AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

พ่อแม่ช่วยได้! หาก ” ลูกไม่ยอมพูด “

ทำอย่างไรเมื่อ “ลูกไม่ยอมพูด” ทั้ง ๆ ถึงเวลาที่ควรจะเริ่มพูดได้แล้ว แบบนี้ผิดปกติหรือไม่ แล้วจะมีวิธีไหนช่วยลูกได้บ้าง ถ้าอยากรู้ ไปอ่านบทความนี้กันเลยค่ะ

 

 

ปกติแล้ว เด็ก ๆ จะเริ่มพูดได้เมื่อไหร่?

ในความเป็นจริงลูกของคุณพ่อคุณแม่นั้น มีพัฒนาการทางด้านภาษาตั้งแต่แรกเกิดแล้วละค่ะ เพียงแต่เป็นการแสดงออกในด้านของการส่งเสียงร้อง พอลูกมีอายุได้ 2 – 3 เดือน ก็จะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ เหมือนพยายามจะคุยโม้กับคุณพ่อคุณแม่ หลังจากนั้นพัฒนาของลูกก็จะเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีอายุได้ 5 – 6 เดือน คราวนี้ละค่ะ ลูกจะเริ่มเป่าฟอง เล่นน้ำลายในปาก พร้อมกับส่งเสียงในลำคออย่างสนุกสนาน จนในที่สุดลูกก็จะเริ่มออกเสียงเป็นคำพูดสั้น ๆ ได้ ถึงตอนนั้นแล้วลูกก็จะมีอายุได้ประมาณ 10 – 15 เดือนแล้วละค่ะ ซึ่งโดยคาดการณ์แล้ว ลูกของคุณพ่อคุณแม่ก็จะเริ่มพูดตอนมีอายุได้ประมาณ 1 ปีแล้วนั่นเอง

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกมีอายุครบ 2 ปีแล้วและลูกไม่ยอมพูดหรือพูดได้แค่คำศัพท์คำเดียว หรือสื่อสารกับคนอื่น ๆ ไม่ได้ แบบนี้ถือว่าเกิดบางสิ่งบางอย่างผิดปกติขึ้นกับลูกแน่นอนค่ะ ดังนั้น ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่า พัฒนาการทางภาษาของลูกนั้นไม่เหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ ตามระยะเวลาที่ควรจะเป็นแล้วละก็ แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ทันที 

วิธีการสังเกตเพิ่มเติมก็คือ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองดูว่า เวลาที่เราสื่อสารกับลูกนั้น ลูกเข้าใจหรือไม่ โดยให้ดูจากการพูดหรือสั่งเป็นหลัก เพราะธรรมชาติของเด็กที่มีอายุครบ 1 ปีนั้น เด็กจะสามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ และเข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่พูดอะไรค่ะ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกไม่เข้าใจ ไม่สนใจ หรือขานชื่อเรียกแล้วลูกไม่แสดงอาการตอบรับละก็ เมื่อนั้นให้พาลูกไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาแพทย์โดยทันทีเช่นกัน

  ลูกไม่ยอมพูด เพราะเป็นเด็กพูดช้าจริงหรือไม่ คลิกหาคำตอบได้ที่นี่


เครดิต: โรงพยาบาลศิริราช

ลูกไม่ยอมพูด เพราะเป็นเด็กพูดช้า?

ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เด็กพูดช้า สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่ 

  1. ลูกมีความผิดปกติของหูหรือไม่ เช่น การได้ยินไม่ได้ หูดับ หูหนวก 
  2. มีพัฒนาการล่าช้าในทุก ๆ ด้าน หรือมีภาวะปัญญาอ่อน เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการด้านอื่น ๆ ช้ากว่าเด็กที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน 
  3. ภาวะออทิสติก เด็กกลุ่มนี้นอกจากจะมีความบกพร่องในเรื่องของการใช้ภาษาการสื่อสารกับผู้อื่น ทางด้านการพูด หรือการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด ยกตัวอย่างเช่น การใช้ท่าทาง การสบตา ยังรวมไปถึงความบกพร่อมทางด้านสังคมด้วย
  4. พบว่ามีประวัติในครอบครัวมีญาติที่เคยพูดช้า ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เราจะเรียกว่า มีความบกพร่อง เฉพาะด้าน เฉพาะการพูดอย่างเดียว แต่พอเริ่มพูดได้ก็จะพูดเป็นปกติเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป
  5. เด็กที่พูดช้า แต่ขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม เช่น พ่อไม่มีมีเวลา ก็มักจะเปิดโทรทัศน์ไว้ให้เด็กดู แต่ไม่มีติดต่อสื่อสารโต้ตอบ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการสื่อสารเพียงอย่างเดียว ทำให้การพัฒนาทางภาษาของเด็กหยุดงะงัก ซึ่งทางบ้านเราจะได้ประวัติว่ามักจะให้พี่เลี้ยงเลี้ยง ซึ่งอาจจะไม่มีการเล่น หรือพูดคุยกันเลย

