AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เลี้ยงลูกให้เป็น “คนปกติ” ตามวัย

การ เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ …หากความพยายามปั้นลูกให้เป็นเด็กอัจฉริยะทำให้ลูกเครียด กดดัน หรือหลงทางไปตามความฝันของพ่อแม่ ทั้งที่สิ่งนั้นไม่ใช่ฝันและความสามารถที่แท้จริงของเขาเอง

เราลองมาเปลี่ยนวิธีเลี้ยงลูกจากการมุ่งสู่อัจฉริยะมาเป็นเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติที่เติบโตอย่างรู้จักตัวเอง ภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ และมีความสุขอยู่เสมอ แบบนี้ดีกว่าไหมคะ ซึ่งวิธีที่คุณพ่อคุณแม่จะเลี้ยงลูกให้ได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะต้องเริ่มจากพัฒนาจิตใจของคุณพ่อคุณแม่เอง เมื่อพ่อแม่พร้อมจึงจะสามารถพัฒนาลูกไปสู่ความเป็นคนปกติได้ แต่พ่อแม่จะพัฒนาตัวเองอย่างไร และจะพัฒนาลูกไปในทิศทางไหนเพื่อให้เขาเป็นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขตลอดชีวิต คุณหมอตั้มและคุณหมอก้อยจากเพจดัง “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ” มีคำตอบมาฝากกันค่ะ

เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ ตามวัย คุณทำได้!

พัฒนาลูกเริ่มต้นที่ “ใจพ่อแม่”

“ประมาณสัก 20-30 ปีก่อน เป็นยุคที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงลูก ก็เลี้ยงกันไปตามมีตามเกิด แต่ประมาณสัก 20 ปีที่ผ่านมา พ่อแม่เริ่มมีความรู้มากขึ้น ทั้งด้านจิตวิทยาและการศึกษา เราก็คิดว่าพ่อแม่จะเลี้ยงลูกได้ดีต้องมีความรู้ แต่ในทุกวันนี้เราก็พบว่า ต่อให้พ่อแม่มีความรู้ เด็กของเราก็ยังมีปัญหา จนเริ่มมีคนค้นพบทีหลังว่า การเลี้ยงลูกแบบวิชาการมากไป ทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน ความรู้อย่างเดียวจึงยังไม่พอ

คุณหมอตั้มกล่าวเปิดประเด็น เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นของพ่อแม่ในยุคปัจจุบัน

“ผมยกตัวอย่างเช่น…

พ่อแม่จำนวนหนึ่งอ่านหนังสือและทำตามคำแนะนำว่า ให้พูดชื่นชมลูกหรืออย่าคาดหวังกับลูกสูงนัก แต่หมอพบว่ามีเด็กหลาย ๆ คนที่รู้สึกแย่กับการที่พ่อแม่แสร้งชม พ่อแม่เพียงแค่ชมตามหนังสือแนะนำ แต่ไม่ได้รู้สึกชื่นชมลูกจากใจจริง หรือลูกเรียนไม่เก่ง ก็พูดกับลูกว่า ไม่เป็นไร แต่สีหน้าและแววตาที่แสดงออกมาตรงกันข้าม กลับทำให้ลูกรู้สึกแย่กว่าการที่พ่อแม่พูดตรง ๆ ตอนนี้จึงเป็นยุคที่พ่อแม่ต้องปรับทัศนคติตัวเองและแสดงออกด้วยความจริงใจ เช่น ถ้าจะพูดชื่นชมลูกก็ต้องมาจากใจจริง หรือถ้าจะคาดหวังให้น้อยก็ต้องทำได้จริง ยุคนี้จึงเป็นยุคที่พ่อแม่ต้องพัฒนาตัวเองไปให้ถึงจุดที่แสดงออกได้อย่างจริงใจ หรือเป็นยุคที่พ่อแม่ต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นพ่อแม่ไปพร้อมกับการเลี้ยงลูก การเลี้ยงลูกมันไม่ใช่แค่ว่าเราทำอะไรกับลูก แต่พ่อแม่ก็ต้องทำอะไรกับตัวเองเพื่อให้เป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นคนที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไปพร้อมกับลูก ลูกถึงจะดีได้จริง ๆ

