AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ทารกหายใจเสียงดัง หายใจเสียงดังครืดคราด เกิดจากอะไร?

อาการแบบไหน? เรียกว่า ทารกหายใจเสียงดัง

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลาย ๆ ท่านมักจะเกิดความกังวลเมื่อได้ยิน ทารกหายใจเสียงดัง หายใจเร็ว และ หายใจแรง ว่าการหายใจแบบนี้มีความผิดปกติอะไรหรือไม่ อันตรายหรือไม่ เกิดจากอะไร และควรรีบไปหาหมอไหม ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำตอบค่ะ

ทารกหายใจเสียงดัง หายใจเสียงดังครืดคราด เกิดจากอะไร?

การหายใจของทารก เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ในเด็กแรกเกิดบางคน ขณะนอนหลับหรือดูดนม คุณพ่อคุณแม่มักจะได้ยินเสียงหายใจผิดปกติ บางคนก็หายใจเร็ว บางคนก็หายใจแรง หรือ ทารกหายใจเสียงดัง ฟี้ ๆ ครืดคราด เป็นต้น สิ่งนี้ สร้างความกังวัลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อย เพราะไม่สามารถทราบได้ว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นเกิดจากอะไร และควรไปพบแพทย์หรือไม่ ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงขอนำคำตอบจากป้าหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ มาไขข้อข้องใจ ดังนี้

#ลูกหายใจเสียงดังครืดคราดเกิดจากอะไร
.
“ลูกวัย 2 เดือน มีเสียงดังครืดคราดในลำคอตอนหายใจ ตอนดูดนมจะยิ่งหายใจแรงขึ้น และดูดนมได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะต้องหยุดหายใจเป็นระยะ อยากทราบว่าเกิดจากเหตุใด และจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี”

จากอาการ ป้าหมอนึกถึงสาเหตุได้ 6 กรณีต่อไปนี้ จะวินิจฉัยได้แน่นอนต้องพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัย

1.แพ้โปรตีนนมวัว
2.กระดูกอ่อนของหลอดลมยังไม่แข็งแรง (laryngomalacia)
3.ความผิดปกติแต่กำเนิดของท่อหลอดลมหรือสายเสียง
4.ภาวะกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease หรือ GERD)
5.เพิ่งหายจากเป็นหวัดหรือโรคหลอดลมอักเสบ
6.ดื่มนมมากเกินไป (overfeeding)

ทารกที่หายใจเสียงดัง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ

อาการแบบไหน? เรียกว่า ทารกหายใจเสียงดัง

โดยปกติแล้วเด็กเล็กมักจะหายใจเร็ว โดยเด็กตั้งแต่แรกเกิด-2 เดือน จะมีอัตราการหายใจอยู่ที่ 60 ครั้งต่อนาที เมื่ออายุ 2 เดือน-1 ปี อยู่ที่ 50 ครั้งต่อนาที และเมื่ออายุ 1-3 ปีขึ้นไป อัตราการหายใจของลูกจะเริ่มลดลง และจะเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 20-30 ครั้งต่อนาที ดังนั้น ทารกที่หายใจเร็ว แต่ไม่มีเสียง หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ นั้นถือว่าปกติค่ะ แต่สำหรับทารกที่หายใจเสียงดังที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องคอยสังเกตอาการให้ดี ขณะนอนหลับหรือดูดนม  ทารกจะมีอาการหายใจลำบาก ต้องใช้แรงในการหายใจมากกว่าปกติ นอนอ้าปากหายใจ ทำให้ไม่สามารถดูดนมได้อย่างต่อเนื่อง นอนดิ้นกระสับกระส่าย อาจหายใจสะดุด หยุดหายใจ หายใจเฮือก เป็นต้น

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ ทารกหายใจเสียงดัง มีสาเหตุมาจากอะไร?

ทารกหายใจเสียงดัง มีสาเหตุมาจากอะไร?

