AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกเลียนแบบพ่อแม่ พฤติกรรมเลียนแบบของเด็กสั่งจากสมอง! หนูรู้ หนูจำได้

ลูกเลียนแบบพ่อแม่

ลูกเลียนแบบพ่อแม่ เพราะทุกสิ่งที่พ่อแม่ทำ หนูรู้ หนูจำได้ ถ้าไม่อยากให้ลูกเลียนแบบในเรื่องร้าย ๆ พ่อแม่ควรเป็นต้นแบบที่ดี

ลูกเลียนแบบพ่อแม่ พฤติกรรมเลียนแบบสั่งจากสมอง

พฤติกรรมเลียนแบบส่งตรงจากสมอง สั่งให้ทำตามคนอื่น ทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย พ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดีได้ ให้ลูกเกิดพฤติกรรมเลียนแบบด้านบวก

ในวัยทารก พ่อแม่อาจจะเห็นว่าลูกน้อยยังอ้อแอ้ พูดจาไม่เป็นคำ จำอะไรไม่ได้หรอก แต่จริง ๆ แล้วตรงกันข้ามกันเลย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ขวบ ลูกที่เห็นพฤติกรรมต่าง ๆ ของพ่อแม่ คนในครอบครัว หรือคนรอบตัว ลูกจำได้อยู่เสมอ เพียงแต่ลูกยังไม่เติบโตพอที่จะมีพฤติกรรมเลียนแบบ

สมองทารกเติบโตอย่างมากในขวบปีแรก

ช่วง 3 ปีแรกของชีวิตลูก ร่างกายจะเติบโต พร้อมกับมีพัฒนาการต่าง ๆ มากมายเพิ่มขึ้น สมองของลูกก็จะเติบโตมากขึ้นด้วย คนที่เลี้ยงดูทารกอย่างใกล้ชิด จึงเป็นผู้เปิดโลกการเรียนรู้ของทารก เพราะเด็กจะเรียนรู้ รับรู้ และเลียนแบบ เชื่อมโยงกับโลกภายนอกรอบ ๆ ตัว ในด้านของสมองทารกจะมีพัฒนาการเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของแม่ แต่ขนาดของสมองจะเพิ่มมากกว่าระยะอื่น ๆ ในช่วงขวบปีแรก ซึ่งน้ำหนักของสมองแรกเกิดนั้นประมาณ 400 กรัม ราว ๆ 25% ของสมองผู้ใหญ่ และจะเพิ่มเป็น 1,000 กรัมเมื่ออายุ 1 ขวบ (สมองผู้ใหญ่หนักประมาณ 1,400 กรัม)

การดูแลลูกอย่างใกล้ชิดด้วยความรักของผู้เป็นพ่อแม่ พร้อมกับเติมสารอาหารสำคัญให้กับลูกด้วยนมแม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ร่างกายของลูกน้อยเติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการรอบด้าน

พ่อแม่คือกระจกเงาสะท้อนพฤติกรรมลูก พฤติกรรมเลียนแบบของลูกผ่านเซลล์สมองกระจกเงา

สมองน้อย ๆ ของเจ้าตัวน้อย สามารถรับรู้ สิ่งที่พ่อแม่ทำทุกอย่าง จึงก่อเกิดเป็นพฤติกรรมเลียนแบบเมื่อเติบโตขึ้น รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฬฒนาการและพฤติกรรม อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า ทารกในวัยแรกเกิดถึง 1 ปี เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่พ่อแม่ทำ แล้วจดจำเอาไว้ ถึงเวลาที่สามารถทำได้ ก็จะทำ เพราะกระบวนการเลียนแบบเกิดจากการทำงานของเซลล์สมอง เรียกว่า Mirror Neuron หรือเซลล์สมองกระจกเงา

กระบวนการเลียนแบบมีการทำงานของเซลล์สมอง เช่น พอมองเห็นปุ๊บ เซลล์สมองส่วนการมองเห็นก็เอาเข้าไปแล้วไปแปลผลในสมอง แล้วก็ไปอยู่ในเซลล์สมองการจดจำ จากนั้นก็จะมีการนำออกมาใช้ Mirror Neuron นั้น เลียนแบบง่ายที่สุดคือสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ใกล้ชิดมากที่สุด อย่างคนในครอบครัว หรือพ่อแม่ แม้แต่สื่อต่าง ๆ ที่เข้าถึงเด็กได้ง่ายขึ้นก็ทำให้เด็กเรียนรู้ เกิดกระบวนการ จะเลียนแบบ จะทำตามหรือไม่ทำตาม

พฤติกรรมเลียนแบบของลูกผ่านเซลล์สมองกระจกเงา

ยกตัวอย่างพ่อแม่ที่ไม่อยากให้ลูกสูบบุหรี่ รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ ย้ำว่า หากพ่อแม่อยากให้ครอบครัวปลอดบุหรี่ ลูกไม่สูบบุหรี่ ดีที่สุดคือพ่อแม่ต้องไม่สูบ เมื่อเด็กตอบสนองด้วยพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ พ่อแม่ต้องตอบสนองอย่างเหมาะสม บอกให้ลูกรู้ว่าการสูบบุหรี่ไม่ใช่สิ่งที่ครอบครัวเรายอมรับ พอเห็นคนสูบบุหรี่ พ่อแม่ก็อาจจะคุยกัน ไม่ชอบเลย กลิ่นมันเหม็นนะ ถ้าตอบสนองเหมาะสม เด็กจะรู้ว่าพฤติกรรมนี้ควรจะคงอยู่ หรือพฤติกรรมนี้ควรจะหายไป แล้วมันจะสร้างบรรทัดฐานครอบครัวเราได้ว่า ครอบครัวเราไม่ยุ่งกับบุหรี่

