AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

กุมารแพทย์แนะ“งด” เลี้ยงลูกด้วยมือถือ และจอทุกชนิดในเด็ก 2 ขวบปีแรก

ผลวิจัยชี้การเสพสื่อผ่านจอในเด็กเล็กมีผลกระทบต่อสมองและสติปัญญาเด็ก กุมารแพทย์แนะ “งด” เลี้ยงลูกด้วยมือถือ และสื่อผ่านจอทุกชนิดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่า เพราะอะไรถึงต้อง “งด” เลี้ยงลูกด้วยมือถือ และสื่อผ่านจอทุกชนิด ทั้งนี้ก็เพราะว่า เด็กแรกเกิดถึง 2 ปี เป็นวัยที่สมองมีการเติบโต ทำให้พัฒนาการทุกด้านเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านกล้ามเนื้อ ภาษา สติปัญญา และด้านอารมณ์ สังคม ซึ่งเด็กในวัยนี้จะต้องเรียนรู้โดยการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ผ่านการสอน บอก จากพ่อแม่ และผู้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด

แต่ในปัจจุบันพบว่าเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งจากตัวเด็กเอง เช่น เด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยาก เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ ทำให้พ่อแม่หยิบยื่นสื่อหน้าจอให้ เพราะสามารถทำให้เด็กสามารถอยู่นิ่งๆ ได้นาน หรืออาจเกิดจากตัวพ่อแม่เองที่ใช้สื่อหน้าจอมาก ติดทีวี ติดมือถือเสียเอง พ่อแม่ที่เลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย ตามใจลูก มีผลทำให้เด็กใช้สื่อมากขึ้น รายการที่เด็กดู การดูรายการผู้ใหญ่ รายการความรุนแรง หรือรายการบันเทิงที่ไม่ได้ถูกออกแบมาเพื่อเป็นสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะ บริบทในการรับสื่อ เช่น การปล่อยให้เด็กดูคนเดียว ไม่มีการพูดสื่อสารระหว่างดู รวมไปถึง การใช้สื่อในห้องนอน ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างสูง ต่อสมองและพัฒนาการของเด็กทั้งสิ้น

เพราะสมองเด็กเปรียบเสมือนฟองน้ำที่จะซึมซับและเรียนรู้ทุกอย่าง แต่ยังไม่สามารถแยกแยะสิ่งถูกผิดได้เอง หากปล่อยให้เด็กวัยนี้ใช้สื่อหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ แท็บเล็ต เขาจะยังไม่สามารถแปลงภาพและเสียงที่เห็นและได้ยิน จากสื่อหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทมาเป็นความรู้ที่จะใช้กับโลกแห่งความเป็นจริงได้ด้วยตนเอง การใข้สื่อผ่านหน้าจอเพียงอย่างเดียวในการเลี้ยงดูเด็ก โดยที่พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ด้วยเลย ไม่มีผลส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ในทางกลับกัน สื่อเหล่านี้กลับส่งผลกระทบต่อสมองและทำให้พัฒนาการของเด็กแย่ลง!

อ่านต่อ กุมารแพทย์เผย ผลกระทบ 4 ด้าน จากการปล่อยให้จอเลี้ยงลูก คลิกหน้า 2

รศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ

รศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ หัวหน้าสาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยผลการวิจัยที่คนเป็นพ่อแม่ยุคใหม่ไม่อาจมองข้าม ในการประชุมวิชาการร่วมคณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราชฯ พ.ศ. 2560 (JCMS 2017)

ผลการวิจัยพบว่า เด็กไทยได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุ 1 เดือนครึ่ง ในขณะที่เด็กอายุ 1 ปีได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวัน และเด็กอายุ 18-24 เดือน ได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นเป็น 5 ชั่วโมงต่อวัน โดยที่สื่อหน้าจอส่วนใหญ่ เป็นสื่อทีวี แต่มีแนวโน้มที่จะดูรายการทีวี เพลง และการ์ตูน ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

4 ผลกระทบต่อสมองและพัฒนาการเด็ก จากการ เลี้ยงลูกด้วยมือถือ ทีวี แท็บเล็ต

  1. ด้านพัฒนาการ ทำให้พัฒนาการด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก และสติปัญญาล่าช้า ทั้งนี้ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสื่อการศึกษาที่ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการพูด การใช้ภาษาที่ชัดเจนในเด็กปฐมวัยสามารถช่วยพัฒนาการด้านภาษาของเด็กวัย 2-5 ปีได้ แต่การดูรายการบันเทิงทั่วไปเป็นเวลานานต่อวันกลับมีผลให้พัฒนาการทางภาษาของเด็กล่าช้า
  2. ด้านพฤติกรรม ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก พฤติกรรมแยกตัว ดื้อ ต่อต้านมากขึ้น เนื่องจากพบว่า เด็กที่ได้รับสื่อที่มีความรุนแรง นำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าว และยังมีการศึกษาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์พบว่า การใช้สื่อที่มีความรุนแรงเป็นระยะเวลายาวนาน มีความสัมพันธ์กับภาวะซนและสมาธิสั้น
  3. ทักษะการใช้สมองระดับสูง ในการแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์แย่ลง ควบคุมตัวเองไม่ดี ซึ่งความสามารถของสมองระดับสูงจะส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียน การทำงาน การดำเนินชีวิตในครอบครัวและสังคมต่อไป
  4. ปัญหาการนอนของเด็ก พบว่า สื่อที่มีเนื้อหารุนแรง และการได้รับสื่อในช่วงหัวค่ำ การได้รับสื่อในห้องนอน จะทำให้มีปัญหาการนอนในเด็กปฐมวัย นอนหลับยากขึ้น ระยะเวลาการนอนหลับลดลง ส่งผลให้การเรียนรู้ในเวลากลางวันของเด็กลดลง

อ่านต่อ กุมารแพทย์แนะ 3 ข้อแก้ปัญหาลูกติดจอ ได้ผลแน่นอน
คลิกหน้า 3

กุมารแพทย์แนะ 3 ข้อแก้ปัญหาลูกติดจอ ได้ผลแน่นอน

พัฒนาการแรกตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี เป็นรากฐานของชีวิต พ่อแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการ เลี้ยงลูกด้วยมือถือ แล้วหันมาใช้เวลาคุณภาพร่วมกันในครอบครัว ผศ.พญ. สุรีลักษณ์ สุจริตพงค์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะแนวทางการใช้สื่อกับเด็กด้วย 3 ข้อต่อไปนี้

  1. เด็กอายุแรกเกิด – 2 ปี ควรหลีกเลี่ยงการอยู่หน้าจอทุกชนิดอย่างจริงจัง การเสพสื่อผ่านจอของเด็กวัยนี้ นอกจากจะไม่มีผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของลูกแล้ว แม้แต่การเปิดทิ้งไว้เฉยๆ เด็กไม่ได้ดู แต่หากพ่อดูบอล แม่ดูละคร ก็ทำให้พ่อแม่ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก ไปอย่างน่าเสียดาย
  2. เด็กอายุ 2-5 ปี ใช้หน้าจอได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยพ่อแม่ควรใช้สื่อให้เป็น เลือกโปรแกรมที่ดี และควรดูร่วมกับลูก พูดคุยเกี่ยวกับเนื้อหาที่ดู ตั้งคำถาม และมีกติกาที่เหมาะสม ไม่ควรปล่อยให้ลูกรับสื่อผ่านจอตามลำพัง
  3. ปิดหน้าจอแล้วใช้เวลาคุณภาพ ทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยกับลูก เล่นกับลูก อ่านหนังสือร่วมกัน กิจกรรมเหล่านี้เป็นวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยได้ดีที่สุด

นอกจากนี้ ยังเผยผลวิจัย กิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสมองของเด็กเกาหลีใต้ในปี 2008 พบว่า เด็กที่อ่านหนังสือ 1-3 ชั่วโมงต่อวัน ฉลาดกว่าเด็กที่ไม่ได้อ่านหนังสือ 2.47 เท่า และมีพัฒนาการทางภาษาดีกว่า 1.49 เท่า ส่วนเด็กที่ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ฉลาดกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นกีฬา 1.53 เท่า และมีพัฒนาการทางภาษาดีกว่า 1.6 เท่า ในขณะที่การเลี้ยงลูกด้วยมือถือ ให้ลูกเสพสื่อผ่านจอ ไม่มีผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก

คุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้ว่าการทำกิจกรรมอื่นๆ กับลูกที่ไม่ได้ผ่านหน้าจอให้ผลดีต่อสติปัญญาและภาษาของเด็กมากกว่า ดังนั้น การหลีกเลี่ยงหน้าจอในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างจริงจัง ส่วนในเด็กอายุ 2-5 ปี ก็ควรใช้อย่างเหมาะสมภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้เลี้ยงดูค่ะ

อ่านต่อบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แม่เตือน! ลูกเล่นมือถือ มากเกินไปส่งผลต่อพัฒนาการ

อย่ามัวแต่ก้มมองมือถือ จนลืมลูกน้อยข้างตัว

กรมสุขภาพจิตพบ! เด็กเล็กเป็นโรคไฮเปอร์เทียมมากขึ้น เพราะพ่อแม่ให้ลูกเล่นแท็บเล็ต-มือถือ