AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่ดุลูก ถูกวิธี เห็นผลดีแน่นอน!

แม่ดุลูก

แม่ดุลูก หรือการดุลูก เมื่อลูกทำผิดหรือทำพฤติกรรมไม่น่ารัก เป็นวิธีตอบโต้อัตโนมัติที่พ่อแม่มักทำประจำ แต่รู้หรือไม่ว่าหากเปลี่ยนวิธีตอบโต้จากการ “ดุด่าว่าลูก” เป็น “เสริมกำลังใจ” จะได้ผลดีกว่าเยอะเลย

เพราะลูกๆ นั้น ให้ความสำคัญแก่ความเห็นของพ่อแม่เหนือสิ่งอื่นใดอยู่แล้ว ซึ่งการที่พ่อแม่ชอบลงโทษลูกด้วยวาจา ไม่ว่าจะเป็นการตะคอกใส่ลูก ตะโกนใส่ลูก หรือใช้คำพูดเจ็บๆ มีผลการศึกษาพบว่าการกระทำแบบนี้สามารถส่งผลต่อจิตใจ และความรู้สึกของลูก ถึงขนาดสามารถทำให้ลูกโตขึ้นมีพฤติกรรมชอบโกหก ลักขโมย และทะเลาะวิวาทกับเพื่อนที่โรงเรียน

แม่ดุลูก ถูกวิธี เห็นผลดีแน่นอน

ดอกเตอร์หมิง ที หวัง รองศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยาการศึกษา ของมหาวิทยาลัยพิตต์เบิร์ก สหรัฐอเมริกา ได้เล่าว่าทำการศึกษาประเด็นนี้ในกลุ่มพ่อแม่ครอบครัวชนชั้นกลางในสหรัฐอเมริการาว 976 ครอบครัว ซึ่งพบว่ามีพ่อแม่จำนวนมากที่ใช้วิธีตะโกนดุว่าลูกเสียงดังหรือใช้คำพูดที่ทำร้ายความรู้สึก ซึ่งเด็กที่ถูกลงโทษด้วยวิธีนี้มีสัดส่วนที่จะมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเมื่อโตขึ้นประมาณอายุ 13-14 ปี มากกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ใช้วิธีลงโทษลูกด้วยคำพูด

ดอกเตอร์หมิงย้ำด้วยว่า แม้แต่ครอบครัวที่พ่อแม่ลูกมีความสนิทใกล้ชิดกันมาก การลงโทษแบบนี้ ซึ่งพ่อแม่อาจคิดว่าไม่เป็นไรเพราะลูกย่อมเข้าใจว่าพ่อแม่ดุว่าไปก็ด้วยความรัก ก็สามารถส่งผลเสียต่อเด็ก

สำหรับวิธีที่ดีดอกเตอร์หมิงกล่าวว่า ควรเป็นการพูดคุยกับลูกดีๆ ให้ลูกรู้ถึง ความห่วงใยความวิตกกังวลของพ่อแม่และชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ต่างๆ ที่จะตามมา

ผลเสียของการดุด่า ใช้อำนาจใส่ลูก

1. ก่อให้เกิดความกลัวโดยไม่จำเป็น เด็กทุกคนมีแนวโน้มจะเกรงกลังต่อพ่อแม่อยู่แล้ว การดุด่า และแสดงอำนาจหรือกระทำรุนแรงต่อลูกมากเกินไป จะทำให้ลูกเกิดความกลัวมากๆ และพยายามทำตัวดีๆ เพื่อไม่ให้พ่อแม่โกรธและใช้อำนาจแต่บางคนก็พยายามหลีกหนีหลบไปจากสถานการณ์นั้น กลายเป็นเด็กหนีปัญหา

ซึ่งเด็กที่มีพื้นอารมณ์หวั่นไหวอยู่แล้วจะกลัวมาก กลัวจนลนลาน กลัวจนไม่กล้ามาโรงเรียน กลัวจนต้องโกหก กลัวจนต้องขโมย (เพราะเวลาขอจะโดนดุมาก)

