AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

6 เทคนิคแก้ไข “หัวนมบอด”

6 เทคนิคแก้ไข “หัวนมบอด”

หัวนมบอด …อีกหนึ่งปัญหาหนักอกหนักใจของผู้หญิงหลายคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่กำลังจะกลายเป็น “คุณแม่” ซึ่งสร้างความกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะคิดว่าอาจส่งผลกระทบถึงวิธีการเลี้ยงลูกได้นั่นเอง

ซึ่งลักษณะ หัวนมบอด ไม่ใช่โรคหรืออาการแต่อย่างใด แต่เป็นความผิดปกติของลักษณะหัวนมที่ไม่มีหัวนมขึ้นมา โดยเกิดได้จากท่อนมสั้นหรือพังผืดรัด ซึ่งลักษณะนมเช่นนี้นั้นไม่มีอันตรายใดๆ เพราะสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงหลายคน โดยส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นกันตั้งแต่แรกเกิดเลยก็ว่าได้

ทั้งนี้มีว่าที่คุณแม่หลายคนกลัวว่า ถ้าหัวนมบอดแล้วจะมีน้ำนมให้ลูกกินหรือไม่? คำตอบ คือ แม่ทุกคนมีนมให้ลูกแน่นอนค่ะ ไม่ต้องกังวลนะคะ หัวนมแบบไหนก็ให้นมลูกได้ทั้งนั้นค่ะ เรื่องหัวนมบอด แบน บุ๋ม นี้จริงๆ แล้วจะไม่เป็นปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เลย

ถ้าเรามองให้เป็นเรื่องของธรรมชาติ ทารกที่เกิดมาใหม่ๆ ไม่มีทางรู้เลยค่ะว่าเขาจะได้ดูดนมแม่จากหัวนมที่มีลักษณะอย่างไร ถ้าเราไม่เอาอย่างอื่นไปแทน ลูกก็จะรู้จักเรียนรู้ที่จะดูดหัวนมแบนหรือบุ๋มของแม่เอง

Must read : ชมคลิป >> สัญชาตญาณการดูดนมแม่ของทารก

ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากแม่คิดไปเอง (หรือมีคนอื่นพูดให้คิด) ว่าหัวนมบอด ลูกจะดูดไม่ได้ แล้วก็เอาขวดให้ดูดแทน ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้ลูกเรียนรู้ว่าจะต้องดูดจากจุกยางแบบนี้ เมื่อลูกเรียนรู้ไปแล้วแบบนั้น ก็จะทำให้ลูกไม่ยอมดูดหัวนมแบนๆ ของแม่ ในทางกลับกัน ตั้งแต่แรกคลอด ถ้าลูกไม่เคยได้ดูดอะไรเลย นอกจากหัวนมแบนๆ ของแม่ตัวเอง ลูกก็จะเรียนรู้ได้เองว่าการดูดนมแม่คือ การอมลานนมแบนๆ พออกแรงดูดก็จะมีน้ำนมไหลออกมา คนเป็นแม่ก็เช่นกัน ลองคิดว่าถ้าเราหัวนมแบน แล้วเราก็ไม่เคยเห็นว่าหัวนมคนอื่นเป็นอย่างไร เราก็คงคิดว่าคนทั้งโลกมีหัวนมแบนเหมือนกับเรานั่นเอง จริงๆ แล้วหัวนมที่อาจจะเป็นปัญหามากกว่า ไม่ใช่บอดหรือแบน แต่เป็นหัวนมใหญ่ เต้าคัดแข็ง แล้วลูกตัวเล็กๆ ปากเล็กๆ จะทำให้ดูดลำบาก แต่ปัญหานี้ก็แก้ไม่ยากค่ะ ช่วงแรกอาจจะปั๊มแล้วป้อนด้วยแก้วก่อน แป๊บเดียวลูกก็ตัวโตขึ้น มีแรงดูดมากขึ้น ก็ค่อยๆ หัดดูดได้ค่ะ

ทั้งนี้เมื่อคุณแม่มาฝากครรภ์ และพูดคุยเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้ตรวจดูหัวนมแม่อย่างละเอียด รวมทั้งดูความยืดหยุ่นของหัวนมและควรให้ความมั่นใจแก่แม่ในรายที่มีความวิตกกังวล

หัวนมบอด (Inverted Nipples)

หัวนมบอดเป็นลักษณะอาการของหัวนมที่แบน หรือ ยุบเข้าไปข้างใน แทนที่จะยื่นออกมาเหมือนหัวนมปกติ (ดูตัวอย่างจากรูปด้านล่าง)

                               

หัวนมบอดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกันมาแต่กำเนิด -ที่ผู้หญิงเกิดมาพร้อมกับลักษณะหัวนมแบบนั้น อย่างไรก็ตามผู้หญิง บางคนมามีหัวนมบอดในภายหลัง โดยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น จากการให้นมบุตรที่ไม่ถูกต้อง การมีแผลเป็นที่สร้างเนื้อเยื่อ รั้งท่อน้ำนมทำให้ดึงหัวนมเข้าข้างใน อาการหัวนมบอดนั้น โดยปกติมีสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ การมีพื้นที่ฐานหัวนมน้อยเกินไป ท่อน้ำนมสั้นกว่าปกติรั้งหรือหดตัวเข้าไป รวมทั้งการมีผังพืดรอบๆ ทำให้เกิดการดึงรั้งในหัวนม

อ่านต่อ >> “ลักษณะของหัวนมบอดและวิธีแก้ไข” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

หัวนมบอดมี 3 ลักษณะ หรือ 3 ระดับ ตามระดับของความรุนแรงในการยุบเข้าไปของหัวนม หัวนมของผู้หญิงบางคน อาจจะบอดในบางเวลา และโผล่ออกมาหรือ ยืดออกในบางครั้ง หากมีการตอบสนองต่อการกระตุ้น เช่น การสัมผัส การดูด หรือ ความเย็น แต่บางคนก็บอดสนิทและไม่เคยโผล่ออกมาให้เห็นเลย ผู้หญิงหัวนมบอดบางคนสามารถให้นมบุตรได้บ้าง โดยใช้เครื่องมือช่วยเช่น เครื่องปั๊มน้ำนม หรือ Nipple shield แต่บางคนไม่สามารถให้นมบุตรได้เลย

ระดับของหัวนมบอด

◊ หัวนมบอดระดับ 1 ระดับขั้นต้น (Inverted Nipples Grade 1) หัวนมเรียบหรือยุบตัวเข้าไปบางส่วน แต่สามารถ ใช้มือดึงออกมาได้ บางครั้งหัวนมจะยื่นออกมาถ้าได้เอง หากได้รับการกระตุ้นโดยการสัมผัส หรือการดูด รวมทั้งอากาศที่เย็นๆ ท่อน้ำนมไม่มีการรั้งตัว มีความสามารถให้นมบุตรได้

◊ หัวนมบอดระดับ 2 ระดับปานกลาง (Inverted Nipples Grade 2) หัวนมยุบตัวเข้าไป แต่ค่อนข้างยากลำบาก ในการดึงออกมา หรือถ้าดึงออกมาก็จะคงตัวอยู่ได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง แล้วหัวนมก็จะยุบตัว กลับเข้าไปอีกในทันที บางรายจะสามารถให้นมบุตรได้ แต่บางรายที่ท่อน้ำนมรัดตัวก็อาจจะไม่สามารถให้นมบุตรได้

◊ หัวนมบอดระดับ 3 ระดับรุนแรง(Inverted Nipples Grade 3) หัวนมยุบตัวเข้าไปทั้งหมดและ ไม่สามารถดึง ออกมาได้ ท่อน้ำนมรั้งตัวและคดอยู่ข้างใน ทำให้อาจจะไม่สามารถให้นมบุตรได้ เลย ผู้หญิงที่มี หัวนมบอดระดับรุนแรงนี้ อาจจะประสบปัญหาการติดเชื้อข้างในรูหัวนม มีอาการคัน หากทำความสะอาดรูหัวนม ไม่ดีพอเพียง (มีลักษณะคล้ายๆ กับหลุมสะดือที่ลึกเข้าไป)

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

√ การตรวจหัวนม

โดยใช้วิธีของวอลเลอร์ (WALLER) โดยวางมือลงบนเต้านม ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้วางทาบกับผิวหนังตรงรอยต่อระหว่างฐานของหัวนมและลานนม กดนิ้วมือทั้งสองลงไปตรงๆเล็กน้อยแล้วบีบเข้าหากันจับหัวนมขึ้นมาเบาๆถ้าหัวนมที่ยาวปกติจะสามารถจับหัวนมได้ แสดงว่าทารกสามารถดูดนมได้ถ้าหัวนมมีขนาดสั้นหรือแบน หัวนมจะผลุบลงไประหว่างนิ้วมือ การตรวจจะตรวจครั้งแรกที่มาฝากครรภ์

√การตรวจความยืดหยุ่นของหัวนม

นั้นหมายถึงว่า หัวนมที่สามารถดึงออกมาได้ ถ้าหัวนมที่ดึงออกได้ง่าย แสดงว่ามีการยืดหยุ่นดี ถ้าหัวนมที่ดึงออกได้เพียงเล็กน้อยแสดงว่ามีการยืดหยุ่นไม่ดี สำหรับหัวนมที่ดึงไม่ออกและอยู่ลึกในเต้านมเรียกว่า “หัวนมบอด” ควรสร้างความมั่นใจแก่แม่ว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ถ้าแม่คัดนมควรให้บีบน้ำนมออกจนกระทั่งเต้านมแม่นิ่มลงจะทำให้ลูกอมเต้านมแม่ได้ง่ายขึ้น ในกรณ๊ที่แม่ให้ลูกดูดนมในครั้งแรกแล้วไม่ประสบผลสำเร็จจงให้ความมั่นใจแก่แม่ว่า ลูกสามารถที่จะปรับตัวดูดนมได้ในไม่ช้าและแม่จะสามารถให้ลูกดูดนมได้ตามที่ต้องการ

♦ การทำ Pinch test

1.ลักษณะหัวนมที่ปกติ  2.ลักษณะหัวนมสั้น
(Flat)
  3.การทำPinch test
ใช้หัวแม่มือ และนิ้วชี้ บีบเบาๆที่บริเวณลานหัวนม ห่างจากหัวนมประมาณ1นิ้ว ปกติจะทำให้หัวนมยื่นออกมา
4.ถ้าหัวนมบอด หัวนมจะบุ๋มลงไปเมื่อทำPinch test

อ่านต่อ >> “6 เทคนิคการแก้ปัญหา หัวนมบอด” คลิกหน้า 3

หัวนมบอด แก้ได้

และแม้ว่าหัวนมบอดจะไม่มีอันตรายใด ๆ และไม่ส่งผลเสียใดๆ ต่อร่างกาย แต่อาจเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการให้นมลูกของคุณแม่หลายคนได้ ดังนั้นวันนี้เราจึงนำเทคนิคการแก้ปัญหา “หัวนมบอด” มาฝากกัน ดังต่อไปนี้ค่ะ

1. สร้างความมั่นใจให้คุณแม่

เมื่อคุณแม่ยังอยู่ทีโรงพยาบาลหลังจากคลอดแล้ว   พยาบาลต้องให้ความมั่นใจต่อแม่ที่มีหัวนมสั้นหรือหัวนมบอดว่า  สามารถให้ลูกดูดนมได้   เพราะถ้าหากขั้นตอนแรกในการอมหัวนมทำได้ดี   การที่ลูกดูดนมบ่อย ๆ ก็สามารถแก้ไขภาวะหัวนมบอดได้ การฝึกให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธีตั้งแต่แรก   โดยให้ทารกเกิดใหม่ที่มีความตื่นตัว   และสามารถอมหัวนมและดูดได้ดีตั้งแต่ต้น จะเป็นทางแก้ไขปัญหาหัวนมบอดได้ดีที่สุด โดยฝึกให้ทารกเรียนรู้วิธีการดูดนมอย่างถูกต้องในช่วงวันสองวันแรกที่เขา เกิดมา

