AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เด็กยุคใหม่! เลี้ยงอย่างไรให้สร้างสรรค์?… พร้อมธรรมะดีๆ “อย่าเป็นพ่อแม่รังแกฉัน ด้วยการทำร้ายคนที่ตนรัก” จากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

พ่อแม่ทุกคนรักและห่วงใยลูกเสมอ โดยเฉพาะในวัยเยาว์ พ่อแม่จะทุ่มเทชีวิตจิตใจในการเลี้ยงดูลูก ปลูกฝังให้ลูกเป็นคนดี มีอนาคตที่สดใส เมื่อลูกอยู่ห่างไกล ก็ห่วงใย คอยฟังข่าวของลูกอยู่เสมอ อยากจะได้ยินแต่ข่าวดีของลูก ไม่มีพ่อแม่คนไหนเลยที่อยากจะได้ยินข่าวร้ายของลูก เพราะนั่นทำให้พ่อแม่มีความทุกข์ใจไปด้วย

พ่อแม่บางคนชอบดุและเข้มงวดกวดขันกับลูก เพราะอยากให้ลูกได้ดี และคิดว่า หากชมลูกจะทำให้ลูกเหลิง เดี๋ยวจะเสียคน แต่แอบเอาความดีของลูกไปชมให้คนอื่นฟัง ทั้ง ๆ ที่เขาไม่อยากฟัง คนที่อยากฟังคือลูก แต่ไม่พูดให้ฟัง ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิด ทำให้ลูกน้อยใจ คิดว่าทำดีแทบตายพ่อแม่ไม่เห็นความดีของตนเลย พอทำผิดหน่อยเดียวกลับถูกดุด่าอยู่เป็นประจำ หรือไม่ก็มีแต่คนชมพี่ ชมน้อง ชมคนอื่น ไม่เห็นมีใครชมตนเลย

สิ่งนี้เป็นเงื่อนปมในจิตใจของลูก ทำให้ลูกรู้สึกว่าตนต่ำต้อยด้อยกว่าคนอื่น เป็นคนไม่มีคุณค่า ไม่มีใครต้องการ ลูกบางคนที่มีพื้นฐานจิตเป็นอกุศล ประชดพ่อแม่ด้วยการใช้ชีวิตของตนไปในทางที่ผิด บางคนถึงกับเสียคน เสียอนาคตไปเลย

เรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับพ่อแม่และลูกทุกคน โดยเฉพาะพ่อแม่ซึ่งมีวุฒิภาวะมากกว่าลูก ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องรู้จักวิธีเลี้ยงลูกอย่างสร้างสรรค์ด้วย เมื่อลูกทำดีก็ชม เมื่อทำผิดก็บอกกล่าวให้แก้ไขใช้คำพูดที่น่าฟังแทนคำดุด่าที่ก้าวร้าว ลูกเองก็เช่นกัน ต้องเข้าใจความรักและพระคุณของพ่อแม่ ต้องรักอนาคตของตนด้วย …. มิฉะนั้น ทั้งพ่อแม่และลูกจะทำร้ายคนที่ตนรักไปตลอดชีวิต

– พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ –

 ส่วนหนึ่งจากนิตยสาร Secret จากคอลัมน์ True Story กว่าจะเข้าใจ…ก็ (เกือบ) สายเสียแล้ว?!


อ่านต่อ >> “วิธีการเลี้ยงลูกอย่างสร้างสรรค์” คลิกหน้า 2

จุดอ่อนของครอบครัวไทยในปัจจุบัน มี 5 เรื่องสำคัญ

  1. แนวโน้มพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กที่สูงขึ้น

เพราะเด็กไทยในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวและใช้ความรุนแรง เพิ่มมากขึ้น ด้วยวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงทำให้เด็กๆตกอยู่ท่ามกลาง ความรวดเร็ว เร่งรัด และการคาดหวังผลแบบสำเร็จรูป เหมือนเด็กๆถูกเร่งให้โตไปโดยปริยาย การเลี้ยงดูสั่งสอนลูกหลานแบบค่อยเป็นค่อยไปจึงลดลง เมื่อไม่ได้ดังใจก็ใช้กำลังและความรุนแรงเป็นตัวแก้ปัญหา

  1. การใช้ชีวิตแบบวัตถุนิยม

ด้วยความคิดของพ่อแม่ส่วนใหญ่ที่ว่า เราทำงานหนักเพื่อหาเงินมาให้ลูก ลูกอยากได้อะไรก็คอยหามา ทำให้ทุกอย่าง จนสุดท้ายกลับกลายเป็นว่าลูกเสพติดวัตถุไปโดยไม่รู้ตัว โดยหารู้ไม่ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่จิตใจ

  1. ความมีเสรีเพศ

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ากลัวในปัจจุบัน เพราะเด็กรุ่นใหม่ถูกกระตุ้นให้โตเร็วตามสภาพสังคม เด็กๆอาจจะมีความสนใจในเรื่องทางเพศมากขึ้น ประกอบกับลักษณะนิสัยคนไทยที่ผู้ใหญ่ไม่กล้าจะอธิบายเรื่องเหล่านี้อย่าง เปิดเผยหรือสื่อสารผิดวิธี ทำให้เด็กๆพยายามขวนขวายที่จะรู้แต่ก็สวนทางกับการมีความรู้ความเข้าใจที่ แท้จริง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องเพศตามมา

  1. ขาดการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ภายในครอบครัว

ครอบครัวไทยเราส่วนมากไม่ค่อยชื่นชมกัน เพราะความเชื่อที่ว่า ชมมากไปลูกจะเหลิง ทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจ และท้อใจ ประกอบกับสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น สื่อสังคมต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของการมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หรือแม้แต่ภาวะสมาธิสั้นด้วย

  1. ขาดการส่งเสริมเรื่องศาสนา

เรื่อง ความดีงาม เช่นการถือศีล 5 นั้นเป็นพฤติกรรมในเชิงสังคม ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากสังคม และครอบครัวก็เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆของจิตสำนึกเหล่านี้ ถ้าหากครอบครัวไม่สามารถปลูกฝังให้เด็กๆมีศาสนาในจิตใจได้ สังคมก็จะเกิดปัญหาและนำพาเด็กๆไปสู่อบายมุขได้อย่างง่ายดาย

อาจกล่าวได้ว่าเด็กไทยตอนนี้กำลังเข้าสู่วิกฤต เมื่อสิ่งปลูกเร้าและต้นเหตุของปัญหาสังคมที่เรามองเห็นทุกวันนี้ เกิดจากครอบครัวนั่นเอง (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) ทั้งการที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ทำให้สื่อต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรของเด็กๆ รวมถึงพฤติกรรมการเร่งรัดทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวก็มีส่วนทำให้เด็กๆ เป็นสมาธิสั้นและมีนิสัยก้าวร้าวได้ หรือแม้แต่การรับข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศที่ผิดของเด็กๆ และไม่มีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำ ก็ส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนทางเพศได้เช่นกัน

อ่านต่อ >> “เทคนิคของการป้องกันจุดอ่อนของการเลี้ยงลูกกับครอบครัวไทย” คลิกหน้า 3

โดยรวมแล้ว 3 สิ่งสำคัญของการเลี้ยงลูกอย่างสร้างสรรค์คือ การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ การเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่และการป้องกันไม่ให้เด็กๆ เสพติดใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับเทคนิคของการป้องกันจุดอ่อนทั้ง 5 ข้อข้างต้นคือ

1. การฝึกให้ลูกไหว้คุณพ่อคุณแม่ทุกวัน และคุณพ่อคุณแม่ก็ไหว้ซึ่งกันและกันทุกวัน เพราะสิ่งนี้จะขัดเกลาให้เด็กๆมีจิตใจที่อ่อนโยนและรู้จักเคารพผู้อื่น

2. การบริโภคอย่างพอเพียง เพื่อให้เด็กรู้จักคุณค่าของสิ่งต่างๆและเกิดความภูมิใจในตัวเองและเมื่อเขา สามารถทำได้ก็ควรชื่นชมเค้าด้วยการกอดหรือการพูด แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยที่เค้าสามารถทำได้ก็ตาม

3. การแสดงความรักกับสมาชิกในครอบครัว ให้เป็นกิจวัตร ทำให้เป็นนิสัยตั้งแต่เด็ก

4. การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ภายในครอบครัว และสอนให้ลูกรู้จักระมัดระวังและรู้เท่าทันสื่อ อย่าให้สื่อต่างๆเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป

 

5. การสร้างบรรยากาศให้บ้านกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องธรรมะ โดยการทำให้ดูเป็นตัวอย่างและชวนลูกทำไปพร้อมๆกัน เพื่อสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้บนความสุขและความอบอุ่นนั่นเอง

ฉะนั้นการเลี้ยงเด็กยุคใหม่อย่างสร้างสรรค์ โดยพ่อแม่ไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “พ่อแม่รังแกฉัน” คือต้องใช้ความรักควบคู่กับความรู้ พร้อมใช้ธรรมะเข้ามาทรอดแทรกทุกครั้งในการสอนลูกน้อย จึงจะเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ตรงกับคำที่บอกว่า “มันยากที่จะเข้าใจความรัก แต่มันยากกว่าที่จะรักอย่างเข้าใจ”


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : www.secret-thai.com นิตยสาร Secret ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 (ส่วนหนึ่งจากคอลัมน์ True Story ::: กว่าจะเข้าใจ…ก็ (เกือบ) สายเสียแล้ว?!)

ข้อมูลอ้างอิงจาก : Global Art and Creative – Thailand : พัฒนาความคิดผ่านการเรียนศิลปะ