ทั้งนี้เด็กที่โดนผู้ใหญ่ใช้อำนาจบางคนไม่กลัว แต่โกรธและเก็บกดความโกรธความก้าวร้าวไว้ในใจ เอาไปแสดงออกลับหลังผู้ใหญ่ หรือแสดงออกที่อื่น ทำแบบนี้เป็นการสอนให้เด็กหน้าไหว้หลังหลอกเหมือนกัน

2. ลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมการใช้อำนาจ ดุด่าว่ากล่าว เมื่อพ่อแม่แสดงออกอย่างไร ลูกจะเรียนรู้และซึมซับเอาพฤติกรรมนั้นไปใช้เมื่อเขาอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน หรือเหตุการณ์คล้ายๆ กัน ดังนั้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่ ชอบดุด่า ลงไม้ลงมือ ใช้อำนาจแบบไม่มีเหตุผล ก้าวร้าวรุนแรง ก็เท่ากับเป็นการสอนให้ลูกไม่มีเหตุผล ใช้ความรุนแรง ใช้อำนาจบังคับคนอื่นที่อ่อนด้อยกว่าตนเองตามพ่อแม่ได้

อ่านต่อ >> “ผลเสียของการที่แม่ดุลูก และหลักการดุลูกที่ถูกวิธี” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

3. ทำให้ลูกมีพัฒนาการบกพร่อง

พ่อแม่ที่ชอบ ดุลูก หรือใช้อำนาจกับลูกบ่อยๆ จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่มีความผิดปกติในบุคลิกภาพ ดังนี้
• เป็นคนขี้กลัว ขี้วิตกกังวล
• เป็นคนไม่มีเหตุผล ทำอะไรตามอารมณ์
• ก้าวร้าว รุนแรง ตัดสินใจด้วยกำลังมากกว่าความคิด
• สมยอมง่าย ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าเปิดเผย
• ไม่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
• ไม่รู้จักประนีประนอม ไม่ปรับตัวเข้ากับคนอื่น
• ขาดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง

พัฒนาการที่บกพร่องนี้จะกลายเป็นปัญหาในการดำเนินชีวิต การปรับตัวให้เข้ากับสังคม ขาดความสุขในชีวิต และมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้มากกว่าเด็กปกติ

สถานการณ์ใดที่ควร ดุ หรือใช้อำนาจกับลูก

ปัญหาใหญ่จะเกิดเมื่อพ่อแม่มักคิดว่าปัญหาเรื่องเล็กน้อยทุกเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ไปหมด และจะใช้แต่อำนาจจัดการอย่างเดียว แบบนี้จะเป็นปัญหาให้เด็กไม่ยอมรับได้มากๆ เด็กจะไม่ยอมพ่อแม่ พ่อแม่ก็ยิ่งไม่ยอมกับเด็ก ในที่สุดก็โกรธกันไม่พูดกัน หลังจากนั้นเด็กก็จะมีแนวโน้มไม่ฟังผู้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทางออกที่ดีคือควรเลือกใช้อำนาจกับเรื่องที่รุนแรงจริงๆ เท่านั้น เหตุการณ์อื่นๆ ที่ไม่น่ากลัวควรหาวิธีการแบบนั้น ที่ไม่น่ากลัวควรหาวิธีการแก้ไขแบบอื่น เช่น การจูงใจ แนะนำมากกว่าการใช้อำนาจ

ทั้งนี้จิตแพทย์ยังกล่าวอีกว่า การขึ้นเสียง หรือส่งเสียงดังเพื่อดึงความสนใจให้ลูกฟังหรือเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้ผล เพราะการทำเช่นนั้น เป็นเหมือนการปิดประตูการสื่อสาร

