เลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่น อย่างไร ให้พึ่งพาตัวเองได้ มีวินัย ไม่งอแง - amarinbabyandkids
เลี้ยงลูกสไตล์ญี่ปุ่น

เลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่น อย่างไร? ให้พึ่งพาตัวเองได้ มีวินัย ไม่งอแง

event
เลี้ยงลูกสไตล์ญี่ปุ่น
เลี้ยงลูกสไตล์ญี่ปุ่น

สารคดี Japan’s independent kids จาก SBS VICELAND

โดยคลิปวีดีโอนี้เป็นสารคดีเรื่อง “เด็กพึ่งตัวเองของญี่ปุ่น (Japan’s independent kids)” ในช่วงรายการเดอะฟีด (The Feed) ซึ่งเผยแพร่ผ่านทาง youtube ด้วย โดยเนื้อหาเป็นคลิปวิดีโอความยาว 8.21 นาที กล่าวถึงสังคมญี่ปุ่นที่ พ่อแม่ผู้ปกครองมีธรรมเนียมปฏิบัติให้ลูกช่วยเหลือพึ่งพาตัวเอง และเดินทางไปโรงเรียนเองตั้งแต่ยังเล็ก

ในสารคดีดังกล่าวได้ยกตัวอย่าง ชีวิตประจำวันของสามพ่อแม่ลูกแห่งครอบครัวอันโด ที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกสาววัย 7 ขวบเดินทางไปโรงเรียนเองทุกเช้าเป็นระยะทางไกลทั้งเดินด้วยเท้า และขึ้นรถไฟต่อเนื่องหลายสายกว่าจะถึงจุดหมาย

♥ บทความแนะนำน่าอ่าน : ข้อคิดจากการ “เดินไปโรงเรียน” ของเด็กญี่ปุ่น

เลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่น

“เธออาบน้ำ แปรงฟัน สระผมด้วยตัวเอง … ฉันคิดว่าก็นอกจากการดูแลบ้านแล้ว เธอก็ดูแลตัวเองได้เกือบหมด” ซาโตโกะ อันโด คุณแม่วัย 39 ปีบอก “เนื่องจากโรงเรียนของเธออยู่ไกล ทำให้เธอต้องเดินทางไปเรียนด้วยรถไฟ ซึ่งเธอเดินทางไปเอง”

“หนูเดินไปสถานีรถไฟเอง ก่อนขึ้นรถไฟสายยามาโนเตะไปที่ชินจูกุ จากชินจูกุก็เปลี่ยนไปรถไฟสายชูโอ เพื่อไปปลายทางที่โคคุบันจิ” ดญ.โนเอะ อันโด สาธยายวิธีการเดินทางไปเรียนของเธอให้ฟังอย่างละเอียด

ขณะที่คุณแม่ยืนยันว่าลูกสาวต้องเดินทางไปโรงเรียนด้วยตัวคนเดียวโดยไม่มีพ่อแม่ ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะทำให้เธอต้องเรียนรู้ในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเกิดหลงทางหรือขึ้นรถไฟผิดขบวนก็ต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ไม่อย่างนั้นก็จะกลับบ้านไม่ได้

ด้านสื่อออสเตรเลียระบุว่า ครอบครัวอันโดไม่ได้เป็นครอบครัวญี่ปุ่นครอบครัวเดียวที่ปล่อยให้เด็กๆ เดินทางไปและกลับโรงเรียนเป็นระยะทางไกลๆ เอง แต่ครอบครัวชาวญี่ปุ่นมีการปลูกฝังเด็กให้พึ่งพาตัวเองตั้งแต่ยังอายุน้อยมากๆ เช่นนี้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งวัฒนธรรมเช่นนี้แตกต่างจากครอบครัวชาวออสเตรเลียอย่างชัดเจน แม้ว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมกับเด็กในชุมชนจะน้อยมากเหมือนสังคมญี่ปุ่นก็ตาม แต่พ่อแม่ชาวออสเตรเลียก็ยังไม่วางใจให้ลูกเดินทางไปโรงเรียนเองจนกระทั่งขึ้นชั้นมัธยมปลาย แม้ตัวเด็กเองจะมีความประสงค์ก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สังคมญี่ปุ่นออกแบบให้วิถีชีวิตประชาชนเป็นเช่นนี้เพื่อที่ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและระบบการทำงานในบริษัท หรือในองค์กรเพื่อสนองตอบต่อการเลี้ยงดูเด็กและเยาวชน

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

การเลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่น

จากคลิปสารคดี Japan’s independent kids จึงเกิดคำถามที่น่าสนใจที่ว่า? คนญี่ปุ่นเขาเลี้ยงลูกอย่างไร จึงทำให้เด็กๆ รู้จักการรับผิดชอบตัวเองได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ แล้วทำไมพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นถึงเชื่อใจเด็กๆ และยอมปล่อยให้ลูกน้อยเผชิญการเดินทางคนเดียวได้อย่างมั่นใจ

ซึ่งพฤติกรรมการช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่ยังเด็ก และการปล่อยให้ลูกเดินทางขึ้นรถไฟไปโรงเรียนเองทุกวัน อาจเป็นเรื่องที่น่าแปลกและน่าตกใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่หลายประเทศ แต่สำหรับที่ญี่ปุ่นนั้น เราจะพบเห็นเด็กน้อยที่เดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวได้จนชินตา

ซึ่งถ้าไม่นับเรื่องความปลอดภัยของบ้านเมืองที่ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ที่ญี่ปุ่นนั้นสามารถตัดความกังวลใจเรื่องการปล่อยให้เด็กๆ ได้เดินไปไหนมาไหนได้ตามลำพังแล้ว ในเรื่องการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ชาวญี่ปุ่น และการได้รับการอบรมสั่งสอนในโรงเรียนนั้นถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการบ่มเพาะวินัยในตัวเองให้กับเด็กญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

โดย ดเวย์น ดิกซ์สัน นักมนุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ได้ศึกษาถึงเหตุผลที่ว่าทำไมเด็กญี่ปุ่นถึงสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ตั้งแต่ยังเล็กซึ่งแตกต่างจากเด็กๆ ชาวตะวันตกไว้ว่า

 

1. ยอมปล่อยให้เด็กมีอิสรภาพและให้ลองรับผิดชอบตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก

เช่น เด็กญี่ปุ่นส่วนมากเมื่ออายุได้ตั้งแต่ 2 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ชาวญี่ปุ่นก็ลองปล่อยให้ลูกน้อยได้ช่วยเหลือตัวเองเท่าที่ลูกจะทำได้ แต่ก็มีการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ให้ลองใส่เสื้อผ้า ตักข้าวกินเอง และให้ลองแปรงฟันด้วยตัวเอง และเมื่อลูกๆ ทำได้ก็จะพูดชมเชย เช่น “โอ้โห ลูกทำเองคนเดียวเลยเหรอ เก่งมาก” แต่ก็มีสิ่งที่ควรระวังก็คือ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกๆ ทำอะไรเกินความสามารถที่ร่างกายของพวกเขายังไม่สามารถทำได้และต้องไม่กดดันลูกน้อยเกินไป

 

2. โรงเรียนในญี่ปุ่นสอนให้เด็กๆ รู้จักรับผิดชอบแบบส่วนรวม โดยการให้ลงมือทำ

เช่น แทนที่จะให้เด็กๆ วางถาดอาหารกลางวันเมื่อกินเสร็จ โรงเรียนที่ญี่ปุ่นกลับให้เด็กๆ ล้างถาดอาหารของตัวเองให้เรียบร้อย หรือเมื่อถึงเวลาเล่นของเล่นเสร็จก็ต้องเก็บให้เข้าที่เดิม ฯลฯ ซึ่งผลลัพธ์ของการให้เด็กๆ รู้จักรับผิดชอบของส่วนรวมตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยนี้ ก็มีผลอย่างมากต่อการสร้างนิสัยรักระเบียบและเกรงอกเกรงใจผู้อื่นเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากสังคมญี่ปุ่นที่ไม่ว่าจะเป็นการต่อคิวอะไร คนญี่ปุ่นก็ยืนต่อแถวกันเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ หรือการไม่ทิ้งขยะเรี่ยราดรายทางตามท้องถนนของคนญี่ปุ่น เป็นต้น

 

3. การเลี้ยงลูกที่ใกล้ชิดแต่ไม่ตามใจ

การเลี้ยงลูกแบบนี้ทำให้เด็กๆ มีการกำกับควบคุมตัวเอง ที่เร็วกว่าเด็กชาวตะวันตกที่ถูกเลี้ยงดูมาในลักษณะให้กล้าแสดงออกและกล้าบอกความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งทำให้เด็กชาวตะวันตกนั้นมีการรับรู้ตัวเอง เร็วกว่าเด็กชาวญี่ปุ่น และการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันทั้ง 2 แบบนี้เอง ทำให้เด็กญี่ปุ่นส่วนมากเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีระเบียบวินัยและมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเพราะไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ในขณะที่เด็กๆ ในประเทศฝั่งตะวันตกจะเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิดและกล้าแสดงออก

ทั้งจะเห็นได้ว่าการฝึกให้เด็กมีความเป็นอิสระ และมั่นใจนี้  พ่อแม่ไม่เพียงแต่ไว้วางใจในตัวเด็กอย่างเต็มที่เท่านั้น แต่พวกเขายังมั่นใจในชุมชนทั้งหมดอีกด้วย “มีเด็กจำนวนมากที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้อาศัยอยู่ทั่วโลก” ดเวย์น ดิกซ์สัน กล่าวสรุป และยังบอกอีกว่าแต่สิ่งที่ชาวตะวันตกรู้สึกประทับใจในญี่ปุ่นนั้น คือความรู้สึกของความไว้วางใจและความร่วมมือที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่จำเป็นต้องพูดหรือร้องขอใดๆ เลย นั้นคือสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นมีซึ่งไม่เหมือนประเทศฝั่งตะวันตก

อย่างไรก็ตาม หากจะพูดถึงการเลี้ยงเด็ก ก็คงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ว่าวิธีเลี้ยงแบบใดดีกว่ากัน แต่การได้เรียนรู้ถึงวิธีการสอนและวิธีการเลี้ยงดูเด็กในหลายๆ วิธี ของคนต่างสังคมและต่างวัฒนธรรม ก็น่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ชาวไทยหลายๆ คนได้ลองนำไปเปรียบเทียบถึงข้อดีและข้อเสียของการสอนลูกๆ ได้ แบบไหนน่าเอาอย่างและน่าจะนำมาปรับใช้กับเด็กๆ ในบ้านได้

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.citylab.com , www.winnews.tv , www.jokergameth.com

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up