AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกหวงของ สอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน ด้วยวินัยเชิงบวก

ลูกหวงของ สอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน ด้วยวินัยเชิงบวก

คุณพ่อคุณแม่กำลังประสบปัญหา ลูกหวงของ อยู่ใช่ไหมคะ! แล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยพูดประโยคเหล่านี้อยู่บ่อยครั้งในยามที่ต้องการให้ลูกรู้จักแบ่งปันของเล่นหรือของกินให้กับเพื่อน ๆ บ้างหรือไม่?

“แบ่งเพื่อนเล่นบ้างสิลูก”

“หยิบให้พี่เขาชิ้นหนึ่ง”

“ไม่หวงของนะลูก  แบ่งให้เพื่อนเล่นบ้างเดี๋ยวนี้”

“ไม่แบ่งงั้นไม่ต้องเล่น เก็บของเล่นเลยแล้วกัน” 

 

เด็กกับของเล่น

แน่นอนว่า “การเล่นมีความสำคัญต่อเด็กอย่างมาก  เพราะนอกจากจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ การเรียนรู้ และทักษะความสามารถในทุกด้านแล้ว ยังนำมาซึ่งความสุข ความสนุกสนาน ความผ่อนคลาย  และความผูกพันอีกด้วย แต่หลายครั้ง “การเล่น” ก็นำมาซึ่งความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้ง การถูกต่อว่า  และอาจลงเอยด้วยความไม่เข้าใจ น้ำตา และความเสียใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่ดูจะหลีกเลี่ยงเสียไม่ได้ นั่นก็คือ ปัญหาการ ลูกหวงของ นั่นเอง 

ที่จริงแล้ว ลูกชอบแบ่งปันนะ

อันที่จริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะ ว่าเด็ก ๆ นั้นชอบแบ่งปันมากกว่าหวงของ และลูกของเราก็แบ่งของเป็นเหมือนกัน ลองสังเกตดูได้ว่าลูกน้อยชอบมากที่จะส่งของให้เราถือ บางทีนั่งอยู่เฉยๆ ก็ชอบแบ่งของเล่นมาให้เราโดยที่เราไม่ต้องบอก นั่นก็เป็นเพราะว่าเวลาที่เด็กอารมณ์ดี เขาจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในสังคมและรู้สึกปลอดภัย เด็ก ๆ ก็จะมีความรู้สึกอยากให้ผู้อื่น และแบ่งของได้ง่ายขึ้นนั่นเอง แต่เมื่อไรที่เขารู้สึกกลัว รู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยขึ้นมา เมื่อนั้นการแบ่งของก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ และยากลำบากมากสำหรับเด็ก ๆ ขึ้นมาทันที  

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกลัวว่าให้ไปแล้วจะไม่ได้คืน หรือความกลัวว่าให้ไปแล้วจะหมดแล้วอดกิน 

 

ยิ่งขู่ บังคับให้แบ่ง ลูกยิ่งหวงของ

และยิ่งถ้าเราไปบอก สั่ง หรือขู่บังคับให้ลูกแบ่งของตอนที่เขารู้สึกกลัวด้วยแล้ว ก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมลูกถึงยิ่งหวง ยิ่งไม่อยากแบ่ง และรู้สึกไม่ดีกับการแบ่งของ ดังนั้นหัวใจหลักของการแก้ปัญหา ลูกหวงของ และการสอนให้ลูกรู้จักแบ่งของก็คือ การช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และมั่นใจได้ว่า ถึงแม้ว่าเขาจะแบ่งของไป เขาก็จะยังได้สิ่งที่เขาต้องการอยู่ ซึ่งเทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกที่นำมาแนะนำคือ การให้ทางเลือก และให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเอง

ยิ่งขู่ ยิ่งบังคับ ลูกยิ่งหวงของ

 

อ่านเพิ่ม >> How to สอนลูกให้มีระเบียบวินัย ต้องไม่ตี ไม่ขู่ ไม่เกิดผลเสียในระยะยาว

 

เคล็ดลับอยู่ตรงที่ว่า ทางเลือกที่ให้ต้องเป็นทางเลือกที่ไปถึงเป้าหมาย และเมื่อลูกเลือกแล้วเรายอมรับได้ เช่น แทนการบอกให้ลูกแบ่ง ลองถามลูกว่า 

“หนูจะแบ่งของเล่นรถสีแดงหรือรถสีน้ำเงินให้เพื่อน” 

“หนูจะให้เพื่อนเล่น 5 นาที หรือ  10 นาที แล้วเอาคืนหนู” 

“หนูจะแบ่งให้พี่ 4 หรือ 5 ชิ้น” 

 

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าลูกเลือกทางไหน สีแดงหรือสีน้ำเงิน, 5 หรือ 10 นาที, 4 หรือ 5 ชิ้น หากเรายอมรับได้ เราก็จะสอนลูกให้ไปถึงเป้าหมาย นั่นก็คือ “ลูกได้แบ่งปัน” และที่สำคัญคือ เมื่อลูกได้แบ่งปันแล้ว การชม การแสดงความภูมิใจและชื่นใจในตัวลูกที่แบ่งปันได้ ก็เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ลูกมีแรงที่อยากจะแบ่งอีก 

สอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน

 

การให้ทางเลือกและให้ลูกเป็นคนตัดสินใจที่จะทำให้ไร้ผล คือ การให้ทางเลือกที่ไปไม่ถึงเป้าหมาย เช่น 

“จะแบ่งหรือไม่แบ่ง” 

“จะแบ่งหรือกลับบ้าน” 

“จะแบ่งหรือจะกินคนเดียว” 

 

การสอนที่ไม่บรรลุเป้าหมาย

หากลูกเลือกที่จะไม่แบ่ง เลือกกลับบ้าน หรือเลือกกินคนเดียว การสอนของเราก็จะไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะเขาจะไม่ได้แบ่งปันให้ใคร และทางเลือกนั้นก็เป็นทางเลือกที่เรายอมรับไม่ได้ ก็จะทำให้การสอนของเราไม่สำเร็จเช่นกัน เช่น “หนูจะให้เพื่อนเล่น 5 นาที หรือ 10 นาที แล้วเอาคืนหนู” แต่พอลูกเลือก 10 นาที แล้วพ่อแม่ยอมรับไม่ได้ บอกว่าเอาแค่ 5 นาทีพอ เป็นต้น 

หลักการให้ทางเลือกและให้ลูกตัดสินใจ นอกจากจะเป็นการให้ข้อมูลทีทำให้ลูกมั่นใจได้ว่าเขาจะได้ของคืน ยังทำให้ลูกรู้สึกมั่นคงปลอดภัยด้วย เพราะเขาได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง และเมื่อลูกมีโอกาสได้ลิ้มรสความรู้สึกดี ๆ ที่ได้รับจากการแบ่งปันด้วยแล้ว ความรู้สึกอยากแบ่งปันก็ไม่ใช่เรื่องยากลำบากอีกต่อไป 

 

ลูกหวงของ เป็นเรื่องธรรมชาติ

เด็กกับการหวงของเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะของของใคร ใครก็ห่วง ซึ่งการจะทำให้ลูกก้าวผ่านความกลัวจนกลายเป็นเด็กที่รู้จักแบ่งปันนั้นไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องของเราที่จะต้องสอนและฝึกฝนลูกด้วยความเข้าใจจึงจะสำเร็จตามเป้าหมาย…หรือไม่จริง 

 

ขอบคุณบทความจากนิตยสาร Amarin Baby & Kids
โดย ผศ. ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

ทำความสะอาดของเล่น ลูกน้อยปลอดภัยจากเชื้อโรค

ทำไมพ่อแม่ต้อง เล่นสนุกกับลูก ?