โดยนักจิตวิทยาแนะนำว่า เมื่อใดก็ตามที่ลูกเริ่มแผลงฤทธิ์ ทางที่ดีให้คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธี “กระซิบ” เพราะวิธีการสื่อสารแบบนี้ต่างจากที่พวกเขาได้ยินตามปกติ พวกเขาจะหยุดพูดและสนใจฟังคุณ ก็เพราะเด็กๆ อยากรู้มากๆ ว่าคุณพ่อคุณแม่จะพูดอะไร

ทั้งนี้เรื่องการกำหนดกฎเกณฑ์ภายในบ้าน เพื่อสอนให้ลูกได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ รวมไปถึงวินัย และการอยู่ร่วมกันในครอบครัว เป็นการสอนให้ลูกรู้ว่าเมื่อมีกฎเกณฑ์ภายในครอบครัวก็ต้องปฏิบัติตาม  โดยพ่อแม่ควรกำหนดกฎเกณฑ์กติกาภายในบ้าน โดยเริ่มง่ายๆ ได้ดังนี้

อ่านต่อ >> 6 วิธี แม่ดุลูก ให้ได้ผล ลูกเชื่อฟัง 100%” คลิกหน้า 3


ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.thaichildrights.org , www.manager.co.th

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

แม่ดุลูก อย่างไร ให้ได้ผล!

ในการดุ หรือตำหนิลูก ของพ่อแม่นั้น ก็หวังเพื่อให้ลูกได้ รับรู้ และตระหนักในความผิด ความไม่ถูกต้องจากพฤติกรรมของตัวเอง เกิดการเรียนรู้และแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ แต่การตำหนิลูกไม่ถูกวิธี อาจทำให้ลูกสูญเสียความเชื่อมั่น และคุณค่าในตัวเอง เป็นปมขัดแย้งในใจ เกิดพฤติกรรมต่อต้าน สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูกแย่ลงได้

และทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ดุลูกไป เชื่อว่าต้องมีหลายคนที่จะรู้สึกไม่สบายใจ แต่ถึงอย่างไรในการอบรมสั่งสอนเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดีได้นั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องยึดหลักที่ว่า ‘ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด’ เมื่อลูกน้อยเผลอทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นั่นก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องคอยตักเตือนและชี้ทางที่ถูกที่ควรเพื่อให้เขาปรับปรุงตัว 

และเมื่อดุไปแล้ว หากอยากจะปลอบโยนลูก หรือขอโทษที่เสียงดังหรือเผลอกระทำลงไม้ลงมืออะไรไป ก็สามารถทำได้ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับวิธีการดุลูกและการปลอบลูกด้วยนะคะ

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วลองดูวิธีดุลูกอย่างเหมาะสมกันดีกว่าค่ะ ว่าคุณพ่อคุณแม่ควรดุลูก หรือทำอย่างไร เพื่อให้ลูกรับรู้ และเชื่อฟัง ในความผิดของตนเอง

1. อันดับแรกพ่อแม่ต้องปรับใจเป็นกลาง

เพราะเด็กๆ ทุกคน มีโอกาสทำผิดกันได้ทั้งนั้นประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กยังน้อย จะให้เก่ง รู้เรื่องไปหมดคงเป็นไปไม่ได้ตอนเราเป็นเด็กก็ยังเคยทำผิดมาก่อน อย่าเพิ่งอคติตั้งแง่กับลูกตั้งแต่เริ่มต้น

2. รับฟังเหตุผลในมุมมองของลูกจนจบ

อย่าเพิ่งไปมองว่าลูกโกหก หรือแก้ตัวน้ำขุ่นๆการที่เราสอดแทรก เปิดฉากดุว่าทันที และไม่เปิดใจรับฟังลูกจะคิดว่าเราไม่มีเหตุผล และจะไม่อยากอธิบายหรือเล่าให้เราฟังอีกในครั้งหลังๆ ยิ่งทำให้ลูกต่อต้านหนักกว่าเดิมได้

3. ควรดุลูกที่ “การกระทำ” ไม่ใช่ที่ “ตัวลูก”

เช่น ลูกพูดคำหยาบในบ้าน ควรตำหนิว่า “แม่ไม่ชอบที่ลูกพูดคำหยาบแบบนั้น” ไม่ควรตำหนิว่า “ลูกแย่มากที่พูดแบบนั้น” เพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่แสดงออกมาภายนอกเมื่อพ่อแม่ตำหนิที่พฤติกรรมการกระทำของลูก ก็หมายความว่าสิ่งนั้นๆ ที่ลูกทำไป คือสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบ ไม่ยอมรับ ซึ่งไม่ได้แปลว่าพ่อแม่ไม่ยอมรับในตัวตนของลูก และพ่อแม่เองก็ยังรักลูกเหมือนเดิม

แต่การ ดุด่า หรือตำหนิที่ตัวลูกโดยตรง เช่น ลูกแย่มาก ลูกช่างไม่ได้เรื่อง โง่ น่าเกลียด ฯลฯ การกระทำของพ่อแม่แบบนี้ จะทำให้ลูกมองตัวตน (self) ของตัวเองว่าแย่ไปด้วย และนั้นจะไปลดทอนความมีคุณค่าในตัวเองของลูกลง จนสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง

ทางที่ดีคือพ่อแม่ควรตำหนิที่พฤติกรรมหรือการกระทำของลูก อย่างตรงไปตรงมาให้ชัดเจน ว่าสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบคืออะไรนั่นเองนะคะ

4. ไม่ควรดุหรือตำหนิลูกต่อหน้าคนอื่น

เพราะนั้นจะยิ่งทำให้ลูกเสียหน้าขอให้คุณพ่อคุณแม่ถือคติที่ว่า “ชมบนหลังคา ด่าที่ใต้ถุน” กันนะคะ

5. ถามความคิดเห็นของลูก

เมื่อลูกทำผิด อย่ารีบเผลอไปตำหนิ หรือดุด่าว่ากล่าวแบบทันควัน แต่ให้พ่อแม่ใช้วิธีพูดคุยถามว่าถ้าเกิดกระทำผิดซ้ำ จะให้มีวิธีตักเตือนหรือลงโทษอย่างไร ให้ลูกได้คิด ถึงผลเสีย วิธีแก้ และการรับผิดชอบในความผิดนั้นๆ

6. ระวังเรื่องการใช้อารมณ์กับลูก

การตักเตือนลูกต้องทำอย่างเป็นมิตร หนักแน่นไม่จำเป็นต้องเกรี้ยวกราด โมโหใส่ลูกเพราะจะทำให้กระบวนการทั้งหมดไม่ประสบความสำเร็จ

สิ่งสำคัญอีกประการก็คือ การเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ที่พ่อแม่ควรรู้ว่าลูกของเราเป็นเด็กอย่างไร ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุหรือไม่ หรือพื้นฐานเอาแต่ใจตัวเองหรือไม่ ถ้าพ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก การจัดการก็ต้องคำนึงถึงธรรมชาติของเด็กด้วย เป็นเทคนิคของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องรู้ให้เท่าทันและมีไหวพริบให้เท่าทันลูกน้อยด้วย เพราะบางครั้งลูกของเราสองคน ทำผิดเรื่องเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้วิธีการลงโทษแบบเดียวกันแล้วจะได้ผลเหมือนกัน

และที่สำคัญอย่าลืมด้วยว่า การลงโทษทุกครั้ง ลูกจะรับรู้และสัมผัสได้ว่าการลงโทษของพ่อแม่ เป็นการลงโทษด้วยอารมณ์โกรธหรือความรัก เป็นการลงโทษด้วยอารมณ์ชั่ววูบหรือระงับโทสะไม่ได้ เพราะผลภายหลังของการลงโทษลูกจะกลายเป็นภาพฝังใจประทับตรึงใจเขาไปตลอดชีวิต

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย