เด็กที่ขาด โกรทฮอร์โมน จะทำให้เตี้ยจริงหรือ? - Amarin Baby & Kids
เด็กขาดโกรทฮอร์โมน

เด็กที่ขาด โกรทฮอร์โมน จะทำให้เตี้ยจริงหรือ?

event
เด็กขาดโกรทฮอร์โมน
เด็กขาดโกรทฮอร์โมน

โกรทฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนเพิ่มสูงจริงไหม แล้วมันทำงานอย่างไร หาได้ที่ไหน ร่างกายผลิตได้เท่ากันทุกคนหรือไม่ และอีกหลากหลายคำถามคาใจ รวมคำตอบไว้พร้อมให้คุณแล้ว

เด็กที่ขาด โกรทฮอร์โมน จะทำให้เตี้ยจริงหรือ?

ปัญหายอดฮิตปัญหาหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่สมัยนี้ให้ความสำคัญ นั่นคือ ปัญหาเรื่องส่วนสูงของลูก เพราะปัจจุบันความสำคัญของบุคลิกภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจหรือเพิ่มโอกาสในหน้าที่การงาน การที่ลูกเราสามารถมีส่วนสูงที่ได้มาตรฐาน หรืออย่างน้อยเพียงแค่ให้เขาดูไม่เตี้ยจนเกินไปนั้นก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่อย่างเราหวังให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุดอย่างแน่นอน

ปัจจัยที่มีผลต่อความสูง

ความสูงที่ไม่เท่ากันของแต่ละคน เป็นผลมาจากปัจจัยหลาย ๆ ด้าน ดังนี้

  • พันธุกรรม นักวิทยาศาสตร์คาดว่าพันธุกรรมเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความสูง โดยคิดเป็น 60-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20-40 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยอื่น ๆ แนวโน้มความสูงของบุตรจึงมักขึ้นอยู่กับยีนส์ของพ่อและแม่
  • เพศ ชายและหญิงมีช่วงที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth Spurt) แตกต่างกัน ในเพศชาย ช่วงนี้มักเริ่มต้นเมื่ออายุประมาณ 11 ปี และมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วสุดที่อายุประมาณ 13 ปี ส่วนเพศหญิงมักเริ่มต้นเมื่ออายุประมาณ 9-10 ปี และมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วสุดที่อายุประมาณ 11-12 ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เพศชายจะสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 4 นิ้วต่อปี และเพศหญิงสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 3 นิ้วต่อปี อัตราการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันนี้ ทำให้เพศชายมีความสูงมากกว่าเพศหญิงโดยเฉลี่ย 5 นิ้ว
  • โภชนาการ อาหารมีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็ก การได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เพียงพอ อาจทำให้เด็กเจริญเติบโตช้าและตัวเตี้ยกว่าเด็กที่มีโภชนาการดี
  • ปัญหาสุขภาพ โรคหรือความผิดปกติบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและส่วนสูง เช่น
    • กลุ่มอาการเทอเนอร์ (Turner syndromeเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นกับเพศหญิง ผู้ป่วยอาจมีรูปร่างเตี้ยและมีพัฒนาการทางเพศช้ากว่าปกติ
    • โรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Anemia) เป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรมที่ทำให้เม็ดเลือดแดงมีลักษณะคล้ายเคียวเกี่ยวข้าว ซึ่งผิดไปจากเม็ดเลือดแดงปกติที่มีรูปร่างค่อนข้างกลมและบุ๋มตรงกลาง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มเจริญเติบโตช้า และเข้าสู่วัยแรกรุ่นช้ากว่าคนทั่วไป
    • ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมนี้อาจส่งผลให้ร่างกายเจริญเติบโตช้ากว่าคนทั่วไป เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) ภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth Hormone Deficiency) เป็นต้น
พันธุกรรม กับ โกรทฮอร์โมน
พันธุกรรม กับ โกรทฮอร์โมน

โกรทฮอร์โมนเกี่ยวข้องกับความสูงอย่างไร?

จากปัจจัยที่มีผลต่อความสูงแล้ว จะเห็นได้ว่าการทำงานภายในร่างกายของคนเรามีส่วนสำคัญ และสัมพันธ์กันการเจริญเติบโตของร่างกาย ซึ่งส่วนสูงก็เป็นหนึ่งในการเจริญเติบโตนั้น ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่า มีฮอร์โมนตัวหนึ่งที่เป็นตัวสำคัญในการสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย เป็นฮอร์โมนที่มีอิทธิพลต่อความสูง และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และกระดูก นั่นคือ โกรทฮอร์โมน

ทำความรู้จักกับโกรทฮอร์โมน

โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone: GH) คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากต่อมใต้สมอง และเข้าสู่กระแสเลือด มีหน้าที่สำคัญในการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้เติบโตสมวัย ในการผลิตโกรทฮอร์โมนของร่างกายจะถูกควบคุมอีกทีด้วยฮอร์โมนที่ผลิตจากสมอง ส่วนไฮโปทาลามัสภายในสมอง และฮอร์โมนที่ถูกผลิตขึ้นภายในทางเดินอาหารและตับอ่อน

การทำงานของโกรทฮอร์โมน

โกรทฮอร์โมน เป็นสารเคมีในร่างกายที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อความสูง รวมทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งระดับของฮอร์โมนดังกล่าวมีการผกผันอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน วัยที่มีระดับโกรทฮอร์โมนสูงสุด คือ วัยเด็ก และวัยแรกรุ่น เนื่องจากเป็นวัยเจริญเติบโต และฮอร์โมนนี้จะค่อย ๆ ลดระดับลงเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน นอกจากนี้โกรทฮอร์โมนยังมีหน้าที่หลักในตลอดช่วงชีวิตของคนคือ ช่วยในการทำงานของสมอง ควบคุมปริมาณไขมันและกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อเนื้อเยื่อ และกระดูกภายในร่างกาย ไปจนถึงระบบเผาผลาญ เช่น การทำงานของอินซูลิน และระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย

ขณะที่ปริมาณของโกรทฮอร์โมนในร่างกายของแต่ละคนจะแตกต่างกัน โดยมีการศึกษาหนึ่งพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกิน จะมีระดับฮอร์โมนดังกล่าวน้อยกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ แต่ก็ไม่มีการพบว่าการได้รับฮอร์โมนเสริมจะช่วยให้ลดน้ำหนักได้มากขึ้น พบแต่เพียงว่าสามารถช่วยในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพิ่มมวลกระดูก และลดปริมาณไขมันในร่างกายเท่านั้น

สร้าง โกรทฮอร์โมน ตั้งแต่ในท้อง
สร้าง โกรทฮอร์โมน ตั้งแต่ในท้อง

เด็กที่ขาดโกรทฮอร์โมนทำให้เตี้ยจริงหรือ?

กลับมาสู่คำถามเริ่มต้นกันดีกว่า หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่ได้ทำความรู้จักกับโกรทฮอร์โมนกันมาแล้ว จึงสามารถสรุปตอบคำถามนี้ได้ว่า โกรทฮอร์โมนเป็นฮอร์โมนที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในเรื่องส่วนสูงของลูก โดยที่ร่างกายสามารถสร้างฮอร์โมนตัวนี้ได้อยู่แล้วในสภาวะที่ร่างกายปกติ แต่ปริมาณของโกรทฮอร์โมนในร่างกายของแต่ละคนจะแตกต่างกัน จะมีมาก หรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น พฤติกรรม รูปร่าง อาหารการกิน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าการที่คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจในเรื่องรูปร่างภายนอกของลูก เรื่องส่วนสูงของเขาแล้วนั้น เราควรจะสังเกตในพัฒนาการเจริญเติบโตทางร่างกายของลูกอย่างสม่ำเสมอจะเป็นการดีกว่า เพราะหากลูกเรามีภาวะร่างกายขาดโกรทฮอร์โมนแล้ว สิ่งที่น่ากังวลมิใช่แค่การห่วงว่าลูกจะเตี้ยหรือไม่ แต่พัฒนาการทางด้านร่างกายอื่น ๆ ก็จะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งหากเราสามารถรู้ได้ก่อน ก็จะช่วยให้เขาได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ไม่สายเกิน

ดูอย่างไรว่าลูกขาดโกรทฮอร์โมน
เมื่อโกรทฮอร์โมนของลูกทำงานผิดปกติ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราทราบได้ คือ การสังเกตพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงวัย โดยดูจากอัตราการเจริญเติบโตที่มีค่าน้อยกว่าค่าปกติ พล็อตกราฟความสูงแล้วความสูงต่ำกว่าเกณฑ์ในช่วงอายุนั้น ๆ อัตราการเพิ่มส่วนสูงภายใน 4 ปีน้อยกว่าปีละ 5 ซม.แล้ว นอกจากนั้นยังสามารถสังเกตอาการอื่น ๆ ที่แสดงออกทางร่างกายได้อีก ดังนี้
  • ลูกจะมีใบหน้าที่อ่อนกว่าวัย โครงหน้าเหมือนตุ๊กตา ดั้งจมูกแบนกว่าปกติ บางรายสัมพันธ์กับอาการปากแหว่ง เพดานโหว่
  • รูปร่างมักจะเตี้ย เล็ก แต่สมส่วน
  • อ้วน มีไขมันสะสมบริเวณลำตัวมาก
  • หากเป็นในเด็กชาย ลูกยังอาจมีอาการ เสียงเล็กแหลม รูปร่างเตี้ยแต่จ้ำม่ำ อาจพบว่ามีอวัยวะเพศเล็กกว่าเด็กทั่วๆ ไป
  • เด็กบางคนที่ขาดโกรทฮอร์โมนชนิดรุนแรงจะพบว่ามีน้ำตาลในเลือดต่ำ และอาจเป็นเหตุให้ลูกชักจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้อีกด้วย
  • ไม่ค่อยได้เปลี่ยนไซส์รองเท้า หรือชุดเสื้อผ้ามาหลายปี

ในปัจจุบันยังมีโกรทฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์ ที่เกิดจากการสร้างขึ้นภายนอกร่างกาย และนำมาใช้เพื่อทดแทนในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดโกรทฮอร์โมน และช่วยเสริมความแข็งแรงและกล้ามเนื้ออีกด้วย

การรักษาภาวะขาดโกรทฮอร์โมนในเด็ก นอกจากการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุซึ่งสามารถแก้ไขได้ เช่น การผ่าตัดรักษาเนื้องอกต่อมใต้สมอง ยังมีการรักษาโดยการให้โกรทฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์

โกรทฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์ เป็นสารที่นำมาใช้เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนดังกล่าวให้แก่ผู้ป่วยซึ่งขาดฮอร์โมน แพทย์จะให้โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์นี้ผ่านทางการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ทุกวันก่อนนอนวันละครั้ง ซึ่งก่อนจะได้รับฮอร์โมนดังกล่าวผู้ป่วยจะต้องได้รับการทดสอบประเมินการขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต การฉีดโกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ในเด็กจะช่วยกระตุ้นให้เด็กเจริญเติบโตได้เป็นปกติมากขึ้น ในผู้ป่วยที่ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต หลังฉีดจะทำให้ความสูงเพิ่มขึ้น 10-12cm ในปีแรก และ7-9 cm/ปี ในปีที่ 2 และ3

จากกระแสการใช้โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ในการเสริมสร้างร่างกายของนักกีฬาและนักเพาะกาย จนในวงการกีฬาต้องนำมาเป็นประเด็นในการตรวจเช็กการใช้ฮอร์โมนนี้ในการแข่งขันกีฬา เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบกันในการแข่งขัน จนทำให้มีข่าวของนักกีฬาที่มีชื่อเสียงที่มีการโดนปรับหรือมีการลงโทษกันมากมายนั้น ทำให้พ่อแม่ยุคใหม่หันมาสนใจกับเจ้าโกรทฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์ว่าจะสามารถเป็นตัวช่วยในเรื่องความสูงของลูกได้หรือไม่นั้น โดยคุณหมอได้ทำการเตือนว่า การใช้โกรทฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์นี้จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อ เพราะหากใช้อย่างไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน

โภชนาการ กับ โกรทฮอร์โมน
โภชนาการ กับ โกรทฮอร์โมน

อันตรายจากโกรทฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์

แม้จะช่วยในการรักษาโรคบางชนิดได้ แต่โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ก็ยังมีอันตราย มีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า หากฉีดฮอร์โมนชนิดนี้แล้วจะช่วยในเรื่องการเพิ่มส่วนสูง ลดประมาณไขมันสะสม และช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้มากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ไม่มีผลการศึกษาใดยืนยันได้ว่า ฮอร์โมนสังเคราะห์ชนิดนี้สามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพการนอนหลับ เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ หรือชะลอความแก่ก่อนวัยได้ นอกจากนี้ การใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์เหล่านี้อาจส่งผลข้างเคียงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ โดยอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น

  • อาการบวมน้ำ
  • อาการปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นประสาท
  • โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome)
  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
  • ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • เกิดอาการเหน็บขาที่บริเวณผิวหนัง
  • ในเพศชาย อาจก่อให้เกิดอาการหน้าอกโตผิดปกติได้

ที่สำคัญการใช้โกรทฮอร์โมนในระยะยาวอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพร้ายแรง จนถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นจึงต้องรักษาต่อไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในอนาคต

เด็กเตี้ยจะสูงได้ไหม?

อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า โกรทฮอร์โมนเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายคนปกติสามารถสร้างได้เอง ดังนั้นจะเป็นการดีกว่ามาก หากเราเข้าใจการเกิด การสร้างฮอร์โมนดังกล่าวของร่างกาย เพราะจะได้ช่วยให้เรามีพฤติกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายสร้างโกรทฮอร์โมนออกมาได้ในปริมาณมาก จะได้เป็นตัวเสริมให้ลูกได้รับปัจจัยที่ดีต่อส่วนสูง นอกจากนั้นยังดีต่อร่างกายในด้านอื่น ๆ อีกด้วย แล้วภาวะเด็กเตี้ย หรือหากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกอยู่ในเกณฑ์สูง จะมีการป้องกันและแก้ไขได้อย่างไร ผศ.พญ.อรพร ดำรงวงศ์ศิริ สาขาวิชาโภชนวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้อธิบายไว้ในรายการ พบหมอรามา ออกอากาศวันที่ 28/01/2559

ขอขอบคุณคลิปดี ๆ จาก RAMA CHANNEL

วิธีเสริมสร้างโกรทฮอร์โมน ป้องกันไม่ให้ลูกเตี้ย

  1. หาสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เตี้ย หากคุณพ่อคุณแม่พบความผิดปกติของพัฒนาการทางด้านร่างกายของลูกจากตารางบันทึกพัฒนาการตามวัยแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคือ การไปปรึกษาคุณหมอว่าลูกเรามีปัญหาจริงหรือไม่ เกิดจากสาเหตุใด จะได้แก้ไขได้อย่างตรงจุด
  2. โภชนาการ อย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้นว่า อาหารเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสูง โดยเราต้องใส่ใจในเรื่องนี้ตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ เพราะเด็กที่เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อย จะมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นเด็กเตี้ย ตัวเล็กตอนโตด้วย โดยเฉพาะช่วงอายุ 2 ปีแรกนั้นสำคัญมาก นอกจากอาหาร 5 หมู่ที่ต้องได้รับครบถ้วนแล้ว ยังรวมถึงแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกอีกด้วย เช่น วิตามินเค แคลเซียม โพแทสเซียม เป็นต้น
  3. กิจกรรมในชีวิตประจำวัน การมีกิจกรรมที่ช่วยเป็นแรงกระตุ้นของกระดูกก็มีส่วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านความสูงให้ลูกได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงในเด็กสมัยปัจจุบัน คือ ขาดกิจกรรมกระตุ้นดังกล่าว มักนั่งนิ่ง ๆ นั่งอยู่หน้าจอทั้งวันมากกว่า
  4. ภาวะโรคอ้วน อย่างที่ทราบกันว่าความอ้วนก็มีผลต่อปริมาณการเกิดโกรทฮอร์โมน โดยเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าจะมีระดับโกรทฮอร์โมนต่ำกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวปกติ
  5. ภาวะการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติ ลูกจะมีพัฒนาการด้านความสูงเร็วที่สุดในช่วงก่อนการเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ุ หรือช่วงก่อนเป็นหนุ่มเป็นสาวนั่นเอง หากเขาเข้าสู่ภาวะนี้เร็วเกินไปก็เท่ากับการไปหยุดความสูง ทำให้ลูกไม่สามารถมีส่วนสูงได้เต็มที่
  6. การนอนหลับพักผ่อน ให้เพียงพออย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงต่อวันและเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม โกรทฮอร์โมนเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งออกมาในช่วงเวลาที่เราหลับลึก ซึ่งก็คือช่วงเวลาดัวกล่าว

อยากฝากคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังกังวลต่อความสูงของลูกว่า ความสูงความเตี้ย เป็นผลรวมของความแข็งแรงของร่างกาย และโภชนาการของเด็ก เราต้องดูแลตลอดเวลาตั้งแต่ในท้อง วัยแรกเกิด จนถึงวัยรุ่น เรียกได้ว่าหากเราใส่ใจลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ โอกาสที่เขาจะได้รับโกรทฮอร์โมนอย่างเต็มที่ก็มีมาก ทำให้โอกาสที่ลูกจะกลายเป็นเด็กเตี้ยนั้นก็คงน้อยลงตามไปด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก pobpad.com / รพ.เด็กสินแพทย์

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เพิ่มความสูง ด้วยสูตรคำนวณหาความสูงของลูก รู้ก่อนแก้ได้

แม่แชร์ประสบการณ์! เมื่อลูกสาวเป็น “โรคเป็นสาวก่อนวัย”

20 เพลงกล่อมนอนเพราะๆ เปิดฟังยาวๆ ลูกหลับง่าย ตื่นแล้วไม่งอแง

วิธีทำให้สูง ด้วยเมนูอาหารวิเศษเสริมแคลเซียมวัยเบบี๋

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up