ท่องศีล5 ลูกได้แค่จำ ลองวิธีใหม่ช่วยเข้าถึงแก่นธรรมง่ายๆ - Amarin Baby & Kids
ท่องศีล5

ท่องศีล5 ลูกได้แค่จำ ลองวิธีใหม่ช่วยเข้าถึงแก่นธรรมง่ายๆ

event
ท่องศีล5
ท่องศีล5

ศีลหลักธรรมพื้นฐานการดำรงชีวิตมนุษย์ ที่เราให้เด็ก ๆ ท่องศีล5 กันจนขึ้นใจ แต่เขาจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงไหม คงต้องขึ้นอยู่กับวิธีการสอนของคุณ

ท่องศีล5 ลูกได้แค่จำ ลองวิธีใหม่ช่วยเข้าถึงแก่นธรรมง่ายๆ

ประเทศไทย มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จึงมิใช่เรื่องแปลกที่เราจะได้เห็นเด็กไทย ท่องศีล5 กันได้อย่างคล่องแคล่ว ถ้าในสมัยวัยเด็กของพ่อแม่อย่างเรา ๆ ก็คงคุ้นเคยกันดีกับวิชาพระพุทธศาสนา ที่ได้ถูกบรรจุลงในหลักสูตร และมีชั่วโมงเรียนในตารางสอน แต่ในปัจจุบันนั้นก็ไม่ทราบได้ว่าชื่อวิชาจะถูกเปลี่ยนไปหรือยัง แต่ก็ยังคงเห็นเด็ก ๆ ได้เล่าเรียนหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนากันอยู่

ศีล 5 ใคร ๆ ก็ท่องได้

ก่อนที่เราจะท่องศีลทั้ง 5 ข้อ นั้น เรามาทำความรู้จักกับความหมายของศีลกันดีกว่า

ศีล คือ เจตนา ความตั้งใจที่จะงดเว้นกายทุจริต 3 วจีทุจริต4 และมโนทุจริต 3 คือการสำรวมระวัง ปิดกั้นความชั่ว และไม่ล่วงละเมิดข้อห้าม

  • กายทุจริต 3 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
  • วจีทุจริต4 คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด และไม่พูดเพ้อเจ้อ
  • มโนทุจริต 3  คือ ความโลภอยากได้ของผู้อื่น การมีจิตคิดพยาบาท และมีความเห็นผิด

ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วทำให้ศีล 5 นั้นมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับมนุษยธรรม อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่มนุษย์นั้นบัญญัติขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  เมื่อใดที่มนุษย์ขาดศีล 5 ไป ความเป็นมนุษย์ก็ลดลง

เบญจศีล หรือ ศีล 5 ได้แก่

  1. ปาณาติปาตาเวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ การละเว้นจากการฆ่าสัตว์
  2. อทินนาทานาเวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ การละเว้นจากการลักทรัพย์ที่เจ้าของไม่ยินยอม
  3. กาเมสุมิสฉาจาราเวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ การละเว้นจาการประพฤติผิดในกาม ผิดลูกผิดเมียคนอื่น
  4. มุสาวาทาเวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ การละเว้นจากการพูดปด พูดจาโกหก
  5. สุราเมรยมัฌชปะมาทัตถานาเวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ การละเว้นจากการดื่มสุราเมรัย และเครื่องดองของมึนเมาทุกชนิด

จากทั้งความหมาย และข้อกำหนดของศีล 5 นั้น เราจะเห็นได้ว่าเป็นคำภาษาบาลี สันสกฤต และภาษาต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็น่าแปลกใจไหมว่าทำไมเรากลับจำคำยาก ๆ เหล่านั้นได้อย่างขึ้นใจ และคงไม่ใช่เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่เท่านั้นที่สามารถท่องคำเหล่านี้ได้ ลองไปถามลูก ๆ เราดูสิว่า เด็ก ๆ ก็สามารถท่องศีล5 ข้อนี้ได้อย่างคล่องแคล่วเช่นกัน แต่จะมีเด็กสักกี่คนที่จะเข้าใจถึงความหมายแท้จริงที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และหากเป็นเช่นนั้นจริง คงน่าเสียดายที่ข้อคิด หลักปฎิบัติดี ๆ เหล่านี้จะอยู่ได้เพียงแค่ในตำรา และความจำ

สอนศีลลูก ไม่ใช่แค่ ท่องศีล5
สอนศีลลูก ไม่ใช่แค่ ท่องศีล5

ศีล 5 ฉบับเข้าใจง่าย ด้วยภาษาสำหรับเด็ก

การสอนในแบบเก่า ผู้ใหญ่มักจะมุ่งเน้นในเรื่องการขู่ให้กลัว เพราะเป็นวิธีที่เห็นผลได้เร็ว ดังจะเห็นได้จากคำโบราณที่คุณพ่อคุณแม่อาจเคยได้ยินมาในสมัยเด็กว่า “อย่าทำผิดศีล อย่าฆ่าสัตว์นะ เดี๋ยวตายไปจะตกนรกลงกระทะทองแดง” แต่ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับ และเกิดคำแนะนำจากคุณหมอเด็กมากมายที่ได้เตือนว่า การใช้วิธีการขู่เด็กให้กลัวจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูก ทำให้เด็กเกิดอารมณ์ด้านลบซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาต่อพฤติกรรมในอนาคต เช่น ลูกจะกลายเป็นเด็กขี้กลัว ไม่ไว้ใจโลก เก็บตัว เป็นต้น

ดังนั้นจะดีกว่าไหมหากเราเปลี่ยนการสอนเรื่องศีล5 มาเป็นคำสอนที่ใช้คำที่เข้าใจได้ง่าย และแสดงให้เห็นถึงเหตุและผลของแต่ละข้อว่า ทำแล้วจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามมาอย่างไร เพื่อให้ลูกสามารถเข้าใจอย่างถ่องแท้ และเขาจะได้นำไปปฎิบัติด้วยใจ ไม่ต้องบังคับ หรือขู่เข็ญ

     1. ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายสัตว์ แต่ต้องรู้วิธีหลีกเลี่ยง และระวังสัตว์มีพิษ

เป็นการสอนให้ลูกรู้จักถึงคุณค่าของชีวิตทุกชีวิตบนโลก หากเขาตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่แล้ว เขาย่อมไม่อยากฆ่า หรือทำร้ายใคร รวมถึงการที่เขาต้องรู้จักการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสงบ เย็น เป็นสุข และไม่เบียดเบียนกันด้วย วิธีง่าย ๆ อาจเริ่มจากการให้ลูกได้มีสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว เด็กจะเข้าใจถึงความแตกต่างของชีวิตแต่ละสายพันธุ์ว่ามีวิถึชีวิตที่ไม่เหมือนกันแต่เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ แถมยังเป็นการฝึกความรับผิดชอบให้ลูกได้อีกทางหนึ่งด้วย

ลองมาอ่านบทความดี ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการสอนลูกเรื่องการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงกัน สอนลูกรัก เข้าหาสัตว์อย่างถูกวิธี

โลกมีสองด้าน สัตว์ก็เช่นกัน นอกจากพ่อแม่จะสอนให้ลูกรู้จักเมตตาต่อสัตว์แล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ควรสอนให้ลูกได้เรียนรู้ไว้ นั่นคือ การระมัดระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษ แม้สัตว์เหล่านั้นจะเป็นอันตรายแต่ถ้าเรารู้จักหลีกเลี่ยงให้ห่าง ระวังอย่าเข้าใกล้ ก็สามารถหลีกเลี่ยงการเบียดเบียนชีวิตเขาได้

     2. ไม่ลักทรัพย์ ไม่ขโมยของผู้อื่น

หากฟังดูคำเหล่านี้ อาจฟังดูเป็นคำพูดที่ไกลตัวต่อเด็ก เพราะเด็กไม่น่าจะเข้าใจในทรัพย์สินมีค่าเงินทอง แต่การสอนศีลข้อนี้แก่เด็กนั้น เราต้องนึกกว้างไปถึงกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้อื่น นั่นคือ การไม่หยิบของผู้อื่นมาเป็นของตน หากต้องการก็ให้ขอจากเจ้าของก่อนเสมอ และรวมไปถึงสอนให้ลูกจักการแบ่งปัน

เด็กขโมยเป็นจริงหรือ

เนื่องจากหัวข้อเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุณหมอบอกว่า เป็นปัญหาที่พ่อแม่มาปรึกษาด้วยมาก ดังนั้นเรามาลองฟังความคิดเห็นของคุณหมอ ผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  เกี่ยวกับเด็ก และการขโมยใน บทความการพูดปดและลักขโมย ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลกัน

การขโมย

เนื่องจากต้องพิจารณาตามพัฒนาการของเด็ก โดยในเด็กวัยอนุบาล เราอาจใช้คำว่า “หยิบของคนอื่นโดยไม่ได้ขอ” ซึ่งให้ความรู้สึกนุ่มนวลกว่าการว่าเด็กขโมย เนื่องจาก เด็กยังไม่เข้าใจเรื่องของความเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะหากโตมาในบ้านที่ทุกคนในบ้านต่างหยิบของของกันและกันใช้ได้เป็นเรื่องธรรมดา
แต่หากเป็นการขโมยเพื่อหวังประโยชน์นั้น อาจมีสาเหตุจาก
  • ขโมยเพื่อฐานะทางสังคม เช่น เพื่อให้มีไม่ถูกล้อ ไปติดสินบนเพื่อนที่ข่มขู่จะแกล้ง หรือ เพื่อจะได้เข้ากลุ่มเพื่อนที่เขาทำกัน
  • อยากได้ของชิ้นนั้นมาเป็นของตนจริงๆ ทั้งที่อาจไม่ใช่ของมีค่า
  • ทำเพราะต้องการให้เจ้าของเดือดร้อน เป็นการกลั่นแกล้งหรือล้างแค้น ซึ่งอาจมีจุดประสงค์ถึงให้ผู้ปกครองของตนเดือดร้อน และหันมาสนใจตนบ้างด้วยก็มี
  • กระทำเพื่อหวังมูลค่าสินทรัพย์ เหมือนอาชญากรรม

การแก้ไข

ควรสอนการเก็บดูแลรักษาของทั้งของตนและของคนอื่นตั้งแต่เด็ก ในเด็กเล็ก ควรให้เด็กเอาของไปคืนเจ้าของ แต่หากเป็นการกระทำเพื่อหวังประโยชน์ ก็ควรไต่ถาม แกไข ตามสาเหตุ เช่น สร้างสัมพันธภาพกับเด็กให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรให้เด็กมีส่วนรับผิดชอบชดใช้กับการขโมยของตนด้วยตามเหมาะสม
จากบทความคุณหมอได้ชี้ให้คุณพ่อคุณแม่เห็นแล้วว่าบางทีความเคยชินของผู้ใหญ่บางอย่างก็ไปทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์โดยที่ลูกเองอาจไม่ได้ตั้งใจ ส่วนสำคัญในการสอน คือ การขออนุญาตจากเจ้าของก่อนเสมอ

     3. ไม่แย่งของรักของผู้อื่น ไม่รังแกเพื่อน หรือทำให้เพื่อนต้องอับอาย เคารพซึ่งกันและกัน

ไม่แย่งของรักคนอื่น ท่องศีล55
ไม่แย่งของรักคนอื่น ท่องศีล5

ในศีลข้อนี้ ถ้าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ก็คงอธิบายถึงความหมายได้ไม่ยาก แต่ถ้าต้องสอนเด็กแล้วพ่อแม่ต้องรู้จักประยุกต์ ถ้าจะสอนลูกไม่ให้แย่งของรักของคนอื่น พ่อแม่ต้องทำดีกับลูก หรือคู่ชีวิตก่อน เพื่อให้ลูกสัมผัสถึงความรักว่า พ่อรักแม่ เพราะแม่ทำดีกับพ่อ หรือแม่รักพ่อเพราะพ่อทำดีกับแม่ ฉะนั้น ความรักนั้นจึงไม่ใช่ความรักต่างเพศอย่างเดียว แต่ยังเป็นความรักต่อผู้คน มีความเกื้อกูลที่กว้างออกไปกว่าความรักเชิงชู้สาว พ่อแม่ต้องตีความ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น และเข้าใจว่า ความรักเป็นเรื่องสวยงาม โลกจะน่าอยู่ เพราะความรักที่มนุษย์มีให้แก่กัน เคารพซึ่งกันและกัน แล้วลูกจะรู้จักรักเมื่อเขารัก และเคารพผู้อื่น เขาก็จะไม่ไปเบียดเบียนความรัก ความสัมพันธ์ของคนอื่น

     4. ไม่พูดโกหก ไม่พูดปด กล้ายอมรับความจริง ใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา

การพูดปด

สำหรับการตัดสินว่า เด็กพูดปดหรือไม่นั้น ผู้ใหญ่มักใช้ความเข้าใจของตนเองเป็นหลัก ว่าเด็กต้องการผลประโยชน์ หรือหลบเลี่ยงสิ่งที่เด็กเองไม่ชอบ แต่หากพบในเด็กวัย 3 ถึง 5 ขวบ แล้ว อาจไม่เรียกว่า เป็นการพูดปดก็ได้เนื่องจาก
  • เด็กยังไม่มีพัฒนาการการเข้าใจ และใช้ภาษาอย่างสมบูรณ์พอ ความหมายของคำที่เด็กพูด อาจไม่ตรงกับที่ผู้ใหญ่เข้าใจ ในทางตรงข้าม เด็กก็อาจตีความคำที่ผู้ใหญ่พูดด้วยผิดไป ทำให้ตอบเหมือนพูดปด
  • เด็กยังแยกไม่ได้ว่า สิ่งที่พูดเป็นสิ่งที่ตนเองคิดขึ้นเองหรือเป็นความจริง เช่น เล่าว่า ไปเห็นไดโนเสาร์ ทั้งที่ไปเห็นกิ้งก่ามา หรือไปเที่ยวขั้วโลกมา เป็นต้น
แต่หากเด็กจงใจปดนั้น มักมีสาเหตุมาจาก
  • ปดเนื่องจากต้องการปกป้องตนเองจากการถูกลงโทษต่างๆ โดยเฉพาะในรายที่ครอบครัวชอบลงโทษรุนแรง เคยบอกเด็กว่า พูดมาตรงๆจะไม่ว่า แต่แล้วก็ลงโทษภายหลัง
  • ปดเลียนแบบที่เคยเห็นตัวอย่าง โดยเฉพาะจากคนในบ้าน ครู เพื่อน และตัวละครในสื่อต่างๆ
  • ปดเพื่อให้คนอื่นหันมาสนใจหรือชมเชยตนบ้าง มักพบในเด็กที่รู้สึกว่า ถูกครอบครัวหรือสังคมทอดทิ้ง ไม่มีความภูมิใจในตนเอง การปดอาจสร้างความตื่นเต้นให้ตนเอง ทำให้ผู้ใหญ่หันมาสนใจตนบ้าง หรือมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น เช่น บอกว่า สอบได้คะแนนดี ในกรณีนี้ ถือว่า เด็กกำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ

การแก้ไข

ทั่วไปคือ กำจัดสาเหตุทั้งสามข้อออกไป แต่ไม่ควรให้รางวัลเมื่อเด็กรับความจริง ตัดสินสิ่งที่เขากระทำอย่างยุติธรรมสม่ำเสมอ
โดย..ผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
เมื่อลูกพูดโกหก ท่องศีล5
เมื่อลูกพูดโกหก ท่องศีล5

ดังนั้นก่อนจะสอนลูกคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจกับเหตุแห่งการโกหกของลูกก่อน ว่าเกิดจากสาเหตุใด มองในมุมที่เด็กคิดมิใช่เหตุผลของผู้ใหญ่ แล้วการสอนของเราถึงจะส่งไปถึงลูกได้อย่างแท้จริง

     5. ไม่ดื่มของมึนเมา รวมถึงเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ เป็นโทษต่อร่างกาย

ในศีลข้อนี้ พ่อแม่ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ว่า โลกภายนอกมีสิ่งที่จะมอมเมาอยู่มาก แต่ลูกต้องตื่นรู้เท่าทัน แล้วเลือกสรรแต่สิ่งที่ดี เช่น ไม่ดื่มน้ำอัดลม และน้ำสีที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เลือกดื่มแต่น้ำสะอาด ดื่มนม หรือดื่มน้ำผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ปลูกฝังให้เด็กแยกแยะสิ่งดี และสิ่งไม่ดีเป็นแล้ว เด็กจะรู้จักคิด วิเคราะห์แยกแยะ และเลือกสรรน้ำที่เป็นประโยชน์ เมื่อโตขึ้น เด็กก็จะรู้ว่า สุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีแต่จะทำลายชีวิต เมื่อเห็นถึงโทษต่อให้เพื่อนชักชวนอย่างไรเขาก็สามารถยับยั้งชั่งใจได้ด้วยตนเอง

การสอนเด็กในเรื่องศีล 5 นั้น ความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็น หากแต่เพียงเราทำความเข้าใจธรรมชาติ และพัฒนาการของเด็กเสียหน่อย คุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถสื่อสารข้อความยาก ๆ ไปถึงลูกน้อยได้ด้วยถ้อยคำที่ทำให้เขาเข้าใจได้ดีกว่าการนั่งท่องจำคำแบบผู้ใหญ่ เพราะหากเป็นเช่นนั้น ลูกก็คงจะได้เพียงแค่ความรู้ในตำราเรียน แต่ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง และสิ่งสำคัญอีกอย่างกับการสอนลูก นั่นคือ ตัวคุณพ่อคุณแม่เองที่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกในเรื่องนั้น ๆ ที่เราต้องการสอน เพราะคำพูดใด ๆ ก็ไม่สู้ลงมือทำเป็นตัวอย่างให้เขาเห็นเอง

ข้อมูลอ้างอิงจาก RamaMentalhappybabito.comsanook.com

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ทิศทั้ง 6 มีอะไรบ้าง และมีแนวทางที่ลูกควรปฏิบัติอย่างไร?

เดนมาร์กสอนวิชา “ความเห็นใจผู้อื่น” ในชั้นเรียน

คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก ข้อคิดสะกิดใจจากคุณหมอ!!

ลูกโกหก แค่เพียง 3 ขวบก็โกหกได้แล้วจริงหรือ?

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up