สำหรับเด็กที่มีการพัฒนาการช้าทางด้านภาษาแล้วนั้น มีโอกาสที่จะส่งผลให้พัฒนาการทางด้านอื่น ๆ ตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น เด็กไม่สามารถสื่อออกมาได้ว่า ต้องการอะไร พอสื่อสารไม่ได้ก็จะเริ่มหงุดหงิด อาละวาด และร้องไห้ ส่งผลให้ผู้ใหญ่บางคนที่ไม่เข้าใจหงุดหงิดและลงโทษเด็กด้วยการดุ หรือการตี และนั่นจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กมีปัญหาในด้านของอารมณ์ และพฤติกรรมทั่วไปได้

คลิกอ่าน พ่อแม่สามารถช่วยลูกได้อย่างไร? 

 


วิธีการช่วยกระตุ้นทำให้ลูกน้อยพูดได้ไวขึ้น

 

 

  1. ชวนลูกพูดคุยเสียตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ต้องสนใจนะคะคุณพ่อคุณแม่ ว่าลูกจะเข้าใจหรือไม่ ชวนลูกพูดคุยให้เยอะ ๆ อาจจะเริ่มจากการทักทายตั้งแต่ตื่นนอน “สวัสดีจ้ะ เมื่อคืนนอนหลับสบายไหมจ้ะ” หรือเวลาที่ป้อนข้าวลูก อาบน้ำ หรือทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ พูดกับลูกไปเลยค่ะ พูดไปเยอะ ๆ ไม่ว่าลูกจะส่งเสียงตอบรับอะไร ก็ให้ตีความไปเลยว่าลูกเข้าใจ และกำลังโต้ตอบกับเราอยู่
  2. แนะนำคำศัพท์สั้น ๆ เข้าใจง่ายในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น คำว่า น้ำ หม่ำ ๆ หรือนม เป็นต้น โดยวิธีการง่าย ๆ ก็คือ ทุกครั้งที่ต้องการจะให้ลูกดื่มน้ำ คุณแม่ก็ควรพูดคำว่า “น้ำ” ช้า ๆ ชัด ๆ ไม่ควรพูดเร็วนะคะ และที่สำคัญน้ำเสียงจะต้องดูอ่อนโยนน่าฟัง
  3. เล่านิทาน คุณพ่อคุณแม่ควรจะมีหนังสือนิทานสักเล่มหนึ่ง ที่มีภาพสีสวย ๆ และสามารถดึงดูดความสนใจของลูกได้ พร้อมกับเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอนทุก ๆ คืน แรก ๆ ลูกอาจจะยังไม่สนใจฟังเท่าไหร่ เพราะกำลังตื่นตาตื่นใจกับสีสันในสมุด แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เล่าเรื่องเดิมทุก ๆ วัน ลูกจะเริ่มเข้าใจได้เอง แต่อย่าลืมนะคะว่า การเล่านั้น ควรจะมีโทนเสียงสูงต่ำสลับกันไปด้วย
  4. พาลูกออกห่างจากสื่อทีวีและอินเทอร์เนท หากอยากให้ลูกของเราพูดได้ไว ข้อนี้สำคัญมาก ๆ เลยละค่ะ อย่าหยิบยื่นมือถือ ทีวี หรือสื่อต่าง ๆ ให้ลูกดูโดยเด็ดขาด เพราะสื่อเหล่านี้ นอกจากจะไปปิดกั้นพัฒนาการทางด้านภาษาที่ไม่มีใครสามารถโต้ตอบกับพวกเขาได้แล้ว ยังทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บตัว และมีสมาธิสั้นได้อีกด้วย

และที่สำคัญ สิ่งที่จะช่วยให้ลูกพูดได้ไวขึ้นก็คือ ความรักและความใส่ใจจากคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ ดังนั้น หยุดวางมือถือลงเถอะค่ะ ให้เวลากับลูกให้มาก ๆ ชวนลูกพูดคุยเยอะ ๆ ง่าย ๆ เท่านี้ลูกก็จะสามารถเริ่มพูดคุยและสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ได้เร็วขึ้นแล้วละค่ะ คราวนี้แหละ ขอให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมรับมือกับหนูน้อยช่างจ้อเอาไว้ได้เลย

เครดิต: Momjunction

อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids