AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

37 แนวทาง เลี้ยงลูกให้ถูกธรรม!! ตามคำสอนพุทธ เพื่อให้ลูกเป็นคนดีและมีสุข

 

สอน ลูก ด้วย ธรรมะ …เลี้ยงลูกถูกธรรม คือ การเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องนั่นเอง เมื่อเราเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องแล้ว ทั้งตัวเราและลูกก็จะไม่มีปัญหา หรือเมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นมาไม่ว่ากรณีใดๆ เราก็สามารถใช้ธรรมะนำทางแก้ไขได้

ธรรมะ จะแก้ได้ทุกเรื่อง หรือ ทุกคน หรือ ?

แน่นอน, แก้ได้ทุกเรื่องและทุกคน แต่ผลลัพธ์จะลงเอยด้วยอาการอย่างไร? นั่นก็ย่อมจะต้องขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยหลายอย่าง กล่าวคือ มันจะออกหัว หรือออกก้อย ก็ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวอย่างรวบรัด ก็คือ การเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องในที่นี้ หมายถึง พ่อแม่ให้การเลี้ยงดูลูกอย่างถูกวิธี ถูกหลักการ ถูกประเพณี ถูกธรรมเนียม รวมๆ ว่า “ถูกต้อง” หรือเลี้ยงลูกถูกต้องนั่นเอง

ว่าโดยหลักใหญ่ๆ แล้ว การเลี้ยงลูกมีอยู่ 2 วิธีเท่านั้น คือ

– เลี้ยงลูกถูกใจ

– เลี้ยงลูกถูกต้อง (ถูกธรรม)

สอน ลูก ด้วย ธรรมะ

เลี้ยงลูกถูกใจ คือ การเอาใจพ่อแม่เป็นเกณฑ์ พ่อแม่มีความรู้ ความคิด ความเห็นอย่างไร ก็จะปั้นลูกของตนให้เป็นไปอย่างนั้น การเลี้ยงลูกถูกใจ มันออกจะเสี่ยงมากเกินไป กล่าวคือ

ถ้าพ่อและแม่เป็นสัมมาทิฐิบุคคลด้วยกันทั้งคู่มันก็จะไม่มีปัญหา การเลี้ยงลูกต้องไปได้สวยแน่ แต่ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเกิดมีมิจฉาทิฐิ หรือเกิดมิจฉาทิฐิเสียทั้งสองคน ลูกก็คงจะบรรลัยแน่จอดไม่ต้องแจว แต่โดยทั่วไปแล้ว การเลี้ยงลูกถูกใจนี้จะมีส่วนเสียมากกว่าส่วนดี และที่ลูกส่วนมากจะเสียก็จะมาเสียที่จุดนี้ และการแก้ไขก็ย่อมจะเป็นไปได้ยากหรือแก้ไม่ได้เลย

เลี้ยงลูกถูกต้อง (ถูกธรรม) คือ การเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์ การเลี้ยงลูกถูกต้อง หรือถูกธรรมนั้น หมายถึงว่า พ่อแม่ไม่เอาใจของตนเองเป็นบทตั้ง แต่จะอาศัยความถูกต้องของเหตุและปัจจัยนั้นๆ เป็นหลักในการเลี้ยงลูก

การเลี้ยงลูกถูกธรรม จึงเป็นการเลี้ยงลูกที่ยอดเยี่ยมที่สุด สามารถจะใช้ได้แก่ลูกทุกคน และทุกกาลสมัย พร้อมทั้งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ย่อมจะเป็นที่ยุติได้ กล่าวคือ จะมีความพอใจด้วยกันทุกฝ่าย นั่นก็คือ พ่อแม่ก็จะไม่โยนปัญหาไปให้ลูกแต่ฝ่ายเดียว และลูกก็จะไม่โยนปัญหาไปให้พ่อแม่แก้แต่ฝ่ายเดียวเช่นกัน เพราะต่างก็เข้าใจหน้าที่อย่างถูกต้องของกันและกัน ไม่ว่าปัญหานั้นๆ จะลงเอยด้วยบวกหรือลบ ทั้งพ่อแม่และลูกก็จะไม่ดีใจจนตกขอบ และก็จะเสียใจจนเป็นโรคประสาท หรือต้องถึงกับฆ่าตัวตายอย่างแน่นอน

ซึ่งจากที่กล่าวมาข้างต้น Amarin Baby & Kids จึงมีหลักการเลี้ยงลูกด้วยธรรมะ จาก ปุตตปริทรรศน์ กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา เว็บไซต์ ธรรมจักรดอทเน็ต มาฝากคุณพ่อคุณแม่ให้ดูเป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกให้ถูกธรรม ถูกต้อง ดังต่อไปนี้

หลักการเลี้ยงลูกให้ถูกธรรม 37 ประการ

1. เด็กน้อย เปรียบเหมือนผ้าขาวบริสุทธิ์

พ่อแม่จะย้อมหรือประทับสิ่งใดไว้บนผ้าขาว ก็ย่อมจะเห็นได้ชัดและติดทนนาน จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่พ่อแม่ควรย้อมหรือประทับแต่สิ่งที่ดีงามไว้บนผ้าขาวสะอาดผืนน้อยนี้ อย่าได้ประทับสิ่งสกปรกไว้เป็นอันขาด เพราะจะเกิดราคีแก่เด็ก และจะไปซักล้างภายหลังยาก หรือไม่ได้เลย

2. อย่าตามใจลูกในทางผิดๆ

เพราะการตามใจลูกในทางผิดๆนั้น  เท่ากับการสอนให้ลูกทำผิดนั่นเอง เหตุเพราะลูกยังเล็กหรือไร้เดียงสาเกินไป จึงไม่อาจที่จะแยกได้ว่าอะไรผิดหรือถูก พ่อแม่ที่ดีจึงควรที่จะห้ามเมื่อลูกทำผิดหรือชั่ว และควรจะส่งเสริมในเมื่อลูกทำถูกหรือทำดี

3. จงให้ความยุติธรรมแก่ลูก

เมื่อลูกเราไปทะเลาะกับลูกคนอื่น จงวางตนเป็นกลาง สอบสวนด้วยใจเป็นธรรม แล้วแนะนำลูกในทางที่ถูก อย่าใช้อารมณ์และอย่าให้อคติเข้าครอบงำจิต จะทำให้ลูกเราเสียคน ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็อย่าไปใส่ใจปล่อยให้เป็นเรื่องของเด็กเขาจัดการกันเอง เดี๋ยวเขาก็จะดีกันเอง

4. ถ้าจะสอนลูก เมื่อลูกทำผิดหรือชั่วก็อย่าได้เอาลูกเราไปเที่ยวประจาน หรือเปรียบกับลูกของคนอื่น

ลูกของใครก็ต้องเป็นลูกของคนนั้น  มันจะเหมือนกันไปหมดย่อมไม่ได้ จะทำให้ลูกน้อยใจและทำประชดให้หนักยิ่งขึ้นกว่าเก่าได้ ควรจะแนะนำด้วยเมตตาจิต อย่าใช้อารมณ์

อ่านต่อ >> “แนวทางการเลี้ยงลูกให้ถูกธรรม 37 ประการ” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

5. หลักการเลี้ยงลูกที่ดี ควรใช้ระบบ“เผด็จการโดยธรรม”

กล่าวคือ เมื่อพ่อและแม่ได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว ถูกต้องแล้วว่าควรจะแนะนำ จะตักเตือน คาดโทษ หรือลงโทษในความผิดด้วยประการใดๆ ก็ขอให้ทำโดยอย่าลังเล หรืออย่าให้เมตตาที่เจือด้วยโมหะ เข้ามาครอบงำปัญญาเสียได้เป็นดีที่สุด

6. เมื่อเด็กต่อเด็กวิวาทกัน

ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ถึงกับคอขาดบาดตาย พ่อแม่ก็ไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว ควรเอาหูไปนา เอาตาไปไร่เสียบ้างปัญหาเรื่องผู้ใหญ่ต่อผู้ใหญ่จะทะเลาะกันต่อจากเด็กก็จะไม่เกิดขึ้น

7. การสั่งสอนลูกหรือการลงโทษลูก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำในโอกาสอันควร

และควรทำให้พอเหมาะสม แต่สิ่งที่ไม่ควรใส่ลงไปในการสอนหรือลงโทษทุกครั้ง นั่นก็คือ “อารมณ์” ถ้าพ่อแม่ใช้อารมณ์กับลูกไม่ว่ากรณีใดผลเสียย่อมจะเกิดมากกว่าผลดี

8. ถ้าพ่อแม่รู้ตัวว่ากำลังโกรธลูกอยู่ ก็อย่าได้สั่งสอนหรือลงโทษลูกโดยเด็ดขาด

เพราะการสั่งสอนหรือลงโทษลูก ในขณะที่พ่อแม่ยังมีเชื้อแห่งความโกรธอยู่ มันก็มักจะสอนหรือลงโทษลูกจนเกินเหตุ แทนที่จะทำด้วยเมตตา ลูกก็จะกลายเป็นที่รองรับ “ขยะอารมณ์” ของพ่อแม่ไป

9. อย่าปิดบังสติปัญญาของลูก

เมื่อลูกอยากรู้อยากเห็นอะไร พ่อแม่ควรจะสนองตามสมควรและตามกาละ ไม่ควรจะห้ามหรือดุ หาจู้จี้ จุกจิก กวนใจ เพราะเด็กย่อมมีธรรมชาติอยากรู้อยากเห็นเป็นทุนเดิม เพื่อพัฒนาสมองหรือปัญญาอยู่แล้วถ้าพ่อแม่ไปปิดกั้น จะมีผลเสียในระยะยาว (สมองสติปัญญาจะไม่พัฒนา)

10. ไม่ควรที่จะบังคับ หรือตามใจลูกไปเสียหมดทุกสิ่ง

พ่อแม่ควรเดินสายกลาง คือ อย่าให้ตึงหรือหย่อนจนเกินไป โดยการศึกษาจริตของลูกแต่ละคน ไม่ควรวางกฎตายตัวให้เหมือนกันหมด เพราะระดับสติปัญญาของลูกแต่ละคนมีไม่เท่ากัน

11. เมื่อถึงคราวที่ลูกจะมีคู่ครอง พ่อแม่ไม่ควรใช้ระบบ“คลุมถุงชน”

หรือระบบ “เสรีนิยม” จนเกินไปควรพบกันครึ่งทางดีกว่า เพราะเมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นในภายหลังก็จะไม่มีการโทษหรือโยนกลองกันได้  ระบบ “จะปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่ จะขุดอู่ ต้องตามใจผู้นอน” นั้นยังใช้ได้ทุกกาลสมัย ในการเลือกคู่ครอง พ่อแม่ควรทำตัวเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น ไม่ควรที่จะลงไปเล่นด้วยจนเต็มตัว

12. ระบบการเลี้ยงลูกด้วย 4 ขั้นตอน คือ แม่น้ำ ลูกยอ กอไผ่ และใส่เตา ยังใช้ได้ทุกกาลสมัย

– แม่น้ำ คือ ใช้น้ำเย็นเข้าจัดการ (พูดจาภาษาดอกไม้)

– ลูกยอ คือ เมื่อแม่น้ำใช้ไม่ได้ผล ก็ต้องใช้ลูกยอ

– กอไผ่ คือ เมื่อลูกยอไม่ได้ผล ก็ต้องใช้ไม้เรียวหวดก้นกันบ้าง

– ใส่เตา คือ เมื่อใช้กอไผ่ก็ยังไร้ผลก็ควร“ตัดหางปล่อยวัด”

