การ ห่อตัวลูก เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้ เพราะผ้าห่อตัวจะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นคล้ายยังอยู่ในท้องแม่ที่คุ้นเคย อีกทั้งยังเป็นเสมือนการปลอบโยนและช่วยกล่อมให้ลูกหลับได้ในคราวเดียวกัน
ทำไมต้อง ห่อตัวลูก
เชื่อว่ามีคุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายคน ต้องเคยสงสัยว่า… ทำไมต้องใช้ผ้าห่อตัวเด็กด้วย ซึ่งเหตุผลของการห่อตัวเด็กก็เพราะตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ลูกอยู่ในท้องโดยได้รับการปกป้องดูแลอย่างดีภายในร่างกายของคุณแม่ พร้อมมีการพัฒนาและเจริญเติบโต ลอยตัวอยู่ในถุงน้ำคร่ำ ซึ่งอุณหภูมิในนั้นจะอุ่นๆ ทำให้ลูกน้อยรู้สึกสบายและปลอดภัย เมื่อคลอดออกมาสู่โลกภายนอก ลูกน้อยจะยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมและอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปได้ ทำให้เกิดความระแวงหรือหวาดกลัว โดยแสดงออกด้วยการร้องไห้
การห่อตัว สามารถช่วยกระชับแขนขาของลูกน้อยให้แนบแน่นกับลำตัวไม่เคว้งคว้างจะทำให้ลูกรู้สึกเสมือนว่ากำลังนอนคู้ตัวอยู่ในครรภ์ ช่วยลดอาการสะดุ้งตกใจ (จากเสียงดังรอบข้าง) ซึ่งการห่อตัวยังช่วยลูกเกิดความอบอุ่น ทั้งยังรักษาอุณหภูมิในร่างกายของลูก ทำให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเหมือนตอนที่อยู่ในท้องแม่นั้นเอง
ประโยชน์ของผ้าห่อตัวทารก
- ผ้าห่อตัวสามารถช่วยกระชับแขนขาของทารกให้แนบแน่นกับลำตัวไม่ให้เคว้งคว้างทำให้ทารกรู้สึกเสมือนว่ากำลังนอนคู้ตัวอยู่ในท้องแม่
- ช่วยลดอาการสะดุ้งตกใจจากเสียงดังรอบข้าง
- ช่วยให้เกิดความอบอุ่น รักษาอุณหภูมิของร่างกายทารก ทำให้ไม่รู้สึกหนาวเย็น
- ช่วยพยุงตัวทารก เนื่องจากเด็กแรกเกิดตัวยังอ่อน คอยังไม่แข็งทำให้อุ้มยาก การห่อตัวจะช่วยเพิ่มแรงพยุงและอุ้มง่ายขึ้น เวลาจะเปลี่ยนให้อีกคนอุ้มก็จะง่ายขึ้นด้วย
- ช่วยเรื่องการพัฒนาระบบประสาทโดยเฉพาะเด็กเล็กคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยมากๆ การห่อตัวจะช่วยลดปฏิกิริยาที่ไวมากต่อการกระตุ้นจากการถูกสัมผัสครั้งแรก ช่วยให้เด็กปรับตัวกับการถูกสัมผัสได้ดีขึ้น
เพราะเหตุใดการห่อตัวทารกแรกคลอดอาจเสี่ยงต่อโรคไหลตาย ?
แม้ว่าการห่อตัวทารกน้อยจะเป็นวิธีที่ช่วยให้ทารกนอนหลับได้ดีขึ้น แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายได้ สาเหตุพื้นฐานที่สามารถอธิบายได้คือ เมื่อทารกน้อยเริ่มพลิกตัวนอนคว่ำในขณะได้รับการห่อตัวอาจทำให้ขาดอากาศหายใจเนื่องจากการคว่ำหน้าลงบนวัสดุรองนอน ทารกน้อยจะไม่สามารถพลิกตัวกลับมานอนหงายได้เอง เนื่องจากแขนขาถูกห่อไว้ นอกจากนี้การศึกษาในต่างประเทศพบว่าทารกที่ได้รับการห่อตัวในขณะหลับจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่าทารกที่ไม่ได้รับการห่อตัวหลังได้รับการกระตุ้นด้วยเสียงดัง ถ้าหากทารกน้อยมีความบกพร่องในการควบคุมการทำงานของหัวใจและไม่สามารถปลุกให้ตื่นจากการนอนหลับ อาจนำไปสู่การลดการตอบสนองของหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ก่อให้เกิดโรคไหลตายในทารกหรือ sudden infant death syndrome (SIDS) นอกเหนือจากภาวะเสี่ยงต่อโรคไหลตายในทารกแล้ว การห่อตัวทารกอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเจริญพัฒนาของสะโพกที่ผิดปกติ อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน ปอดบวม หรืออาจเกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน
อ่านต่อ >> “ห่อตัวลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัยในช่วงเวลานอน” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
คุณแม่สามารถใช้ผ้าห่อตัวได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด – 3 เดือน ในเด็กอายุมากกว่า 1 เดือน อาจใช้ผ้าห่อตัวเพียงตอนกลางคืนอย่างเดียวก็ได้ ให้สังเกตอาการเด็กว่าเริ่มขยับแขนขาแกว่งไปมามากๆ หรือมีอาการอึดอัดร้องไห้โยเยให้คลายผ้าห่อตัวออก ห่อแบบหลวมๆ ซึ่งไม่มีอะไรเป็นกฎเกณฑ์แน่นอนให้ดูที่พฤติกกรมของเด็กแต่ละคนว่ายังต้องการผ้าห่อตัวหรือไม่ แต่ก็ไม่ควรนานเกิน 3 เดือน เพราะปกติเมื่อเด็กเริ่มย่างเข้าช่วงเดือนที่ 2-3 พัฒนาการของลูกในการใช้มือและเท้าเริ่มดีขึ้นมาก สามารถหยิบจับสิ่งของเบา ๆ ได้และออกแรงถีบจนพลิกตัวได้เด็กในช่วงวัยนี้จะเริ่มไม่ยินยอมให้มีอะไรมาพันธนาการแขนขาเหมือนช่วงเดือนแรก จะสังเกตได้จากเวลาที่พันผ้าห่อตัวแล้วเด็กเริ่มดิ้นขัดขืนแสดงอาการไม่ชอบไม่ยอมให้ห่อตัว นั่นก็แปลว่าผ้าห่อตัวไม่จำเป็นสำหรับเขาอีกต่อไปแล้ว
การห่อตัวส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่จะห่อตัวให้ลูกตอนที่ต้องพาออกนอกบ้านไปพบคุณหมอหรือห่อตัวเฉพาะตอนสระผมแต่ก็ยังมีคุณแม่อีกส่วนหนึ่งที่เห็นประโยชน์ของการห่อตัวโดยเฉพาะกับลูกที่ชอบตื่นมาร้องกวนบ่อย ๆ ในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งการห่อตัวเด็กในช่วงเวลานอนโดยเฉพาะเด็กอ่อนในช่วงเดือนแรกที่ยังอยู่ในช่วงของการปรับตัว การห่อตัวจะช่วยให้เด็กนอนได้นานขึ้น เนื่องด้วยเวลาที่เด็กตื่นมากลางดึกมือเท้าป่ายเปะปะทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในที่โล่ง อีกทั้งมือที่ป่ายเปะปะไปถูกที่ใบหน้าก็มีส่วนกระตุ้นให้เด็กนอนหลับต่อเนื่องได้ยากขึ้นและเด็กก็จะเริ่มร้องไห้กวนคุณแม่
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ห่อตัวลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัย?
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Pediatrics) ให้คำแนะนำในการห่อตัวทารกน้อยเพื่อความปลอดภัยในการนอนของทารกในช่วงเวลากลางวันและกลางคืนไว้ดังนี้
- ให้ทารกนอนหลับในท่านอนหงาย เฝ้าติดตามดูลูกน้อยเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าตัวน้อยไม่ผลิกตัวนอนคว่ำหรือนอนตะแคงข้าง ในระหว่างที่ห่อตัวทารกไว้ขณะนอนหลับ
- จัดผ้าปูที่นอนหรือวัสดุรองนอนบนเตียงของลูกน้อยให้ตึงอยู่เสมอ เนื่องจากผ้าปูที่นอนหรือวัสดุรองนอนที่หย่อนรวมถึงผ้าห่อตัวทารกที่ห่อไว้หลวมๆ อาจหลุดออกจากเตียงหรือตัวของทารกน้อยและอาจเป็นสาเหตุทำให้อุดปากหรือจมูกขัดขวางทางเดินหายใจและเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตจากการขาดอากาศได้
- วัสดุรองนอนของทารกต้องปราศจากแผ่นรองนอนที่นิ่มจนบุ่มลงเป็นแอ่ง ปราศจากของเล่นชนิดต่างๆ หมอนและเครื่องนอนอื่นๆ ควรแยกที่นอนของทารกออกจากที่นอนหลักของพ่อแม่เพื่อลดความสูญเสียทารกจากการนอนทับหรืออุบัติเหตุอันไม่คาดคิด
- การห่อตัวอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายของทารกสูงกว่าปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตร่างกายของทารกน้อยอย่างสม่ำเสมอในระหว่างการห่อตัว อาการที่บ่งบอกถึงสภาพของทารกที่ร้อนกว่าปกติ เช่น มีเหงื่อออกตามตัว ผมเปียกชื้น แก้มแดงกว่าปกติ มีผื่นขึ้นจากความร้อน หายใจเร็ว เป็นต้น
อ่านต่อ >> “วิธีการเลือกผ้าห่อตัว และการห่อตัวลูกแต่ละแบบ (มีคลิป)” คลิกหน้า 3
วิธีการเลือกผ้าห่อตัวลูก
ผ้าห่อตัวทารกมี 2 แบบ คือ ผ้าฝ้าย(Cotton) และ ผ้าขนหนู
ผ้าฝ้าย ข้อดีคือ จะเก็บความอุณหภูมิได้ดีกว่าและมีการใช้งานได้นานกว่า ส่วนข้อเสีย คือ เมื่อเปื้อนสกปรกจะทำความสะอาดได้ยากกว่า ผ้าขนหนู ข้อดีคือ สามารถดูดซับน้ำได้ดีกว่าผ้าคอตตอน ข้อเสียคือ เมื่อมีการใช้งานไปนานๆ เนื้อผ้าจะหลุดลุ่ยเสื่อมสภาพเร็วกว่าผ้าคอตตอน
ผ้าห่อตัวทารก ควรเลือกใช้งานให้เหมาะกับแต่ละสภาพอากาศ เช่น
- หากวันที่อากาศร้อน หรือต้องอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิค่อนข้างร้อน ควรเลือกใช้ผ้าห่อตัวทารกที่เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี เนื้อผ้าต้องไม่หนามาก
- หากเป็นวันที่อากาศเย็น (หนาว) หรือต้องอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ (เย็นมาก) ควรเลือกใช้ผ้าห่อตัวทารกที่เนื้อผ้ามีความหนาพอที่จะเก็บความร้อนให้กับร่างกายทารกได้อย่างดี
- หากเป็นการห่อตัวเวลาจะสระผมเด็กทารกส่วนใหญ่ก็จะใช้ผ้าขนหนูเพราะมีความหนา (กันหนาวเวลาที่เด็กถอดเสื้อผ้าออกหมดเพื่อตรียมอาบน้ำ) และหลังจากสระผมเสร็จหลังอาบน้ำผ้าขนหนูยังนำมาใช้เป็นผ้าเช็ดตัวได้ด้วย
ลักษณะการห่อตัวเด็กลูกแบบต่างๆ
- การห่อตัวแบบคลุมศีรษะ : ช่วยในการเตรียมตรวจหรือทำหัตถการบริเวณใบหน้า เพื่อเคลื่อนย้ายกรณีป่วย เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายเด็ก ป้องกันการสูญเสียความร้อน หรือ กรณีห่อตัวเพื่อกลับบ้าน
- การห่อตัวแบบเปิดศีรษะ : ช่วยในการทำหัตถการบริเวณศีรษะ เช่น การให้น้ำเกลือที่ศีรษะ การเจาะเลือด การล้างจมูก ดูดเสมหะ ฯลฯ
- การห่อตัวแบบเปิดแขนข้างใดข้างหนึ่ง : ช่วยในการทำหัตถการบริเวณแขน หรือปลายนิ้ว เช่น การให้น้ำเกลือ การเจาะเลือด หรือการทำแผล
- การห่อตัวแบบเปิดช่วงอก : ช่วยในการทำหัตถการบริเวณช่วงอก เช่น การใส่สายยางให้อาหาร การทำแผลบริเวณหน้าอก หน้าท้อง ฯลฯ
วิธี การห่อตัวลูก
การห่อตัวลูก โดยทั่วไปที่จะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ใช้กับลูกที่บ้านคือ
- การห่อตัวแบบคลุมศีรษะ แบบหน้าหนาว (หรืออยู่ในห้องแอร์) เพื่อความอบอุ่นและปลอดภัย เหมาะสำหรับเด็กทารกวัยแรกเกิดถึง 1 เดือน
- เริ่มจากปูผ้าห่อตัวไว้แล้วพับปลายเข้ามา เมื่อลูกน้อยนอนลงบนผ้าให้จับผ้าบริเวณศีรษะเข้ามาห่อหน้าลูกทั้งสองด้าน จากนั้นใช้มือพยายามจับมือลูกไม่ให้พับหรือกางเกินไปให้อยู่ในผ้าแนบลำตัว
- พับผ้าทบด้านใดด้านหนึ่งเข้ามาหาตัวลูก แล้วใช้มือข้างหนึ่งจับผ้าที่ทบไว้ แล้วมืออีกข้างจับผ้าอีกด้านทบตามเข้ามาจนปิดตัวลูกมิดชิด
- พยายามพับเก็บชายผ้าด้านข้างให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เป็นปมด้านในเพราะจะกดทับลูก โดยพับผ้าซ้าย-ขวาให้ปิดมิดชิด สุดท้ายคือเก็บปลายผ้าที่เหลือไว้ด้านล่างให้เรียบร้อยก็เสร็จค่ะ
คลิป การห่อตัวแบบคลุมศีรษะ
- วิธีห่อตัวทารก แบบไม่ห่อศีรษะ
- ปูผ้าที่ใช้ห่อตัวลูกลงบนเตียงพับมุมหนึ่งลงมาให้ผ้ากลายเป็นห้าเหลี่ยม
- อุ้มลูกมาวางลงผ้าห้าเหลี่ยมที่ปูไว้โดยวางลูกโดยให้ระดับบ่าของเด็กอยู่ที่ริมผ้าด้านที่พับมุม
- จับแขนทั้งสองข้างของลูกให้แนบลำตัว ดึงชายผ้าข้างหนึ่งคลุมไหล่ แล้วดึงผ่านลำตัวไปสอดไว้ใต้แขนอีกข้างหนึ่ง
- จับแขนอีกข้างหนึ่งแนบลำตัว ตลบชายผ้าด้านที่เหลือให้คลุมไหล่และคลุมผ่านลำตัว แล้วอ้อมชายผ้าไปพันรอบตัวเด็กด้านหลัง
- รวบชายผ้าบริเวณปลายเท้า และผูกชายผ้าเป็นปมจับผ้าจากด้านขวาเข้ามาห่อตัวลูก หรือเก็บชายผ้าเข้ามาใต้ตัวลูก
คลิป การห่อตัวแบบไม่คลุมศีรษะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!!
ทารกแรกเกิดควรสวมเสื้อผ้าแบบไหน? เมื่ออยู่ในห้องแอร์
เพราะเหตุใดทารกถึงนอนสลับเวลา!
ประโยชน์ที่พ่อและแม่ควรนอนใกล้กันกับลูกน้อย
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.kidsd.net , www.pharmacy.mahidol.ac.th
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก : Bonnie Hoellein