แม้ว่าเด็กจะเห็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะต้องทำ คุณหมอบอกว่า สิ่งสำคัญคือ เด็กต้องฉลาดรู้และฉลาดทำ

  1. เด็กต้องฉลาดรู้ รู้โทษของสิ่งที่ทำ เราถึงไม่ทำ
  2. เด็กต้องฉลาดทำ ควบคุมตัวเองให้ได้ตามที่ตัวเองรู้ว่าอันนี้ไม่ควรทำ

สำหรับเด็ก ๆ จะฉลาดทำได้ก็ต้องเริ่มจาก External Control หรือการควบคุมจากภายนอก (พ่อแม่) โดยพ่อแม่ต้องควบคุมลูกให้ได้เพื่อสร้างให้เด็กควบคุมตัวเองให้ได้ เด็กจะต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเอง ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ยกตัวอย่าง ลูกหิวข้าว แต่นี่ไม่ใช่เวลาที่จะกินข้าว ถ้าหนูหิว หนูต้องรอ เพราะตอนถึงเวลากิน หนูไม่กิน

พ่อแม่ต้องพยายามควบคุมลูกให้ได้ เราจะกินก็ต่อเมื่อถึงเวลากิน พ่อแม่ต้องควบคุมลูกให้ได้ ถ้าพ่อแม่ควบคุมตัวเองได้ พ่อแม่ก็เริ่มมาที่ควบคุมลูก แล้วต่อไปลูกจะควบคุมตัวเองได้

ลูกเลียนแบบพ่อแม่

ช่วงวัยที่เด็กมักมีพฤติกรรมเลียนแบบ

เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 1-3 ปี เด็ก ๆ จะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองที่ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ หากลูกมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ในช่วง 3-4 ปี มักจะเป็นพฤติกรรมปกติ และไม่ส่งผลเสียในระยะยาว แต่ก็ต้องพิจารณาจากพฤติกรรมนั้นด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ เช่น การอยากใส่รองเท้าทำงานของพ่อ หยิบส้นสูงแม่มาใส่ หรือแต่งหน้าทาปากแบบผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่ชอบดูสื่อบันเทิง อาจจะมีพฤติกรรมพูดจาเลียนแบบ ทำท่าทางตามอย่างที่เห็น แต่ถ้าไม่ใช่พฤติกรรมที่ร้ายแรง เพียงลูกเติบโตขึ้นก็จะหันเหความสนใจไปเรื่องอื่นเอง เพราะลูกจะเริ่มมีเพื่อน สนุกกับการเรียน หรือชอบทำกิจกรรมบางอย่าง พฤติกรรมเลียนแบบก็จะน้อยลงไปเอง

หากลูกแสดงพฤติกรรมเลียนแบบบางอย่างที่ไม่เหมาะสม รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่าให้พ่อแม่หรือคนใกล้ชิด ไม่แสดงความสนใจ ไม่ชื่นชม แต่ถ้าเป็นการเลียนแบบที่แสดงให้เห็นว่าลูกสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ อาจแสดงถึงความสนใจในตัวเด็ก พรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษ ที่อาจส่งผลดีมากกว่า

พฤติกรรมเลียนแบบในด้านไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมพูดโกหก หยิบของโดยไม่บอก ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมเลียนแบบจากพ่อแม่ โดยที่พ่อแม่ไม่ตั้งใจ เช่น โกหกว่าออกไปข้างนอก แต่ลูกเห็นว่าอยู่บ้าน หรือหยิบของใช้คนในบ้านไปใช้โดยไม่บอกกล่าว ลูกก็จะเข้าใจว่า การหยิบของไปโดยไม่บอก เป็นเรื่องที่ทำได้ นำไปสู่พฤติกรรมลักขโมยได้ในที่สุด

สำหรับการแก้ไขเมื่อลูกเกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ต้องอธิบายให้ลูกฟังถึงผลเสีย หรือสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นจากการกระทำสิ่งนั้นว่าไม่ดีอย่างไร ทำไมไม่เหมาะสม พร้อมกันนั้นให้ชื่นชมพฤติกรรมที่เหมาะสม เสริมความมั่นใจ ให้ลูกอย่างทำสิ่งดี ๆ สิ่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ การแก้ไขพฤติกรรมอาจต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงต้องอดทนและให้เหตุผลที่สมเหตุสมผลแก่ลูก หากเด็กมีพฤติกรรมรุนแรง ให้พามาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

พ่อแม่ต้องใกล้ชิดกับลูกในทุกช่วงวัยให้มาก ๆ เพื่อสังเกตพฤติกรรมของลูก หากเป็นเรื่องที่เหมาะสม เป็นพฤติกรรมเลียนแบบด้านบวก เหมาะแก่การสนับสนุนต่อไป ก็ไม่ควรไปตำหนิ หรือทำให้ลูกเสียความมั่นใจ ให้ผลักดันลูกทำสิ่งดี ๆ เพราะนี่อาจเป็นพรสวรรค์ของลูกเราก็ได้

 อ้างอิงข้อมูล : Social Marketing Thaihealth by สสส., petcharavejhospital, thaihealth และ si.mahidol.ac.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ส่งลูก เรียนอนุบาล แต่พ่อแม่ไม่อยากให้รร. “เร่งอ่านเขียน” จะทำอย่างไรดี?

11 เกมฝึกสมอง สอนลูกแก้ปัญหาไม่ละความพยายามง่ายๆ

เลี้ยงลูกใกล้ชิดธรรมชาติ ผลวิจัยชี้ช่วยให้ลูกฉลาด ไอคิวสูง