คิดเสียว่าเขาได้ตายจากเราไปแล้ว ควรเผาเขาไปเสียเลย (ตัดออกจากบัญชีใจของเราไปเสีย)

อ่านต่อ >> “แนวทางการเลี้ยงลูกให้ถูกธรรม 37 ประการ” คลิกหน้า 3

13. อย่ารักลูกด้วยความลำเอียงหรืออคติ

พ่อแม่ที่มีลูกหลายคน ย่อมจะต้องมีลูกบางคนที่เรารักเป็นพิเศษ เช่น ขยันหรือฉลาดกว่าลูกบางคน แต่พ่อแม่ที่ดีก็ย่อมจะต้องซ่อนความรักเป็นพิเศษนั้นไว้ในใจ อย่าได้แสดงออกให้มากเกินไป อย่าให้ลูกรู้ว่าเสียความยุติธรรม แม้ในบางครั้งเราจะให้รางวัล ก็ควรที่จะประกาศคุณให้รู้ทั่วกัน มิฉะนั้นอาจจะเป็นภัยแก่ลูกทีดีของเราได้

14. ลูกทำดีพ่อแม่ควรชมหรือให้รางวัล

ถ้าลูกทำชั่วก็ควรตำหนิหรือลงโทษด้วยความเที่ยงธรรมและอย่าลงโทษให้เกินกว่าเหตุ หรือให้ลูกคิดว่าเป็นการลงโทษที่ไม่ยุติธรรม ถ้ายังไม่แน่ใจก็ไม่ควรให้รางวัลหรือลงโทษโดยเด็ดขาด มิฉะนั้นเด็กจะเสียกำลังใจหรือเข้าใจผิดได้

15. อย่าให้โทรทัศน์เป็นครูของลูก

เพราะโทรทัศน์มีทั้งคุณและโทษ และส่วนที่เป็นโทษมีมากกว่าคุณ แต่เด็กไม่อาจจะแยกออกได้ ว่าส่วนไหนเป็นคุณ? และส่วนไหนเป็นโทษ? และโดยปกติส่วนที่เป็นโทษย่อมจะซึมซับเด็กได้ง่ายกว่าส่วนที่เป็นคุณ พ่อแม่จึงควรเป็นพี่เลี้ยงของลูกในการดูโทรทัศน์ด้วย รายการใดที่เด็กไม่ควรดูพ่อแม่ ก็ควรห้ามและชี้แจงโทษให้เด็กเข้าใจด้วย อย่าห้ามโดยไม่ชี้แจงเหตุผล

16. ควรให้ความสนใจในโภชนาการของลูก

อย่าตามใจให้ลูกกินอาหารที่ชอบโดยไม่มีคุณค่า ควรใช้อุบายให้ลูกกินอาหารที่มีคุณค่าอันเหมาะสมกับวัยให้พัฒนาทั้งร่างกาย และสมองไปพร้อมๆ กัน ควรหัดให้ลูกทำความสะอาดฟัน หลังจากการกินอาหารทุกมื้อจนติดเป็นนิสัย

17. พ่อแม่ควรปลูกฝังความดีงามลงในจิตใจของลูกเสียแต่เล็กๆ

ให้เป็นพื้นฐานด้วยคุณธรรมเหล่านี้ คือ ความเป็นคนมีความกตัญญู มีจิตเมตตา สุภาพ อ่อนโยน อ่อนหวาน มีระเบียบ มีมารยาท มีความซื่อสัตย์ อดทน ประหยัด และช่วยตัวเอง เป็นต้น

18. อย่ามุ่งให้ลูกศึกษาเล่าเรียนเพื่อไปเป็นข้าราชการ

หรือทำงานห้างร้านบริษัท แต่ควรจะให้ลูกศึกษาวิชาที่เป็นอิสระ และมีฐานงานกว้าง อาจไปทำงานได้ทุกชนิด ไม่ว่างานหลวง งานราษฎร์ หรืองานอิสระส่วนตัวเพราะลูกอาจจะใช้ศักยภาพได้เต็มที่

19. ควรให้ค่านิยมแก่ลูกอยู่เสมอว่า

ในโลกนี้ไม่มีงานอะไรต่ำหรือไร้เกียรติ งานที่ต่ำและไร้เกียรติมีอยู่ประเภทเดียว คือ งานทุจริต งานสุจริตทุกชนิดเป็นงานมีเกียนติและมีคุณค่าในตัวของมันเอง แม้แต่งานกวาดขยะหรือดูดส้วม เป็นต้น

20. พ่อแม่ที่ดีย่อมเลี้ยงลูกโดยไม่หวังว่าลูกจะเลี้ยงเราตอบ

แต่ลูกที่ดีก็ย่อมจะสนองพระคุณของพ่อแม่เอง พ่อแม่จึงควรทำตนให้สมกับความเป็นพ่อและแม่ ถ้าพ่อแม่ทำหน้าที่ของพ่อแม่ถูกต้องดีแล้วลูกที่ดีก็ย่อมจะเคารพและสนองคุณเราเอง ถ้าเขาไม่สนองก็ถือว่าเป็นเวรกรรมของเราและทั้งของเขาด้วย จงปลงเสียเถิดว่าเราต่างก็หมดเวรกันแล้ว

21. พ่อแม่ที่ดีควรปลูกฝังลูกทั้งคุณธรรม

และวิชาชีพแก่ลูกไปพร้อมๆกัน และควรจะเริ่มทำเมื่อลูกยังเล็กอยู่ เพื่อให้อายุของร่างกายจิตใจสมองและวิญญาณได้พัฒนาไปพร้อม ๆ กัน

อ่านต่อ >> “แนวทางการเลี้ยงลูกให้ถูกธรรม 37 ประการ” คลิกหน้า 4

22. พระพุทธศาสนาถือว่า

พ่อแม่เป็นพระในบ้านเป็นพระอรหันต์ เป็นพระพรหม เป็นผู้ควรเคารพ เป็นครูของลูก พ่อและแม่ควรทำตนให้สมกับนามเหล่านั้น ลูกจึงจะเคารพสักการะและกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ และลูกก็ย่อมจะภูมิใจที่ลูกได้มีพ่อแม่เช่นนั้น

23. การเลี้ยงลูกที่ถูกต้อง

ควรต้องเลี้ยงทั้งกายและจิตใจ กล่าวคือ ให้ลูกมีความสุขกาย และมีความอบอุ่นใจด้วย การที่พ่อแม่จะทำอย่างนี้ได้ พ่อแม่ก็จะต้องสละเวลาให้แก่ลูกบ้าง การเลี้ยงลูกด้วยเงินเพียงอย่างเดียว อาจจะก่อความผิดหวังให้แก่พ่อแม่ในภายหน้าได้

24. ถ้าพ่อแม่ต้องการให้ลูกมีความกตัญญูและกตเวทีต่อตน

พ่อแม่ก็ไม่จำเป็นจะต้องสอนลูกให้กตัญญูและกตเวทีต่อตนก็ได้ แต่ตัวพ่อแม่นั่นแหละควรที่จะต้องแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ของตนเองให้มาก ลูกจะได้ถือเอาเป็นตัวอย่าง เพราะการกระทำย่อมจะประทับใจมากกว่าการสั่งสอน

25. พ่อแม่ไม่ควรจะเล็งผลเลิศ

ในการแนะนำหรือให้การเลี้ยงดูลูก เราทำหน้าที่ของพ่อแม่ให้ดีที่สุดเท่านั้นเป็นพอ ส่วนว่าลูกจะได้ดีตามที่เราหวังหรือไม่? นั่นก็ต้องแล้วแต่กรรมของเขาด้วย แม้พระพุทธเจ้าจะทรงเป็นเอกบุรุษในโลกแล้ว พระองค์ก็ยังไม่อาจจะโปรดคนได้หมดทุกคน

26. พ่อแม่ควรทำตนเป็นกัลยาณมิตรต่อลูกในทุกโอกาส

ควรให้อภัยและให้โอกาสลูกได้กลับตัวในการทำผิดพลาดที่แล้วๆ มา

27. การเลี้ยงลูกพาลหรือลูกชั่วด้วยไม้เรียวยังมีความจำเป็นและไม่พ้นสมัย

แต่ควรจะดูนิสัยและสันดานของลูกเป็นคนๆ ไป และก่อนที่จะถึงขั้นเอาไม้เรียวหวดก้นกัน ก็ควรที่จะต้องผ่านขั้นตอนมาตามลำดับ คือ การแนะนำสั่งสอน การคาดโทษและการลงโทษ และในการลงโทษลูกทุกครั้ง พ่อแม่ควรกำจัดอคติและอารมณ์ออกไปเสียก่อน จึงจะไม่มีการทำอะไรเกินกว่าเหตุ

28. การที่เด็กทำสกปรกหรือรกรุงรัง

นั่นเป็นสัญชาตญาณ ของคนหรือเด็กทั่วไป แต่การที่เด็กรู้จักทำความสะอาด และทำให้เรียบร้อยเอง นั่นย่อมเกิดจากจริตนิสัยที่พ่อแม่อบรมหรือสั่งสอนมานาน จนกลายเป็นความเคยชิน พอเห็นอะไรสกปรกหรือรกรุงรังเขาก็จะทนดูอยู่ไม่ได้

ดังนั้นพ่อแม่คนใดต้องการให้ลูกเป็นคนรักความสะอาด รักความเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็จะต้องรีบสั่งสอนฝึกให้ลูกทำเสียแต่ยังเล็กอยู่ และจะต้องทำอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดเป็นนิสัยหรือความเคยชิน การที่จะรอเอาไว้ไปฝึกเมื่อโตนั้น นอกจากจะฝึกยากเหมือนไม้แก่แล้ว บางทีมันก็ฝึกไม่ได้ เหมือนการดัดไม้แก่ นอกจากจะดัดยากแล้วยังอันตรายหรืออาจหักเอาด้วย

29. “ควรให้ลูกทำงานให้เป็นทุกอย่าง แต่ไม่จำเป็นต้องไปทำเสียหมดทุกอย่าง”

นั่นหมายความว่าควรให้ลูกได้หัดทำงานให้เป็นไว้ทุกอย่างตั้งแต่งานล้างส้วม ปัดกวาด เช็ด ถู เก็บขยะ ล้างรถ ซักผ้า ล้างชาม แบกหาม ส่งของ จนถึงงานนั่งโต๊ะงานบริหารรับผิดชอบต่อส่วนรวม เพราะถ้าลูกเราทำงานไม่เป็น เมื่อไปบริหารหรือสั่งงาน อาจถูกลูกน้องแหกตา ต้ม หรือทำแบบ “ผักชีโรยหน้า” ได้ง่าย ผู้บังคับบัญชาที่ดีจึงไม่ควรสั่งงานที่เราไม่รู้หรือทำไม่เป็น เพราะถ้าเกิดมีลูกน้องถามว่าทำอย่างไร? นายก็หน้าแตกเมื่อนั้น

อ่านต่อ >> “แนวทางการเลี้ยงลูกให้ถูกธรรม 37 ประการ” คลิกหน้า 5

30. พ่อแม่สัมมาทิฐิและมีทรัพย์

ย่อมจะไม่มอบทรัพย์สมบัติให้ลูกจนหมดตัว แล้วคอยอาศัยลูกกินไปจนตายเพราะอาจจะเสี่ยงแก่การอดตายหรือช้ำใจตายมากกว่า เพราะนิสัยคนเรานั้น ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ วันนี้ดี วันหน้าอาจชั่ว ก็ได้ ขึ้นอยู่กับตัวแปรต่างๆ เช่น เขย สะใภ้ ญาติ หรือสังคม เป็นต้น

ทางที่จะปลอดภัยไม่อดตายเมื่อจะคิดมอบทรัพย์แก่ลูกก็คือควรทำพินัยกรรมยกให้ลูก ต่อเมื่อเราตายแล้วจะเป็นการดีที่สุด เพราะมีตัวอย่างอยู่มากมายทั้งอดีตและปัจจุบัน ที่ลูกได้รับสมบัติแล้วก็ไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่า ปล่อยให้อยู่อย่างคนอนาถาอดอยาก และตายอย่างหมากลางถนน

31. ลูกดี ย่อมจะพาให้พ่อแม่ได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น

แต่ลูกชั่วก็ย่อมจะพาให้พ่อแม่ต้องลงนรกทั้งเป็นในปัจจุบัน และนั่นก็เป็นของจริงแท้ว่าในอนาคตก็ย่อมจะต้องเป็นเช่นนั้นด้วย และผลแห่งกรรมนี้ลูกก็ย่อมจะต้องเป็นเช่นนั้นด้วย และผลแห่งกรรมนี้ลูกก็ย่อมจะต้องเป็นเช่นนั้นด้วย และผลแห่งกรรมนี้ลูกก็ย่อมจะต้องก็ได้รับทั้งในชาตินี้ และในชาติหน้า

แต่พ่อแม่นั้นนับว่าเป็นตัวแปรของลูกที่สำคัญยิ่ง ที่จะให้ลูกเป็นคนชาติไหน ? อย่าได้ลงโทษว่าเป็นกรรมของพ่อแม่หรือของลูกไปเสียส่วนเดียว เพราะว่าผลทั้งหลายย่อมมาจากเหตุ แม้ว่าเราจะแก้เหตุในอดีตไม่ได้ แต่เราก็สามารถที่จะแก้เหตุในปัจจุบันได้ทั้งที่นี่และเดี๋ยวนี้ นั่นก็คือ เลี้ยงลูกถูกธรรม

32. เด็กโดยทั่วไปมักมีอาการ“เบื่อง่าย”“รักง่ายหน่ายเร็ว”

หรือ “เบื่อๆอยากๆ” ในวัตถุสิ่งของหรือของเล่น ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กจึงไม่จำเป็นจะต้องซื้อของเล่นที่ราคาแพงๆ ให้ลูกเล่น เพราะนอกจากจะไม่คุ้มกับค่าของเงินแล้ว ยังอาจจะนำความโทมนัสใจมาให้แก่ผู้ซื้อโดยคาดไม่ถึงก็ได้

33. ทุกคนต้องการความสุขสบาย

ไม่ว่าพ่อแม่หรือลูกก็ย่อมจะมีนิสัยตรงกันคือต้องการความสุขและความสบาย แต่ทางที่จะสู่ความสุขได้ด้วยการตามใจตัว เห็นแก่ตัวและต้องขี้เกียจนั้นล้วนแต่เป็นมูลเหตุของความเสื่อม เป็นความหายนะเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ เด็กย่อมไม่รู้ ส่วนพ่อแม่นั้นเป็นผู้มีประสบการณ์มาก่อนย่อมรู้ พ่อแม่จึงขยันและไม่ตามใจตนเองพร้อมทั้งไม่ปล่อยให้ลูกเห็นแก่ตัวหรือตามใจตัว และขี้เกียจการบังคับ และเฆี่ยนตี ลูกให้ละความเห็นแก่ตัว ไม่ตามใจตัว และไม่ให้ลูกขี้เกียจ จึงเป็นพ่อแม่ที่ดีและเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องแล้ว

