ทำไมหนอ ทำไม? ลูกชอบแลบลิ้น ชอบทำลิ้นจุกปาก ตลอดเวลา เรื่องจริงที่พ่อแม่หลายคนสงสัย
หนึ่งในพฤติกรรมของทารกที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มักตั้งคำถามก็คือ ลูกชอบแลบลิ้นชอบทำลิ้นจุกปาก พฤติกรรมดังกล่าวจะว่าปกติหรือไม่ แล้วเพราะอะไรทำไมลูกถึงทำเช่นนั้น วันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้เตรียมคำตอบเอาไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านแล้วละค่ะ
6 เหตุผลทำไม ลูกชอบแลบลิ้น
สำหรับเหตุผลของเด็กเล็ก ๆ ที่ทำม๊ายทำไมเขาถึงชอบแลบลิ้นเล่นกันนั้น มีด้วยกันทั้งสิ้น 6 เหตุผลด้วยกัน ดังนี้ค่ะ
1.ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ – สาเหตุหนึ่งที่ ลูกชอบแลบลิ้น นั้นก็คือ ลูกทำเพราะเนื่องจากเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กวัยทารก ที่เมื่อไรก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่เอานิ้วหรือแม้แต่เต้านมของคุณแม่ไปสัมผัสกับปากของลูก ก็จะเห็นได้ว่าสิ่งแรกที่ลูกจะทำเลยก็คืออ้าปาก และแลบลิ้นออกมานั่นเองค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วงไปนะคะ เพราะถ้าหากเป็นสาเหตุข้อนี้ละก็พฤติกรรมดังกล่าวจะหายไปได้เองหลังจากที่ลูกมีอายุ 4 – 6 เดือนไปแล้วละค่ะ หรือสำหรับเด็กบางคน อาการนี้จะหายไปหลังจากที่พวกเขาเริ่มรับประทานอาหารเสริมมื้อแรกกันแล้วนั่นเองค่ะ
2.ภาวะลิ้นโต – ภาวะลิ้นโตที่ว่านี้เป็นภาวะที่วงการแพทย์เรียกกันว่า ลุ่มอาการเบ็ควิท-ไวเดอมานน์ (Beckwith–Wiedemann syndrome) เป็นความผิดปกติของทารกตั้งแต่กำเนิด โดยจะพบว่าลิ้นของทารกนั้นมีขนาดใหญ่กว่าปากของทารกมาก ซึ่งความใหญ่อันผิดปกตินี้สามารถแปรสภาพกลายเป็นโรคมะเร็งได้เลยละค่ะ วิธีการแก้ไขก็คือ คุณหมอจะช่วยทำการผ่าตัดลิ้น และเย็บติดเข้าด้วยกันใหม่ จึงจะช่วยทำให้ทารกที่อยู่ในภาวะนี้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ถึงอย่างไรก็ดี ก็ยังคงต้องเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังโรคมะเร็งนั่นเองค่ะ
3.ปากลูกเล็กเกินไป – เด็กบางคนลิ้นมีขนาดปกติ แต่ด้วยความที่ปากของพวกเขาเล็กเกินไปจึงส่งผลให้ลิ้นนั้นคับปากไม่สามารถเก็บลิ้นของตัวเองเข้าไปได้หมด ซึ่งภาวะปากเล็กนี้มักจะพบในกลุ่มของเด็กพิเศษ หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อเรียกว่ากลุ่มดาวน์ซินโดรมนั่นเองค่ะ
4. ภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวน้อย หมายถึง ภาวะที่ลูกไม่สามารถที่จะขยับเขยื้อนลิ้นของตัวเองกลับเข้าไปในปากได้ เนื่องจากแรงต้านของกล้ามเนื้อนั้นน้อยกว่าปกติ ทำให้ทารกไม่สามารถดูดนมแม่ได้อย่างเต็มที่ ยกเว้นเสียแต่ว่า คุณแม่จะช่วยประคองทารกเอาไว้ให้ดูดนมในท่าที่เหมาะสม ทั้งนี้ภาวะดังกล่าว ยังคือว่าเป็นภาวะหนึ่งในเป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงกลุ่มดาวน์ซินโดรมได้อีกด้วย
5. มีภาวะซีสต์ในช่องปาก – ทารกบางคนมีปัญหาในเรื่องของการพบว่ามีซีสต์อยู่ในปาก ทำให้พวกเขาไม่สามารถที่จะหดลิ้นกลับเข้าไปในปากได้ เนื่องจากก้อนเนื้อดังกล่าวนั้นเป็นอุปสรรค ซึ่งทางที่ดีก็คือ หากพบว่าลูกมีภาวะดังกล่าวให้พาลูกไปพบแพทย์ให้โดยเร็วจะดีที่สุดค่ะ
6. หายใจทางปาก – เด็กบางคนไม่ได้มีภาวะที่ผิดปกติใด ๆ ทั้งสิ้น แต่แค่เป็นหวัด หายใจไม่ค่อยสะดวก จึงทำให้สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้พวกเขาหายใจได้ก็คือ การใช้ปากหายใจ หรือหายใจทางปากนั่นเองละค่ะ
เพิ่มเติมสำหรับเด็กเล็ก ๆ บางคนค่ะที่ไม่ได้มีภาวะที่ผิดปกติใด ๆ แต่ชอบแลบลิ้นนั้นก็เป็นเพราะพยายามทำเลียนแบบผู้ใหญ๋ หรือคนรอบข้างที่ชอบทำนั่นเองค่ะ นอกเสียจากนี้ยังรวมไปถึงการชอบเล่นน้ำลายอีกด้วยนะคะ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกชอบแลบลิ้นละก็ ให้ลองสังเกตดูให้ดีค่ะว่า ที่เขาเล่นนั้นเป็นเพราะวัยของพวกเขาเองหรือไม่ ถ้าหากไม่แน่ใจ แนะนำให้พาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็คให้ละเอียดดูอีกครึ่งนึงก็ได้นะคะ
ขอบคุณที่มา: Wikipedia และ Momjunction
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่