พัฒนาการต่าง ๆ ของเด็กทารกในวัยแรกเกิด – 12 เดือนนั้นมีความสำคัญมาก เพราะพัฒนาการในช่วงวัยนี้เป็นพื้นฐานของพัฒนาการด้านต่าง ๆ ในวัยอื่น ๆ จนกระทั่งลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นการ กระตุ้นพัฒนาการ เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่สมวัยก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน
เคล็ดลับดี๊ดี..กระตุ้นพัฒนาการ ทารกแรกเกิด-12 เดือน
คุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นไหมคะ ที่เห็นลูกคนนั้นคนนี้เก่งจังเลย อายุไม่กี่เดือนก็ทำโน่นทำนี่ได้ นั่นเป็นเพราะเค้ามีเคล็ดลับค่ะ เคล็ดลับในการ กระตุ้นพัฒนาการ ให้ลูก ฝึกทักษะให้ลูก เพื่อให้ลูกได้มีพัฒนาการที่สมวัย ดังนั้น ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงขอแชร์เคล็ดลับที่ว่านี้ให้คุณพ่อคุณแม่นำไปฝึกลูก ๆ ที่บ้านกันค่ะ
กุญแจสู่ความสำเร็จ
ก่อนที่จะเริ่ม กระตุ้นพัฒนาการ คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมตัว ดังนี้
- ให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกมีความมั่นใจและไว้วางใจในตัวคุณพ่อคุณแม่
- ไม่เปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การที่ลูกยังทำสิ่งใดไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าลูกจะทำสิ่ง ๆ นั้นไม่ได้เลย เพียงแต่ยังไม่พร้อมหรือยังไม่ต้องการที่จะทำ
- การเรียนรู้ของลูก เริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องของคุณแม่ และการเรียนรู้ต่าง ๆ จะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
- ลูกเรียนรู้ผ่านการดู ฟัง การเล่น การจับต้อง การทำตามแบบอย่าง และลองทำเอง ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยการพูดคุย การเล่น การเล่าเรื่อง การเล่านิทาน การชี้ชวนให้ลูกดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน
- แสดงท่าทีสนใจเมื่อลูกชี้ชวนให้ดูอะไร หรือลูกถามสิ่งใด
- ไม่ใช้วิธีบังคับฝืนใจ ไม่กดดันหรือเร่งรัดลูก ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
- โทรทัศน์ แท็บเล็ต และ เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงกัน อาจขัดขวางพัฒนาการรอบด้านของเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และรบกวนการนอนหลับของลูกได้
- คุณพ่อคุณแม่ เป็นกระจกที่ดีที่สุดสำหรับลูกในด้าน พฤติกรรม และอารมณ์
- การให้กำลังใจเมื่อลูกกำลังพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และการชมเชยเมื่อลูกทำสำเร็จ เป็นสิ่งสำคัญ
เคล็ดลับดี๊ดี..กระตุ้นพัฒนาการ ทารกแรกเกิด-12 เดือน
แรกเกิด – 1 เดือน
- เมื่อจับลูกนอนคว่ำ ลูกจะสามารถยกศีรษะและหันไปข้างใดข้างหนึ่งได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรหาช่วงเวลาที่ลูกกำลังอารมณ์ดี ไม่อิ่มหรือหิวหรือง่วงนอนจนเกินไป จัดให้ลูกอยู่ในท่านอนคว่ำ เขย่าของเล่นที่มีเสียงตรงหน้าลูกในระยะห่างไม่เกิน 30 ซม. เพื่อกระตุ้นให้ลูกมอง เมื่อลูกมองแล้ว ให้ค่อย ๆ เคลื่อนของเล่นมาทางด้านซ้ายหรือขวาเพื่อให้ลูกหันตาม
- ลูกจะสามารถมองตามได้ ควรให้ลูกอยู่ในท่านอนหงาย ก้มหน้าคุณแม่ให้อยู่ใกล้ ๆ หน้าลูกประมาณ 20 ซม. แล้วค่อย ๆ เอียงหน้าไปทางด้านข้างของลูกช้า ๆ หากลูกไม่มองตาม ให้ประคองหน้าลูกให้มองตามเบา ๆ
- ใช้เสียงสูงต่ำในการพูดคุยกับลูก และลองเอาหน้าไปใกล้ ๆ และพูดคำว่า “อากู ๆ ” ซ้ำ ๆ กัน เพื่อให้ลูกสนใจและส่งเสียงอ้อแอ้ตอบ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ เคล็ดลับดี๊ดี..กระตุ้นพัฒนาการ ทารกแรกเกิด-12 เดือน
เคล็ดลับดี๊ดี..กระตุ้นพัฒนาการ ทารกแรกเกิด-12 เดือน
1-2 เดือน
- ให้ลูกอยู่ในท่านอนคว่ำ ส่งเสียงเรียกให้ลูกยกศีรษะขึ้นโดยที่คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ เคลื่อนศีรษะให้สูงขึ้นเพื่อให้ลูกยกศีรษะให้สูงขึ้นจนอยู่ในระยะ 45 องศา
- หาของเล่นที่มีเสียงหรือสีสันสดใส และถือไว้ให้ห่างจากระดับสายตาลูกประมาณ 20-30 ซม. เมื่อลูกสนใจ ให้เคลื่อนที่ของเล่นนั้นจากซ้ายไปขวาเพื่อให้ลูกหันตาม
- ในช่วงนี้ให้ลองพูดคุยกับลูก โดยทำเสียง อู อา หรือ อือ เพื่อให้ลูกส่งเสียงตาม รวมถึงการแสดงสีหน้าต่าง ๆ เพื่อให้ลูกทำตาม เช่น การยิ้ม การอ้าปากกว้าง การแลบลิ้น เป็นต้น
3-4 เดือน
- จัดให้ลูกอยู่ในท่านอนคว่ำ ข้อศอกงอ ในช่วงนี้ เราจะใช้กระจกเป็นตัวช่วยค่ะ โดยวางกระจกไว้อยู่ตรงหน้า ลูกจะสนใจและผงกหัวขึ้นมามองตัวเองในกระจก
- ในช่วงวัยนี้ เสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ จะมีความสำคัญมาก เพราะลูกจะสามารถทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ เพื่อแสดงความรู้สึกได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยหรือเล่านิทานให้ลูกฟังด้วยเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ เพื่อให้ลูกได้เลียนเสียงตามค่ะ
- และในช่วงนี้ ลูกจะเริ่มพัฒนาทักษะทางด้านสังคม โดยการยิ้มทักคนที่คุ้นเคยได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาลูกไปพบคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย เพื่อฝึกทักษะนี้ค่ะ
5-6 เดือน
- ในช่วงนี้ มือของลูกจะเริ่มอยู่ไม่สุขแล้วค่ะ จะเริ่มคว้า หยิบจับสิ่งที่น่าสนใจที่อยู่ตรงหน้า คุณพ่อคุณแม่สามารถแขวนโมบายให้อยู่ในระยะที่ลูกหยิบจับถึง เพื่อให้เด็กฝึกคว้า หรือจะนำของเล่นที่มีเสียงหรือสีสันสดใสมาเขย่าใกล้ ๆ ตัวลูกก็ได้นะคะ
- ประสาทสัมผัสในการมองเห็นและการได้ยินของลูกจะทำงานได้ดีขึ้นมาก โดยลูกจะสามารถหันตามเสียงเรียกได้ และลูกจะสามารถเปล่งเสียงเลียนแบบการพูดได้ ให้คุณพ่อคุณแม่ ทำเสียง จุ๊บจุ๊บ เดาะลิ้น หรือร้องเพลงง่าย ๆ ที่มีเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ให้ลูกฟัง และให้ลองจับมือลูกมาไว้ที่ปากคุณพ่อคุณแม่แล้วตีปากเบา ๆ พร้อมทำเสียงวา ๆ อีกสักพักลูกก็จะสามารถเลียนแบบได้
- ในวัยนี้ ลูกจะสามารถยันตัวขึ้น แขนเหยียดตรงจากท่านอนคว่ำได้ เพื่อเตรียมพร้อมกล้ามเนื้อสำหรับท่านั่ง ให้คุณพ่อคุณแม่ยกสิ่งที่ลูกสนใจให้อยู่สูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นให้ลูกเหยียดแขนตรงจากท่านอนคว่ำ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ เคล็ดลับดี๊ดี..กระตุ้นพัฒนาการ ทารกแรกเกิด-12 เดือน
เคล็ดลับดี๊ดี..กระตุ้นพัฒนาการ ทารกแรกเกิด-12 เดือน
7-8 เดือน
- ในช่วงวัยนี้ ลูกจะนั่งได้อย่างมั่นคง โดยไม่ต้องใช้แขนในการช่วยพยุง และยังสามารถเอี้ยวตัวเพื่อหยิบจับสิ่งของที่อยู่ด้านข้างได้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรวางของเล่นไว้ด้านข้าง แทนการวางไว้ตรงหน้า เพื่อให้ลูกได้ฝึกการเอี้ยวตัว
- ทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กในการหยิบจับสิ่งของจะดีขึ้น จึงควรฝึกให้ลูกหยิบจับสิ่งของชิ้นที่เล็กลง เช่น ของเล่นฝึกหยอดของใส่กล่อง เป็นต้น
- คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกเกาะยืนได้ในช่วงวัยนี้ค่ะ โดยการพยุงที่สะโพกในระหว่างที่ลูกยืน เมื่อลูกเริ่มเกาะยืนได้มั่นคงแล้ว ค่อยเลื่อนการพยุงไปอยู่ที่เข่า และค่อย ๆ ปล่อยมือเมื่อลูกเกาะยืนได้อย่างมั่นคง โดยสามารถเปิดเพลงเพื่อกระตุ้นให้ลูกเต้นตามได้นะคะ แต่มีข้อควรระวังคือ คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่ใกล ๆ ลูกในขณะที่เกาะยืน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นค่ะ
- ทักษะทางด้านภาษาของลูกก็จะแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในช่วงวัยนี้ค่ะ เพราะลูกจะรู้จักชื่อของตนเอง โดยเมื่อเรียกชื่อลูก ลูกก็จะหันตามต้นเสียง และยังสามารถร้องเพลง (ออกเสียงตามทำนองเพลง) ได้อีกด้วย และที่สำคัญ ในช่วงวัยนี้ ลูกจะสนุกกับการเล่น “จ๊ะเอ๋” อีกด้วย
9 เดือน
- ในช่วงวัยนี้ ลูกจะสามารถใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้ง ในการหยิบจับสิ่งของเล็ก ๆ ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรจัดหาอาหารที่ปลอดภัยและมีขนาดเล็กให้ลูกได้ลองหยิบจับและนำเข้าปากได้ด้วยตัวเอง เช่น กล้วยหั่นเล็ก แอปเปิ้ลสุกหั่นเล็ก เป็นต้น แต่สิ่งของอันตรายที่มีชิ้นเล็ก เช่น กระดุม เหรียญ ควรเก็บให้เข้าที่เข้าทาง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหยิบเข้าปากค่ะ
- คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกลูกตบมือได้ในช่วงนี้ค่ะ โดยตบมือให้ลูกดูก่อน แล้วจับมือลูกมาตบเบา ๆ เพื่อให้ลูกทำตาม และยังสามารถฝึกให้ลูกรู้จักปฏิเสธได้ในช่วงนี้อีกด้วยนะคะ โดยการส่ายหน้าพร้อมพูดคำว่า “ไม่เอา” เพื่อให้ลูกทำตาม
10-12 เดือน
- ลูกจะสนุกกับการหาของที่ซ่อน ให้หาผ้าผืนเล็ก ๆ บาง ๆ มาบังสิ่งของไว้ โดยอาจไม่ต้องบังให้ปิดหมดในครั้งแรก เพื่อให้ลูกใช้มือเปิดหาสิ่งของนั้น
- ในช่วงวัยนี้ลูกจะเริ่มตั้งไข่และเริ่มฝึกเดินเอง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรจัดเตรียมสถานที่ให้ปลอดภัย ไม่ควรมีของเล่นวางกระจัดกระจายอยู่บนพื้น เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และที่สำคัญ การใช้รถหัดเดิน ไม่ได้กระตุ้นให้ลูกตั้งไข่และเดินได้เร็วขึ้น แต่กลับทำให้ลูกเดินได้ช้าลงและเดินผิดวิธี
- กระตุ้นให้เด็กแสดงความต้องการโดยการชี้ เมื่อต้องการหยิบสิ่งของให้ลูก ไม่ควรหยิบมาชิ้นเดียว ให้หยิบมา 2 ชิ้น แล้วถามว่าต้องการอันไหน เพื่อให้ลูกได้ชี้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ
- ลูกจะสามารถเล่นสิ่งของตามประโยชน์ของมันได้ถูกต้อง เช่น การหวีผม การแปรงฟัน การใช้ช้อนตักข้าว เป็นต้น ให้คุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกดูก่อน แล้วคุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่าลูกสามารถทำตามได้อย่างถูกต้อง หากลูกยังไม่ทำตาม ให้จับมือลูกทำเบา ๆ
การ กระตุ้นพัฒนาการ ลูกให้สมวัย ไม่ได้มีข้อดีเพียงการให้ลูกสนใจ และทำสิ่งต่าง ๆ ได้ตามวัย แต่ยังเป็นโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ และลูกได้ใช้เวลาร่วมกัน ในการพูดคุย เล่น อ่านนิทาน เพื่อให้ลูกได้รับรู้ถึงความรัก และความเอาใจใส่ของคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจที่นี่
พัฒนาการ กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อ ตา มือ ปาก ในวัย 0-3 ปี
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ของทารกวัยแรกเกิด ถึง 3 ปี
ข้อมูลอ้างอิงจาก : คู่มือ เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย กระทรวงสาธารณะสุข
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่