ลูกไม่ถ่าย มาหลายวันแล้ว ทั้ง ๆ ที่กินนมแม่ ทำไมยังท้องผูกอีก ไขคำตอบว่าทำไมลูกถึงไม่ถ่าย ถ้าลูกไม่ถ่ายหลายวันจะเป็นอันตรายหรือไม่ การที่ลูกไม่ถ่ายส่งสัญญาณอันตรายอะไร ได้ที่นี่ค่ะ
กินนมแม่..แต่..ลูกไม่ถ่าย..แม่ควรกินอะไร?
เรื่องขับถ่ายของเด็กนมแม่
ตามที่เราเข้าใจกันว่าทารกจำเป็นจะต้องขับถ่ายทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และปัสสาวะทุกวัน อย่างน้อยวันละ 6 ครั้ง ถึงจะเรียกได้ว่าปกติ ได้รับนมแม่อย่างเพียงพอไม่ท้องผูกหรือท้องเสียนั้น เป็นความเชื่อที่ผิดค่ะ อาการท้องผูกหรือท้องเสียของทารกนั้นไม่สามารถดูได้จากจำนวนครั้งที่ลูกถ่ายเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องดูอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งการขับถ่ายของทารกนั้น คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใส่ใจและสังเกตเป็นพิเศษ เพราะไม่เหมือนกับอาการทั่วไปที่ทารกจะแสดงพฤติกรรมเพื่อส่งสัญญาณให้รู้อย่างชัดเจน
ลูกกินนมแม่แต่ถ่ายบ่อย ท้องเสียหรือไม่
การที่ลูกกินนมแม่แต่ถ่ายบ่อย ไม่ได้หมายความว่าลูกท้องเสียแต่อย่างใด เพราะนมแม่ย่อยง่าย ทำให้ลูกอาจถ่ายได้บ่อย 8-10 ครั้งต่อวัน หรือทุกครั้งหลังจากดูดนมแม่ก็ยังได้ ทั้งนี้คุณแม่ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ของลูกร่วมด้วย หากลูกมีอาการต่อไปนี้ อาจหมายถึงสัญญาณของอาการท้องเสีย ควรไปพบแพทย์
- อุจจาระมีกลิ่นรุนแรง เหม็นคาว เป็นสีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สีเหลืองทองและมีลักษณะนิ่ม
- ลูกงอแง ซึม มีไข้
- ไม่อยากอาหาร
ลูกกินนมแม่แต่ไม่ถ่ายหลายวัน ปกติไหม?
สำหรับทารกนมแม่ล้วนนั้น ในช่วงหลังคลอด 1-2 เดือนแรก จำเป็นต้องเร่งสารเหลืองออกจากร่างกาย จึงทำให้ขับถ่ายบ่อยวันละหลายครั้ง แต่เมื่อลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น สารอาหารในนมแม่ดูดซึมไปใช้ได้เกือบหมด ไม่เหลือกากอาหารไว้สำหรับขับถ่าย หรือเหลือกกากใยให้กำจัดออกจากร่างกายไม่มาก ทำให้ไม่ถ่ายหลายวันได้ บางรายอาจจะไม่ถ่ายนานถึง 2-3 สัปดาห์ ก็ยังถือว่าปกติ แต่หากลูกมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย อาจหมายถึงอาการท้องผูก
- ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระ เบ่งหน้าดำหน้าแดง หรือรู้สึกหงุดหงิดและร้องไห้เวลาขับถ่าย
- มีเลือดปนอุจจาระ ทารกที่ท้องผูกอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระได้ เนื่องจากผนังทวารหนักฉีกขาดจากการออกแรงเบ่งอุจจาระ หากทารกมีอาการนี้ ควรไปพบแพทย์
- ไม่อยากอาหาร เพราะอึดอัดและไม่สบายท้องจากการไม่ได้ขับถ่ายของเสีย
- ท้องแข็ง ลักษณะท้องของทารกจะตึง แน่น หรือแข็ง ซึ่งเป็นอาการท้องอืดที่เกิดขึ้นร่วมกับการมีท้องผูก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ กินนมแม่..แต่..ลูกไม่ถ่าย..แม่ควรกินอะไร?
กินนมแม่..แต่..ลูกไม่ถ่าย..แม่ควรกินอะไร?
แม้ว่าเด็กนมแม่ไม่ถ่ายหลายวันนั้นก็ยังถือว่าไม่เป็นไร แต่หากคุณแม่ร้อนใจ อยากให้ลูกขับถ่ายบ่อยกว่านี้ คุณแม่ต้องกินอาหารที่ช่วยระบายแทนลูกค่ะ เพราะเด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน ยังไม่สามารถทานอาหาร ผัก ผลไม้ โดยเฉพาะเด็กนมแม่ที่ไม่สามารถทานน้ำได้ เคล็ดลับต่อไปนี้ จะสามารถกระตุ้นการขับถ่ายของลูกได้ค่ะ
- ให้คุณแม่พยายามทานผักผลไม้ที่ช่วยระบาย โดยเฉพาะมะละกอ ส้ม พรุน หรือ มะขาม
- ให้คุณแม่ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพราะนอกจากจะเป็นผลดีต่อระบบขับถ่ายของลูกแล้ว ยังเป็นผลดีต่อร่างกายคุณแม่เองอีกด้วย
- ควรเลี่ยงอาหารที่ต้องสงสัยว่าลูกแพ้ เพราะการแพ้อาหารอาจทำให้ลูกท้องผูกได้
- เน้นให้ลูกกินนมส่วนต้น ซึ่งมีแลคโตส เพราะจะช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
การกระตุ้นการขับถ่ายด้วยวิธีอื่น ๆ
นอกจากอาหารที่ทานแล้วหาก ลูกไม่ถ่าย คุณแม่ยังสามารถกระตุ้นการขับถ่ายของลูกได้ ดังต่อไปนี้
- ช่วยขยับร่างกาย การเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยเร่งการย่อยอาหาร ส่งผลให้ร่างกายลำเลียงของเสียออกไปได้เร็ว โดยพ่อแม่อาจฝึกทารกที่ยังเดินไม่ได้ให้ถีบจักรยานกลางอากาศ หรือหากทารกยังคลานไม่ได้ อาจช่วยนวดกระตุ้นขา
- นวดท้อง วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นลำไส้ ส่งผลให้ขับถ่ายได้ง่าย พ่อแม่อาจลองนวดท้องส่วนล่างด้านซ้ายของเด็กซึ่งอยู่ใต้สะดือประมาณ 3 นิ้วมือ โดยใช้ปลายนิ้วกดลงไปเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอประมาณ 3 นาที และควรหมั่นนวดวันละหลายครั้งจนกว่าเด็กจะถ่ายได้ปกติ
- ทาว่านหางจระเข้ หากเด็กถ่ายลำบากจนมีเลือดออกหรือผิวหนังบริเวณทวารหนักฉีกขาด ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาเป็นอันดับแรก แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการรักษาอาจใช้ครีมที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ทาบริเวณดังกล่าวเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษา พ่อแม่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาหรือวิธีรักษาอาการท้องผูกของเด็ก โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาที่ช่วยให้อุจจาระไม่แข็งตัวเพื่อให้เด็กถ่ายง่ายขึ้นหรือใช้ยากลีเซอรีนเหน็บก้น อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยาเหน็บก้นเป็นประจำ เนื่องจากจะทำให้เด็กเคยชินและไม่ถ่ายเองตามปกติ รวมทั้งเลี่ยงไม่ให้เด็กรับประทานยาระบาย หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ลักษณะ และ สีอุจจาระทารกแรกเกิด บอกสุขภาพได้มากกว่าที่คิด
แม่แชร์เตือน! ลูกกินนมผสม สังเกตอึให้ดี เสี่ยงเป็นโรคลำไส้อักเสบ
ท่านอนทารก ช่วยลูกฉลาด และพัฒนาการดีจริงหรือ?
ขอบคุณข้อมูลจาก : Pobpad, Thairath
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่