ลูกพัฒนาการช้า …อาจมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วย เพราะหากพ่อแม่ที่รักลูกดูแลลูกดีเกินไป ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกเป็นอย่างมาก อย่างเช่นพ่อแม่ที่คอยประคบประหงมปกป้องลูกมากเกินไป ไม่ยอมให้ลูกได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ พัฒนาการช้า ในที่นี้ อาจจะไม่ได้หมายถึงการเริ่มเดินหรือพูดช้า แต่จะรวมไปถึงความสามารถในการรับรู้ของประสาททั้ง 5 ของเด็กอีกด้วย การมองเห็น การได้ยิน การรับรส การรับกลิ่น และการรับสัมผัส คือความสามารถในการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของลูกน้อย แสดงถึงการรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมที่มากระทบ และมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับสิ่งรอบตัว ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ และพัฒนาการของลูก หากลูกมีพัฒนาการที่ล่าช้า ก็จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของลูกในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่คุณพ่อ คุณแม่ต้องสังเกต
Must read : พัฒนาการช้า เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องสังเกตลูก
” ลูกพัฒนาการช้า ” เพราะพ่อแม่สำเร็จรูป?
พ่อแม่สำเร็จรูป หรือพ่อแม่ในประเภทรักมากและปกป้องมากเกินไป คือการให้ความรักแก่ลูกมากมาย ทะนุถนอมมากเกินไปปฏิบัติดูแลลูกเหมือนเป็นเด็กเล็กๆทั้งๆที่ลูกก็โตแล้ว พ่อแม่ก็ยังประคบประหงมเหมือนไข่ในหินไม่ยอมให้ห่างสายตา ไม่ยอมให้ทำอะไรเลยเพราะกลัวจะเป็นอันตราย ลูกไม่ต้องคิดหรือตัดสินใจทำอะไรเลย พ่อแม่จะเป็นคนจัดการให้หมด การเลี้ยงดูลูกแบบนี้ ทำให้ทักษะในการช่วยเหลือตัวเองช้า การที่จะพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจในตัวเองมีน้อยมาก เพราะไม่เคยตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองเลย ทำให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนเด็กคือเลี้ยงเท่าไรก็ไม่รู้จักโต
Must read : พ่อแม่รังแกฉัน ตามใจลูกจนลูกกลายเป็นคนใจร้าย
Must read : เลี้ยงลูกแบบโอเว่อร์ ระวังลูกด้อยพัฒนา เสียสุขภาพจิต!
ซึ่งในกรณีนี้ คุณ หมอไปป์_แฮปปี้คิดส์ จากเพจ ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ได้อธิบายยกตัวอย่างพ่อแม่สำเร็จรูป พร้อมให้คำแนะนำไว้ว่า
- เด็กหลายๆคน พูดช้า สาเหตุมาจาก พ่อแม่กระตุ้นการพูดของลูกน้อยเกินไปโดยไม่ตั้งใจ คือการเลี้ยงดูแบบสำเร็จรูป ตามความเคยชิน รู้ใจลูกมากเกินไป เช่น เมื่อลูกบอกความต้องการอะไรบางอย่าง แทนที่จะให้ลูกพูด กลายเป็นลูกอาจจะชี้ หรือส่งเสียงไม่เป็นภาษาออกมาให้พ่อแม่รู้ ซึ่งด้วยความเคยชินพ่อแม่ก็จะทราบว่าลูกต้องการอะไรและทำให้ตามความต้องการของลูกทันที นั้นทำให้สมองของเด็กไม่ทันได้ผ่านกระบวนการคิด นึกคำ และเปล่งเสียง ทำให้กลายเป็นเด็กพูดช้า
สิ่งที่ควรทำคือ คุณพ่อคุณแม่ลองแกล้งไม่รู้บ้าง ชะลอให้เด็กลองพยายามพูดดูก่อน ถ้าลูกยังเรียกชื่อสิ่งนั้นไม่ถูก เราก็เอาวัตถุนั้นมาใกล้ๆ ปาก แล้วพูดชื่อสิ่งนั้นคำโตๆ เพื่อเด็กจะได้ดูวิธีการพูด ห่อลิ้นหรือขยับริมฝีปาก แล้วให้เด็กลองพูดตาม ชมหรือปรบมือเมื่อลูกพูดตามได้
- สำหรับเด็กที่ยังเดินไม่ได้ก็เป็นเพราะพ่อแม่เตรียมความพร้อม โดยมีพี่เลี้ยง 2 คนผลัดกันอุ้ม จนแทบไม่ได้เดิน กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเคลื่อนไหว และการทรงตัวจะพัฒนาได้อย่างไร
- เมื่อเด็กโตขึ้นมาหน่อย พ่อแม่สำเร็จรูปมักเตรียมความพร้อมเรื่องกิจวัตรส่วนตัวให้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เช่นเตรียมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ประจำวันวางไว้ที่เตียง รอแค่ลูกหยิบมาใส่ เตรียมอุปกรณ์การเรียน จัดตารางเรียนให้ ลูกแค่หยิบกระเป๋าขึ้นรถ เตรียมอาหารพร้อมรับประทานไว้ที่โต๊ะ ลูกแค่มานั่งและตักอาหารเข้าปาก สิ่งเหล่านี้จะมีผลทำให้ลูกขาดกระบวนการคิด การวางแผน อาจกลายเป็นคนที่ขาดความกระตือรือร้น ขาดระเบียบวินัย กลายเป็นเด็กพัฒนาการช้า
Must read : ภัยจากทีวี อย่าปล่อยให้ลูกน้อยเป็นเด็กสมาธิสั้น และออทิสติก
- หรือเด็กที่อยู่ในวัยเรียนบางคน เขียนหนังสือช้าทั้งที่ตั้งใจเมื่อถามเรื่องการเลี้ยงดูที่บ้าน พ่อแม่ยังป้อนข้าว ติดกระดุมเสื้อ ผูกเชือกรองเท้าให้ลูก ให้เล่นแต่ tablet ทำให้ขาดการกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก การประสานงานระหว่างตากับมือ จึงทำให้เขียนหนังสือช้า
สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามดึงจุดเด่นของเด็กออกมา และช่วยเหลือพัฒนาจุดด้อยของเด็กให้ดีขึ้น ไม่ควรช่วยเหลือหรือยัดเยียดในสิ่งที่เด็กไม่ต้องการหรือไม่ชอบ พ่อแม่ควรช่วยลูกให้ถูกวิธีไม่ใช่บงการ เด็กควรจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจ ไม่ใช่เรียนรู้ตามความต้องการของผู้เลี้ยงดู
อ่านต่อ >> “สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเพื่อส่งเสริมพัฒนาการลูก” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
√ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเพื่อพัฒนาการของลูก
- ตระหนักว่าลูกโตขึ้นทุกวัน
- ส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัยของลูก
- ตระหนักว่า ช่วยเหลือลูกมากเกินไป ทำให้ลูกขาดกระบวนการทางความคิด
- ทำอะไรให้ลูกทุกอย่าง ทำให้ลูกขาดความกระตือรือร้น ขาดระเบียบวินัย
- รู้ใจลูกทุกอย่าง อาจทำให้ลูกขาดการวางแผน
- พยายามดึงจุดเด่นของเด็กออกมา
- ช่วยเหลือพัฒนาจุดด้อยของเด็กให้ดีขึ้น ไม่ควรช่วยเหลือหรือยัดเยียดในสิ่งที่เด็กไม่ต้องการหรือไม่ชอบ
- พ่อแม่ควรช่วยลูกให้ถูกวิธีไม่ใช่บงการ
- เด็กควรจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจ ไม่ใช่เรียนรู้ตามความต้องการของผู้เลี้ยงดู
- เด็กควรต้องช่วยเหลือตัวเองในเรื่องเล็กๆน้อยๆเช่น การกลัดกระดุมเอง ผูกเชือกรองเท้าเอง
หากพ่อแม่เลี้ยงแบบสำเร็จรูป แบบช่วยเหลือลูกมากเกินไปเลี้ยงตามความเคยชิน เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น จนลืมว่าลูกโตไปถึงไหนแล้ว จะมีผลต่อพัฒนาการของลูกในรอบด้าน คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจพัฒนาการของลูกแต่และช่วงวัย ส่งเสริมให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการและวุฒิภาวะที่สมวัย
♥ การเลี้ยงลูกที่มีพัฒนาการช้า
1.ควรมีการกระตุ้นพัฒนาการลูกในทุกๆ ด้านที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านการเคลื่อนไหว การใช้มือหยิบจับ การใช้ภาษา และการช่วยเหลือตนเอง รวมถึงการกระตุ้นปลายประสาทสัมผัสในการรับรู้ทั้ง 5
2.การฝึกเลียนแบบสิ่งแวดล้อมที่บ้าน แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาสอนเป็นทักษะต่างๆ ที่ให้ลูกเรียนรู้ เพื่อให้พ่อแม่ และตัวลูกเองนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
3.พยายามให้ลูกช่วยตัวเองให้มากที่สุด โดยในระยะแรกควรมีการช่วยเหลือก่อน ต่อไปควรเปิดโอกาสให้ลูกทำด้วยตนเอง เช่น ในเด็กเล็กควรจับเด็กให้อยู่ในท่าทางต่างๆ เปลี่ยนกันไปไม่ให้อยู่ในท่าเดียวซ้ำๆ
4.ควรมีการทำพฤติกรรมตัวอย่าง เพื่อให้ลูกเลียนแบบ และทำซ้ำๆ กันหลายๆ ครั้ง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้
5.ให้ความสำคัญกับการฝึกลูก ควรคิดเสมอว่า การสอนหรือการกระตุ้นพัฒนาการ สามารถทำได้โดยไม่เลือกเวลา หรือสถานที่
6.ให้แรงเสริม ให้กำลังใจ และคำชมเชย ทั้งคำพูดและการกระทำ เมื่อลูกสามารถทำพฤติกรรมที่สอน หรือฝึกหัดได้ เช่น การพูดชม หรือท่าทีพอใจ กอดลูก
7.การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมทั่วไปในบ้าน เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อการกระตุ้นประสาทสัมผัส เช่น การติดภาพสีสดใส การให้ลูกมีโอกาสเล่นของเล่นที่เหมาะสมตามวัย
การสังเกตพัฒนาการการรับรู้ของลูกเป็นเรื่องสำคัญของพ่อแม่ ถ้าพบว่าลูกมีพัฒนาการช้า ควรรีบปรึกษากุมารแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ลูกน้อยจะได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเด็กปกติ
ความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการของพ่อแม่มีผลต่อพัฒนาการของลูก พ่อแม่ที่มีความรู้ในเรื่องพัฒนาการ รู้ว่าลูกวัยใดมีขั้นตอนการเติบโตทางพัฒนาการอย่างไร รู้จักวิธีกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการของลูกก็จะได้เปรียบอย่างยิ่ง เพราะจะสามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการก้าวหน้า และแก้ไขพัฒนาการด้านที่อ่อนด้อยของลูกให้ดีขึ้นได้ อย่างเช่น คุณแม่รู้ว่าการพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ จะทำให้ลูกมีทักษะทางภาษา ก็จะพยายามพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ แม้ว่าลูกยังเล็กแบเบาะอยู่ก็ตาม หรือถ้าเห็นลูกยังไม่ยอมคลานสักที ก็พยายามช่วยลูกด้วยการเอาของเล่นมาล่อ ให้ลูกพยายามเคลื่อนไหวไขว่คว้า ให้เวลาเล่นกับลูกมากขึ้น
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- “โรคไม่รู้จักลำบาก” โรคใหม่ของเด็กไทยในยุคปัจจุบัน
- เลี้ยงลูกไม่ให้สบายเกินไป ป้องกันโรค “ไม่รู้จักลำบาก”
- อย่าเลี้ยงลูกเพื่อทำตามความฝันของพ่อแม่
- 10 เคส เลี้ยงลูกดี แต่กลับทำให้เป็นเด็กมีปัญหา
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : #หมอไปป์_แฮปปี้คิดส์ จากเพจ ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย
http://www.raisingarizonakids.com/2009/02/parenting-on-overdrive/