34. การเฆี่ยนตีลูกที่เห็นแก่ตัวและขี้เกียจนี้ลูกจะเจ็บก็แต่กายในวันนี้

แต่ในวันหน้าลูกโตขึ้นแล้วเขา ก็จะรู้สึกขอบคุณ และถ้าไม่ดัดเสียแต่เล็ก กิเลสของลูกก็จะเติบโต แล้วมันก็จะทำลายอนาคตของลูกและเมื่อลูกเติบโตแล้ว ลูกก็จะเกลียดชังพ่อแม่ที่ตามใจลูกในทางผิดๆ ด้วย จึงเท่ากับพ่อแม่ได้เป็นผู้ทำลายอนาคตอันสดใสของลูก

เมื่อปล่อยให้ถึงปลายมือมันก็แก้ไม่ได้แล้วลูกเสียคนไปแล้ว พ่อแม่ก็ย่อมจะเสียใจ เจ็บใจตนเองที่หลงรักลูกไม่ทาง (ธรรม) เหตุก็เพราะพ่อแม่ไม่ตีกายลูกเมื่อยังเล็ก ลูกจึงมาตีใจพ่อแม่เมื่อโต พ่อแม่จึงเจ็บปวดยิ่งกว่าการตีร่างกายของลูกหลายเท่านัก เพราะลูกเจ็บกายเดี๋ยวเดียวก็หาย แต่พ่อแม่เจ็บปวดหัวใจนั้นมันจะเป็นจนตลอดชีวิต ดังนั้นเมื่อเราเห็นลูกชั่วแล้วก็ไม่ควรจะเหมาเอาว่า ลูกมันชั่วเอง แต่ควรจะสำรวจตัวเองก่อนว่า เรามีส่วนให้เขาชั่วบ้างหรือเปล่า ? ถ้ามีก็ควรที่จะรีบแก้ไขให้ถูกธรรมเสียในทันที อย่าเกรงใจลูกในทางผิดๆ อีกต่อไป มิฉะนั้น เราจะกลายเป็นพ่อแม่ที่ชั่วเสียยิ่งกว่าลูก

35. ลูกคือทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของพ่อแม่และประเทศ

ควรเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพเท่าที่สติปัญญา และเศรษฐฐานะของเราจะอำนวยให้ได้อย่าเลี้ยงลูกตามบุญตามกรรม เพราะลูกคนไม่ใช่ลูกสัตว์ ควรคำนึงไว้เสมอว่าเด็ก ก็มีหัวใจเหมือนกันนะจ๊ะ?

36. อย่าให้ลูกเป็นผู้ทำลายความดีของพ่อแม่

ด้วยการสร้างศัตรูให้แก่พ่อแม่ หรือตัดสัมพันธไมตรีอันดีของพ่อแม่ทีมีต่อเพื่อนบ้าน เพราะลูกเป็นต้นเหตุ

37. การเลี้ยงลูกได้ดีไม่มีปัญหา

จัดว่าเป็นศิลปะและกุศลวิบากของพ่อแม่ เพราะมีพ่อแม่เป็นอันมากที่เป็นคนดีและมีความรู้ แต่ลูกกับเป็นคนพาล หรือก่อปัญหาสารพัด ดังนั้นถ้าเราแก้ไขจนสุดความสามารถแล้ว เขาก็ยังไม่ดีขึ้น เราก็ควรจะวางอุเบกขาปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมของเขาเถิด พ่อแม่ไม่ควรที่จะต้องไปเป็นโรคประสาทกับลูกเลวๆ อย่างนี้

ผู้มีเชื้อจิตอกตัญญู ย่อมจะหาข้อบกพร่องเล็กน้อยของผู้มีพระคุณมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ตอบแทนคุณท่าน

ฉะนั้น พ่อแม่ที่รักลูก และอยากจะเห็นลูกความเจริญทั้งอายุร่างกาย อายุสมอง และอายุวิญญาณ (คุณธรรม) ก็ควรที่จะให้ความสนใจในการเลี้ยงลูกโดยถูกธรรมเถิด


www.dhammajak.net