  1. แพ้โปรตีนนมวัว

อาการแพ้โปรตีนนมวัว คือ อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการได้รับ โปรตีนบางชนิดในนมวัว โดยอาจเข้าสู่ร่างกายตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่ เนื่องจากคุณแม่กินนมวัวเพื่อบํารุงครรภ์ หรือได้รับเข้าสู่ร่างกายหลังจากคลอดแล้ว แต่เนื่องจากทารกยังมีข้อจํากัดของระบบการย่อย และระบบภูมิคุ้มกันในลําไส้ที่ไม่แข็งแรง อีกทั้งมีระบบน้ำย่อยที่ยังไม่สมบูรณ์ และเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหารยังอยู่กันห่าง ๆ จึงทําให้โปรตีนแปลกปลอมของนมวัวเล็ดลอดเข้าสู่กระแสเลือด ไปกระตุ้นให้ร่างกายของทารกสร้างภูมิต่อต้านชนิดผิดปกติขึ้นในร่างกาย ต่อมาหากมีการได้รับนมวัวหรือสารก่อภูมิแพ้เข้าไปอีก ร่างกายทําปฏิกิริยาทันที เกิดเป็นอาการเจ็บป่วยต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ คันตา คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล เลือดกําเดาไหล เสมหะครืดคราดในลําคอ นอนกรน อ้าปากหายใจ หายใจ เสียงดังวี้ด หรือหอบหืด ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลและต่อมอดีนอยด์อักเสบ และเมื่ออักเสบบ่อย ๆ จะทําให้มีขนาดใหญ่ผิดปกติจน อุดกั้นทางเดินหายใจ

วิธีการรักษา : การหยุดทานนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว และหากเป็นเด็กที่ทานนมแม่ ทคุณแม่ต้องหยุดทานนมวัวและผลิตภัณฑ์นมวัวด้วยเช่นกัน

อ่านต่อ แพทย์เตือน! เด็กแพ้นมวัว อันตรายถึงชีวิต

    อาการแพ้นมวัว เป็นอย่างไร? อันตรายถึงชีวิตหรือไม่?

2. กระดูกอ่อนของหลอดลมยังไม่แข็งแรง (laryngomalacia)

ปกติแล้ว กระดูกอ่อนมีหน้าที่เสริมความแข็งแรงของกล่องเสียงและท่อหลอดลม ทำให้ไม่แฟบขณะหายใจเข้าและ โดยในเด็กแรกเกิดบางคนจะมีการพัฒนาของกระดูกอ่อนช้ากว่าปกติ ดังนั้นเวลาหายใจเข้าออกกล่องเสียงและท่อหลอดลมจะแฟบลง (เหมือนกับหลอดกาแฟที่นิ่มมากเกินไป จะแฟบเวลาดูดน้ำ) ทารกที่มีภาวะนี้จะหายใจเสียงดัง หรือมีเสียงครืดคราดอยู่ในลำคอ โดยจะได้ยินชัดเจนเมื่อลูกนอนหงาย ดูดนม หรือร้องไห้

วิธีการรักษา : คือไม่ต้องทำอะไร เพราะทารกที่มีภาวะนี้มากกว่า 90% จะหายได้เองเมื่อทารกอายุมากขึ้นภายใน 2 ขวบปีแรกของชีวิต

ทารกที่หายใจได้ไม่สะดวก ในขณะนอนหลับหรือดูดนม จะได้ยินเสียงครืดคราด คล้ายนอนกรน

3. ความผิดปกติแต่กำเนิดของท่อหลอดลมหรือสายเสียง

ในทารกแรกเกิดบางคน จะมีความผิดปกติของท่อหลอดลมและสายเสียง โดยบางคนมีเส้นเลือดงอกผิดปกติมาอยู่ล้อมรอบท่อหลอดลม บางคนมีเนื้องอกที่กล่องเสียง หรือมีเนื้องอกในช่องทรวงอก แล้วมาเบียดท่อหลอดลม ทำให้หายใจไม่สะดวก เจอได้ไม่บ่อย เด็กอาจมีอาการไอ เสียงแหบร่วมด้วย วินิจฉัยโดยส่องกล้องเข้าไปในท่อหลอดลมหรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์

วิธีการรักษา : ขึ้นกับสาเหตุ เช่น ผ่าตัดหรือให้ยารักษาเนื้องอก

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ ทารกหายใจเสียงดัง มีสาเหตุมาจากอะไร?

ทารกหายใจเสียงดัง มีสาเหตุมาจากอะไร?

4. ภาวะกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease หรือ GERD)

ตามปกติแล้ว หลังจากที่อาหารเคลื่อนผ่านเข้าไปในกระเพาะกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างจะหดตัว คือจะทำหน้าที่เหมือนวาล์วทางเดียว ซึ่งจะปิดและป้องกันไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะถูกขย้อนหรือไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร แต่ในทารกบางคน การพัฒนากล้ามเนื้อดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ อาหาร (ที่ผ่านการย่อยเป็นบางส่วน) และกรดในกระเพาะจึงไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เยื่อบุหลอดอาหารเกิดการระคายเคืองจนมีอาการแสบร้อนกลางอก และหากนมและน้ำย่อย ไหลย้อนขึ้นไปในลำคอ จะทำให้มีเสียงครืดคราดชัดเจนเวลาดูดนม ทารกที่มีภาวะกรดไหลย้อน สามารถสังเกตได้เพิ่มเติม โดยเด็กมักมีอาการขย้อน แหวะนม หรืออาเจียนบ่อย ร้องกวนงอแง กลัวการทานนม ลำตัวแอ่นเกร็งเวลาดูดนม น้ำหนักตัวขึ้นไม่ดี วินิจฉัยโดยการเอ็กซเรย์กลืนแป้งหรือตรวจวัดความเป็นกรดที่หลอดอาหาร หรือทดลองให้ยารักษา แล้วดูการตอบสนองว่าดีขึ้นหรือไม่ รวมถึงแนะนำเรื่องการให้นมอย่างถูกวิธี กินครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ กินแล้วอุ้มตัวตั้งไว้นาน ๆ อย่ารีบวางนอนราบ

อ่านต่อ กรดไหลย้อนในเด็กทารก + 4 เทคนิคป้องกันไม่ให้ลูกเป็นกรดไหลย้อน

     กรดไหลย้อน ทารกป่วยง่าย อันตรายกว่าที่คิด

5. เพิ่งหายจากเป็นหวัดหรือโรคหลอดลมอักเสบ

หากลูกเพิ่งหายจากอาการหวัด เช่น มีไข้ มีน้ำมูก ไอมีเสมหะ เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว (อาจจะไม่มีไข้ หรือ อาจจะไม่มีน้ำมูกหรือไอแล้ว) แต่ยังรู้สึกว่าลูกยังมีอาการครืดคราดในคอหรือจมูกอยู่ นั่นเป็นเพราะ ในกรณีที่เป็นผู้ใหญ่หรือเด็กโต หากมีน้ำมูกหรือเสมหะก้อนสุดท้ายอยู่ในจมูกหรือในคอ จะสามารถสั่งน้ำมูกหรือไอเอาเสมหะออกมาได้ ทำให้หายจากอาการครืดคราดได้เร็ว แต่ในเด็กเล็ก ๆ ที่ยังไม่สามารถกำจัดออกมาได้เอง ต้องรอให้น้ำมูกหรือเสมหะนั้นค่อย ๆ เจือจางไปเอง จึงยังมีเสียงครืดคราดอีกระยะเวลาหนึ่ง โดยมากไม่เกิน 2 สัปดาห์

อ่านต่อ วิธีดูแล เด็กเป็นไข้ อันตรายที่มากับหน้าฝน

     ลูกไม่สบายและมีไข้ เปิดแอร์ เปิดพัดลมได้หรือไม่

ทารกที่ดื่มนมมากเกินไป จนนมล้นกระเพาะออกมาถึงลำคอ ทำให้หายใจได้ไม่สะดวก

6. ดื่มนมมากเกินไป (overfeeding)

เด็กแรกเกิดจนถึง 3 เดือนแรก เป็นช่วงที่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่นอกร่างกายแม่ ลูกอาจร้องไห้มากขอดูดนมตลอดเวลา คุณแม่ไม่ทราบว่าร้องไห้เพราะอะไร ก็จะเอานมให้กินทุกครั้ง ผลที่ตามมาคือ ลูกจะมีน้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิน 1 กก.ใน 1 เดือน (ปกติขึ้นเดือนละ 700-800 กรัม) และมีลักษณะ 5 อย่างต่อไปนี้

วิธีแก้ไขคือพยายามอย่าให้ลูกกินมากเกินไป ควรเบี่ยงเบนลูกไปทำอย่างอื่นบ้าง เช่น เล่นกับลูก ให้ดูดจุกหลอก หรือแม่ปั๊มนมออกก่อนให้ลูกดูด

อ่านต่อ Overfeeding ลูกกินนมมากเกินไป อันตรายหรือไม่?

     ขนาดกระเพาะทารก จะจุปริมาณน้ำนมแม่ได้เท่าไหร่?

อาการ ทารกหายใจเสียงดัง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งอันตรายและไม่อันตราย ดังนั้น คุณแม่ควรสังเกตอาการว่า หากลูกมีอัตราการหายใจที่ผิดปกติ หายใจมีเสียงหวีดหรือหายใจดังมาก ซี่โครงบาน มือและปากคล้ำเขียว ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ เพราะนี่เป็นสัญญาณอันตรายที่เตือนว่าลูกกำลังมีความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงได้

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ คลิก

แม่ต้องรู้! 9 สัญญาณ บ่งบอกเมื่อ ลูกหิวนม

วิธีสังเกตอาการ หายใจผิดปกติ ที่เป็นอันตรายต่อเด็ก

วิธีใช้ลูกยางแดง ดูดน้ำมูก-เสมหะ ให้ลูกน้อยหายใจสะดวก

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ, www.breastfeedingthai.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

Summary
Review Date
Reviewed Item
ลูกหายใจครืดคราด ลูกหายใจเสียงดัง ทารกหายใจครืดคราด
Author Rating
5