีวิต เมื่อมีการกระตุ้นทักษะสมองแล้ว หนทางพิชิตความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

หมอเด็กแนะ 3 เทคนิค ชวนลูกคุย เรื่องโรงเรียน ให้ลูกยอมเปิดใจ

สร้าง Mind map ช่วยฝึกให้ลูกส่งงานครบมีความรับผิดชอบ

4 เกมสร้างทักษะ critical thinking คือ สิ่งที่แม่สร้างได้!!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up