คุณพ่อคุณแม่อาจกำลังปวดหัวว่าจะพาลูกน้อยไปเข้า เนอสเซอรี่ ที่ไหนดี… ระหว่างแบบที่เน้นเขียนอ่านเพื่อเตรียมเข้าอนุบาลเป็นหลัก หรือแบบที่ปล่อยให้เด็กๆได้เรียนรู้จากการเล่น
เลือก เนอสเซอรี่ ที่ไหนดี ให้เหมาะกับลูกน้อย
ปัจจุบันมีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือสถาบันพัฒนาเด็กเล็กที่ยังไม่ได้เข้าเรียน หรือที่เรียกกันว่า เนร์สเซอรี่ เกิดขึ้นมากมาย สำหรับอายุต่ำสุดที่เปิดรับได้จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของเนอสเซอรี่แต่ละแห่ง ซึ่งเรื่องนี้ แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด ได้แนะนำข้อควรพิจารณาก่อนพาลูกไปฝาก เนอสเซอรี่ ที่ไหนดี มาฝาก ดังนี้
- ครอบครัวเดี่ยวที่พ่อแม่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ในช่วงเวลาที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วย ใครเป็นผู้ดูแลลูก ไว้ใจได้หรือไม่ และผู้ดูแลเข้าใจธรรมชาติของเด็กมากน้อยแค่ไหน มีการกระตุ้นพัฒนาการหรือเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่สมวัยหรือไม่
เพราะถ้ามีผู้ดูแลที่ดีมีคุณภาพอยู่แล้ว และลูกก็ดูมีความสุขดี ให้เขาอยู่บ้านดีที่สุด รอเข้าเรียนอนุบาลตอนอายุ 3 ขวบ เนื่องจากมีโอกาสที่ลูกจะติดเชื้อโรคมีน้อยกว่า หรือหากติดเชื้อ อาการก็มักรุนแรงน้อยกว่าเด็กที่เล็กมากๆ ซึ่งพ่อแม่ไม่ต้องห่วงว่าลูกจะเรียนสู้เพื่อนๆ ไม่ได้ เพราะแม้เข้าเรียนช้ากว่า แต่เมื่อถึงเวลาวัยพร้อมเรียน เด็กก็จะเรียนทันกัน
→ Must read : ลูกเราควรไปโรงเรียนตอนอายุเท่าไหร่?
- บางครั้งผู้ดูแลลูกที่บ้านอาจติดธุระหรือเจ็บป่วยกะทันหัน ทำให้พ่อแม่ต้องลางานเพื่อดูแลลูกเอง แต่ถ้าเป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก ก็คงหาคนมาแทนได้อย่างทันท่วงที
- นโยบายการดูแลลูกของผู้ดูแลไม่ตรงกับใจของพ่อแม่ เช่น ตามใจมากไป ให้กินขนมหวานทั้งวัน ให้ดูทีวีหรือเล่นเกมมากไป ครั้นพ่อแม่จะขัดแย้งหรือไม่ให้ทำ ก็อาจเกิดอาการงอนจากผู้ดูแลได้ หรือลูกอยู่ในวัยซน ชอบปีนป่าย วิ่งเล่นเกือบตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุหากไม่มีใครคอยประกบหรือวิ่งตาม แต่ผู้ดูแลอายุมากแล้ว เดินตามไม่ไหว หรืออาจทำให้เหนื่อยเกินจนเป็นอันตรายต่อหัวใจได้
- ในกรณีที่เป็นลูกคนเดียว ไม่มีเด็กแถวบ้านหรือญาติพี่น้องที่เป็นเด็กด้วยกันมาเล่นด้วย เด็กอาจขาดทักษะในการเล่นกับเด็กคนอื่น หรือบางคนแทบไม่เจอใครเลยในแต่ละวันนอกจากพ่อกับแม่ ทำให้กลัวคนแปลกหน้า เข้ากับคนอื่นได้ยาก ในกรณีเช่นนี้ การพาลูกไปเข้ากลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน หรือสถานพัฒนาเด็กเล็ก อาจช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับผู้อื่นได้ดีขึ้น
รวมไปถึงเด็กบางคนมีปัญหากินข้าวยาก ส่วนใหญ่มักเป็นกรณีลูกคนเดียว ไม่มีใครกินด้วยหรือไม่ได้กินพร้อมพ่อแม่ จึงขาดโอกาสที่จะเลียนแบบการกระทำ ใช้วิธีป้อนตลอด ล่อหลอกให้กินโดยเปิดทีวีให้ดูไปด้วย แต่หมอก็คอยห้ามว่าอย่าให้ลูกดูทีวีมาก เลยไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรให้ลูกกินเก่งขึ้น
คำแนะนำ คือ พยายามลองให้กินเอง กินพร้อมหน้าพร้อมตากัน เปลี่ยนเมนูเป็นสไตล์ที่เด็กอยากกิน ลองให้ลูกช่วยเตรียมอาหารหรือจัดโต๊ะ จะได้รู้สึกมีส่วนร่วม และต้องไม่เปิดทีวีเด็ดขาด!
→ Must read : หมอเตือน!! ดูทีวีทำร้ายลูกร้ายแรง สร้างพฤติกรรมผิดปกติ
- การอยู่บ้าน อาจทำให้ลูกสบายเกินไป เพราะมีคนทำให้ทุกอย่าง แทบไม่ต้องกระดิกตัวทำอะไรเองเลย ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาความสามารถ บางคนจะเข้าเรียนแล้วยังกินข้าวเองไม่เป็น ใช้ห้องน้ำไม่เป็นเพราะใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปตลอดเวลา ขาดระเบียบวินัย เช่น เล่นของแล้วไม่เก็บ รอคิวไม่เป็น เด็กบางคน พ่อแม่ฝึกเองเท่าไรก็ไม่สำเร็จ แต่พอส่งไปเรียนปุ๊บทำได้เลย เพราะเกรงใจครู กลัวครูไม่รัก ซึ่งครูจะชมว่าเรียบร้อยน่ารักมากเวลาอยู่ที่โรงเรียน แต่พออยู่บ้านเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะรู้ว่าถึงอย่างไรพ่อแม่ก็รักและตามใจ
อ่านต่อ >> “เทคนิคการเลือกเนอสเซอรี่ ที่ไหนดี ให้เหมาะกับลูกน้อย” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ทั้งนี้เนื่องจากเด็กบางคนอาจมีพัฒนาการช้ากว่าวัยเล็กน้อย อาจเป็นเพราะขาดโอกาสในการฝึกฝน หรือไม่มีคนคอยกระตุ้นพัฒนาการ ซึ่งเด็กอาจดีขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็วถ้ามีการกระตุ้นพัฒนาการอย่างถูกวิธีโดยผู้มีความรู้ความชำนาญ
และเมื่อคุณพ่อคุณแม่ประเมินสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้แล้ว และคิดว่าควรส่งลูกไป สถาบันพัฒนาเด็กเล็ก หรือ เนอสเซอรี่ ที่ไหนดี สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกคือ
- ค่าใช้จ่าย : เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว
- ที่ตั้ง : ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน รับส่งและเดินทางสะดวก ลูกไม่เหนื่อยเกินไป
- นโยบาย ตรงกับความต้องการของพ่อแม่ : เช่น สนับสนุนการให้นมแม่ โดยยินดีป้อนนมลูกแบบจิบดื่มจากถ้วยแทนการให้ดูดจากขวด หรือให้ผลไม้แทนขนมหวาน
- คุณภาพ สถานที่ ปลอดภัย : ไม่มีประตูที่เด็กจะเดินออกไปเองตามลำพังได้ มีทางหนีไฟ ระบบตรวจจับควันไฟ การติดตั้งของเล่นมั่นคงดี มีที่จอดรถห่างจากที่เล่นของเด็ก ไม่แออัด การระบายถ่ายเทอากาศดี หากเป็นห้องแอร์ควรมีเครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะได้รับโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจควรมีห้องแยกสำหรับเด็กป่วย มีของเล่นที่หลากหลายและเหมาะกับเด็กแต่ละวัย เพื่อช่วยเสริมพัฒนาการและมีจำนวนเพียงพอ ทางโรงเรียนควรมีกล้องวงจรปิดเพื่อคอยตรวจสอบและย้อนดูเหตุการณ์ได้ในกรณีที่มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นแก่ลูก มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี
- บุคลากร เพียงพอกับจำนวนเด็ก : จะได้ดูแลเด็กอย่างทั่วถึง สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคติดต่อ ไม่มีประวัติอาชญากรรม รักเด็ก ใจเย็น มีความรู้ความชำนาญในการดูแลเด็ก ไม่เปิดทีวีให้เด็กดู ผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีโปรแกรมฝึกพัฒนาการที่แน่นอนสำหรับเด็กแต่ละช่วงอายุ ถ้ามีใบอนุญาตจัดตั้งสถานประกอบการและหลักสูตรที่มีมาตรฐานด้วยก็ยิ่งดี
- ระบบการดูแลสุขภาพเด็ก : มีห้องแยกเด็กป่วย หรือไม่ให้มาเรียนจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ มีการสังเกตอาการเจ็บป่วยของเด็ก จะได้รีบแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด และรีบโทรศัพท์ตามผู้ปกครองมารับเด็กกลับบ้าน หรือพาไปตรวจที่โรงพยาบาล
เลือกเนอสเซอรี่ให้ลูกอย่างไรดี
ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่ สงสัยว่าแล้วเนอสเซอรี่แบบไหนที่ดีและเหมากับลูกของเรา ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่กังวลว่าลูกจะพลาดโอกาสหรือเรียนช้ากว่าเพื่อนๆ ถ้าไม่ได้เรียนเรื่องตัวอักษรและตัวเลขตั้งแต่เข้าเนอสเซอรี่ แต่อันที่จริง เด็กๆ ได้เรียนรู้จากการลงมือทำ สำรวจสิ่งรอบๆ ตัวและการเล่นสนุก การเร่งเรียนอาจไม่ใช่วิธีที่ให้ผลดีกว่าอย่างที่คิด
→ Must read : ควรเลือกโรงเรียนอนุบาลที่วันๆ เอาแต่เล่นกับเด็ก ทำไม?
หากมีโอกาสไปเยี่ยมชมเนอสเซอรี่ที่สนใจ ก็ลองถามคำถามเหล่านี้ดู จะได้ตัดสินใจถูกว่าเนิร์สเซอรี่ที่ว่านี้เหมาะกับลูกของคุณมากน้อยแค่ไหน
- หลักสูตรและกิจกรรม
เป็นแบบไหน เน้นประเภทสอนร้องเพลงและกิจกรรมที่สอนให้เด็กรู้จักแบ่งปันหรือเปล่า
- มีเป้าหมายหรือความคาดหวังในตัวเด็ก
หลีกเลี่ยงเนอสเซอรี่ที่เข้มงวดกับเรื่องนี้มากไปนิด (นับ 1-20 ได้ภายในเดือนธันวาคม) และเลือกที่เน้นเรื่องทักษะการเข้าสังคมมากกว่า (เล่นกับเพื่อนๆ ได้ดี ไม่มีปัญหา)
- แต่ละวันมีกิจกรรมที่เป็นแบบแผนแค่ไหน
การมีกิจกรรมเป็นเรื่องที่ดี แต่เด็กๆ ก็ควรจะได้เล่นตามใจชอบด้วยเช่นกัน
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พอจะได้ไอเดียในการเลือกเนอสเซอรี่ให้ลูกน้อยกลอยใจกันแล้วหรือยังเอ่ย ซึ่งนอกจากคุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้เลือกเนอสเซอรี่ให้ลูกแล้ว ทั้งนี้ก่อนพาลูกเข้าเนอสเซอรี่ ก็ต้องมั่นใจก่อนว่าลูกเรามีความพร้อมทั้งทางด้านล่างกายและจิตใจหรือยังที่จะไปอยู่ในที่ที่ไม่มีพ่อกับแม่ หรือไม่ใช่บ้านของเขา เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับลูกน้อยก่อนที่จะเข้าเนอสเซอรี่ ไปดูกันค่ะว่าเด็กแบบไหนที่เนอสเซอรี่ต้องการ
อ่านต่อ >> “ลักษณะของเด็กที่เนอสเซอรี่ต้องการ” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ลูกเราเรียนรู้อะไร จากเนอสเซอรี่
ก่อนอื่นเคยสงสัยกันไหมว่า… กิจวัตร หรือ กิจกรรมง่ายๆ ที่เนอสเซอรี่จะช่วยสร้างเสริมสติปัญญาลูกได้อย่างไร? เพราะที่เนิร์สเซอรี่ที่เด็กๆ อยู่นั้นไม่ใช่แค่นั่งต่อบล็อกเล่นกันเพียงอย่างเดียว แต่เด็กๆ ยังได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ อีกตั้งมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- การทักทายประจำวัน ประโยคง่ายๆ อย่าง สวัสดีค่ะ ที่คุณครูพูดทักทายทุกๆ เช้า คือการเริ่มต้นกิจวัตรใหม่ที่เนอสเซอรี่ของเด็กๆ กิจกรรมประจำวันแต่ละส่วนซึ่งคาดการณ์ได้และมีชื่อเรียกชัดเจน ช่วยให้เด็กๆ จำได้ว่าตัวเองทำอะไรไปบ้าง และเดาได้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไปอีก
- กิจกรรมล้อมวง ซึ่งเด็กๆ ต้องให้ความสนใจกับสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม การนั่งฟังเพื่อนๆ เล่าถึงลูกสุนัขที่เลี้ยงไว้ หรือการท่องเที่ยวทางรถไฟเป็นครั้งแรก จะช่วยพัฒนาทักษะด้านการฟัง และพอได้เป็นฝ่ายเล่าเรื่องบ้าง ความจำและทักษะด้านการพูดก็จะพัฒนาขึ้นด้วยเช่นกัน
- การร้องเพลง เด็กๆ มักจดจำข้อมูลที่เขียนเป็นบทเพลงได้ดีกว่าการสอนด้วยคำพูด และไม่เพียงแต่จะได้หัดร้องเพลงกับเพื่อนๆ เท่านั้น ลูกยังได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ จากเนื้อร้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ แปรงฟัน หรือแม้แต่ส่วนประกอบหลักๆ ของรถยนต์
- ช่วงอาหารว่าง ซึ่งมีความหมายมาก เพราะการพูดคุยกับเพื่อนใหม่ๆ ระหว่างมื้อ จะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องคำและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
จากกิจกรรมข้างต้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกทักษะหลายๆอย่างนี้ให้กับลูกน้อยมาก่อนตั้งแต่อยู่ที่บ้านแล้ว ซึ่งเกณฑ์ที่จะช่วยคุณแม่ดูความพร้อมของลูก กับลักษณะเด็กที่เนอสเซอรี่ต้องการ คือ
1. ลูกนั่งกระโถนเป็นหรือยัง?
เพราะบางเนอสเซอรี่ หรือบางโรงเรียนไม่ได้มีแผนกเด็กเล็กที่พร้อมจะสอนเด็กนั่งกระโถน ควรฝึกลูกนั่งกระโถนให้เป็นก่อนพาเข้าเนอสเซอรี่ อย่างน้อยเขาต้องบอกผู้ใหญ่ได้เมื่อรู้สึกปวดหนักหรือเบา ลูกแยกจากแม่ได้ไหม ถ้าคุณต้องทำงานแล้วปล่อยให้ลูกอยู่บ้านกับญาติหรือพี่เลี้ยงจนชิน ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าคุณอยู่กับลูกตลอดทั้งวันตั้งแต่เขาเกิด ให้ลองออกไปทำธุระ ปล่อยให้ลูกอยู่ห่างตัวเสียบ้าง เป็นการฝึกเขาให้ห่างแม่ ในช่วงสัปดาห์แรกๆ เนอสเซอรี่มักจะอนุญาตให้คุณพาลูกกลับก่อนเวลาปกติได้ จนกว่าลูกจะชิน ถ้าไม่อยากให้ลูกร้องโยเยตอนไปเรียนก็หัดแยกลูกห่างตัวเสียบ้าง
2. ลูกสอนได้หรือเปล่า?
เนอสเซอรี่จะไม่ได้เน้นการสอนเหมือนโรงเรียนอนุบาล แต่เด็กก็ต้องเรียนรู้ที่จะทำตามกฎบางอย่างด้วยเหมือนกัน เช่น มีเวลาเล่นที่จำกัด ต้องแขวนกระเป๋าให้ถูกที่ ถ้ากลัวว่ามันจะยากเกินไปสำหรับลูก ลองเริ่มสอนให้เขารู้จักรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ในเรื่องง่ายๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันที่บ้านก่อน เช่น สอนให้ลูกวางรองเท้าให้เป็นระเบียบก่อนเข้าบ้าน หรือกินข้าวแล้วเอาจานไปเก็บที่อ่างก็ได้
3. ลูกเข้ากับเด็กคนอื่นได้ไหม?
ถ้าลูกคุ้นกับการอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ รู้จักมีน้ำใจ แบ่งปันให้กับผู้อื่น และไม่เห็นแก่ตัว นี่เป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกพร้อมแล้ว แต่ถ้ายังไม่เป็นเช่นนั้น ล องปล่อยให้เขาเล่นในสนามเด็กเล่นดูสิ นั่นเป็นการฝึกฝนให้เด็กๆ เรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกันได้ดีเชียวละ
4. ลูกยอมรับตารางกิจกรรมได้ไหม?
กิจกรรมต่างๆ ที่เนอสเซอรี่จัดไว้จะมีหลายอย่างต่อๆ กัน ลองสังเกตดูว่าลูกมีปฏิกิริยาอย่างไรเวลาต้องหยุดสิ่งที่ทำอยู่เพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อ เช่น ลูกรู้สึกโกรธหัวเสียหรือเปล่า เวลาที่บอกให้เลิกเล่นตุ๊กตาแล้วไปเข้านอน ลองฝึกให้ลูกรู้จักการยอมรับกิจกรรมที่ต้องเปลี่ยนไปทีละน้อยๆ อาทิบอกลูกไว้เลยว่าหลังจากเล่นตุ๊กตาแล้วต้องเข้านอนนะ
ลองดูว่าส่วนใหญ่แล้วลูกเราทำได้หรือไม่ (ทำไม่ได้ทั้งหมดที่ว่ามาก็ไม่เป็นไร) หากกังวลว่าลูกยังไม่พร้อม จะดีกว่าถ้าเลื่อนให้ลูกไปเรียนเทอมหน้าหรือปีหน้า แทนที่จะบังคับให้เขาไปเรียนอย่างไม่มีความสุขและเป็นภาระของโรงเรียนในภายหลัง
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- สิ่งที่ต้องสอนลูกก่อนวัย 3 ขวบ เพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าโรงเรียน
- เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ
- คัมภีร์รับมือ 10 วิธี ทำให้ลูกอยากไปโรงเรียน ได้ผล 100%
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids