เพราะ ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน แล้วคุณพ่อคุณแม่จะ เลี้ยงลูกอย่างไรให้น่ารักสำหรับทุกคน … แม้คุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกเสมอว่า “ลูกของฉันทำอะไรก็น่ารักน่าเอ็นดู” แต่จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า เมื่อเขาได้ไปอยู่สังคมนอกบ้าน คนอื่นจะยังมองว่าเขาน่ารักเหมือนอย่างที่คุณพ่อคุณแม่มอง!!
แม้ลูกของคุณจะเป็นเด็กเก่ง แต่หากไม่เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง คนที่เดือดร้อนและทุกข์ใจกับการใช้ชีวิต ก็คงหนีไม่พ้นลูกของเราเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนฝึกพัฒนาทักษะความสามารถอื่น ๆ ไปพร้อมกับทักษะด้านสังคมที่ดีให้กับลูกด้วย …ดังเช่นที่อาจารย์พรรณระพี สุทธิวรรณ ประธานสาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงความสำคัญของพัฒนาการทางสังคมว่า
“เด็กที่มีพัฒนาการทางสังคมดี เขาจะมีพฤติกรรม มีบุคลิกภาพ มีความเข้าใจ และสามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่อบุคคลอื่น และสิ่งรอบตัว ในสังคมอย่างเหมาะสม เขาจึงจะสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข”
ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน !!
แล้วคุณพ่อคุณแม่จะ เลี้ยงลูกอย่างไรให้น่ารักสำหรับทุกคน
ซึ่งจากที่คุณหมอกล่าวมา คุณพ่อคุณแม่อาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่า แล้วเราจะสอนลูกแต่ละวัยให้มีพัฒนาการอย่างเหมาะสมได้อย่างไร อาจารย์พรรณระพี มีคำตอบให้แล้วค่ะ
วัยทารก : สร้างสายใยผูกพันและมั่นคง
ความผูกพัน เป็นพัฒนาการทางสังคมขั้นพื้นฐาน ที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่เกิด ระหว่างเด็กกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กที่ได้รับการดูแลอย่างดีในช่วงวัยนี้ เมื่อหิวก็ได้กิน เมื่อหนาว ร้อน หรือไม่สบายตัว ก็มีผู้ดูแลเอาใจใส่เด็กก็จะเกิดความผูกพันกับผู้เลี้ยง รู้สึกไว้วางใจ เนื่องจากรู้ว่าเมื่อร้องขอ ก็จะได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม ทำให้เด็กมีความมั่นคงทางอารมณ์ พร้อมก้าวสู่วัยเตาะแตะอย่างมั่นใจ
อ่านต่อ >> “วิธีการสอนลูกแต่ละวัยให้มีพัฒนาการอย่างเหมาะสมเข้าสังคมได้” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วัยเตาะแตะ : เสริมความมั่นใจให้เพิ่มพูน
ลูกน้อยวัย 1-3 ขวบ ที่มีความผูกพันและความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยมาตั้งแต่ช่วงขวบปีแรก เมื่อถึงวัยนี้ลูกจะพัฒนาไปสู่ขั้นที่อยากทำอะไรได้ด้วยตัวเอง เช่น กินข้าวเอง อาบน้ำเอง ใส่เสื้อผ้าเอง ฯลฯ หากคุณพ่อคุณแม่สนับสนุนให้เขาได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง จะยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เขามีความกล้ามากขึ้น แต่ในทำนองกลับกัน หากคุณพ่อคุณแม่ยังคงทำให้เขาทุกอย่างไม่ปล่อยให้เด็กทำอะไรเองเขาอาจกลายเป็นเด็กขี้กลัว ไม่กล้าไปเล่นกับเพื่อน ทำให้เสียโอกาสในการสร้างประสบการณ์ชีวิต ที่จะเสริมสร้างให้เขามีพัฒนาการและทักษะด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
วัยอนุบาล : เติมความกล้าในชั้นเรียน
ลูกวัยซนอายุ 3-6 ขวบ เป็นวัยที่เริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาล คนในครอบครัวยังคงมีความสำคัญอยู่มาก แต่คนนอกครอบครัวจะเริ่มมีบทบาทกับเขามากขึ้น โดยเฉพาะคุณครู เด็กวัยนี้จะรักและต้องการเป็นที่ยอมรับของคุณครูหากเด็กได้รับการเปิดโอกาสให้ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ และได้รับคำชมจากคุณครู เด็กจะเกิดความกล้าแสดงออก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เขากล้าเรียนรู้ กล้าซักถามมากยิ่งขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม หากเขาถูกคุณครูบ่น ต่อว่า ตำหนิ หรือถูกเพื่อนแกล้ง ไม่เล่นด้วย เด็กก็จะเกิดทัศนคติไม่ดีกับโรงเรียน จากลูกวัยซนแสนร่าเริง ก็อาจกลายเป็นเด็กเก็บตัวเมื่ออยู่ที่โรงเรียนได้
