3 หัวใจแห่งทางสายกลาง
ปัจจุบันครอบครัวหลายครอบครัวประสบปัญหา “ครอบครัวพยาธิสภาพ” หมายถึง การที่ครอบครัวทำหน้าที่ได้ไม่สมดุล ก่อให้เกิดผลกระทบต่อลูกหลาน ไม่ว่าความสมดุลนั้นจะเกิดจากการขาด บกพร่อง ละเลย ให้มากเกินไปหรือเข้มงวดเกินไปก็ตาม ซึ่งเกิดขึ้นได้จากทุกสถานะ ปัญหาเกิดจากอะไรบ้าง รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายไว้ดังนี้
- ให้มากไปก็เป็นปัญหา พื้นฐานความต้องการของมนุษย์มีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ ความต้องการทางกายภาพ คือปัจจัยสี่และความปลอดภัย ความต้องการทางสุขภาวะทางจิตใจ คือการได้ความรัก การเอาใจใส่ การสนับสนุน ความต้องการทางสังคม คือ การมีปฏิสัมพันธ์ภายในบ้านและสังคมภายนอก
เหล่านี้หากมีอย่างพอดีก็จะเป็นสุข แต่หากมากเกินหรือขาดไปย่อมทำให้เกิดปัญหา เช่น มีที่อยู่หลายที่ ไม่เป็นหลักแหล่ง เด็กจะขาดความผูกพันกับบ้านเกิดของตัวเอง ดูแลสุขภาพจนฟุ้งเฟ้อ ได้รับการรักษาแล้วแต่ไม่พอใจต้องพิเศษกว่าใคร เด็กจะเหนื่อยหน่ายและสิ้นเปลืองเงินทอง กินตามใจปาก เกิดปัญหาสุขภาพ คุ้มครองและตามแก้ปัญหาให้ทุกเรื่อง เด็กเกิดความเคยชินและไปรุกล้ำหรือละเมิดสิทธิผู้อื่น เมื่อโตแล้วพ่อแม่ต้องตามแก้ปัญหาให้เรื่อยไป
- ให้ความรักแบบเข้มข้น เรียกว่าให้จน สำลักความรัก พ่อแม่เหล่านี้ไม่อาจทนเห็นลูกช่วยเหลือตนเองได้ หรือหวังดีไม่อยากให้ลูกอดทนรอสิ่งใด บริหารจัดการให้ลูกจนสุขสบาย เด็กจึงไม่สามารถอดทนต่อความยากลำบากได้เมื่อโตขึ้น วินัยเข้มงวด ทุกอย่างเป็นกฎระเบียบไม่มียืดหยุ่น เด็กจึงอึดอัดคับข้องใจ กดดันจนอาจทำร้ายตัวเอง เร่งรัดและบังคับทุกอย่าง โดยบังคับให้เรียนมากเกินไป เด็กจึงเครียดและกดดัน ขาดสมดุลในชีวิต ไม่กล้าคิดนอกกรอบ
- รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวหรือให้อิสระแบบไร้ขอบเขต อย่างแรกคือเปิดประตูสำรวจพื้นที่ส่วนตัวของลูกทุกอย่าง ลูกจึงอึดอัดและต่อต้าน อย่างหลังคือปล่อยเกินไปจนกลายเป็นละเลย เสี่ยงต่อการกลายเป็นเด็กมีปัญหา
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากความไม่พอดี คือรักมากเกินไปหรือไม่ก็อุเบกขาเกินไป ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลสามารถแก้ไขได้ด้วย 3 หัวใจแห่งทางสายกลาง ได้แก่ หัวใจแห่งพอเพียง หัวใจแห่งธรรม และหัวใจแห่งประชาธิปไตย
1. หัวใจแห่งพอเพียง
หากพ่อแม่ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดูแลปัจจัยสี่ให้พอดี ไม่จำเป็นต้องอู้ฟู่มากนัก กินพอดีกับร่างกาย รับบริการทางแพทย์อย่างเหมาะสม และให้ความคุ้มครองลูกอย่างพอควร
2. หัวใจแห่งธรรม
คือควบคุมสภาวะทางจิตใจให้อยู่บนทางสายกลางโดยใช้สติ พิจารณาว่าในเวลานี้เด็กควรได้รับความรักและการอบรมแบบใดจึงเหมาะสม หรือจะนำศาสนาที่ตนนับถือมาประยุกต์ใช้ก็ได้ เพราะหากไม่มีสติ ความรักที่พ่อแม่ให้จะเหมือนรถเบรกแตก พาเด็กหลงทางและนำไปสู่อันตราย เช่นเดียวกับการสร้างวินัยให้ลูกที่ต้องตั้งอยู่บนฐานเมตตาธรรม หรือที่รู้จักกันดีว่า วินัยเชิงบวก ไม่ใช่การตามใจ เด็กต้องได้รับการจัดการที่ดี ต่างฝ่ายต่างรู้สึกดีต่อกัน ไม่เกิดบาดแผลในใจ
3. หัวใจแห่งประชาธิปไตย
ไม่ใช่การโหวตคะแนนเสียง แต่หมายถึงการให้ลูกมีส่วนร่วมอย่างมีคุณค่า คือเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดคุยและมีส่วนร่วมในการวางข้อตกลงและกฎระเบียบในบ้าน พ่อแม่ควรรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง พูดคุยกันด้วยเหตุผลจนกระทั่งได้ข้อสรุปตรงกลาง หากทำจนเป็นกิจวัตรประจำวัน ลูกก็จะสามารถนำไปใช้ในสังคม และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีหัวใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
แท้จริงแล้ว การเลี้ยงลูกด้วยธรรมะ จึงไม่ใช่เพียงการท่องบทคำสอนของศาสนา แต่หมายถึงความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเราเลี้ยงลูกไปเพื่ออะไร แล้วนำคำสอนของศาสนาที่ตัวเองนับถือหรือตามหลักทฤษฎีการเลี้ยงลูกต่างๆ มาประยุกต์ใช้อย่างไม่สุดโต่งตามหลักทางสายกลาง มีสติในการให้ความรักอย่างพอดี และใช้ปัญญาอบรมสั่งสอนอย่างเหมาะสม ไม่ต้องเลี้ยงลูกอวดใคร ไม่ต้องเลี้ยงให้สมบูรณ์แบบขาดตกบกพร่องไม่ได้หรือขาดจนลูกโหยหา เท่านี้ลูกจะจะมีภูมิคุ้มกันทางกายและใจที่แข็งแกร่ง อยู่รอดปลอดภัยในสังคมโลกที่นับวันจะซับซ้อนยุ่งเหยิงมากขึ้นได้
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!