“ ลูกชันคอได้ ตอนอายุกี่เดือน ” … อีกหนึ่งคำถามคาใจของคุณแม่มือใหม่หลายคนที่คอยเฝ้าลุ้นกับพัฒนาการของลูกน้อย โดยการเคลื่อนไหวของทารกน้อย ไม่ว่าจะเป็นการชันคอ พลิกคว่ำ คืบ คลาน ล้วนต้องอาศัยกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ช่วยในการเคลื่อนไหวทั้งนั้น ซึ่งเมื่อเข้าเดือนที่ 4 ลูกน้อยจะต้องสามารถชันคอได้ 90 องศา ชันคอได้แข็งแรงขึ้น ใช้แขนน้อยยันยกตัวขึ้น ศีรษะตั้งตรง เริ่มจะพลิกตัวได้บ้างแล้ว
ลูกชันคอได้ตอนอายุกี่เดือน
ภายใน 2 เดือนแรกหลังทารกคลอด จะมีการเคลื่อนไหวที่ทารกพยายามควบคุมได้ดีขึ้น คือ การเคลื่อนไหวของลูกตาที่จ้องมองสบตากับแม่ในขณะให้นมได้ดี, เคลื่อนไหวขยับ ใบหน้าให้เอียงตามองจับจ้องของที่เคลื่อนไหวใกล้ ๆ ได้,กล้ามเนื้อคอจะเริ่มทำงานแข็งขึ้นจากการที่ทารกขยับในหลายทิศทาง จะเห็นว่าความสนใจในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่อยู่ใกล้ ๆ ทั้งแสง สี เสียง สัมผัส ส่งผลทำให้ทารกเฝ้าติดตามมองเป็นการมาเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณคอโดยตรง
ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวร่างกายของทารกในช่วงขวบปีแรกนั้น มาจาก กล้ามเนื้อคอ ไม่ว่าจะคว่ำ คลาน นั่ง ยืนไปจนกระทั่งเดินได้ในที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกมีพัฒนาการด้านร่างกายที่ดี ก็ต้องใส่ใจพัฒนากล้ามเนื้อคอของลูกแต่เนิ่นๆ เพราะกล้ามเนื้อคอที่แข็งแรง นำมาสู่พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวที่ดีของลูก
การชันคอ ถือเป็นพัฒนาการเริ่มแรกที่เด็กควรทำได้ ซึ่งจะอาศัยการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ให้มีการทำงานที่สมดุลเพื่อพัฒนาไปสู่การเคลื่อนไหวอื่น ๆ ทารกส่วนใหญ่จะมีกล้ามเนื้อคอที่แข็ง และสามารถตั้งคอได้เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 3-4 เดือน แต่เด็กบางคนเพียงแค่ 1-2 เดือนก็คอแข็งแล้ว ทั้งนี้หากคุณแม่ต้องการให้ลูกชันคอ ตั้งคอได้ ควรช่วยฝึกลูกด้วยเทคนิคง่ายๆ ดังนี้
พัฒนาการเด็ก 1-2 เดือน : ยกศีรษะได้แล้ว
กล้ามเนื้อคอของลูกจะเริ่มแข็งแรงขึ้นจนคุณแม่สังเกตได้ว่า เมื่อจับลูกนอนคว่ำสักพัก ลูกจะสามารถชันคอขึ้นได้ประมาณ 45 องศา และเริ่มบังคับศีรษะได้บ้าง การเคลื่อนไหวไม่กระตุก
เหมือนช่วงก่อน คุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกนอนคว่ำบ้าง เพื่อจะได้ฝึกหัดชันคอ โดยที่นอนไม่ควรนุ่มเกินไป และไม่จำเป็นต้องมีหมอน เพราะลูกจะหายใจไม่ออกเวลาที่ฟุบหน้าลงไป ขณะที่ลูกนอนคว่ำ คุณแม่อาจหาของเล่นมาหลอกล่อในระดับที่สูงจากพื้นนิดหนึ่ง เพื่อล่อให้เจ้าหนูยกศีรษะขึ้นมอง
คุณแม่ช่วยได้
- ออกกำลังกล้ามเนื้อคอ โดยให้ลูกนอนหงาย แล้วจับมือทั้งสองดึงขึ้นช้าๆ สู่ท่านั่ง ลูกจะพยายามเกร็งคอและศีรษะให้ตั้งตรง จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อคอ แขน และลำตัวของลูกได้ค่ะ
- หมั่นส่งเสียงเรียกเพื่อดึงความสนใจให้ลูกหันหาเสียง
- ยื่นหน้าไปใกล้ๆ ลูกราว 1 ฟุต ขณะลูกนอนคว่ำ พร้อมส่งเสียงพูดคุย ขยับหน้าไปมา ขยับขึ้นบนลงข้างล่างบ้างเพื่อให้ลูกน้อยมองตาม
อ่านต่อ >> “เทคนิคการฝึกลูกน้อยชันคอ” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
พัฒนาการเด็ก 3-4 เดือน : คอแข็งแล้ว
เด็กในวัย 3 เดือนคอเริ่มแข็งแรงดีแล้วค่ะ ทั้งยังสามารถยกศีรษะได้ 90 องศา และชันคอได้นานขึ้นกว่าเดิม แล้วพอเข้า 4 เดือนก็สามารถยันตัวขึ้นด้วยแขนส่วนปลาย และเด็กบางคนก็เริ่มพลิกตัวได้แล้วในเดือนนี้
โดยทั่วไปเด็กจะมีพัฒนาการพลิกคว่ำพลิกหงายในราวเดือนที่ 4 ซึ่งมักเริ่มจากการพลิกคว่ำก่อน เพราะกล้ามเนื้อคอ ไหล่ หลังและสะโพกแข็งแรงมากขึ้น
แต่ถ้าลูกของคุณแม่ยังไม่มีทีท่าจะพลิกก็อย่าเพิ่งกังวลไป เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของร่างกายและสรีระของเด็กแต่ละคนด้วยค่ะ อดใจรอดูบางทีเดือนหน้าหรือเดือนถัดไป ลูกอาจจะทำได้ก็ได้
ทั้งนี้หาก จะให้ลูกสามารถชันคอได้ดีด้วยการฝึก เด็กเล็ก 4 เดือนจะชันคอได้ในท่านอนคว่ำคล้ายๆ กบ โดยใช้สองมือยันพื้นพยุงคอและลำตัวได้เล็กน้อย การฝึกการชันคอให้ลูกนั้น คุณแม่ทำได้ด้วยการ
- ใช้ของหลอกล่อโดยให้ลูกนอนคว่ำหน้า และใช้ของเล่นที่มีสีสันสดใส เช่น แดง เขียว ส้ม วางข้างหน้า ให้เขามองตาม เพื่อฝึกการชันคอและฝึกสายตา ซึ่งสายตาเขาเริ่มมองเห็นได้ในระยะไกลได้และชัดเจนมากขึ้น นั่นเพราะสายตาเด็กจะไวต่อสีสดใส และจะพยายามมองตามสิ่งแปลกใหม่
- ใช้ของเล่นที่มีเสียงบีบในระยะใกล้ๆ และค่อยๆ ห่างออกไปเพื่อให้ลูกมองตาม สังเกตว่าเขาจะพยายามมองหาเสียงนั้นๆ และพยุงตัว ชันคอขึ้นจากพื้น ซึ่งเป็นการฝึกกล้ามเนื้อแขน กระดูกสันหลัง และสะโพกให้แข็งแรงขึ้น รวมทั้งฝึกประสาท หู สายตา ให้ทำงานประสานกันได้ดีขึ้นนั่นเอง
- ให้นอนคร่อมขาแม่ให้คุณแม่นั่งเหยียดขาตรง จับลูกนอนคว่ำให้ลำตัวคร่อมที่ขาแม่ ให้ศีรษะเขาเลยไปหน่อย เพื่อฝึกให้เขาหัดชันคอ คุณแม่อาจจะใช้หมอนรองที่หน้าอกลูกเพื่อเขาจะได้ไม่เจ็บ
- ให้นอนบนพื้นเรียบเพื่อให้ลูกได้มีโอกาสพลิกตัวไปมา ให้เขามีอิสระในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน และไม่ควรให้ลูกนอนเปลผ้า จะทำให้พัฒนาการล่าช้า เพราะทารกไม่มีโอกาสได้หัดพลิกคว่ำพลิกหงายตามขั้นตอน และพัฒนาการการนั่ง การคืบคลาน จะช้าตามไปด้วย นอกจากนี้ยังขาดการกระตุ้นทางสายตาอีกด้วย
- อุ้มพาดบ่าให้คุณแม่อุ้มลูกน้อยผลัดเป็นท่าพาดบ่าบ้าง ยามเดินเล่น เพื่อฝึกให้เขาได้ชันคอ แต่ทั้งนี้ควรเป็นไปอย่างระมัดระวัง
- ให้ลูกนอนหงายให้ลูกนอนหงายบนพื้นราบ จับมือทั้งสองข้างให้ลูกลุกขึ้นเบาๆ จะเห็นว่าลูกน้อยจะเกร็งคอเวลาลุก ช่วยให้กล้ามเนื้อคอของลูกน้อยแข็งแรงขึ้นนั่นเองค่ะ
- อุ้มลูกนั่งตัก ให้หลังลูกห่างจากลำตัวคุณแม่เล็กน้อย การอุ้มนั่งจะช่วยกล้ามเนื้อคอและหลังลูกให้แข็งแรงขึ้นได้ เช่นเดียวกับท่าอุ้มแบบหิ้วมือเดียว โดยใช้มือข้างหนึ่งของคุณแม่หิ้วประคองตรงช่วงหน้าอกลูกไว้
- ให้ลูกนอนเล่นกับโมบายล์แบบคร่อมตัวลูก จะช่วยดึงดูดให้ลูกอยากจับสัมผัส โดยเอื้อมมือ ซึ่งต้องใช้กล้ามเนื้อคอ หลังและแขนควบคู่กันไป
ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่วัย 5 เดือน ลูกน้อยก็จะสามารถพลิกคว่ำ พลิกหงาย รวมทั้งใช้มือยันตัวขึ้นข้อศอกเหยียดตรงขณะนอนคว่ำได้ และเมื่อจับนั่งศีรษะจะไม่ห้อยไปด้านหลังอีกแล้วค่ะ และพอย่างเข้าเดือนที่ 6 เด็กหลายคนจะเริ่มพลิกหงายจากท่านอนคว่ำได้แล้ว และบางคนก็สามารถนั่งในลักษณะโน้มตัวไปข้างหน้าโดยใช้มือยันพื้นได้ และก็มีเด็กบางคนเหมือนกัน ที่สามารถนั่งได้โดยไม่ล้ม ในเดือนที่ 6 นี้เอง นั่นแสดงว่ากล้ามเนื้อคอ ไหล่ หลัง ของเขาแข็งแรงมากๆ การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อทำงานประสานกันได้ดี
เด็กวัยนี้จะสนอกสนใจเท้าตัวเองมาก และนั่นเป็นเรื่องดีค่ะ เพื่อเขาจะพยายามยกศีรษะมองปลายเท้าและพยายามคว้าจับมันขึ้นมาให้ได้ ซึ่งนับเป็นความสนใจตามธรรมชาติที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการการเคลื่อนไหวได้ดีทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ลูกหัดพลิกคว่ำพลิกหงายอยู่นี้คุณแม่สามารถช่วยจับดันให้ลูกพลิกตัวได้บ้าง แต่แค่ครั้งสองครั้งก็พอค่ะ เพื่อให้ลูกฝึกช่วยเหลือตัวเองให้มากๆ
ด้วยความใส่ใจ และการฝึกฝนที่ถูกวิธีในบรรยากาศที่ไม่เคร่งเครียด คุณแม่จะพบว่าผลของการกระตุ้นกล้ามเนื้อคอจะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นจริงๆ
กระตุ้นพัฒนาการตามลำดับขั้นของอายุ โดยจะกระตุ้นพัฒนาการในขั้นที่เด็กติดอยู่และจะพยายามทำการกระตุ้นให้ครบทุกด้านที่เด็กติดอยู่ รวมถึงทำการกระตุ้นพัฒนาการในขั้นถัดไปให้เด็กด้วย และจากพัฒนาการข้างต้นหากคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีพัฒนาการไม่ตามวัย หรือช้าผิดปกติให้รีบสงสัย พร้อมพาลูกไปปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อทราบถึงสาเหตุ พร้อมหาวิธีฝึกพัฒนาการให้ลูกสมตามวัยทารกนั่นเอง
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- สังเกตสัญญาณ “พัฒนาการล่าช้า” ของลูก
- 4 สิ่งควรรู้หากคุณกลัวลูกพัฒนาการช้า
- ช่วยฝึกลูกนั่ง คลาน ยืน เดิน อย่างถูกวิธี และไม่เร่งลูก
ขอบคุณข้อมูลจาก : baby.haijai.com
Save