วัยประถม : จุดประกายทักษะสุดพิเศษ
เด็กโตวัยประถมหรือช่วงอายุ 6-12 ปี เริ่มต้องการที่ยืนในสังคมและต้องการเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน เขาต้องการได้รับคำชมและความภาคภูมิใจตัวเองในด้านใดด้านหนึ่ง อาจเป็นเรื่องเรียน ศิลปะ กีฬา ดนตรี หรือทักษะด้านอื่น ๆซึ่งทางโรงเรียน คุณครู และคุณพ่อคุณแม่ ต้องพยายามช่วยกันค้นหาความถนัดของเขาเพื่อให้เด็กมีจุดยืนสำหรับตนเองเกิดความภาคภูมิใจรู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพียงเท่านี้ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นในการเข้าสังคม รู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ มีคุณค่า และลดปัญหาเรื่องเพื่อนไม่ยอมรับได้
อ่านต่อ >> “3 ข้อพ่อแม่ติวเข้ม! ฝึกให้ลูกน่ารักสำหรับทุกคน” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
3 คอร์สติวเข้มต้องฝึกเพื่อให้ลูกน่ารักสำหรับทุกคน
แม้คุณพ่อคุณแม่จะเสริมสร้างพัฒนาการ ให้เขามีความมั่นใจพร้อมมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมแล้ว แต่อาจารย์พรรณระพีย้ำว่ายังไม่พอ ลูกน้อยยังต้องได้รับการติวเข้มฝึกทักษะสังคมจากพ่อแม่อีก 3 คอร์ส เพื่อให้สังคมเกิดทัศนคติที่ดีกับลูกน้อยด้วยเช่นกัน
คอร์ส 1พึ่งตัวเองได้ ไม่เป็นภาระใคร:การฝึกให้เขารู้จักช่วยเหลือตัวเองได้ ตัดสินใจด้วยตัวเองได้ และยอมรับผลจากการตัดสินใจของตัวเอง จะทำให้ลูกน้อยสามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องรบกวนใคร ไม่เป็นภาระให้ผู้อื่นเกิดความลำบากใจ และยอมรับการตัดสินใจทั้งของตนเองและผู้อื่นได้ดีเมื่อโตขึ้น
คอร์ส 2 มีน้ำใจให้ผู้อื่น: เด็กที่มีน้ำใจกับเพื่อน มักจะได้รับการยอมรับ ในทางตรงข้าม หากสอนให้ลูกเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ต้องแย่งชิงสิ่งต่าง ๆ จากคนอื่นเพื่อให้ตัวเองได้ดีกว่า จะทำให้ลูกไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูงได้
คอร์ส 3 เคารพกติกาและมารยาทในสังคม:กฎกติกาหรือจิตสาธารณะในชีวิตประจำวัน จะทำให้ลูกน้อยเป็นเด็กมีวินัย ส่วนมารยาททางสังคม ความอ่อนน้อมถ่อมตน จะช่วยสร้างเสน่ห์ให้ลูกเป็นที่รักของคนรอบข้าง ทั้งหมดนี้คุณพ่อคุณแม่จะแค่พูดสอนด้วยปากไม่ได้ แต่ควรปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง จะช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้ได้ดีที่สุดนะคะ
สุดท้ายนี้อาจารย์พรรณระพีฝากเน้นย้ำมาว่า การรับฟังลูกให้มากเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการรับฟังจะทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ความคิดของลูก และจะได้ให้ความช่วยเหลือหรือส่งเสริมทักษะของเขาได้ตรงจุด “ขอให้พ่อแม่ลดการพูดลงบ้าง และฟังเขาให้มากขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่เด็กมีเรื่องเข้ามาพูดหรือเขารวบรวมความกล้าเข้ามาสารภาพผิด ขอให้คุณพ่อคุณแม่นิ่งให้มาก ๆ แล้วฟังเขาจนจบ อย่าเพิ่งขัด หรือดุทันที เพราะถ้าดุ เขาจะไม่กล้าเข้ามาคุยกับเราอีกเลย ซึ่งจะทำให้ช่องหว่างระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกห่างกันมากขึ้น กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะสังคมและทักษะอื่น ๆ ของเขาอีกด้วยค่ะ”
อ่านต่อบทความอื่น่าสนใจ คลิก!
- เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี อารมณ์ดี และมีความสุข เพียง 4 ข้อ
- เทคนิคเลี้ยงลูกให้น่ารักและเป็นที่รักของผู้อื่น
- เลี้ยงลูกอารมณ์ดี มีความสุข ไม่ก้าวร้าว
บทความโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ ประธานสาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับเดือนมีนาคม 2560