หน้าต่างแห่งโอกาส …คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่าช่วงเวลาสำคัญของการเรียนรู้สู่สมองลูกที่เรียกว่า ‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ นั้นเปิดและปิดลงในเวลาอันสั้น เมื่อเด็กได้รับการเรียนรู้หรือ การพัฒนาสมอง อย่างถูกต้องในช่วงเวลานี้ ก็จะช่วยกระตุ้นสมอง และความฉลาด ให้เด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งเพราะเด็กที่เกิดมาในช่วงยุคนี้ ต้องเผชิญกับโลกแบบใหม่ ซึ่งเป็นโลกที่มีข้อมูลข่าวสารมากมาย และมีการแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านกระแสวัตถุนิยมที่หลั่งไหลเข้ามา ซึ่งแม้แต่ผู้ใหญ่ยังยากที่จะต้านทานอยู่ ส่วนหนึ่งของปัจจัยข้างต้นทำให้มีช่องว่างทางเศรษฐกิจ สังคม และโอกาสระหว่างบุคคลและชุมชน มากกว่าแต่ก่อน รวมถึงความใกล้ชิดของครอบครัวก็ลดน้อยลงตามไปด้วย
ภาพเด็กที่สับสนต้องเผชิญกับทางเลือกมากมายจึงมีให้เห็นได้ไม่ยากนัก เช่น เด็กมักจะตกเป็นเหยื่อกระแสวัตถุนิยม ที่ต้องการยั่วยุให้มีการบริโภค เพื่อผลทางการค้าขาย ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเด็กไทยยุคใหม่จึงจำเป็นต้องมีวิจารณญาณรู้จักแยกแยะ ใช้เหตุใช้ผล การตัดสินใจสิ่งต่างๆ
และในภาวะที่เด็กๆ ต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เด็กจึงต้องการผู้ใหญ่ มาแลกเปลี่ยนความคิด หรือมาสอนให้รู้จักควบคุมตนเอง รู้อะไรเป็นอะไร รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ รู้คิดและแก้ปัญหาได้
ซึ่งการที่คนจะพัฒนาจากทารกกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ธรรมชาติได้กำหนดขั้นตอนไว้เป็นขั้นๆ ความสำเร็จของขั้นต้นๆ จะเป็นฐานสำหรับขั้นต่อไป โดยในช่วงแรก ธรรมชาติได้กำหนดให้เป็นช่วงของการพัฒนาทักษะพื้นฐานในการมีชีวิตรอด และใช้เป็นต้นทุนสำหรับพัฒนาศักยภาพในช่วงต่อ ๆ ไป
เลี้ยงลูกให้สตรอง ด้วย หน้าต่างแห่งโอกาส 9 บาน
การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้มีความสามารถเต็มที่นั้นจึงต้องเดินตามสิ่งที่ ธรรมชาติกำหนดไว้ สิ่งนี้เรียกว่า “หน้าต่างแห่งโอกาส”(windows of opportunity) หมายถึง ช่วงเวลาที่สมองเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด นักจิตวิทยาเด็กนำแนวคิดนี้มาบูรณาการกับพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก ถือว่า เป็นโอกาสที่ธรรมชาติมอบให้ ว่าช่วงใดเหมาะสมกับการพัฒนาคุณสมบัติอะไร แต่ละเรื่อง ธรรมชาติได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ หากพ้นช่วงที่ธรรมชาติกำหนดไปแล้ว การพัฒนาก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย
Must read : เวลาทองฝึกทักษะให้ลูก
โดยพ่อแม่ควรตระหนักรู้คือเรื่องของ “หน้าต่างแห่งโอกาส” ของลูกในแต่ละวัยที่จะเปิดตามกาลเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพราะมีเพียง 9 บานหน้าต่าง ที่จะเปิดโอกาสให้ 4 ช่วงเวลาเท่านั้น ซึ่งหากทำได้แล้วจะถือเป็นการปรับความพร้อมพัฒนาการทางอารมณ์ของลูก ให้เข้าสู่สังคมได้ ซึ่งหน้าต่างแห่งโอกาส 9 บานนี้ จะเป็นคู่มือเลี้ยงลูกในโลกที่เปลี่ยนไป จะเป็นเครื่องมือปรับกลยุทธ์ในการเลี้ยงลูกให้เท่าทันกระแสสังคมที่เชี่ยวกราก ประกอบด้วย
อ่านต่อ >> “เทคนิคการเลี้ยงลูกให้สตรองด้วย หน้าต่างแห่งโอกาส 9 บาน” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เด็กแรกเกิดถึงก่อนวัยเรียน (0 – 2 ปี) หน้าต่างแห่งโอกาสที่พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก สามารถเสริมสร้างให้แก่เด็กในวัยนี้มี 2 ข้อ คือ
1. สร้างความผูกพัน
การสร้างความผูกพันเด็กแรกเกิด – 2 ปี จุดเริ่มต้นของความผูกพันระหว่างพ่อแม่และทารกก็คือ การตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างนุ่มนวลทะนุถนอม ซึ่งพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูสามารถสร้างความรักความผูกพันในเด็กอายุ 0-2 ปี ได้ด้วยวิธีการให้อาหาร การสัมผัส-โอบกอด การสื่อสาร-พูดคุย และการมอง-การเล่น
การที่พ่อแม่สร้างสายสัมพันธ์และความผูกพันที่ดีกับลูกในช่วงต้นของชีวิตนี้ จะทำให้เด็กสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นๆ อีกมากมายในชีวิต และสายสัมพันธ์ที่มีคุณค่ามากที่สุด คือ สายใยผูกพันระหว่างแม่กับลูก เพราะเป็นความผูกพันครั้งแรก เป็นความผูกพันที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นความผูกพันจากบุคคลที่เด็กรักมากที่สุด หากความผูกพันนี้ขาดหายไป ความผูกพันอื่นๆ พอจะทดแทนได้บ้างแต่ไม่อาจแทนที่กันได้
Must read : ความผูกพัน เรื่องที่คุณแม่ต้องเข้าใจเพราะ คือจุดเริ่มต้นให้เด็กเชื่อมั่นใจตัวเองตั้งแต่แรกเกิด
Must read : 20 วิธีสานสายใยความผูกพันกับลูกน้อยก่อนเข้านอน
2. ความไว้วางใจผู้อื่น
การอยู่กับพ่อแม่ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สร้างสายใยรักสัมพันธ์กัน (Attachment) สร้างความมั่นคงทาง”ใจ”ให้กับลูก เตรียมพร้อมใจลูกให้พร้อมที่จะเปิดตัวออกสู่โลกภายนอก โลกของเพื่อนๆ ที่ต้องมีการปฎิสัมพันธ์กัน ทั้งในทางเล่นกัน สนุกกัน และ ในทางที่พ่อแม่อาจไม่ชอบ คือ แย่งของเล่นกัน ดึงของกัน ทะเลาะกัน ซึ่งไม่ว่าการปฎิสัมพันธ์ของเด็กจะเป็นอย่างไร หากลูกเป็นเด็กที่มีความมั่นคงทางใจ กับพ่อแม่ และครอบครัว ดังนั้น ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ลูกรู้ว่ามีกองหลังคอยหนุน กลับบ้านมา มีที่พึ่งพิงทางใจอยู่ เด็กจะพร้อมเผชิญหน้าและเรียนรู้โลกกว้างอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ และ สิ่งนี้จะเป็นการเสริมพัฒนาการให้ลูกเป็นเด็กชอบเรียนรู้ และเข้ากับเพื่อนได้
วัยอนุบาล (3 – 5 ปี)
3. สอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์
ถ้าพ่อแม่พลาดการปลูกฝังเรื่องนี้ในช่วงนี้ไปแล้ว พอถึงวัยประถม เขาจะเติบโตเป็นวัยรุ่นที่ตามใจตัวเอง ควบคุมตัวเองไม่ได้ สังเกตดูก็ได้ว่า ถ้าผู้ใหญ่คนใดเวลาโกรธหรือไม่พอใจแล้วกระทืบเท้า ตบโต๊ะ เมื่อย้อนไปดูในวัยเด็กของคนคนนั้น จะพบว่า เขาเป็นเด็กที่มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ เวลาไม่ได้อะไรดังใจจะลงไปดิ้นกับพื้น… พ่อแม่จำนวนมากสงสารลูก หรือรู้สึกผิดที่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก จึงชดเชยด้วยการตามใจ… ดังนั้นในวัยนี้พ่อแม่จึงต้องใจคอเข้มแข็งเข้าไว้ ปลูกฝังให้ลูกรู้จักควบคุม ยับยั้งความต้องการ รู้จักรอคอย ก่อนหน้าต่างบานนี้จะปิดลง
Must read : [สร้างวินัยเชิงบวก] 3 เทคนิคเชิงบวก ฝึกลูกเล็กควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกให้ได้ผล!
4. สอนให้ลูกรู้จักถูกผิด
แม้ว่าเด็กเล็กยังไม่รู้ว่าการกระทำอะไรก่อให้เกิดผลอย่างไร ยังไม่รู้จักเรื่องของเหตุผล แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเริ่มสอนเรื่องผิดถูก เหมาะควรได้บ้างแล้ว เช่น ถ้าลูกไปหยิบของคนอื่นมา ก็ต้องบอกลูกว่าไม่ถูกต้อง ให้เอาไปคืนเจ้าของ หรือลูกชอบใช้ความรุนแรงกับคนอื่นหรือสัตว์เลี้ยง ก็ต้องสอนให้รู้ว่าไม่ดี …หากเริ่มสอนเรื่องผิดชอบชั่วดีตั้งแต่วัยนี้ จะได้ผลดีที่สุดที่จะกล่อมเกลาให้ลูกมีคุณธรรม จริยธรรม ต่อไปในวัยที่โตขึ้น
Must read : เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี อารมณ์ดี และมีความสุข เพียง 4 ข้อ
อ่านต่อ >> “เทคนิคการเลี้ยงลูกให้สตรองด้วย หน้าต่างแห่งโอกาส 9 บาน” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วัยประถม (6 – 12 ปี)
5. ประหยัด
พ่อแม่มักมาสอนให้เด็กประหยัดตอนวัยรุ่น ซึ่งหน้าต่างแห่งโอกาสมันปิดไปแล้ว เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มจับจ่ายใช้สอย และมีของล่อใจมากมาย จึงไม่ค่อยได้ผล… การฝึกเด็กให้รู้จักประหยัด ต้องฝึกตอนประถม เพราะเด็กวัยนี้รู้ความหมายและคุณค่าของจำนวน เขาเริ่มเข้าใจแล้วว่า 5 บาท ต่างกับ 10 บาทยังไง …จึงควรให้ค่าขนมที่เหมาะสม ฝึกให้วางแผนการใช้เงิน รู้จักการออม
รวมทั้งสอนเรื่องการประหยัดน้ำ-ไฟทั้งในบ้านและนอกบ้านด้วย เพราะบางคนอยู่บ้านประหยัด แต่พอไปโรงแรมกลับเปิดน้ำเปิดไฟใช้เต็มที่ หรือไปงานบุฟเฟต์ ตักเต็มจาน แล้วกินไม่หมด พ่อแม่กลับบอกไปว่าไม่เป็นไรลูก เพราะจ่ายไปแล้ว นี่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี…ถ้าลูกรู้จักประหยัด เขาไม่เพียงช่วยครอบครัวได้ แต่ยังสอนให้เขานึกถึงสังคมด้วย
Must read : สอนลูกเรื่องการออมเงิน ควรเริ่มเมื่อไหร่ดี?
6. มีวินัย
- หนึ่ง -รู้จักแบ่งเวลา… เด็กที่เรียนได้ดีเป็นเพราะมีวินัย โดยเฉพาะในระดับชั้นต่อไปที่การเรียนยากขึ้น มีการบ้านและงานกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เด็กจึงต้องรู้จักแบ่งเวลา และต้องเริ่มตั้งแต่วัยนี้ ไม่เช่นนั้นจะพบกับความยากลำบากในการเรียนหรือการทำงานในอนาคตข้างหน้า
- สอง -รู้จักความรับผิดชอบ สมัยนี้พ่อแม่มักไม่ค่อยให้ลูกรับผิดชอบอะไร ให้เรียนหนังสืออย่างเดียว แล้วจัดหาคนทำให้ หรือมีเครื่องอำนวยความสะดวก แต่อย่างน้อยก็ควรให้ลูกได้มีหน้าที่รับผิดชอบช่วยเหลืองานในบ้านบ้าง เพราะจะทำให้เด็กได้เรียนรู้หลายอย่าง ทั้งเป็นการฝึกทำงานต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว รู้จักวางแผน มีวินัย(เพราะงานบ้านต้องทำเป็นเวลา) รู้จักช่วยเหลือรับผิดชอบต่อส่วนรวม …เรื่องนี้ถ้าไปฝึกตอนเป็นวัยรุ่นจะยาก แต่ถ้าเราฝึกมาดี เขาจะรู้จักช่วยงานโดยไม่อิดออด และเมื่อเขาเติบโตไปอยู่ที่ไหน ไปทำงานอะไร ก็จะทำได้ดีและปรับตัวเข้ากับคนได้ง่ายเพราะไม่ดูดาย
Must read : สร้างวินัยให้ลูก เหมือนเด็กญี่ปุ่น พ่อแม่ทำได้!
Must read : 12 เทคนิค สร้างลูกดี มีวินัย
7. ใฝ่รู้
การให้ลูกเรียนหนังสืออย่างเดียว ไม่ใช่การใฝ่รู้…เราควรให้เด็กสนใจกิจกรรมอย่างอื่นด้วย เช่นเล่นกีฬา ดนตรี ไปพิพิธภัณฑ์ เข้าค่ายต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เขามีความกระตือรือร้น เรียนรู้ในสิ่งที่เขาสนใจ และเป็นการเปิดโลกกว้างให้ลูก ความใฝ่รู้ในวัยประถมจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีในระดับชั้นที่ยากขึ้น และค้นหาความสามารถความสนใจที่แท้จริงของตัวเองได้เร็ว
อ่านต่อ >> “เทคนิคการเลี้ยงลูกให้สตรองด้วย หน้าต่างแห่งโอกาส 9 บาน” คลิกหน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วัยรุ่น (13 ปี ขึ้นไป)
ที่วัยรุ่นมีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ เพราะเขาสะสมต้นทุน 7 อย่างดังที่กล่าวมาตอนก่อนเข้าสู่วัยรุ่นมาไม่ครบ แต่ถ้าเราสร้างต้นทุนไว้ดี ตอนวัยรุ่นจะเหลือเพียงเรื่องของอัตลักษณ์ที่ต้องปลูกฝังกัน สามารถเสริมสร้างด้านค่านิยมเชิงบวก ค่านิยมทางสังคมและทางเพศ ซึ่งการเสริมสร้างหน้าต่างแห่งโอกาสให้กับเด็กอย่างเหมาะสม จะทำให้ลูกน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพและความสุข พูดง่ายๆ คือ ‘ค่านิยม’ นั่นเอง มีสำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ
8. อัตลักษณ์ทางเพศ
จากการวิจัยพบว่าเด็กไทยดูหนังสือโป๊ วีซีดีโป๊ ตั้งแต่ก่อนมัธยมศึกษา ประมาณ 41 กว่าเปอร์เซ็นต์ แสดงว่าปัจจุบันเด็กถูกปลูกฝังค่านิยมทางเพศผ่านสื่อ ซึ่งมักไปในทางที่ผิด สื่อเหล่านี้กลุ่มวัยรุ่นเข้าถึงง่ายมาก และปัญหาคือเด็กแยกถูกผิดไม่ได้ รวมทั้งสื่อโฆษณาก็ปลูกฝังค่านิยมที่ผิด เช่น เป็นผู้หญิงต้องอวดผิวได้ ถึงจะทันสมัย เด็กผู้ชายต้องกล้าเข้าไปลวนลาม แทะโลมผู้หญิงถึงจะเรียกว่าแน่ หรือคนไทยที่ทันสมัยต้องดื่มเบียร์
ดังนั้นพ่อแม่ต้องสอนลูก โรงเรียนต้องเปลี่ยนหลักสูตร ต้องเอากรณีศึกษาเหตุการณ์ต่างๆ มาคุยกับเด็ก และที่สำคัญสื่อก็ต้องตะหนักในผลกระทบถึงเยาวชนด้วย เรื่องนี้พ่อแม่คงต้องช่วยกันเรียกร้องสื่อนะคะ เห็นโฆษณาชิ้นไหนไม่เหมาะควรก็ต้องลุกขึ้นมาประท้วงกัน
9. อัตลักษณ์ทางสังคม
สิ่งที่พ่อแม่ต้องพูดคุยกับลูก คือ
- หนึ่ง จะมีวิถีชีวิตอย่างไร ในขณะที่สื่อและโฆษณาบอกว่าให้ฟุ้งเฟ้อ พ่อแม่ต้องสอนลูกให้เท่าทัน อย่าตกเป็นเหยื่อ และมีค่านิยมที่จะอยู่แบบพอเพียงแบบในหลวงท่านว่า
- สอง มีเป้าหมาย มีหลักคิดอย่างไรในการดำเนินชีวิต เพื่อตนเองหรือเพื่อสังคม เลือกอาชีพตามถนัดเป็นอาชีพสุจริต หรือว่าเลือกตามเพื่อน หรืออาชีพอะไรก็ได้ขอให้ฉันได้เงิน… ซึ่งทั้งสองเรื่องดังกล่าว พ่อแม่คงต้องตั้งคำถามกันเองก่อนกระมังคะ ถึงจะบอกจะสอนลูกได้
“ส่วน ค่านิยมทางสังคม จะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการดำเนินชีวิตเขาได้ ให้เขาหาตัวเองให้เจอก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อที่จะได้ไม่เลือกคณะตามเพื่อน หรือถ้าเป็นไปได้ควรหาให้พบ ก่อนขึ้นมัธยมปลาย จะได้มีการเตรียมความพร้อม เพราะในบางสาขาวิชาต้องวัดความรู้ความสามารถเฉพาะทางด้วย แต่จะต้องให้เขาเป็นคนเลือกเอง พ่อแม่ไม่ควรคิดและตัดสินใจให้ แค่ให้คำปรึกษาและเป็นกำลังใจก็เพียงพอแล้ว
การสร้างคุณลักษณะทั้ง 9 ประการนี้ให้มีอยู่ในตัวลูก ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสามารถสอนได้จากชีวิตประจำวัน นอกจากจะต้องโฟกัสตามหน้าต่างแต่ละบ้านแล้ว ต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นโดยอาศัยวิถีชีวิตในครอบครัว สอนพร้อมกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เพียงแค่แบ่งเวลามาสอนวันละนิดก็คงจะดีกว่าต้องมารวมหัวหาทางแก้ไขในภายหลัง และหากลูกเติบโตมีคุณลักษณะเหล่านี้ติดตัวไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงแปรปรวนอย่างไร ก็สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและอยู่รอดปลอดภัย
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- 5 วิธีง่ายๆ เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ!
- 5 เหตุผล ทำไมการเลี้ยงลูกสมัยใหม่จึง “วิกฤต”
- การเติบโตและพัฒนาการของลูกน้อยช่วงอายุแรกเกิด 5 ปี
- เทคนิคเลี้ยงลูก ให้สุขภาพจิตแข็งแรง
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.gotoknow.org , www.healthygamer.net , www.happyreading.in.th , www.manager.co.th