AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ฮิคิโคโมริ โรคอันตรายของเด็กที่อยู่แต่ในห้อง กลัวการเข้าสังคม

ฮิคิโคโมริ

ประเทศไทยในสมัยนี้ ที่มีการแข่งขันสูง พ่อแม่ก็มักจะอยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนที่ดี ๆ เพื่อที่จะได้มั่นใจได้ว่า เมื่อลูกโตขึ้น จะมีโอกาสในการหางานที่ดี ๆ ได้ โดยไม่รู้ว่าอาจผลักให้ลูกเป็นโรค “ฮิคิโคโมริ”

ฮิคิโคโมริ โรคอันตรายของเด็กที่อยู่แต่ในห้อง กลัวการเข้าสังคม

ฮิคิโคโมริ เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น โดยเด็กที่เป็นโรคนี้จะกลัวการเข้าสังคม มักจะเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง เนื่องจากความกดดันจากสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนและการทำงาน

ฮิคิโคโมริคืออะไร?

ฮิคิโคโมริเป็นอาการทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ที่อธิบายถึงพฤติกรรมของคนที่แยกตัวออกจากสังคม กักขังตัวเองอยู่แต่ในห้อง กลัวการเข้าสังคม พยายามหลบหนี เพื่อเจอผู้คนให้ได้น้อยที่สุด โดยจิตแพทย์ญี่ปุ่นมองว่า ฮิคิโคโมริ เกิดขึ้นได้เฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เนื่องจากญี่ปุ่นมีระบบการศึกษาที่ต้องเคี่ยวเข็ญเด็กอย่างหนัก จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2553 พบว่า มีชาวญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 1.2 ที่เป็นโรคฮิคิโคโมริ และในปี พ.ศ.2559 รัฐบาลญี่ปุ่นได้รายงานว่า มีประชากรอายุระหว่าง 15‐39 ปี จำนวนประมาณ 541,000 คน ที่เป็นโรคฮิคิโคโม แต่ก็มีรายงานว่าพบเด็กที่มีอาการคล้ายคลึงกันนี้จากประเทศเกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ด้วย และยังไม่มีรายงานกลุ่มอาการนี้อย่างเป็นทางการในประเทศไทย

สังเกตอย่างไรว่าลูกเป็นโรคฮิคิโคโมริ?

เด็กที่มีอาการฮิคิโคโมริจะแยกตัวออกมาจากสังคม ไม่อยากพบเจอผู้คน  มักเก็บตัวเงียบในห้อง  ไม่ยอมไปโรงเรียน หมกมุ่นทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ  เด็กบางคนจะอ่านแต่หนังสือการ์ตูน เล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต ดูทีวี หรือแม้แต่นั่งเฉย ๆ อยู่ในห้องคนเดียวจ้องผนังได้เป็นระยะเวลานาน ๆ มีพฤติกรรมแบบนี้ซ้ำ ๆ โดยแพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ได้เรียกลักษณะอาการที่คล้ายกับ ฮิคิโคโมริ ว่า “โรคแยกตัวจากสังคม” โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นผู้ป่วยที่เข้าสังคมไม่ได้ จึงแยกตัวเองออกมา ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีอาการช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเล่นกับเพื่อน ไม่อยากออกจากห้อง ส่วนกลุ่มที่สองไม่ป่วย แต่ตัดสินใจไม่อยู่ในสังคม โดยจะอยู่กับความสนใจเฉพาะตัว และจะมีอาการเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น จึงมีวิธีสังเกตเด็กที่เป็นโรคฮิคิโคโมริ จะมีพฤติกรรมดังนี้

  1. ใช้เวลาส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งวันอยู่ที่บ้าน
  2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสังคม
  3. ปลีกตัวเองออกจากสังคม จนเป็นสาเหตุสำคัญของการบกพร่องในการเรียนหรือการทำงาน
  4. เก็บตัวอยู่แต่ในห้องหรือในบ้าน อย่างต่ำ 6 เดือน
  5. ไม่มีสาเหตุในด้านร่างกาย ที่จะทำให้ปลีกตัวเองออกจากสังคม
ความกดดันจากการเรียนและการไม่ยอมรับความล้มเหลว ทำให้เด็กเป็นโรคฮิคิโคโมริได้

สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรค ฮิคิโคโมริ

  1. การศึกษาที่เคี่ยวเข็ญเด็กอย่างเอาเป็นเอาตาย เช่น ในญี่ปุ่นจะเริ่มแข่งขันกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล ดังนั้นการสอบแข่งขันในแต่ละครั้ง เด็ก ๆ จึงได้รับความกดดันสูงมาก
  2. การไม่ยอมรับความผิดพลาด หรือมองความล้มเหลวเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ
  3. เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น มีทั้งโทรทัศน์ เกม คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ทำให้เด็กฮิคิโคโมริ สามารถขังตัวเองอยู่ในห้องได้นานขึ้น

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ การรักษาโรคฮิคิโคโมริ และหลักคิดจากท่าน ว. วชิรเมธี เตือนสติพ่อแม่เลี้ยงลูกให้เป็น

การรักษาโรค ฮิคิโคโมริ

จากการวิจัยล่าสุดของ The National Center for Biotechnology Information (NCBI) ของสหรัฐอเมริกา โดยใช้ The Structured Clinical Interview for DSM‐IV Axis I Disorders พบว่า โรคฮิคิโคโมริเป็นโรคที่เกิดขึ้นร่วมกันปัญหาทางจิตเวชหลายอย่าง เช่น ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง (Avoidant personality disorder) โรคกังวลต่อการเข้าสังคม (Social anxiety disorder) และ โรคซึมเศร้า (Depression) และมีบางส่วนที่มีอาการคล้ายกับกลุ่มอาการออทิสติก (Autistic spectrum disorders) รวมถึงอาการแฝงหรืออาการนำของโรคจิตเภท (Latent or prodromal states of schizophrenia) ด้วย ดังนั้น หากสงสัยว่าลูกอาจเป็นโรคฮิคิโคโมริ ควรพาเด็กไปพบกับจิตแพทย์ เพื่อวินิจฉัย หาสาเหตุว่าแท้จริงแล้วป่วยเป็นโรคทางจิตประเภทใด เมื่อวินิจฉัยแล้วก็จ่ายยา หรือทำจิตบำบัดเฉพาะโรคไปตามการวินิจฉัยนั้น

ความรักและความเข้าใจ ไม่คาดหวังและยอมรับความผิดหวัง ช่วยป้องกันให้ลูกห่างไกลจากฮิคิโคโมริได้

หลักคิด ท่าน ว. วชิรเมธี เตือนสติพ่อแม่ เลี้ยงลูกให้เป็น

การเลื้ยงดูเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและรักษาโรคฮิคิโคโมริได้ ดังนั้นทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงขอนำหลักคิดของท่าน ว. วชิรเมธี ถึงการเลี้ยงดูลูกอย่างมีสติและเข้าใจลูก ดังนี้

  1. พ่อแม่ส่วนใหญ่ มีความคาดหวังกับลูกสูงมาก จนบางครั้งเกิดเป็นความ “พลาดหวัง” เพราะถูกกดดันมากเกินไป ซึ่งบางครั้งไม่เพียงแต่อยากให้ลูกได้รับการศึกษาเท่านั้น แต่อยากให้ลูกเทียมหน้าเทียมตาคนอื่นด้วย เพราะหันไปทางนี้ก็เพื่อนพ่อ ทางนั้นก็เพื่อนแม่ ส่งผลให้ลูกต้องถูกใส่ความรู้เต็มไปหมด แต่ขาดทักษะความเป็นมนุษย์ในการใช้ชีวิต ดังนั้นพ่อแม่ควรเลิกยัดเยียดความคิดว่าลูกจะต้องทำอันนั้น อันนี้ ขอให้กลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เน้นความสุขของเด็กเป็นศูนย์กลาง
  2.  ในด้านความคาดหวังของพ่อแม่นั้น ท่าน ว. วชิรเมธี ให้หลักคิดว่า คนเรามีความหวังให้สูงได้ แต่จะต้องเรียนรู้ และพร้อมยอมรับที่จะอยู่กับความผิดหวังให้ได้ด้วย ดังนั้น ความหวังของพ่อแม่ สามารถจัดสภาพแวดล้อมให้ลูกเดินตามทางที่หวังได้ แต่ถ้าลูกไม่สมหวัง พ่อแม่ต้องรู้ว่า โลกนี้อยู่ 2 ด้าน คือ ชื่นชม และขมขื่น ซึ่งการเลี้ยงลูกของมารดา คือการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าลูกทำได้ก็ควรชื่นชม แต่ถ้าไม่เป็นดั่งหวัง ก็จะต้องยอมรับ และไม่ทุ่มความผิดหวังไปที่ลูก แล้วบอกลูกเป็นคนที่ใช้ไม่ได้
  3. คิดบวก-พูดบวก ลูกไม่เสีย Self การใช้คำพูดกับการสอนลูก กับเรื่องนี้ ‘ท่านว.วชิรเมธี’ ให้มุมมองว่า เรื่องทัศนคติเชิงบวก กับการใช้คำพูดทางบวก มีผลต่อลูกมาก ถ้าพ่อแม่ยิ่งตอกย้ำทัศนคติ และคำพูดด้านลบทุกวันๆ เด็กจะทำอะไรไม่เป็นเลย
  4. ให้ความรู้ ความรัก และเวลา งานเลี้ยงลูกของบิดามารดาเปรียบเสมือนงานปั้นพระของศิลปิน ต้องทุ่มเททั้งชีวิต ผลสัมฤทธิ์จึงจะออกมาดั่งที่ปรารถนา ดังนั้น ถ้าต้องการให้ลูกเป็นเด็กดี มีความสุข พ่อแม่ต้องมีความรู้ในการเลี้ยงลูก ให้ความรักกับลูก (เมื่อลูกได้รับความรักเต็มที่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาความรักจากสิ่งอื่นหรือคนอื่น) และมีเวลาให้ลูก

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ใช้ธรรมะสอนลูกอย่างไร…ให้เป็นคนดี! โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

วิธีสอนลูกเข้มแข็ง ด้วยวัคซีนใจ 8 เข็ม

5 วิธีช่วย เด็กขี้อาย ก่อนกลายเป็นคนไม่กล้าเข้าสังคม

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : haamor.com, มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว, Mthai, Kapook

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids