AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

“สอนลูกทำบุญ” อย่างฉลาด! ด้วย 6 วิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก

การ สอนลูกทำบุญ จะทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีจิตใจดี พร้อมโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันนี้ได้ โดยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้มีแนวทางหลักธรรมในการให้พ่อแม่เลี้ยงลูก ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้…

สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่เกือบทุกคน ไม่ได้อยากให้ลูกเป็นเพียงแค่คนเก่งอย่างเดียวเท่านั้น หากยังอยากเห็นลูกมีชีวิตที่ดีงามและเป็นสุข ลูกเรียนเก่งหรือร่ำรวย ย่อมไม่มีความหมายสำหรับพ่อแม่ หากลูกเป็นทุกข์ ทุจริต หรือติดอบายมุข

แต่การมีชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขในโลกทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย… ต้องมีสิ่งคุ้มกันตนให้อยู่รอดปลอดภัยจากอันตรายซึ่งมีอยู่รอบตัว ไม่ถูกล่อลวงชักนำให้ถลำไปในทางที่ผิด ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักคิด ใฝ่เรียนรู้สิ่งดีงาม และสร้างสรรค์คุณค่าให้แก่ชีวิต

วิชาความรู้นั้นช่วยให้ลูกเป็นคนเก่ง แต่ถ้าต้องการให้ลูกเป็นคนดีและมีความสุข ก็ต้อง “สอนลูกทำบุญ” ด้วย “บุญ” นั้น ถ้ารู้จักและทำอย่างถูกต้อง จะเป็นทั้งภูมิคุ้มกันและรั้วป้องกันไม่ให้อันตรายล่วงล้ำเข้ามาได้ ช่วยให้ลูกแก้ปัญหาชีวิตของตนเองได้ (จัดการกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตัวได้) อีกทั้งยังเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจให้สงบเย็นและเป็นสุข

บุญ แปลว่าเครื่องชำระให้สะอาดบริสุทธิ์ ชำระอย่างแรกคือชำระพฤติกรรม ให้งดงาม เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ชอบธรรม เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ชำระประการต่อมาก็คือชำระจิตใจ ให้หายเศร้าหมอง พ้นจากความเร่าร้อน เกิดความสว่างไสวในทางปัญญา คิดถูกคิดชอบ ไม่หลงไปตามอารมณ์ชั่วแล่น

บุญ ยังแปลว่าความอิ่มเอิบเบิกบานใจ เพราะได้ทำความดีและได้สร้างสรรค์ความเจริญงอกงามให้เกิดขึ้น คนเราทุกคนต้องการทำความดี อยากให้ความดีภายในได้เปล่งประกายออกมา เหมือนกับดอกไม้ที่อยากเบ่งบาน สยายกลีบ โดยไม่สนใจว่าจะมีคนเห็นหรือไม่ การทำความดีช่วยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ดุจเดียวดับดอกไม้ที่บรรลุความสมบูรณ์เมื่อได้สร้างความงดงามให้แก่โลก

6 วิธี สอนลูกทำบุญ อย่างฉลาด
สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกไปตลอดชีวิต
!

1. ผู้ให้ความสุขย่อมได้ความสุข

บุญนั้นเริ่มต้นด้วยการรู้จักให้ การให้ (หรือทาน) ช่วยให้เราไม่คิดจะเอาเข้าตัวอยู่ร่ำไป ชีวิตที่คิดแต่จะเอาเป็นชีวิตที่ไม่สมดุล จิตที่คิดแต่จะเอาเป็นจิตที่คับแคบ เห็นแก่ตัว ทำให้เป็นคนไม่น่ารัก และมีความสุขยาก

เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาได้เพราะเป็นฝ่ายรับจากผู้อื่นมาตั้งแต่เกิด ทั้งน้ำนม อาหาร ความอบอุ่น ตลอดจนความรู้ แต่ถ้าไม่รู้จักให้เสียเลย ก็จะเกิดความเข้าใจผิดว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่อจะเป็นผู้รับฝ่ายเดียวเท่านั้น การสอนเด็กให้รู้จักให้ คือการสอนบทเรียนชีวิตข้อแรกว่า เมื่อรับแล้วต้องรู้จักให้ ต้นไม้ทุกต้นเติบโตเพราะดูดน้ำและอาหารจากพี้นดิน แต่เวลาเดียวกันเขาก็รู้จักคายน้ำและทิ้งกิ่งใบให้เป็นปุ๋ย เป็นการตอบแทนผืนดินที่หล่อเลี้ยงเขามา อีกทั้งยังให้อาหารและที่พักพิงแก่เพื่อนร่วมโลก เช่น นก กระรอก รวมทั้งมนุษย์

แต่การให้มิได้หมายถึงการตอบแทน หรือเป็นเพียงหน้าที่เท่านั้น การให้ยังช่วยให้เราได้รับความสุข การสอนลูกให้รู้จักให้ คือการสอนให้เขารู้จักความสุขจากการให้ “ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข” เป็นสัจธรรมที่เด็กควรรับรู้

ด้วยเหตุนี้ ผู้ใหญ่สมัยก่อนจึงนิยมพาลูกหลานใส่บาตรตั้งแต่ยังตัวเล็ก ๆ ทีแรกก็เป็นฝ่ายเฝ้าดูพ่อแม่หรือตายายเอาอาหารหวานคาวใส่บาตร ต่อมาก็ใส่บาตรด้วยตนเอง ใส่แล้วก็พนมมือจรดหัว

การถวายของให้พระถือว่าเป็นบุญ แต่บุญไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น ให้ของแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่ยากลำบาก ก็ถือว่าเป็นบุญเช่นกัน ลูก ๆ สามารถทำบุญได้ด้วยการสละของเล่นให้แก่เด็กยากจนหรือเด็กด้อยโอกาสในเมืองและในชนบท หรือให้เงินช่วยคนพิการ

นอกจากให้เงินหรือสิ่งของแล้ว การให้ชีวิตแก่สัตว์ก็เป็นบุญเหมือนกัน เช่น ช่วยปลาที่ติดปลักให้กลับคืนสู่แม่น้ำลำคลอง แม้แต่ต้นไม้ที่เหี่ยวแห้งใกล้ตาย ช่วยรดน้ำให้เขา ก็เป็นบุญเช่นกัน

อ่านต่อ >> “วิธีสอนลูกทำบุญ อย่างฉลาด! สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกไปตลอดชีวิต” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

2. โลกสวยด้วยน้ำใจ

 

จะให้อะไร ราคาเท่าไร ไม่สำคัญเท่ากับน้ำใจที่คิดจะให้ พ่อแม่จะช่วยลูกได้มากหากสอนให้ลูกตระหนักว่า แม้เขาจะมีกำลังน้อย มีเงินไม่มาก แต่เขาก็สามารถทำบุญได้เท่าเทียมผู้ใหญ่ หากเขามีน้ำใจ คุณค่าของคนเรามิได้อยู่ที่วัยหรือชื่อเสียงเงินทอง แต่อยู่ที่คุณภาพของใจต่างหาก

ถึงจะไม่มีเงินให้ แต่ถ้ามีน้ำใจเสียแล้ว ก็สามารถให้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเงิน เช่น ด.ญ.เฟอร์ เมื่อพบว่าลูกพี่ลูกน้องวัย ๑๐ ขวบป่วยด้วยโรคมะเร็ง เธออยากจะช่วยมาก จึงวาดการ์ ตูนเพื่อหาเงินไปเป็นค่ารักษาน้อง หนังสือการ์ตูนของเด็กหญิงวัย ๑๒ แม้จะไม่สวยงามเท่ากับของผู้ใหญ่ แต่น้ำใจอันยิ่งใหญ่ของเธอ ชักชวนให้ผู้อ่านพากันบริจาคเงินช่วยน้องของเธอ จนบัดนี้เขาเกือบจะหายเป็นปกติแล้ว

การเสียสละเพื่อส่วนรวม หรือลงมือลงแรงเพื่อช่วยผู้อื่น เป็นบุญอีกอย่างหนึ่ง บุญอย่างนี้เด็ก ๆ สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เก็บเศษแก้วหรือตะปูที่ขวางทาง เก็บขยะในละแวกบ้าน ช่วยเหลืองานของโรงเรียน ถือของให้คนแก่ จูงคนตาบอดข้ามถนน ปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะ นิสัยเช่นนี้ปลูกฝังได้ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักช่วยงานบ้าน แม้จะมีคนใช้ก็ตาม

3. อยู่อย่างไม่เบียดเบียน

การช่วยเหลือผู้อื่นจะเป็นไปได้ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการรู้จักรักษาตนไม่ให้ก่อความเดือดร้อนแก่ใคร หรือเอาเปรียบส่วนรวม เช่น ฆ่าสัตว์ ลักขโมย ฉ้อโกง ล่วงละเมิดของรักของสงวนของผู้อื่น โกหก หรือเข้าหาสิ่งเสพติด บุญประเภทนี้เราเรียกว่าศีล

พ่อแม่ที่สอนลูกไม่ให้ไปเบียดเบียนใคร ไม่ว่าบุคคลหรือส่วนรวม เท่ากับสร้างรั้วป้องกันไม่ให้ความเดือดเนื้อร้อนใจเข้ามาใกล้ตัว ความชะล่าใจเพียงเล็กน้อยอาจนำไปสู่ความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรนิ่งดูดายหากลูกขโมยปากกาของเพื่อน ลอกการบ้าน ทุจริตในห้องสอบ หรือฆ่ามดบี้ไส้เดือน

พฤติกรรมที่ดีนั้นนอกจากจะช่วยให้ไม่ไปเบียดเบียนใครแล้ว ยังช่วยให้เราไม่เบียดเบียนตนเองด้วย คนทำดีย่อมมีความสุข สุขทั้งตนเองและคนรอบตัว

การกินอยู่ให้เป็น รู้จักใช้ของ ก็เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมที่เรียกว่าศีล เช่น กินง่ายอยู่ง่าย เลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ตามใจลิ้นจนเป็นโทษแก่ร่างกาย

ข้อนี้…รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ไม่หมกมุ่นหรือสิ้นเปลือง เช่นใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเป็นเวลา ดูโทรทัศน์เมื่อทำการบ้านหรืองานเสร็จแล้ว เล่นเกมคอมพิวเตอร์พอประมาณ เมื่อกินเป็นใช้เป็นแล้ว ขั้นต่อมาคือสอนให้ลูกจับจ่ายใช้สอยเป็น รู้จักประหยัด ไม่ติดนิสัยช็อปปิ้ง อวดร่ำอวดรวยแข่งกัน หรือหลงติดอบายมุข อาทิ การพนัน การเที่ยวสถานเริงรมย์

4. ทำบุญที่ใจ

คนเราสามารถทำบุญได้ตลอดเวลา ไม่ว่าที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือบนท้องถนน ไม่มีเงินหรือไม่ใช้เงินเลย ก็ทำบุญได้ แม้กระทั่งอยู่เฉย ๆ แต่ทำใจให้ถูกต้อง จนเกิดความรู้สึกดี ๆ ขึ้นมา ก็เป็นบุญ เช่น ยินดีปลาบปลื้มเมื่อเห็นคนอื่นทำความดี ไม่อิจฉา หรือค่อนแคะเขาว่าอยากดัง การสอนให้ลูกชื่นชมคนดีคือการสร้างนิสัยใฝ่ดีขึ้นมาในตัวเด็ก

ขณะเดียวกัน เมื่อทำความดี ก็ไม่หวงความดีไว้คนเดียว ชักชวนหรือเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำความดีด้วย ตลอดจนแผ่บุญกุศลจากความดีนั้นให้แก่คนอื่น ให้เขาได้รับประโยชน์ด้วย นี้ก็เป็นบุญด้วยเช่นกัน

การทำบุญที่ใจอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือตัวถือตนหรือดูถูกผู้อื่น เพราะเห็นว่าเขามีอายุน้อยกว่า เรียนมาน้อยกว่า หรือมีฐานะต่ำกว่า แม้กับคนงานหรือคนรับใช้ในบ้าน ก็ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่กับเขา ข้อนี้รวมถึงการไม่ดูถูกคนที่นับถือศาสนาอื่นด้วย

การทำบุญที่ใจ ทำให้ใจเป็นกุศล และมีความสุข ตรงกันข้าม การอิจฉาคนอื่นที่ทำดีกว่าตน หรือถือตัวถือตน ทำให้จิตใจเร่าร้อนและเครียดง่าย แต่ถ้าอยากให้ลูกมีสุขภาพใจที่สมบูรณ์ พ่อแม่ควรสอนลูกให้รู้จักฝึกจิตฝึกใจให้มีภูมิคุ้มกันความทุกข์ ฉลาดในการจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบใจด้วย

อ่านต่อ >> “วิธีสอนลูกทำบุญ อย่างฉลาด! สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกไปตลอดชีวิต” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

5. ฝึกใจให้สงบเบาสบาย

สมาธิช่วยให้ใจสงบง่าย ดับความโกรธความเร่าร้อนได้ดี เวลาลูกโมโห ควรแนะให้ลูกหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ สัก ๔-๕ ครั้งเป็นอย่างน้อย แต่สมาธิจะได้ผลดี ต้องฝึกเป็นประจำแม้ในยามปกติ วิธีฝึกมีหลายอย่าง เช่น จดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก หรือ เดินช้า ๆ ด้วยความสงบ ถ้าพ่อแม่ทำร่วมกับลูกด้วย จะได้ผลมาก การทำเป็นกิจวัตรแม้เพียงวันละ ๕ นาที ช่วยพัฒนาจิตใจได้มาก

 

สำหรับเด็กเล็ก ๆ พ่อแม่อาจใช้เกมช่วยให้เด็กมีสมาธิได้ เช่น ให้เด็กเคลื่อนไหวช้า ๆ โดยเคลื่อนอวัยวะทีละส่วน เหมือนกับเป็นตุ๊กตาหุ่นยนต์ โดยมีกติกาให้เด็กสังเกตความรู้สึกทุกส่วนที่เคลื่อนไหว วิธีนี้จะทำให้เด็กสนุกกับการจดจ่อและและระลึกรู้ร่างกายของตนเอง

ความจริง การฝึกสมาธิสามารถทำได้กับกิจกรรมทุกอย่าง เช่น มีสมาธิกับการถูฟัน ล้างจาน หรือทำการบ้าน อ่านหนังสือ นอกจากนั้น การสอนให้เด็กทำอะไรเป็นอย่าง ๆ ไม่ทำอะไรพร้อมกันหลายอย่างเวลาเดียวกัน เช่น กินข้าวไปด้วยอ่านหนังสือไปด้วย จะช่วยฝึกจิตให้มีสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่านง่าย

ก่อนนอนเป็นโอกาสดีอีกช่วงหนึ่งที่พ่อแม่สามารถฝึกลูก ๆ ให้มีสมาธิได้ โดย ชวนลูกให้สวดมนต์ไหว้พระอย่างง่าย ๆ เช่น กล่าวนะโม ๓ จบ และกล่าวไตรสรณคมน์ (เริ่มต้นด้วยพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ) ๓ จบ จากนั้นแนะนำให้ลูกกราบพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ๓ ครั้ง อีก ๒ ครั้งกราบเพื่อระลึกถึงคุณของบิดามารดาและคุณของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย แล้วทำใจสงบสักพักก่อนจะเข้านอน

การแผ่เมตตาเป็นการฝึกจิตให้มีภูมิต้านทานความโกรธได้เป็นอย่างดี ความโกรธนั้นยิ่งหมักหมมก็ยิ่งเผาลนใจให้รุ่มร้อน พ่อแม่ควรสอนลูกแผ่เมตตาก่อนนอน เริ่มจากคนใกล้ตัวไปจนถึงคนที่มีเรื่องโกรธเคืองหรือผิดใจกัน การให้อภัยเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ใจสงบเย็น

⇒ Must read : สวดมนต์ ก่อนนอน ช่วย ฝึกสมาธิเด็ก

การสร้างเมตตาในใจ ยังทำได้ด้วยการหมั่นชื่นชมผู้คนและสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ไม่เฉพาะแต่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ แต่รวมถึงคนรถ คนงานในบ้าน นักการที่โรงเรียน ฯลฯ โดยตระหนักว่าคนเหล่านี้ทำให้ชีวิตของเราเป็นไปด้วยดี ชื่นชมและขอบคุณแม้กระทั่งต้นไม้ ภูเขา ทะเล รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ เช่น ดินสอ กระเป๋า ผ้าห่ม รถยนต์ ฯลฯ ช่วยให้จิตใจอ่อนโยนเกิดความรักความห่วงใยในธรรมชาติ ไม่ใช้สิ่งต่าง ๆ อย่างทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ

หากลูกยังเล็กอยู่ พ่อแม่ควรสอนให้หมั่นรดน้ำต้นไม้ หรือเลี้ยงสัตว์ พร้อมกันนั้นก็แนะให้ลูกน้อมใจแผ่เมตตาว่า ขอให้ต้นไม้และสัตว์เป็นสุข ๆ พ้นทุกข์ทั้งปวง หากทำได้ทุกเช้าเย็นเด็กจะเปี่ยมด้วยเมตตา

การแผ่เมตตามีอานิสงส์มาก พระพุทธองค์ตรัสว่ามีผลมากกว่าการถวายอาหารแก่พระองค์หรือพระอรหันต์ถึงร้อยองค์ด้วยซ้ำ เพราะเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อจิตใจให้เป็นกุศลโดยตรง

6. อบรมจิตให้คิดชอบ

ฝึกใจให้สงบแล้ว ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ควรฝึกใจให้มีปัญญาด้วย คือ คิดถูกคิดชอบ เมื่อประสบกับสิ่งใดก็ตาม ก็เอาความถูกต้องเป็นหลัก ไม่ใช่ดูว่าถูกใจหรือไม่ เวลาถูกตักเตือน แม้ไม่ถูกใจ แต่ก็รับฟังเพื่อมาใคร่ครวญว่าที่เขาพูดนั้นถูกต้องไหม ท่าทีแบบนี้นอกจากจะทำให้ไม่ทุกข์เวลาถูกตำหนิแล้ว ยังจะได้ประโยชน์จากคำตำหนิด้วย

ในทำนองเดียวกัน เวลากินอาหารก็ไม่ได้เลือกเพราะถูกใจหรือถูกลิ้น แต่เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายและราคาพอเหมาะพอควร การรู้จักคิดจะช่วยให้รู้จักบริโภค ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งล่อเร้าเย้ายวน

การคิดถูกคิดชอบต้องอาศัยการฟังและอ่านสิ่งที่มีประโยชน์ พ่อแม่จึงควรสนับสนุนให้ลูกได้รับรู้สิ่งที่ดีงาม ได้ฟังสิ่งที่เป็นคติธรรมแก่ชีวิต เช่น แนะนำหนังสือที่ดี หรือรายการโทรทัศน์ที่มีประโยชน์ นอกจากนั้นเวลาดูโทรทัศน์พ่อแม่ควรอยู่เป็นเพื่อนเพื่อช่วยแนะนำสิ่งที่มีประโยชน์แก่ลูก

การสอนลูกให้ทำความดีเป็นบุญอยู่แล้วในตัว ถ้าลูกนำไปปฏิบัติ ก็เท่ากับว่าลูกได้ร่วมทำบุญด้วย บุญที่ถูกต้องช่วยให้ชีวิตจิตใจเกิดความสะอาด สว่าง สงบ และเป็นสุขอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรสำคัญสำหรับมนุษย์เท่ากับสิ่งนี้ พ่อแม่พร้อมให้อะไรมากมายแก่ลูก เช่น เงิน บ้าน ที่ดิน แต่สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ การสอนลูกให้รู้จักบุญและมีชีวิตที่เปี่ยมบุญ มรดกใดเล่าจะสำคัญมากไปกว่านี้

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณบทความดี ๆ เรื่อง สอนลูกฉลาดทำบุญ จาก พระไพศาล วิสาโล www.visalo.org