เลี้ยงลูกด้วยธรรมะ เสริมภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต - amarinbabyandkids

3 หัวใจหลัก เลี้ยงลูกด้วยธรรมะ เสริมภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต

event

เลี้ยงลูกด้วยธรรมะ …เพราะเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ซึ่งก็เชื่อว่าความหวังของคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คงอยากเห็นลูกโตไปเป็นคนดี มีชีวิตที่ดีและมีความสุข แต่ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงลูกให้ลูกได้ดี

เชื่อว่านี่คือคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจของพ่อแม่ส่วนใหญ่นับตั้งแต่วันที่ลูกลืมตาดูโลก เพราะอยากเห็นลูกของเราทั้งเก่ง ดี มีความสุข และมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอให้เขาสามารถใช้ชีวิตในสังคมโลกที่นับวันยิ่งยุ่งเหยิงและซับซ้อนนี้ได้โดยไม่ล้มเป๋ไปเสียก่อน จริงๆ คำตอบอาจอยู่ใกล้ตัวเรานิดเดียว นั่นคือพ่อแม่นำธรรมะมาปรับใช้ในการดูแลกายใจให้ลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถยืนยาวไปตลอดชีวิต

เลี้ยงลูกด้วยธรรมะ เสริมภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต

Amarin Baby & Kids จึงมีแนวทางการเลี้ยงลูกด้วยธรรมะ เพื่อเป็นวัคซีนทางใจให้ทุกครอบครัวเริ่มต้นปี 2560 อย่างมีความสุขสดชื่น ตลอดปีตลอดไปค่ะ

เลี้ยงลูกด้วยพรหมวิหารธรรม

การเลี้ยงลูกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเลี้ยงด้วยความรักอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีความรู้ อดทน และธรรมะเพื่อให้เกิดคุณธรรม ศีลธรรมและจริยธรรมประกอบเข้าไปด้วย ดังเช่นที่ท่าน ว. วชิรเมธี เคยเขียนไว้ในคอลัมน์  Answer Key นิตยสารซีเคร็ต ฉบับมิถุนายน 2554 ว่า “การเลี้ยงลูกที่บอกว่ายากก็เพราะว่าต้องใช้ทั้งความรัก ความรู้ ความอดทน และคุณธรรมอีกสารพัดประกอบกัน ลำพังให้ความรักอย่างเดียว ถ้ามากเกินไปก็จะกลายเป็นลูกแหง่ อ่อนแอ ทำอะไรไม่เป็น ความรู้ ถ้าให้มากเกินไปก็จะกลายเป็นคนแข็งกร้าวไม่ยอมฟังใคร…ดังนั้นคนเป็นแม่จะต้องเรียนรู้ที่จะปรับคุณธรรมต่างๆ ในการเลี้ยงลูกให้ลงตัวพอดี งานเลี้ยงลูกจึงจะประสบความสำเร็จ”

หลักธรรมง่ายๆ ที่ช่วยเลี้ยงลูกได้ตามที่ท่าน ว.วชิรเมธีกล่าวไว้นั่นคือ พรหมวิหารธรรม ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ ได้แก่ เมตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทั้ง 4 ข้อสามารถปรับมาใช้ในการเลี้ยงลูกได้ ดังนี้

เมตตา ถ้ามากเกินไป พ่อแม่จะตามใจลูก

♥ กรุณา ถ้ามากเกินไป พ่อแม่จะทำทุกอย่างแทนลูก

♥ มุทิตา ถ้ามากเกินไป พ่อแม่จะส่งเสริมไปเสียทุกเรื่อง (เช่น ลูกทำผิด แต่คอยให้ท้าย)

♥ อุเบกขา ถ้ามากเกินไป พ่อแม่จะกลายเป็นคนใจไม้ไส้ระกำ คือไม่แยแสลูก

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกขอเงินไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ก็ต้องยืนกรานที่จะไม่ให้ แต่ต้องไม่ลืมชี้แจงด้วยเหตุผล หรือถ้าลูกเป็นคนเจ้าอารมณ์ พ่อแม่ก็ต้องหาวิธีปฏิเสธที่นุ่มนวล เพราะการตามใจลูกด้วยความสงสารมากเกินจะทำให้เขาได้ใจ หากวันไหนไม่ได้ดังใจก็จะพาล ข้อเสียคือ เมื่อพาลโมโหแล้วได้ตามที่ต้องการ เขาก็จะจดจำพฤติกรรมไม่ดีนี้ไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อีกเขาก็จะทำซ้ำแบบเดิมอีก

ดังนั้น การเลี้ยงลูกจึงต้องใช้ธรรมะ ใช้ปัญญาอยู่เสมอ ลำพังความรักอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสอนลูกให้เป็นคนดีมีศีลธรรมได้ และควรต้องใช้ทางสายกลางในการเลี้ยงลูกให้มาก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

♠ ธรรมะแบบง่ายๆ

อยากเลี้ยงลูกด้วยธรรมะ เพราะเชื่อว่าธรรมะจะกล่อมเกลาลูกและช่วยให้รอดพ้นจากสังคมที่ยุ่งเหยิงไปได้ หลายครอบครัวจึงมุ่งแต่ธรรมะในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าหลักธรรมอันแท้จริง เชิงสัญลักษณ์ที่ว่าคือ ให้ลูกท่องบทสวดมนต์ หรือพาเข้าวัดเช้าเย็น โดยคาดหวังว่านี่คือหนทางทำให้ลูกเป็นคนดีและมีความสุข ซึ่งนั่นอาจไม่เพียงพอหากเราไม่เข้าใจธรรมอย่างถ่องแท้ ถ้าอย่างนั้นเราจะใช้ธรรมะอย่างไรดี นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวถึงประเด็นการใช้ธรรมะเลี้ยงลูกได้อย่างน่าสนใจ ในคอลัมน์ Talk It Easy นิตยสารเรียล พาเรนติ้ง ฉบับกันยายน 2556 ว่า “ก่อนที่จะคิดเรื่องเลี้ยงลูกด้วยธรรมะ พ่อแม่ควรทบทวนตนเองเป็นอย่างแรกว่า ตนเองมีธรรมะและเดินทางสายกลางมากน้อยเพียงไร”

พ่อแม่หลายคนคาดหวังว่าให้ลูกเป็นคนดี มีความสุข ดูแลตนเองได้ แต่ไม่นานความคาดหวังก็มากขึ้นเป็นขอให้เรียนเก่ง มีงานทำดี และร่ำรวย คุณหมอประเสริฐกล่าวว่า “ธรรมะที่แท้คือ เดินสายกลาง และเด็กๆ พัฒนาด้วยการดูพ่อแม่เป็นหลัก…หากลูกๆ จับสังเกตได้ว่าพ่อแม่มีความคาดหวังสูง (พูดแรง ว่าโลภมากในการเลี้ยงลูก) เช่นนี้มิใช่สายกลาง เพียงเท่านี้ลูกก็รู้แล้วว่าพ่อแม่มิได้มีธรรมะอะไรมากนัก”

เลี้ยงลูกด้วยธรรมะ

ดังนั้น คำแนะนำจากคุณหมอถึงการเลี้ยงลูกด้วยธรรมะแบบง่ายๆ ก็คือความเป็นธรรมชาติ การเลี้ยงลูกจึงควรผสมผสานหลากหลายวิธี มากบ้างน้อยบ้างตามสถานการณ์ บางครั้งต้องเข้มงวดและคาดหวัง บางครั้งต้องปล่อย บางครั้งต้องปกป้องภยันตรายให้ และบางครั้งก็ต้องทำไม่รู้ไม่เห็นบ้าง เพื่อให้ลูกเติบโตได้ด้วยตนเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าศีลธรรมคือ จริยธรรม ซึ่งก็คือความสามารถในการกำกับตนเอง มิให้ใช้อำนาจหรือความสามารถไปเบียดเบียนคนอื่น ส่วนการสอนเรื่องจริยธรรมนั้นก็ไม่ยาก เด็กก่อนเจ็ดขวบจะกลัวการถูกลงโทษ เด็กหลังเจ็ดขวบจะชอบรางวัล ดังนั้นก่อนเจ็ดขวบพ่อแม่สามารถทำโทษได้เมื่อเขาทำผิด หลังเจ็ดขวบใช้วิธีกอด ชมเชย หรือให้ของขวัญเมื่อเขาทำดี นี่คือวิธีที่ง่ายที่เขาจะเรียนรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ทั้งหมดนี้จะเรียกว่าธรรมะอย่างง่ายก็ได้

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!


อ่านต่อ >> “3 หัวใจแห่งทางสายกลางกับหลักการเลี้ยงลูกด้วยธรรมะ” คลิกหน้า 2

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up