สอนลูกให้โง่ …คุณเคยสอนลูกแบบนี้บ้างหรือเปล่า??? เชื่อว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกโง่หรอกค่ะ แต่บางครั้งการสอนในบางเรื่องพ่อแม่อาจเผลอทำไปเพื่อให้ลูกไม่เสียใจ หรือสบายใจได้ในขณะ จนกลายเป็นว่าสอนรู้แบบผิดๆ โดยไม่รู้ตัวไปได้
การอบรมสั่งสอนเด็กนั้นเป็นสิ่งที่ดี จำเป็น และเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของพ่อแม่ แต่ก็มีพ่อแม่บางคน ที่อาจจะทำด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คุณก็ได้เผลอสอนในสิ่งที่เป็นการทำลายลูกโดยไม่รู้ตัวหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราคำสอนบางอย่างนั้นอาจทำให้เด็กเข้าใจผิดไปได้ เป็นการทำลายสัญชาตญาณ ขัดขวางกระบวนการคิดของเด็ก จนบางครั้งอาจเรียกได้ว่า “สอนแบบนี้ ไม่สอนอะไรเลยอาจจะยังดีเสียกว่า”
อยากให้ลูกฉลาดต้องสอนให้เป็น … อย่า สอนลูกให้โง่ !
แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังนึกไม่ออกว่าคำสอนประเภทไหน ที่อาจทำร้ายลูกทางอ้อมได้ ลองมาดูกัน
♠ โทษทุกอย่างทั้งที่เป็นความผิดลูกเอง
ลูกเดินชนโต๊ะ แม่ก็ตีโต๊ะ ลูกหกล้ม แม่ก็ตีพื้น …แล้วบอกลูกว่าแม่จัดการกับสิ่งที่ทำให้หนูเจ็บให้แล้วนะ! ซึ่งปกติแล้วเมื่อเด็กเดินไม่ระวังชนโต๊ะเจ็บตัว สิ่งนี้จะถูกฝังเข้าไปในความจำของเด็ก แล้วครั้งหน้าเมื่อเด็กจะเดินผ่านโต๊ะอีก ความเจ็บตัวจากครั้งที่แล้วจะสอนให้เขาระวังตัวมากขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่การสอนแบบนี้คือการทำลายการเรียนรู้จากความจำหรือประสบการณ์ของเขา
Must read : เลี้ยงลูกแบบโอเว่อร์ ระวังลูกด้อยพัฒนา เสียสุขภาพจิต!
คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยินประโยคนี้ไหม “คนโง่ไม่เรียนรู้อะไรเลยจากความผิดพลาด คนฉลาดเรียนรู้จากความผิดพลาด คนฉลาดกว่าเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น”
แล้วคุณพ่อคุณแม่คิดว่า การที่สอนแบบโยนความผิดไปให้สิ่งของอื่นๆ นั้นถูกต้องแล้วหรือ ซึ่งแท้จริงแล้ว ก็คือการสอนให้ลูกไม่เรียนรู้อะไรเลยจากความผิดพลาดนั้นเอง และผลที่ได้จะเป็นอย่างไร คุณอ่านในประโยคข้างบนอีกที ก็คงทราบดี นอกจากนั้นแล้วเด็กที่โตมากับการสอนแบบนี้มีแนวโน้มสูงที่โตขึ้นแล้วจะเป็นผู้ใหญ่ที่โทษได้ทุกอย่างนอกจากตัวเอง
อ่านต่อ >> “วิธีสอนลูกฉลาดต้องสอนให้เป็น … อย่า สอนลูกให้โง่” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
♠ ลูกจะทำอะไรก็ได้ขอแค่อย่าให้ใครเดือดร้อนก็พอ
การสอนให้เด็กคิดถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่นจากการกระทำของเขาเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าสิ่งนั้นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนแล้วจะสามารถทำได้ทุกอย่าง