คุณหมอก้อยเสริมว่า…

พ่อแม่ที่พัฒนาตนเองได้ จะสามารถยอมรับตัวตนของลูกได้อย่างจริงใจ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกไม่ชอบเรียนหนังสือ เราก็ยอมรับและปล่อยให้ลูกเล่นเกมตามสบาย แต่สิ่งที่พ่อแม่ควรยอมรับให้ได้คือความชอบและศักยภาพที่แท้จริงของลูก

“การยอมรับที่ถูกต้อง คือ ยอมรับว่าลูกของเรามีศักยภาพประมาณนี้ ด้านที่ดีเราก็เสริมให้เขาเก่งขึ้นเรื่อยๆ ส่วนด้านที่เขาไม่ถนัดหรือเป็นจุดอ่อน พ่อแม่ก็ต้องยอมรับว่า ความเร็วในการก้าวเดินไปข้างหน้าของเขา ไม่มีทางเท่าเพื่อนที่โดดเด่นในด้านนั้น เพียงพ่อแม่เข้าช่วยค่อย ๆ ดัน โดยไม่เร่งจนเขาเกิดความเครียดและไม่ปล่อยให้เขาหยุดอยู่กับที่ เพียงเท่านี้ก็นับว่าดีที่สุดแล้ว”

“ใจ หัว มือ มันคนละส่วนกันครับ” คุณหมอตั้มอธิบาย “หัวเราอาจจะต้องคิดว่าเราจะช่วยลูกได้อย่างไร หรือถ้าลูกเราไม่เหมาะกับสิ่งนี้แล้วเราจะทำอย่างไร ส่วนมือก็โทรศัพท์ไปหาคนให้คำปรึกษา พาไปเรียนเสริมเท่าที่เขาเรียนไหว แต่ส่วนสำคัญที่สุด คือ ‘ใจ’ ลูกจะดีหรือไม่ดี เก่งหรือไม่เก่ง ชอบแบบที่พ่อแม่เลือกหรือไม่ และคุณจะยอมรับลูกที่เป็นแบบนี้หรือไม่ยอมรับ ลูกเราก็คือคนนี้ เพราะฉะนั้นใจก็ต้องยอมรับให้ได้ว่านี่ลูกของฉัน ลูกของฉันก็เป็นแบบนี้ เขาไม่เหมือนลูกคนอื่น เขาไม่ได้เก่งเท่าลูกคนอื่น เขาไม่ได้ชอบคณิตศาสตร์เหมือนพี่ ไม่ได้เก่งเหมือนเด็กข้างบ้าน เพียงแต่ว่าฉันจะทำอย่างไร ฉันจะคิดหาทางอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาก็ค่อย ๆ ทำกันไป ซึ่งถ้าใจเราปล่อยวางได้ สิ่งที่เราทำกับลูกมันก็จะสอดคล้องกับเขา เราจะอ่อนโยนกับเขา เราจะเข้าใจเขา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราแสดงออกก็จะเป็นสิ่งที่ออกมาจากใจจริง ๆ”

อ่านต่อ >> “เทคนิคการเลี้ยงลูกให้เป็น “คนปกติ” เหมะสมตามวัย” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น

การยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น เป็นหัวใจสำคัญของการเป็นพ่อแม่ที่จะสามารถเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติได้ แม้ว่าลูกจะไม่เก่งเหมือนคนอื่น บกพร่องไม่เหมือนใคร กระทั่งพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

หมอตั้มกล่าวว่า… หลักการของพ่อแม่ก็ไม่แตกต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติหรือเด็กพิเศษ หมอคิดว่าทุกคนต่างก็มีจุดอ่อน จุดอ่อนของเด็กคนนี้อาจเป็นอาการอยู่ไม่นิ่ง จุดอ่อนของเด็กคนนั้นคือเข้าใจคนอื่นได้ไม่ดี กระทั่งหมอก็มีจุดอ่อน หรือเด็กมีปมด้อย หมอก็มี พ่อแม่เด็กก็มี แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้พัฒนาจุดด้อยไปได้เรื่อย ๆ เท่าที่เราจะทำได้ และทำอย่างไรให้เรามีจุดเด่นที่ใคร ๆ จะชื่นชมและยอมรับเราได้ เราก็ต้องหาจุดเด่นให้ลูกด้วย

ปัญหาของเด็กทุกวันนี้คือพยายามพัฒนาจุดด้อยให้เป็นจุดเด่น ซึ่งมันไม่มีวันเป็นไปได้ แล้วเด็กก็ต้องทุกข์ทรมาน เพราะฉันไม่มีวันเก่ง ฉันไม่มีวันประสบความสำเร็จ และสุดท้ายเด็กก็หาตัวเองไม่เจอว่า แล้วจุดเด่นของฉันคืออะไร เพราะว่าบางครั้งจุดเด่นของเด็กก็ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ต้องการ เช่น พ่อแม่อยากให้ลูกเก่งวิชาการ ซึ่งพอทักษะด้านวิชาการไม่ใช่ตัวตนของเขา เขาก็จะทำไม่ได้ เด็กจะรู้สึกว่าฉันล้มเหลว เครียด สุดท้ายก็กระโดดตึกฆ่าตัวตายกันมากมาย สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กของเราไม่ค่อยปกติจึงอยู่ที่วิธีเลี้ยงของพ่อแม่ที่ไม่เหมาะกับอายุและตัวตนของเขา เร่งเกินไปหรือช้าเกินไปก็มี แทนที่วัยนี้ควรจะทำอะไรด้วยตัวเองได้ก็ไม่ให้เขาทำ ช้าไปบ้างเร็วไปบ้าง หรือเลี้ยงไม่เหมาะกับบุคลิกลักษณะและความชอบของตัวเด็กเอง”

คำถาม คือ แล้วในฐานะพ่อแม่จะเตรียมรับมือหรือเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง???

คำตอบง่าย ๆ คือ ควรเตรียมพร้อมมาตั้งแต่เขาเกิด เพราะแต่ละช่วงวัยจะมีเรื่องสำคัญหรือคอนเซ็ปต์ต่างๆ ที่พ่อแม่จะต้องสอนหรือทำให้สำเร็จในช่วงนั้นๆ เปรียบง่ายๆ คือพ่อแม่เหมือนคนทำซาวนด์เอ็นจิเนียร์ อย่างเช่น ลูกวัยอนุบาลก็ต้องปรับปุ่มวินัยสูงหน่อย พ่อแม่ต้องคอยดูว่าลูกนอนเป็นเวลาไหม กินข้าวแล้วเก็บจานไหม พอเข้าวัยรุ่น ปุ่มวินัยนี้ต้องลดและไปเพิ่มเรื่องการตัดสินใจเองแทน แต่ตรงข้ามถ้าหากอนุบาลเราไม่ได้ฝึกวินัยมาเลย ปล่อยลูกอิสระเต็มที่ พอเข้าวัยรุ่นจู่ๆ จะมาคุมเขาก็ลำบากแล้ว

ดังนั้น การรู้คอนเซ็ปต์ของแต่ละช่วงวัยจึงสำคัญ และพ่อแม่ต้องปรับแผนการเลี้ยงลูกอยู่เรื่อยๆ จะใช้แผนเดียวตั้งแต่เล็กจนโตคงไม่ได้ เพราะเด็กแต่ละวัยก็มีความแตกต่าง เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็ต้องปรับการเลี้ยงดูให้เหมาะกับวัยของลูกด้วย

อย่างที่คุณหมอทั้งสองท่านได้บอกเล่าให้เราฟังไปแล้วว่า การเลี้ยงลูกให้เป็นปกติต้องไม่เร่งจนเร็วกว่าวัย และไม่ปล่อยทิ้งไว้จนช้ากว่าที่ควร แต่เลี้ยงอย่างไรคือแบบที่ไม่เร็วและไม่ช้าจนเกินไป คุณหมอจึงฝากคำแนะนำการเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติตามวัย มาฝากกันค่ะ

อ่านต่อ >> “7 เทคนิคเลี้ยงลูกแต่ละวัย …ให้เป็นคนปกติ” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

วัยเบบี๋ : ใส่ใจทุกรายละเอียด

เบบี๋เป็นวัยที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จึงต้องการการดูแลในทุก ๆ เรื่อง และเพราะเบบี๋ยังพูดไม่ได้ เขาจึงใช้เสียงร้องในการสื่อสารแทนคำพูด เพื่อบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าเขากำลังรู้สึกไม่สบายตัวและต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเสียงร้องในแต่ละสถานการณ์มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะขับถ่าย หิว รู้สึกร้อน หรือรู้สึกหนาว

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตดี ๆ ก็จะแยกแยะความแตกต่างได้ไม่ยาก ในช่วงวัยนี้หากมีคนอยู่กับเขาและตอบสนองเขาได้อย่างถูกต้อง จะช่วยให้เบบี๋พัฒนาความรู้สึกไว้วางใจต่อโลกนี้ ซึ่งจะกลายเป็นพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นต่อไปในอนาคต

Must readถอดรหัส เสริมพัฒนาการ 11 กระบวนท่าของทารกที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้!

วัยเตาะแตะ : ออกสำรวจโลกกว้าง

ลูกน้อยวัย 1-3 ขวบ เป็นวัยที่เริ่มเป็นตัวของตัวเอง เขาแยกได้แล้วว่า พ่อแม่และตัวเขาเป็นคนละคน ฉะนั้นเขาสามารถรู้สึกและคิดต่างจากคนอื่นได้ เด็กวัยนี้จึงชอบทำสิ่งตรงข้ามกับคำสั่งสอนของพ่อแม่ และปฏิเสธพ่อแม่อยู่เสมอ นอกจากนี้วัยนี้ยังชอบเรียนรู้โลกกว้าง ตื่นตาตื่นใจกับทุกสิ่งที่พบเห็น

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญสำหรับเขาคือโอกาสในการออกสำรวจโลก หากคุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ควรจัดสถานที่ให้กว้างพอที่ลูกน้อยจะยังได้สำรวจ แต่เป็นบริเวณที่ยังคงมีความปลอดภัย แม้เขาจะหกล้มก็อาจจะเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับหัวแตก เพื่อให้ลูกน้อยได้เรียนรู้ด้วยว่า ถ้าเขาเดินไม่ระวังก็อาจจะเจ็บตัวได้

วัย Terrible Two ต้องสอนให้ลูกพูดคำว่า “ไม่”

หมอตั้มยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงว่า “ช่วง 2 ขวบ ผมต้องสอนให้ลูกพูดคำว่าไม่ ตอนแรกที่ลูกพูดไม่เป็นแล้วเขาหงุดหงิด ผมเลยสอนเขาว่า ไม่ชอบอะไรบอกเลยไม่ชอบ ไม่กินอะไรบอกเลยไม่กิน คือพ่อแม่จะได้รู้ แต่ก็มีพ่อแม่บางคนบอกว่ากลัวลูกจะพูดบ่อยกลายเป็นปฎิเสธทุกอย่าง ซึ่งที่จริงมันไม่เกี่ยวกัน เพราะถ้าลูกไม่พูดเขาก็จะอาละวาด มันเป็นความรู้สึกข้างใน ที่เขาไม่อยากได้แต่เขาพูดออกมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ชอบอะไร โกรธใคร จะเอาอะไร ขอให้บอก แต่ว่าเราจะให้หรือไม่ให้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะการบอกมาก่อนเป็นการระบายที่ช่วยลดอารมณ์เด็กได้”

Must readลูกเข้าสู่ วัยทอง 2 ขวบ งอแงไร้เหตุผล เพราะอะไรต้องดู!
Must readTerrible two วัย 2 ขวบ ยิ่งถูกห้าม ยิ่งปฏิเสธ มารู้จักกับวัยนี้กัน

วัยอนุบาล : สร้างวินัย ใส่ใจคุณธรรม

การที่เด็กจะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ นั่นความหมายว่าภาษา กล้ามเนื้อ และใจของเขาต้องพร้อม การสร้างวินัยก็เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่หลายคนอยากให้ลูกมีวินัยตั้งแต่วัยเตาะแตะ แต่ในวัยนั้นภาษาของเขายังพูดได้เป็นเพียงคำสั้น ๆ ยังไม่เข้าใจเหตุผล เงื่อนไข และการทำข้อตกลง รวมถึงกล้ามเนื้อและสังคมของเขาก็พัฒนาไม่มากพอ วัยที่เหมาะสมสำหรับการสร้างวินัย ศีลธรรม และคุณธรรม จึงเป็นวัยอนุบาลที่เขามีความพร้อมในด้านต่าง ๆ แล้วพอสมควร ในขณะที่ด้านวิชาการ เด็กควรได้เรียนตามหลักสูตรของโรงเรียนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรเร่งหรือเลือกโรงเรียนที่สอนเร็วกว่าพัฒนาการของเขา เพราะอาจทำให้เด็กเครียด และเสียเวลาในการเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีไปกับการเรียนเพียงอย่างเดียว

อีกสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กมองข้ามคือทักษะสังคม คุณหมอแนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกวัยอนุบาลให้รู้จักการต่อรอง สอนทักษะการโน้มน้าวใจผู้อื่น หรือสอนให้มีศิลปะในการตื๊ออ้อนขอสิ่งต่าง ๆ เช่น ลูกอยากชวนเพื่อนมาเล่นด้วยกัน แต่เพื่อนปฏิเสธ แทนที่ลูกจะอาละวาดโวยวายเมื่อถูกขัดใจ ก็เปลี่ยนเป็นตื๊อเพื่อนว่า ‘มาเล่นด้วยกันนะ มาเล่นกันเถอะนะคนสวย’ แม้การตื๊อของเด็กจะได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่ถือเป็นโอกาสให้เด็กได้พัฒนาศิลปะในการสื่อสาร ซึ่งเป็นวิธีในการอะลุ่มอลวยเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ รวมทั้งเป็นทักษะที่ทำให้เด็กรู้จักทำข้อตกลงเพื่อหาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ เด็กที่มีทักษะนี้จึงไม่ค่อยอาละวาดหรือเกิดอารมณ์หงุดหงิดง่ายเมื่อถูกขัดใจ แต่เขาจะใช้สมองคิดเพื่อหาวิธีเจรจาต่อรองแทน

Must readฝึก “วินัย” ลูก ให้ความสามารถนำทางชีวิตด้วยตัวเอง
Must readสอนลูกให้เป็นคนดี มีจริยธรรมตั้งแต่แรกเกิด

อ่านต่อ >> “เทคนิคเลี้ยงลูกวัยประถม-วัยรุ่น ให้เป็นคนปกติ” คลิกหน้า 4

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

√ วิธีเอาชนะเมื่อถูกลูกตื๊อหนักๆ

บางเรื่องที่เราไม่สามารถให้ลูกได้จริงๆ เมื่อจำเป็นต้องปฎิเสธ เทคนิคที่ใช้กับเด็กได้ดีมากคือการเพิกเฉย ก่อนจะเพิกเฉยควรบอกลูกว่าแบบนี้ไม่เอาหรือไม่ได้ แล้วเพิกเฉยไปซะ ลูกก็จะเรียนรู้ว่าเขามีสิทธิ์ตื๊อใครก็ได้ แต่คนๆนั้น ก็มีสิทธิ์ที่จะปฎิเสธเหมือนกัน ยิ่งได้ฝึกฝนบ่อยๆเข้าลูกก็เริ่มเรียนรู้ว่าขอบเขตของพ่อแม่อยู่ตรงไหน

เพราะฉะนั้นเด็กจะตื๊อ จะงอแง หรือาละวาด เขาทำได้หมด อยู่ที่พ่อแม่จะเกลาพฤติกรรมหรือตอบสนองเขาอย่างไร ถ้าพ่อแม่คุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ แล้วยอมลูกเพื่อตัดรำคาญ ก็จะเป็นการสอนให้ลูกรู้ว่าถ้าอยากได้ต้องตื๊อให้หนักๆ ต้องตื๊อในห้างตอนที่คนเยอะๆ ตื๊อตอนที่มีปู่ย่าอยู่ด้วย เด็กก็จะเรียนรู้ไปแบบนี้ เด็กก็จะรู้ด้วยนะว่าตื๊อตอนไหนแล้วจะได้

วัยประถม : ค้นหาตัวเอง

ในสมัยก่อนเราจะเคยได้ยินบ่อย ๆ ว่า ช่วงวัยรุ่นคือวัยแห่งการค้นหาตัวเอง แต่สำหรับยุคสมัยนี้การเริ่มต้นค้นหาตัวเองตอนวัยรุ่นก็ช้าไปเสียแล้ว เพราะเด็กที่ค้นหาตัวเองเจอตั้งแต่วัยประถม จะได้พัฒนาทักษะความสามารถของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ไม่หลงทางหรือเกิดความกังวลเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น นอกจากนี้ตัวตนที่เขาค้นเจอ จะกลายเป็นสิ่งที่คอยยึดเหนี่ยวให้เขาผ่านพ้นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อไปได้ด้วยดี

เพราะฉะนั้นในช่วงวัยประถมจึงไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการยัดเยียดวิชาการ แต่ควรให้เป็นช่วงเวลาพัฒนาทักษะความสามารถพิเศษที่นอกเหนือจากเรื่องการเรียน เช่น ให้ลูกได้ลองเล่นดนตรี ได้ไปเข้าค่าย หรือทำกิจกรรมที่หลากหลาย โดยไม่ใช่ลักษณะของการทำเพื่อแข่งขัน ไม่ยัดเยียดสิ่งที่ลูกไม่ชอบ และไม่ควรให้เรียนทักษะต่าง ๆ อย่างจริงจังจนเกิดความเครียด นอกเสียจากลูกอยากเรียนด้วยตัวเอง หากช่วงวัยประถมคุณพ่อคุณแม่ช่วยส่งเสริมลูกเช่นนี้ เมื่อถึงวัยรุ่นเขาจะอยากเรียนอย่างจริงจังและอยากแข่งขันด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่ไม่ต้องกดดันเขาให้เหนื่อยเลยค่ะ

วัยรุ่นวัยแห่งอิสระ

วัยที่พ่อแม่จะเริ่มห่วงและกังวลจริงจังคงหนีไม่พ้นวัยรุ่น สมัยก่อนเราเชื่อว่าวัยรุ่นคือช่วงอายุ 13-14 ปี แต่ปัจจุบันเราพบว่าเด็กเริ่มมีพฤติกรรมเหมือนวัยรุ่นเมื่ออายุประมาณ 10 ปี เพราะฉะนั้นเด็กบางคนพ่อแม่ก็จะเริ่มคุมไม่ได้ เริ่มมีปัญหาคล้ายวัยรุ่น แต่หากคุณพ่อคุณแม่ปูพื้นฐานที่ดีให้แก่ลูกน้อยมาตั้งแต่เบบี๋ถึงวัยประถม

เมื่อลูกเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อเขาก็จะมีเป้าหมายชัดเจนว่า ตนเองสนใจอะไร อยากทำอะไร และจะใช้เวลาไปกับสิ่งไหน โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเหนื่อยเคี่ยวเข็ญเขาให้เหนื่อยกายเหนื่อยใจ เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและคอยสนับสนุนให้เขามุ่งไปสู่เป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น

เด็กที่ค้นหาตัวเองเจอตั้งแต่วัยประถม จึงมักจะผ่านช่วงวัยรุ่นไปได้อย่างดี เพราะมีพร้อมทั้งทักษะสังคม ความสามารถ และคุณธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากมาเริ่มบังคับในช่วงวัยรุ่น จะเกิดความลำบากและคับข้องใจกันทั้งคุณพ่อคุณแม่และตัวลูกเอง คุณหมอกล่าวย้ำกับเราว่า “อะไรที่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ตอนวัยรุ่นมันเหนื่อย มันยาก มันลำบาก เสี่ยงกับการเสียหน้า เสี่ยงกับการล้มเหลว และวัยรุ่นก็จะไม่ทำ”

♥ ทักษะการปรับตัว หัวใจสำคัญที่ควรปลูกฝัง

การปรับตัวกับความอดทนเป็นสองสิ่งที่มาคู่กัน เด็กที่อดทนได้น้อยจะปรับตัวได้น้อยและเด็กที่เกิดความคับข้องใจแล้วคนรอบข้างต้องปรับสิ่งแวดล้อมปรับโลกภายนอกเข้าหาเขา เช่น เมื่อบ่นว่าร้อน พี่เลี้ยงก็เดินไปเปิดแอร์ บ่นหิวน้ำ แม่ก็เอาน้ำมาให้ ดังนั้นส่วนใหญ่เด็กที่ปรับตัวยากคือเด็กที่ถูกตามใจ หรือมีคนช่วยเหลือเยอะๆ แต่ถ้าเด็กที่ถูกเลี้ยงมาแบบอยากได้อะไรต้องรอ อยากได้อะไรแล้วไม่ได้ (แต่ไม่ใช่ถูกปล่อยทิ้งให้หงุดใจ) ระหว่างนั้นก็มีคนคอยปลอบประโลมให้กำลังใจ “หนูต้องรอนะลูก” เด็กจะค่อยๆจัดการอารมณ์ตัวเองได้ เขาจะค่อยๆทำความเข้าใจว่า ไม่ได้ก็คือไม่ได้ หรือถ้าให้รอก็ต้องรอ ถ้าเป็นแบบนี้เด็กจะเริ่มปรับตัวกับความผิดหวังคับข้องใจได้

ตัวแปรสำคัญอีกอย่างคือ พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนง่ายๆ กินอะไรก็ได้ กับข้าวง่ายๆ อย่างไข่เจียวก็กินได้ อาหารหรูๆ ก็กินได้ นอนพื้นกระดานก็ได้ นอนโรงแรมก็ได้ ร้อนก็ได้หนาวก็ได้ ลูกก็จะซึมซับจากพ่อแม่เขาก็จะกลายเป็นเด็กที่ปรับตัวได้ง่าย แต่ถ้าพ่อแม่ปรับตัวยาก นั่นก็ไม่ได้ นี่ไม่ได้ ลูกก็จะปรับตัวยากเหมือนพ่อแม่ นอกจากนี้การพาเด็กไปเจอผู้คนที่หลากหลาย ไปในสถานที่ที่แตกต่างกัน ก็จะช่วยให้ลูกฝึกทักษะการปรับตัวได้ดีขึ้นเช่นกัน

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


บทความโดย :  นพ. อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ พญ.พรพิมล นาคพงศ์พันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ (“หมอตั้ม” และ “หมอก้อย” เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ”)