♥ ข้อควรรู้ : วิธีดูดนมของทารกที่ถูกต้อง

– พยายามให้ลูกอ้าปากกว้าง ๆ ใช้หัวนมแตะที่จมูก หรือริมฝีปากลูก เพื่อกระตุ้นให้ลูกอ้าปาก

– เมื่อลูกอ้าปาก ประคองศีรษะลูกเข้ามาที่หน้าอก ให้คางและริมฝีปากล่างของลูกสัมผัสเต้านมก่อน ควรตรวจดูว่าลูกอมลานหัวนมได้ลึกดีพอ

– อย่าลืมว่าต้องอุ้มลูกเข้ามาหาอกแม่ ไม่ใช่ก้มตัวแม่ไปหาปากลูก

– การดูดที่ถูกต้อง ลูกจะต้องดูดแล้วใช้เหงือกกดทับบนลานหัวนม คือ บริเวณวงสีคล้ำรอบหัวนม เป็นส่วนที่ลูกจะอมเข้าไปด้วยเมื่อ ดูดนมไม่ใช่งับเฉพาะหัวนม ซึ่งเป็นที่เก็บน้ำนมอยู่

– กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกร และ ลิ้นของลูกจะทำหน้าที่ประสานกันเพื่อดูดนม คุณแม่จะสังเกต เห็นขมับและหูของลูกขยับเป็นจังหวะตามการดูด แสดงว่า กล้ามเนื้อขากรรไกรกำลังทำงาน

2. ใช้สองมือสร้างหัวนม

“สร้าง” หัวนมขึ้นมา ด้วยเทคนิคการบีบเต้านมเข้าหากัน เพื่อให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบหัวนมยื่นออกมามากขึ้น จากนั้นจึงดึงหัวนมขึ้น โดยหมั่นทำเป็นประจำวันละ 20 ครั้ง จะช่วยให้หัวนมขึ้นมาได้ แต่เป็นวิธีที่ต้องอาศัยเวลาสักหน่อย แล้ว ระหว่างลูกดูด คุณแม่ควรประคองเต้านมโดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบนและนิ้วอื่นๆ อยู่ด้านล่าง กดนิ้วลงพร้อมกับรั้งเต้านมเข้าหาตัว วิธีนี้จะทำให้ลานนมยื่นออกมาและช่วยให้ทารกอมลานนมได้ง่ายขึ้น

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

3. ที่ปั้มนมช่วยได้

ใช้ที่ปั๊มนม เพื่อช่วยดึงหัวนมให้ยื่นออกมาก่อนจะให้นมลูก โรงพยาบาลหลายแห่งมักมีที่ปั๊มนมไฟฟ้าคุณภาพดีไว้ให้บริการ ซึ่งหากใช้ถูกวิธี ถือเป็นเครื่องมือผู้ช่วยชั้นดีในการดึงหัวนมให้ยื่นออกมาโดยไม่ทำให้เจ็บ

4. ใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนม

เป็นอุปกรณ์ที่คิดค้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา หัวนมบอดโดยเฉพาะเลยทีเดียว โดยจะช่วยดึงหัวนมให้ขึ้นมาตามปกติ ซึ่งเป็นวิธีในการแก้ไขที่ดี แต่ต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้นใครที่จะใช้วิธีนี้จึงต้องมีความอดทนสูงมากเลยทีเดียว การใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนมคุณแม่อาจจะใช้เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าปั๊มเพื่อดึงหัว นมออกมาก็ได้  และมีอีกชนิดหนึ่ง คือ ลูกยางแดง  ดึงหัวนมทุกวัน วันละ 2 ครั้ง หลังอาบน้ำเช้า เย็น ประมาณข้างละ 10 นาที วิธีการนี้จะช่วยดึงหัวนมของคุณแม่ได้ค่ะ

5. อุปกรณ์กดลานนม

ลองสวมปทุมแก้ว  เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้คุณแม่ที่มีหัวนมแบนหรือบุ๋ม ปทุมแก้วทำจากพลาสติกและมีสองส่วน ส่วนแรกมีรูตรงกลางเพื่อให้หัวนมยื่นออกมาเมื่อสวมใส่ กับอีกส่วนหนึ่งเป็นทรงกลมซึ่งจะพอเหมาะพอดีเมื่อสวมเสื้อชั้นในทับ ใช้สวมใส่ในระหว่างมื้อนมหรือก่อนให้นมราวครึ่งชั่วโมง แรงกดของปทุมแก้วจะช่วยนวดผิวหนังบริเวณรอบลานนมให้นุ่มและทำให้หัวนมยื่นออกมา
ปทุมแก้วมีสองแบบ แบบหนึ่งจะมีรูกว้างใช้สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาเจ็บหัวนม แต่สำหรับกรณีหัวนมแบนหรือบุ๋ม ต้องใช้ปทุมแก้วแบบรูเล็กกว่า ซึ่งจะพอดีกับฐานนม

6. ใช้กระบอกฉีดยา 20 ml/CC.


วิธีการก็คือนำกระบอกฉีดยาขนาด 20 ซีซี แบบพลาสติก มาดึงส่วนที่เป็นก้านฉีดออก แล้วตัดส่วนปลายกระบอกฉีดออกราวครึ่งนิ้ว จากนั้นใส่ก้านฉีดเข้าไปในกระบอก ฉีดทางด้านที่ถูกตัดปลายออก นำกระบอกฉีดส่วนที่ไม่ถูกตัดปลายมาครอบหัวนมของคุณ จากนั้นค่อย ๆ ดึงก้านฉีดออกจากตัวเพื่อดึงหัวนมให้ยื่นออกก่อนจะให้นมทารก

♥ ฝึกลูกดูดถูกวิธี เพื่อชนะปัญหาหัวนมบอด

ดูเหมือนการให้ลูกดูดนมถูกวิธีเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาการเลี้ยงลูก ด้วยนมแม่เกือบจะทุกปัญหาเลยทีเดียว เรื่องหัวนมบอดนี้ก็เช่นกันค่ะ

ทารกเกิดใหม่ที่มีความตื่นตัวและสามารถอมหัวนมถูกวิธีและดูดนมได้ดีตั้งแต่ต้น จะเป็นทางแก้ไขปัญหาหัวนมแบนหรือบุ๋มได้ดีที่สุด การฝึกให้ทารกเรียนรู้วิธีการดูดนมอย่างถูกต้องในช่วง 1-2 วันแรกที่เขาเกิดมา อันเป็นช่วงที่น้ำนมของคุณแม่ยังไม่ไหลนั้น จึงเป็นหัวใจสำคัญและเป็นเรื่องง่ายมากที่สมควรรีบทำให้เห็นผล ไม่อย่างนั้น อาการคัดตึงเต้านมที่เกิดขึ้นจะมีแนวโน้มทำให้หัวนมที่แบนอยู่แล้วยิ่งยุบลง ไป และทำให้ทารกดูดได้ลำบากขึ้นค่ะ

ดังนั้น คุณแม่จึงควรวางแผนให้ลูกน้อยได้มาอยู่กับคุณแม่โดยเร็วที่สุดภายหลังคลอด เพื่อที่แม่กับลูกจะได้โอกาสฝึกเรื่องการให้นมแม่และการดูดนมอย่างเต็มที่ร่วมกัน

ได้ทราบแล้วนะคะว่า  หัวนมบอดไม่ใช่ปัญหาของแม่ให้นมหากรู้วิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะที่คุณแม่อยู่ที่โรงพยาบาลทางเจ้าหน้าที่หรือพยาบาลจะให้คำแนะนำ  เบื้องต้นขอให้คุณแม่มีความมั่นใจก่อนว่าสามารถให้นมทารกน้อยได้ด้วยการให้ ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ยังมีตัวช่วยอื่น ๆ ที่จะแก้ไขปัญหาหัวนมบอดได้  อย่ากังวลไปเลยนะคะ

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก :www.skhospital.go.th , www.xn--12cg1cxchd0a2gzc1c5d5a.net ,

www.skhospital.go.th ,  www.breastfeedingthai.com

ขอบคุณภาพจาก : Chutymoony Singnommae