อาจเป็นเพราะพ่อแม่หลายคนไม่มีเวลาหรือไม่รู้จะอธิบายกับลูกอย่างไร จึงสรุปทุกอย่างที่ควรสอนในชีวิตลูกให้เหลือแค่ประโยคสั้นๆ ประโยคเดียวคือ “ทำอะไรก็ได้ขอแค่อย่าให้ใครเดือดร้อนก็พอ”
“มาสาย อ่านการ์ตูนขณะครูสอน กินขนมในห้อง แต่งตัวตามใจฉัน เล่นกับเพื่อนตอนเข้าแถว แล้วหนูไปทำให้ใครเดือดร้อนหรือไง” นี่คือตัวอย่างของเด็กที่พ่อแม่สอนว่า ทำอะไรก็ได้ แต่อย่าให้ใครเดือดร้อน ซึ่งการพูดหรือการแสดงออกที่สื่อให้เข้าใจได้แบบนี้ เมื่อพวกเขาถูกตักเตือนหรือถูกให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูความน่ารัก เด็กๆ ก็จะพูดราวกับว่าไม่ว่าเขาจะทำอะไร ที่ไหน กับใคร ในโลกนี้ก็ได้ ถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ย่อมมีสิทธิทำได้ทั้งนั้น ตามที่พ่อแม่สอนมานั่นเอง
ซึ่งจริงแล้วเด็กๆ เหล่านี้มีจิตใจดีและมีนิสัยที่น่ารักหลายอย่าง แต่ขณะเดียวกันพวกเขาไม่เห็นความสำคัญของระเบียบ วินัย ชอบเอาอกเอาใจตัวเอง และเคารพกฎ กติกาเฉพาะข้อที่ถูกใจพวกเขา ซึ่งน่าเสียดายที่ความน่ารักต้องถูกลดทอนลงเพราะแนวความคิดนี้
พ่อแม่บางคนอาจแก้ตัวว่าไม่ได้หมายความอย่างนั้น ซึ่งถ้าไม่ใช่อย่างนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ควรสอนลูกเสียใหม่ว่า “เวลาที่จะทำอะไรหนูต้องคิดก่อนว่าจะทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนหรือเปล่า” “ถ้าคิดแล้วว่าสิ่งนั้นไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะทำได้เลยทันที ต้องคิดต่อด้วยว่ามันถูกต้องเหมาะสมมากแค่ไหน สิ่งที่จะทำมันขัดต่อกฎ ต่อความรู้สึก หรือธรรมเนียมปฏิบัติใดๆของสังคมที่นั้นหรือเปล่า” เพราะถ้าคุณพูดแค่ว่า “ลูกจะทำอะไรก็ได้ขอแค่อย่าให้ใครเดือดร้อนก็พอ” เด็กส่วนใหญ่จะเข้าใจความหมายแค่ตามนั้นจริงๆ
Must read : พ่อแม่รังแกฉัน ! บาป 14 ประการ จากท่าน ว.วชิรเมธี
♠ ลืมซะเถอะคิดซะว่าหนูไม่ได้ทำ , คิดซะว่าแค่ฝันไป
เมื่อเด็กทำผิดในเรื่องร้ายแรง หรือสิ่งที่เขาทำนั้นเกิดผลเสียหายอย่างเลวร้าย พ่อแม่หลายคนมักปลอบลูกด้วยประโยคที่ว่านี้ ซึ่งการสอนให้เด็กคิดว่าเรื่องไม่ดีที่เขาทำผิดนั้นไม่เคยเกิดขึ้นหรือไม่ได้ทำก็คือการสอนให้เด็กไม่มีความรับผิดชอบและขาดจิตสำนึกอย่างสิ้นเชิง
คุณเคยเล่นวิดีโอเกมที่ให้ยิงฝ่ายตรงข้ามให้ตายหรือเคยเล่นตำรวจจับผู้ร้ายตอนเด็กๆไหม คุณรู้สึกผิดไหมเวลาได้ฆ่าฝ่ายตรงข้าม ไม่เลยจริงไหมเพราะสามัญสำนึกบอกคุณว่านั่นเป็นแค่สิ่งสมมุติเป็นแค่การเล่นการแสดง และเมื่อเด็กโตขึ้นพวกเขาจะมีความสามารถแยกแยะสิ่งสมมุติ,ความฝันกับเรื่องจริงได้โดยอัตโนมัติ แต่เด็กที่ถูกสอนให้คิดว่าความจริงเป็นสิ่งสมมุตินั้น เป็นการทำลายกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก
ส่วนเด็กที่โตแล้วแม้จะไม่ถึงขนาดทำให้เด็กไม่รู้สึกผิดเลยแต่ถ้าเด็กเชื่อเช่นนี้เด็กจะรู้สึกผิดน้อยกว่าคนปกติธรรมดามากเวลาที่เขาทำผิด
ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกฝังใจหรือรู้สึกผิดไปจนตายกับสิ่งที่เขาทำ คุณควรบอกลูกว่า “จริงอยู่ที่หนูทำผิด แต่การคิดโทษตัวเองซ้ำๆ ตลอดเวลามันมีประโยชน์อะไรละลูก เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียนจะได้ไม่ทำผิดซ้ำอีก และจากนี้ไปมองไปข้างหน้าดีกว่าไหม เพราะคนเราต้องมีชีวิตอยู่เพื่ออนาคตไม่ใช่อดีต”
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
♠ ไม่เป็นไรหรอกลูกใครๆเขาก็ทำกัน
การบอกเด็กว่าเราทำผิดแค่เล็กน้อยไม่เห็นเป็นไรมีคนทำผิดมากกว่าเราตั้งเยอะ ก็เหมือนกับการบอกเด็กว่าการทำไม่ดีอะไรก็ตามเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เสมอถ้ายังมีคนที่ทำไม่ดีมากกว่า และนั่นเท่ากับสอนให้เด็กทำเรื่องเลวร้ายมากขึ้นไปเรื่อยๆในตัว เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นเขาย่อมต้องเห็นโลกมากขึ้นและเห็นด้านมืดของโลกมากขึ้นด้วยเช่นกัน ถ้าเขาซึมซับในความคิดนี้เขาก็จะยิ่งทำเรื่องเลวร้ายมากขึ้นๆเป็นลำดับ
Must read : สปอยล์ลูก มากไป ระวังลูกนิสัยเสีย!
หากสังคมที่มีแต่คนบอกว่า “ถึงฉันจะเลวแต่ฉันก็เลวน้อยกว่าคนอื่นนะ” แล้วก็มุ่งมั่นทำความเลวต่อไป คุณพ่อคุณแม่คิดว่าสังคมนี้น่าอยู่ไหม และถ้าคุณสอนจนลูกเชื่อแบบนี้ ถ้าสักวันลูกคุณถูกตำรวจจับเพราะไปขโมยของ แล้วเขาบอกคุณว่าทำไมผมต้องติดคุกทีบางคนทุจริตมากกว่าผมเป็นพันเท่ายังไม่ต้องติดคุกเลย คุณจะตอบลูกว่าอย่างไร?
อ่านต่อ >> “วิธีสอนลูกฉลาดต้องสอนให้เป็น … อย่า สอนลูกให้โง่” คลิกหน้า 3
♠ ลูกยังเด็กอยู่จะเอาอะไรมากมาย
อีกหนึ่งประโยคยอดฮิตที่พ่อแม่มักชอบพูดแก้ตัวให้ลูก เมื่อลุกน้อยทำผิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเพราะไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ เช่น เด็กเล็กๆ แซงคิวคนอื่น ก็เป็นเรื่องถูกที่เราไม่ควรโทษเด็กแต่การไม่โทษเด็กก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องสอนเด็ก และการแก้ตัวทุกอย่างให้เด็กเมื่อเด็กทำผิดว่า “ไม่เป็นไรหรอกเพราะหนูยังเด็ก” ก็เหมือนสอนว่าเขาเป็นคนที่ไม่มีวันทำอะไรผิดหรือทำผิดมากแค่ไหนก็ไม่ถือว่าผิด แล้วคุณพ่อคุณแม่คิดว่าคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนวิเศษที่ไม่มีวันทำอะไรผิดจะระวังตัวระวังการกระทำไปทำไมกันละ
สิ่งที่ควรทำคือสอนเด็กว่าหนูทำแบบนี้ไม่ได้เพราะอะไร บอกเด็กว่า “หนูแซงคิวคนอื่นครั้งนี้แม่ไม่ว่าไม่ทำโทษอะไรหนูเพราะหนูยังไม่รู้ว่าสิ่งนี้ผิด แต่ตอนนี้หนูรู้แล้วใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นห้ามทำแบบนี้อีกนะลูก”
Must read : สปอยล์ลูก มากไป ระวังลูกนิสัยเสีย!
♠ สอนให้ลูกรู้สึกในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง
ลูกเอามือไปแตะหม้อร้อนๆ บนเตา แล้วเจ็บมือพองร้องไห้ คุณบอกลูกว่าไม่เจ็บๆ ไม่ร้อนสักหน่อย ซึ่งโดยปกติความจริงแล้ว สิ่งมีชีวิตทุกอย่างมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดอยู่ในตัว ลูกๆ ของคุณก็เช่นกัน สัญชาตญาณจะสอนเรื่องนี้ให้กับเด็กเองโดยอัตโนมัติให้เขาระวังมากขึ้นและกลัวในสิ่งที่ทำให้เขาเจ็บปวด
…แต่การสอนแบบนี้เป็นการสอนที่ตรงกันข้ามกับสัญชาตญาณและยังทำให้เด็กสับสนในจิตใจ และเมื่อเขาเห็นหม้อตั้งอยู่บนเตาอีกครั้งเมื่อเขาอยากลองที่จะแตะมันอีกที แม้สัญชาตญาณจะสอนเขาว่า “อย่านะ เดี๋ยวก็ได้เจ็บอีกหรอก” แต่คำสอนของคุณกลับแทรกเข้าไปในความคิดว่า “แต่แม่บอกว่าไม่ร้อน ไม่เจ็บนี่ เราคิดไปเองหรือเปล่า”
ซึ่งถ้าสัญชาตญาณชนะก็ดีไปแต่ถ้าไม่ผลเป็นอย่างไรก็คงรู้ดี เพราะฉะนั้นเรื่องนี้คำถามคือ คุณพ่อคุณแม่จะสอนในสิ่งที่เป็นการทำลายสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของลูกทำไม? เว้นเสียแต่ว่าคุณอยากให้ลูกมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดต่ำกว่าคนปกติ!
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ ปลอบเขาโอ๋เขาทายาให้เขาและเมื่อเขาหยุดร้องไห้ค่อยบอกว่า “ถ้าหนูเอามือไปแตะหม้อที่อยู่บนเตา หนูก็จะเจ็บอย่างนี้ละลูก ตอนนี้หนูรู้แล้วจำได้แล้วใช่ไหม ทีหลังหนูก็อย่าทำแบบนี้อีกนะ”
ดังนั้น เมื่อเห็นลูกเจ็บเพราะความซน ความไม่ระวัง คนเป็นพ่อเป็นแม่ควรทำยังไงปล่อยให้ร้องไห้ เข้าไปโอ๋ หรือตีซ้ำ
จะอย่างไรก็ตาม ขอเพียงแค่ให้คุณพ่อคุณแม่คิดไว้เสมอว่า ในโลกของเด็กเล็กๆ พ่อแม่ไม่ได้เป็นแค่พ่อแม่แต่เป็นทุกสิ่งอย่างสำหรับเขา ผู้ใหญ่เวลาเจอเรื่องแย่ๆ ถ้าเขาไม่อยากบอกพ่อแม่พวกเขายังมีแฟนมีเพื่อนมีญาติแต่เด็กเล็กๆ พวกเขาไม่มีใครอีกเลย การที่ความรู้สึกของลูกถูกปฏิเสธความสำคัญไป ผลที่ได้ไม่ใช่ความเข้มแข็ง แต่เป็นการขาดความมั่นคงทางจิตใจ เมื่อโตมาเด็กมักจะเป็นคนที่เย็นชา จนขาดความเห็นอกเห็นใจหรือไร้ความรู้สึกไปโดยปริยาย
ดังนั้นการปลอบการโอ๋นั้นไม่ได้ทำให้เด็กอ่อนแอแต่อย่างใด แต่เป็นการทำให้เขารู้สึกว่ามีคนรัก มีคนห่วงใยและรู้สึกว่าตัวเขาเองมีความสำคัญ ส่วนการจะทำโทษเด็กซ้ำในสิ่งที่พวกเขา “ไม่ได้ตั้งใจทำ ไม่ได้ต้องการให้มันเกิด และไม่มีใครได้รับผลร้ายจากสิ่งนั้นนอกจากตัวเขาเอง”
อ่านต่อ >> “คำสอนของพ่อแม่” สำคัญต่อลูกอย่างไร คลิกหน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
“คำสอนของพ่อแม่” สำคัญต่อลูกอย่างไร?
พ่อแม่บางคนก็ลดความเคร่งครัดในการอบรมสั่งสอน รวมถึงการตั้งกฎระเบียบภายในบ้านลง ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ทั้งไม่มีเวลา เบื่อ ลูกไม่ปฏิบัติตาม วันนี้เราจึงขอย้ำถึงความสำคัญกันอีกครั้ง ว่า กฎหรือคำสอนที่ดีของพ่อแม่นั้นสำคัญต่อชีวิตลูกอย่างไร ดังนี้
1. ทำให้เด็กทราบว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เช่น การห้ามไม่ให้พูดคำหยาบ ห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ ห้ามลักเล็กขโมยน้อย ห้ามเอาเปรียบคนอื่น หรือง่ายๆ แค่ศีล 5 ก็สามารถใช้สอนได้ ซึ่งข้อห้ามเหล่านี้ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อบรมสั่งสอนให้ลูกทราบถึงความควรไม่ควรปล่อยให้ลูกทำได้โดยอิสรเสรี อนาคตของลูกๆ คงน่ากังวลมากทีเดียว
2. ทำให้เด็กได้คิดก่อนทำ เพราะคำสอนของพ่อแม่นั้นสำคัญมาก แม้ในวันที่พวกเขาได้ยินอาจเกิดความรู้สึกต่อต้าน อยากฝ่าฝืนคำสั่งเหล่านั้น แต่หากมีสถานการณ์ให้พวกเขาต้องตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำดี อย่างน้อย การมีคำสอนของพ่อแม่อยู่ในสมอง จะทำให้เด็กฉุกคิดก่อนที่จะกระทำได้
3. ลดโอกาสที่เขาจะเติบโตกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ หรือคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล เพราะคำสอนของพ่อแม่ที่สอนให้ลูกมีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบจะทำให้เด็กรู้จักอดทนรอคอย ไม่ใช่คนที่ต้องการสิ่งใดก็ต้องได้เดี๋ยวนั้น ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจะกลายเป็นภาระของคนรอบข้าง
4. ทำให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข เพราะคำสอนของพ่อแม่ที่สอนให้เขามีระเบียบวินัยนั้นจะทำให้เด็กรู้จักรับผิดชอบชีวิต รู้จักแบ่งเวลา และสามารถบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้อย่างสมดุล
ทั้งนี้ การอบรมเลี้ยงดูให้ลูกเป็นคนมีระเบียบวินัยนั้นควรเริ่มจากการฝึกความรับผิดชอบ เช่น การมอบหมายงานบ้าน หรืองานที่ลูกสามารถทำได้ให้ และควรให้เด็กรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้นๆ อย่างเคร่งครัด เด็กรุ่นใหม่หลายคนมักไม่ได้รับโอกาสนี้ เพราะพ่อแม่ส่วนหนึ่งเห็นว่าลูกๆ ควรมีหน้าที่ตั้งใจเรียนอย่างเดียว งานบ้านไม่ต้องรับผิดชอบก็ได้ หรือเห็นว่าลูกเรียนหนักแล้ว หากมาทำงานบ้านด้วยจะเหนื่อยเกินไป เด็กหลายคนในยุคนี้จึงขาดโอกาสฝึกทักษะนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- 4 เทคนิค สอนลูกป้องกันโรคใหม่ทำลายเด็กไทย คิดว่า “ตัวกูใหญ่”
- รวมพฤติกรรมยอดแย่ที่พ่อแม่ไม่ควรทำต่อหน้าลูก
- พ่อแม่ระวัง 25 คำพูดยอดแย่! สกัดกั้นพัฒนาการลูก
ขอบคุณภาพจาก : ผู้ใช้เฟสบุ๊ค พงศกร ตรายาง
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.bloggang.com , www.manager.co.th