เด็กแรกเกิดตัวเหลือง คืออะไร? ทำไมถึงอันตราย? คืออย่างนี้ค่ะ ปกติแล้วหลังจากลูกคลอดออกจากท้องแม่แล้ว คุณหมอจะทำการตรวจร่างกายของลูกว่ามีสิ่งผิดปกติอะไรหรือไม่ อาการตัวเหลืองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณหมอจะต้องตรวจ เพราะ เด็กแรกเกิดตัวเหลือง ที่ไม่ได้รับการรักษา สารเหลืองนี้จะเข้าไปอยู่ในเนื่อเยื่อสมอง ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้ อันตรายมากใช่ไหมล่ะคะ เรามาทำความรู้จักกับภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดกันดีกว่าค่ะ
เด็กแรกเกิดตัวเหลือง อันตรายหรือไม่? รักษาอย่างไร?
อะไรคือภาวะตัวเหลือง?
เด็กแรกเกิดตัวเหลือง สามารถพบได้ถึง 50% ของเด็กแรกเกิดทั้งหมด หมายถึงครึ่งนึงของเด็กแรกเกิดจะมีภาวะนี้ เด็กที่มีภาวะตัวเหลือง จะมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” ในเลือดสูงกว่าปกติ บิลิรูบินนี้เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นภาวะปกติของร่างกายทุกคน แต่ในเด็กแรกเกิดที่ยังเจริญเติบโตไม่มากพอที่จะกำจัดสารบิลิรูบินและขับออกจากร่างกายทางอุจจาระและปัสสาวะได้ จึงส่งผลให้ผิวหนังและตาขาวของทารกมีสีเหลือง
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกตัวเหลือง?
อ่านมาถึงตรงนี้ แม่ ๆ หลายคนอาจจะกังวลใจว่าลูกเราจะตัวเหลืองไหม เพราะอาการนี้พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิดทั่วไป อย่าเพิ่งกังวลใจไปค่ะ เพราะถึงจะมีอาการตัวเหลือง ก็ไม่ได้หมายความว่าสารเหลืองจะขึ้นไปทำลายสมองได้ในทันที ปกติแล้วหลังจากคลอดได้ 1-3 วัน คุณหมอจะตรวจค่าของสารเหลืองที่มีอยู่ในร่างกายก่อนค่ะ หากมีค่าสูงเกินระดับที่ 13 คุณหมอจะรีบทำการรักษาโดยการถ่ายเลือดทันที หากค่าของสารเหลืองมีค่าเกินระดับที่ 8 คุณหมอจะรักษาโดยการส่องไฟ และหากมีค่าต่ำกว่านั้น คุณหมอจะให้กลับบ้านเพื่อปล่อยให้กลไกของร่างกายที่เมื่อเจริญเติบโตขึ้นแล้ว จะสามารถขับสารเหลืองออกมาได้เอง
แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อได้กลับบ้านแล้ว ค่าของสารเหลืองจะไม่มีทางขึ้นมาในระดับที่เป็นอันตรายได้อีกนะคะ ในวันที่ 5-7 หลังคลอด คุณหมอจะนัดมาตรวจค่าของสารเหลืองอีกครั้ง เพื่อดูว่าร่างกายได้สร้างกลไกการขับสารเหลืองได้ดีพอหรือยัง หากยังไม่ดีพอ คุณหมอก็จะดูสาเหตุว่ามีสิ่งใดผิดปกติหรือไม่ เช่น ลูกได้รับน้ำนมไม่เพียงพอในการช่วยขับสารเหลือง ลูกติดเชื้อไวรัส ตับอักเสบ เป็นต้น
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ เด็กแรกเกิดตัวเหลือง มีอาการอย่างไร?
เด็กแรกเกิดตัวเหลือง มีอาการอย่างไร?
อาการตัวเหลืองสามารถสังเกตได้โดยง่าย โดยใบหน้าของลูกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนก่อน และจะลามไปส่วนอื่น ๆ เช่น แขน ขา ลำตัว และท้อง เป็นต้น ในเด็กบางคนจะมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย
- ตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
- เหงือกเหลือง
- ฝ่ามือหรือฝ่าเท้าเหลือง
- ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม ปกติปัสสาวะของเด็กแรกเกิดจะไม่มีสี
- อุจจาระมีสีขาวซีดเหมือนสีชอล์ก ผิดจากปกติที่ควรเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม
แต่หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการตัวเหลือง ควรรีบพาลูกไปหาคุณหมอทันที
- มีไข้สูง
- เบื่ออาหาร ไม่ยอมดูดนม น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น
- แขน ขา และท้องเหลือง
- เซื่องซึม เฉื่อยชา
- ร้องไห้เสียงแหลม
- ตัวเหลืองมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ตัวเหลืองนานกว่า 3 สัปดาห์
- มีอาการอื่น ๆ ที่น่าวิตกกังวล
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ สาเหตุของ เด็กแรกเกิดตัวเหลือง
สาเหตุของเด็กแรกเกิดตัวเหลือง มีอะไรบ้าง?
เด็กแรกเกิดตัวเหลืองนั้นเป็นเพราะ ระดับสารบิลิรูบินในเลือดมีสูงมากเกินไป โดยสารนี้เกิดขึ้นเมื่อเม็ดเลือดแดงซึ่งทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายแตกตัว ในภาวะปกติ บิลิรูบินในกระแสเลือดจะถูกส่งไปที่ตับและขับออกทางอุจจาระ แต่ในเด็กแรกเกิด ตับจะยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้ไม่สามารถกำจัดสารนี้ได้รวดเร็วพอ ซึ่งภาวะนี้ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะตัวเหลืองปกติ ซึ่งเด็กแรกเกิดที่เป็นภาวะนี้จะสามารถหายได้เองใน 2 สัปดาห์ และไม่เป็นอันตรายกับสมองลูก แต่ภาวะตัวเหลืองก็อาจเกิดจากภาวะตัวเหลืองที่ผิดปกติได้ ดังสาเหตุต่อไปนี้
- ลูกเป็นโรค G6PD หรือภาวะการบกพร่องเอนไซม์ G6PD ส่งผลทำให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
- เกิดจากหมู่เลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน เช่น แม่ที่มีหมู่เลือด Rh ลบกับลูกหมู่เลือด Rh บวก หรือ แม่ที่มีหมู่เลือดโอกับลูกที่มีหมู่เลือดเอบี มีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นในลูกคนที่สอง เนื่องจากร่างกายแม่จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อหมู่เลือดที่ไม่เข้ากันกับทารก
- เกิดมาจากนมแม่ ลูกได้รับนมแม่ปกติ พัฒนาการด้านน้ำหนักตัวขึ้นดี ส่วนมากจะพบภาวะตัวเหลืองชัดเจนในช่วงท้ายสัปดาห์แรกเป็นต้นไป
- การได้รับนมแม่หรือนมผงไม่เพียงพอ ทำให้ปัสสาวะหรืออุจาระน้อย ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับสารเหลืองออกทางปัสสาวะหรืออุจาระได้ จนน้ำหนักตัวน้อยไม่เป็นไปตามพัฒนาการ พบในทารกที่แม่ขาดประสบการณ์ในการให้นม เช่น ไม่รู้ว่าน้ำนมที่ลูกดูดจากเต้ามีปริมาณเท่าไร ทำให้ไม่รู้ว่าลูกดูดนมอิ่มหรือยัง หรืออาจเกิดจากปัจจัยของตัวทารกเอง เช่น คลอดก่อนกำหนดหรือมีภาวะดูดนมยาก ภาวะลิ้นติด เป็นต้น
- ภาวะตับอักเสบ อาจพบอาการอื่นร่วมกับอาการตัวเหลืองด้วย เช่น อาการไข้ ไม่ดูดนม ซึม ท้องโตเนื่องจากตับโต
- เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อาจพบอาการเหล่านี้ร่วมกับภาวะตัวเหลือง เช่น มีไข้ ชัก ซึม ไม่ดูดนม ท้องอืด
- ภาวะพร่องไทรอยด์แต่แรกเกิด ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองจากสาเหตุนี้จะมีอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ ในบางครั้งอาจมีภาวะกระหม่อมกว้างกว่าปกติ สะดือจุ่น ลิ้นโตคับปาก แต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ปกติแล้วทารกทุกรายจะได้รับการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ตั้งแต่แรกเกิด
- ภาวะท่อหรือทางเดินน้ำดีตีบตันหรือโป่งพอง จะแสดงอาการของโรคที่สำคัญคือ ตัวเหลืองร่วมกับอุจจาระมีสีซีด ปัสสาวะมีสีเข้ม เนื่องจากไม่สามารถขับบิลิรูบินออกทางน้ำดีได้
ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด อันตรายแค่ไหน?
หากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมาก บิลิรูบินจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อสมองและก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท เรียกว่า เคอร์นิกเทอรัส (kernicterus) ถ้าหากเกิดขึ้นเฉียบพลัน ทารกจะมีอาการซึม ดูดนมน้อยลง ตัวอ่อนปวกเปียก หรือ อาจเกิดอาการเกร็งหลังแอ่น ชัก มีอาการไข้ และอาจร้องไห้เสียงแหลม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในระยะเวลา 6-12 เดือนต่อมา ทารกจะมีการเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกายและแขนขา การได้ยินและการเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติ พัฒนาการล่าช้า ระดับสติปัญญาลดลง ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในทารกแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แม้ว่าจะลดระดับของบิลิรูบินจนเข้าสู่ภาวะปกติ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วิธีการรักษาภาวะเด็กตัวเหลือง และพ่อแม่จะช่วยให้ค่าสารเหลืองลดลงได้อย่างไรบ้าง
วิธีการรักษาภาวะเด็กตัวเหลือง
อาการตัวเหลืองที่ไม่รุนแรงจะหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ในรายที่อาการไม่ดีขึ้นและมีระดับสารบิลิรูบินในเลือดสูง แพทย์อาจใช้การรักษาเพื่อลดระดับสารบิลิรูบินในเลือดด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
- การส่องไฟรักษา ไฟในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเอาลูกไปส่องกับหลอดไฟธรรมดาทั่วไปนะคะ เพราะไม่สามารถรักษาภาวะตัวเหลืองได้ค่ะ หลอดไฟที่ใช้ส่องเป็นหลอดไฟชนิดพิเศษค่ะ มีความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสำหรับรักษาอาการตัวเหลืองเท่านั้น ไม่สามารถรักษาอยู่ที่บ้านได้
- การถ่ายเลือดร่วมกับการส่องไฟรักษา ถ้าหากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมากจนอาจจะเกิดการสะสมในเนื้อเยื่อสมอง หรือแสดงอาการเฉียบพลันทางสมองเบื้องต้นแล้ว ควรใช้วิธีการถ่ายเลือดร่วมกับวิธีการส่องไฟรักษาเพื่อลดระดับของบิลิรูบินในร่างกายของทารกได้อย่างทันท่วงที
- การรักษาด้วยยา ยาที่สามารถรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดได้คือยาชีววัตถุ เช่น อิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous immunoglobulin)
พ่อแม่จะช่วยให้ค่าสารเหลืองลดลงได้อย่างไรบ้าง?
ในกรณีที่ค่าสารเหลืองไม่ได้อยู่ในระดับที่จำเป็นต้องส่องไฟเพื่อการรักษา คุณหมอจะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกกลับบ้านและคอยดูอาการของลูกต่อไป หากพบสิ่งผิดปกติ ถึงพาไปพบแพทย์ คุณพ่อคุณแม่ที่ได้ทราบข่าวนี้ มักจะกังวลว่า ถ้าสารเหลืองเกิดเพิ่มขึ้นโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบจะทำอย่างไร และต้องทำอย่างไรบ้างให้สารเหลืองนี้ถูกขับออกไปได้โดยเร็ว เรามีวิธีมาฝากค่ะ
- พาลูกมาตรวจตามที่หมอนัด (ไม่ควรเลื่อนวัน หากไม่จำเป็น) เพื่อให้คุณหมอคอยสังเกตอาการของลูก และจะได้รักษาได้ทันที
- คอยสังเกตว่าลูกมีอาการตัวเหลืองเพิ่มขึ้นหรือไม่
- สังเกตสีของอุจจาระหรือปัสสาวะของทารก หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น อุจจาระมีสีซีด หรือ ปัสสาวะมีน้ำตาลเข้มควรมาพบแพทย์
- นับจำนวนครั้งของการอุจจาระและปัสสาวะ เพื่อตรวจสอบว่าได้รับนมเพียงพอหรือไม่
- อาการหรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม หรือท้องอืด ควรพาลูกน้อยมาพบแพทย์ทันที
- หากเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ และประสบปัญหาในการให้นมลูก เช่น ลูกดูดนมยาก ลูกดูดนมน้อยหรือยังให้นมลูกไม่ถูกต้อง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาลเพื่อเสริมพัฒนาการที่ดีของทารก
- **การให้ลูกดื่มน้ำ นอกจากไม่ได้ช่วยลดสารเหลือง ยังทำให้เสี่ยงต่อภาวะน้ำเป็นพิษอีกต่างหาก**
แม่พริมาเองก็มีประสบการณ์ที่ลูกทั้งสองคนเกิดภาวะตัวเหลืองหลังคลอด ทำให้ทราบดีว่า เด็กแรกเกิดตัวเหลือง นั้นอันตรายมากแค่ไหน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้น จึงอยากให้บทความนี้ เป็นข้อมูลให้แก่แม่ท้อง แม่แรกคลอดทุกคนได้อ่านเพื่อทำความรู้จักกับภาวะนี้ และเตรียมรับมือ หากภาวะนี้เกิดขึ้นกับลูกของเราค่ะ
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจได้ที่นี่
โรคในทารกแรกเกิด 10 โรคฮิตลูกมักเป็นในขวบปีแรก
นี่คือพัฒนาการ ความจำ ของลูกทารกตั้งแต่แรกเกิด – 1 ขวบ
10 กิจกรรมเล่นกับลูก เสริมสร้าง พัฒนาการทารกแรกเกิด
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th, pobpad.com, เพจคุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่