เด็ก ติดเชื้อในลำไส้ … อาจมีหลายสาเหตุ ซึ่งการ ติดเชื้อในลำไส้ หรือลำไส้อักเสบ คือ โรคที่เกิดจากเนื้อเยื่อที่บุภายในลำไส้ (เนื้อเยื่อบุผิว) เกิดมีการอักเสบ ส่วนใหญ่มักเป็นการอักเสบจากติดเชื้อโรค
เช่นเดียวกับกรณีของเด็กชายคนนี้ ซึ่งคุณหมอได้วินิจฉัยว่า น้องเป็นลำไส้ติดเชื้อ เนื่องจากเพราะน้องป่วยเป็นไข้หวัด มีน้ำมูก และไอมีเสมหะ แต่น้องคายเสมหะออกไม่ได้ จึงกลืนลงไป ทำให้ลำไส้ติดเชื้อ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ไอ่’ ลูก น้ำ ได้โพสว่า
เด็ก ติดเชื้อในลำไส้ เพราะคายเสมหะไม่เป็น
จากเหตุการณ์นี้ การที่ลูกเป็นหวัด จนทำให้มีน้ำมูกและเสมหะ หากพ่อแม่ไม่รู้จักกำจัดน้ำมูกหรือเสมหะให้ลูกน้อย ก็อาจเกิดเรื่องราวเช่นเดียวกับเด็กน้อยคนนี้ได้
Must read : สีของน้ำมูก สามารถบอกสุขภาพของลูกได้
สำหรับพ่อแม่มือใหม่อาจมีความกลัวและความไม่มั่นใจเกิดขึ้นได้ เมื่อต้องดูดเสมหะให้ลูกครั้งแรก แต่คุณต้องไม่เกิดความรู้สึกว่ากำลังทำร้ายลูกเพราะที่จริงแล้วเรากำลังช่วยเหลือลูก เมื่อคุณได้เรียนรู้และเข้าใจวิธีดูดเสมหะ ตลอดจนฝึกฝนจนเกิดความชำนาญแล้ว คุณจะมีความมั่นใจและรู้สึกว่าการดูดเสมหะเป็นเรื่องง่ายมาก และไม่อยากให้ใครดูดเสมหะให้ลูกนอกจากตัวคุณเอง
ทำไม! จึงต้องมีเสมหะ
ธรรมชาติได้สร้างเสมหะเพื่อดักจับสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านเข้ามาในทางเดินหายใจ และขับเสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมออกโดยการไอ ในภาวะที่มีความผิดปกติของระบบหายใจ เช่น มีการติดเชื้อหรือมีการระคายเคืองจากการได้รับสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ จะทำให้มีการสร้างเสมหะมากกว่าปกติ
อ่านต่อ >> การดูดเสมหะให้ลูก เพื่อป้องกันลูกกลืนเสมหะ” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
คนปกติสามารถสั่งน้ำมูกออกจากช่องจมูกและไอเอาเสมหะออกจากปอดได้ แต่ในกรณีเด็กเล็ก ๆ หรือผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวหรือมีความพิการทางสมองจะไม่สามารถสั่งน้ำมูก และไอได้เอง จึงต้องทำการดูดเสมหะเพื่อดูดน้ำมูกออกจากช่องจมูกและเป็นการกระตุ้นให้ไอเพื่อขับเสมหะออกจากปอด การที่ไม่มีน้ำมูกในช่องจมูก และไม่มีเสมหะคั่งค้างในปอดจะทำให้เด็กหายใจสะดวกสามารถดูดนมได้ดี และนอนหลับสบาย นอกจากนี้ยังไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค จึงไม่เกิดการติดเชื้อตามมา และควรดูดเสมหะให้ลูกก่อนให้นมหรืออาหาร
♦ รู้ได้อย่างไรว่าเด็กมีเสมหะ
ในเด็กเล็ก เด็กที่ไม่รู้สึกตัว หรือเด็กที่มีความพิการทางสมองจะไม่สามารถบอกเราได้ว่าเขามีเสมหะ เราจะต้องเป็นผู้คอยสังเกตอาการว่าเด็กมีเสมหะหรือไม่ อาการเหล่านี้ได้แก่
- มีน้ำมูกในจมูกหรือมีเสมหะในคอ
- หายใจครืดคราด หรือเมื่อวางมือแนบอกหรือหลัง จะรู้สึกว่าครืดคราด
- กระสับกระส่าย
- หายใจลำบาก จมูกบานหรืออาจจะหายใจเร็วกว่าปกติ
- ดูดนมไม่ดี
- รอบปากซีดหรือเขียวคล้ำ
การดูดเสมหะทางจมูกและปาก มีวิธีดูดเสมหะอย่างไร?
ด้วยลูกยางแดง
- ลูกยางแดง เบอร์ 2 สำหรับเด็กเล็ก ลูกยางแดง เบอร์ 4 สำหรับเด็กโต
- ผ้าห่อตัว
- กระดาษทิชชูหรือภาชนะ เพื่อใช้รองน้ำมูก และเสมหะที่จะบีบทิ้งจากลูกยางแดง
√ วิธีการ
- ใช้ผ้าห่อตัวเด็กให้แน่นหนาเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเอามือปัดและดิ้นไปมา เมื่อเด็กอยู่นิ่ง ๆ ผู้ดูดเสมหะจะได้ ดูดเสมหะได้ด้วยความนุ่มนวล
- ใช้มือข้างที่ถนัดจับลูกยางแดงและบีบลมออกให้แฟบ เตรียมพร้อมที่ จะดูด ขณะที่มืออีกข้างจับหน้าเด็กให้เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
- สอดปลายลูกยางแดงเข้าใน รูจมูกทีละข้าง โดยให้สอดเข้าไปตื้น ๆ พร้อมกับปล่อยมือช้า ๆ น้ำมูกจะถูกดูดเข้ามาในลูกยางแดง
- บีบน้ำมูกที่ดูดมาได้ทิ้งในทิชชู หรือภาชนะที่เตรียมไว้
- ทำซ้ำแบบเดิม และดูดน้ำมูกออกจนหมดในจมูกแต่ละข้าง
- หากเด็กมีเสมหะในปอดค่อย ๆ สอดปลายลูกยางแดงเข้าไปในปากจนกระทั่งถึงโคนลิ้น จึงจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กไอ
- ขณะเด็กไอจะมีเสมหะขึ้นมาในคอ ปล่อยลูกยางแดงให้ดูดเสมหะเข้ามาช้า ๆ
- บีบเสมหะทิ้งในกระดาษทิชชูหรือภาชนะที่รองรับและดูดเสมหะซ้ำอีกจนกระทั่งไม่ได้ยินเสียงเสมหะครืดคราดในลำคอ
◊ หมายเหตุ การจับให้เด็กหันหน้าไปด้านใด ด้านหนึ่ง เป็นการป้องกันไม่ให้เด็กสำลักเอาน้ำลายหรืออาหารเข้าปอด หากขณะดูดน้ำมูกหรือเสมหะแล้วเด็กอาเจียนออกมาพร้อม ๆ กัน
การล้างทำความสะอาด
หลังดูดเสมหะทุกครั้ง นำลูกยางแดงไปล้างน้ำสบู่ และบีบล้างในน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ควรนำไปต้มในน้ำเดือดนานประมาณ 5 นาที วันละ 1 ครั้ง
อ่านต่อ >> การดูดเสมหะให้ลูก ด้วยสายดูด” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ด้วยสายดูด
- ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังดูดเสมหะ
- ในกรณีเด็กที่ไม่ให้ความร่วมมือ ให้ใช้ผ้าห่อตัวเพื่อเก็บแขนทั้ง 2 ข้างป้องกันไม่ให้เด็กเอามือมาปัดและดันขณะดูด ทำให้ดูดเสมหะได้สะดวกและนุ่มนวล
- ก่อนดูดเสมหะให้ตรวจเครื่องดูดเสมหะว่าทำงานดีหรือไม่
- ใช้สายดูดเสมหะขนาดพอดีไม่ใหญ่-เล็กเกินไป และใช้แรงดูดและใช้แรงดูด (90 – 120 mmHg) ในขนาดพอที่จะดูดเสมหะได้ดี
- ขณะดูดเสมหะให้จับหน้าเด็กหันเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กสะบัดหน้าไปมาขณะดูด และป้องกันไม่ให้เด็กสำลักเสมหะหรือเศษอาหารลงปอดเมื่อเด็กมีอาเจียนขณะดูด ค่อย ๆ สอดสายดูดเสมหะเข้าทางปากหรือ ช่องจมูกให้ถึงบริเวณคอหอยหลังโพรงจมูก (ประมาณความลึกของสายโดยวัดระยะจากปลายจมูกถึงติ่งหูความลึกของสายเท่ากันไม่ว่าจะสอดสายดูดเสมหะเข้าทางปากหรือช่องจมูก) ซึ่งเด็กมักจะเกิดอาการไอเมื่อใช้สายดูดเสมหะกระตุ้นบริเวณนี้ เมื่อเด็กไอเสมหะจะหลุดจากปอดขึ้นมาในคอ ทำการดูดเสมหะในคอและปากออกให้หมดโดยขณะดูดให้ค่อย ๆ ขยับสายขึ้นลงอย่างช้า ๆ และนุ่มนวล
- ทำการดูดเสมหะจนกระทั่งไม่มีเสมหะในปอด
- สังเกตลักษณะ จำนวน และสีของเสมหะ
√ ข้อแนะนำเพิ่มเติม
- ถ้าเด็กไม่มีน้ำมูกให้สอดสายดูดเสมหะผ่านปาก เพราะการสอดสายเข้าทางช่องจมูก จะทำให้เด็กเจ็บมากกว่าการสอดสายเข้าทางปาก
- การสอดสายเข้าในช่องจมูกให้ค่อย ๆ สอดสายอย่างนุ่มนวล โดยสอดสายให้โค้งขึ้นด้านบนเล็กน้อยแล้วย้อนลงสู่ด้านล่างสายจะค่อย ๆ เคลื่อนไปตามช่องจมูก ถ้าสอดสายแล้วรู้สึกติด ห้ามกระแทก หรือดันให้ถอนสายออกมาเล็กน้อย แล้วจึงค่อย ๆ พยายามสอดใหม่หากสอดสายไม่เข้าให้เปลี่ยนไปใส่ช่องจมูกอีกข้างแทน
- ขณะสอดสายดูดเสมหะเข้าในช่องจมูก ให้ทำการดูดเมื่อมีน้ำมูกในโพรงจมูก หรือเด็กมีอาการไอ เพราะถ้าไม่มีน้ำมูกในโพรงจมูกสายดูดเสมหะจะดูดเนื้อเยื่อในโพรงจมูกทำให้เกิดการอักเสบและบวมได้
- อย่าลืมให้เด็กพักเป็นระยะ ๆ ในระหว่างทำการดูดเสมหะเพื่อไม่ให้เด็กเหนื่อย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การทำความสะอาดสายดูดเสมหะ
ภายหลังดูดเสมหะเสร็จให้นำสายดูดเสมหะดูดน้ำประปาเพื่อล้างเสมหะที่ติดภายในสายออกให้มากที่สุด แล้วนำไปแช่ในน้ำยาล้างจาน หรือน้ำสบู่จากนั้นนำมาทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างจานหรือน้ำสบู่อีกครั้ง โดยใช้ฟองน้ำลูบเสมหะที่ติดภายนอกสายออกให้หมด เปิดน้ำประปาให้ไหลผ่านสายเพื่อชะล้างคราบเสมหะออกให้หมด ส่วนคราบเสมหะที่อาจติดอยู่ภายในสาย ให้ใช้กระบอกฉีดยาฉีดน้ำเข้าไปในสายแรง ๆ เพื่อดันคราบเสมหะที่ติดออกให้หมด สะบัดน้ำที่คาในสายออกให้มากที่สุด แล้วนำมาเก็บไว้ในกล่องสะอาดที่มีฝาปิดเพื่อเตรียมไว้ใช้ต่อไป หลังดูดเสมหะเสร็จอย่าลืมปลอบโยนเด็กโดยการอุ้ม หรือโอบกอดจนเด็กสงบ และหยุดร้องไห้
การดูดเสมหะมีอันตรายหรือไม่
การดูดเสมหะที่ถูกวิธีจะมีอันตรายน้อยมาก ส่วนมากจะมีปัญหาเลือดออกถึงแม้จะระวังเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม แต่เลือดที่ออกนี้สามารถหยุดได้เองถ้าเลือดออกมากผิดปกติให้ปรึกษาแพทย์
อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นลูกมีอาการหอบ ไข้สูง เสมหะเหนียว เบื่ออาหาร การให้สารน้ำให้เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็น และควรพาลูกไปพบแพทย์ ในรายที่แพทย์ตรวจพบกว่ามีการหายใจเร็ว หอบ ชายโครงบุ๋ม กระวนกระวาย หรือซึม มีออกซิเจนต่ำ อาจพิจารณาให้ออกซิเจนด้วย หากได้ยินเสียงวี๊ดให้ใช้ยาขยายหลอดลม และพิจารณาให้ยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะในรายที่อาการไอและมีเสมหะมาก ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดทรวงอก ได้แก่ การจัดท่าระบายเสมหะ การเคาะปอด และช่วยดูดเสมหะเพื่อช่วยระบายเสมหะที่คั่งค้างในหลอดลมออกมาได้
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- เคาะปอดขับเสมหะ ให้ลูกน้อย วิธีง่ายๆทำได้เองที่บ้าน
- ล้างจมูกลูกอย่างไรให้ปลอดภัย ถูกต้องแต่ละช่วงวัย
- ยาแก้ไอ สําหรับทารก เลือกแบบไหน อย่างไรให้ลูกดี?
- ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก แต่ละยี่ห้อแตกต่างกันอย่างไร พ่อแม่ควรรู้!
ขอบคุณเรื่องราวและภาพจาก : เฟสบุ๊คชื่อ ไอ่’ ลูก น้ำ
ขอบคุณข้อมูลจาก : med.mahidol.ac.th , www.thaipedlung.org