รู้หรือไม่…การลงทำโทษที่ใช้วิธีรุนแรงด้วยการเฆี่ยนตีว่าหนักแล้ว แต่การยิ่งพ่อแม่โมโห ทั้งเผลอและตั้งใจ ตะโกน ตะคอกใส่ลูก หรือใช้คำพูดเจ็บ ๆ แรง ๆ ถือเป็นลงโทษด้วยวาจาที่ทิ่มแทงหัวใจลูก ส่งผลต่อจิตใจ และความรู้สึกของลูกเข้าไปได้อีกนะคะ
มีผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมสุดแย่ของพ่อแม่ที่ชอบ ตะคอกใสลูก หรือการว่ากล่าวด้วยคำหยาบคาย พูดไปแบบไม่คิด การลงโทษลูกด้วยวาจาลักษณะนี้ จะทำให้ลูกโตขึ้นมากลายเป็นเด็กมีปัญหา มีพฤติกรรมที่ชอบโกหก ลักขโมย และเป็นเด็กก้าวร้าว เกเร ทะเลาะวิวาทกับเพื่อนที่โรงเรียนได้
โดยดอกเตอร์หมิง ที หวัง รองศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยาการศึกษา ของมหาวิทยาลัยพิตต์เบิร์ก สหรัฐอเมริกากล่าวถึงผลการศึกษาในเรื่องนี้จากกลุ่มพ่อแม่ครอบครัวชนชั้นกลางในสหรัฐอเมริการาว 976 ครอบครัว พบว่ามีพ่อแม่จำนวนมากที่ใช้วิธีตะโกนดุด่าว่ากล่าวลูกเสียงดัง ใช้คำที่ทำร้ายความรู้สึกลูก โดยเด็กที่ถูกลงโทษด้วยวิธีนี้บ่อย ๆ จะมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้มากกว่าเด็กที่ไม่เคยถูกพ่อแม่ตะคอกใส่หรือว่ากล่าวด้วยถ้อยคำรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น อายุ 13-14 ปี ที่ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
ซึ่งดอกเตอร์หมิง กล่าวเพิ่มว่า แม้จะเป็นครอบครัวที่พ่อแม่ลูกสนิทกัน แต่ความเข้าใจของพ่อแม่ที่คิดว่าการดุด่านั้นเกิดจากความรัก ความหวังดีกับลูก และเข้าใจว่าลูกจะเข้าใจในเรื่องที่พ่อแม่ดุ แต่จริง ๆ แล้วการกระทำแบบนี้นี่แหละที่จะส่งผลร้ายต่อตัวลูกทั้งทางจิตใจ รวมถึงก่อให้เกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีจากพ่อแม่ได้
นักวิจัยชี้ชัด! พ่อแม่ ตะคอกใส่ลูก ทำลายสมอง เสี่ยงลูกโตไปเป็นเด็กมีปัญหา
อีกทั้งยังมีผลวิจัยของ ดร.ลอลา มาร์คัม ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา บอกไว้ว่า การที่พ่อแม่ตีลูกและขึ้นเสียงเพื่อทำให้เด็กๆ อยู่ในระเบียบ ถือเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว
แม้ในอดีตมันอาจจะได้ผล แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน พูดง่ายๆ คือ การมีระเบียบวินัยไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบที่ผู้ปกครองวางไว้เสมอไป และถ้าหากพ่อแม่ขึ้นเสียงกับเด็กๆ ก็เท่ากับว่าเป็นการบังคับให้เด็กๆ อยู่ในระเบียบวินัย หรือเป็นการเลี้ยงดูลูกที่ล้าสมัย และนักวิจัยหลายคนได้ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์การเลี้ยงดูทารกน้อย ระบุว่า การเลี้ยงดูลูกน้อยด้วยวิธีดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการทบทวนใหม่
อ่านต่อ >> “พ่อแม่ระวัง! ตะคอกใส่ลูก ทำลายสมอง เสี่ยงลูกโตไปเป็นเด็กมีปัญหา” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ตะคอกใส่ลูก เสี่ยงทำลายสมอง
สอดคล้องกับที่ ดร.มาร์คัม ได้บอกว่า
“การตะโกนใส่หน้าลูกๆ ไม่เป็นผลดีต่อสมองของเด็กๆ ขณะเดียวกันยังทำให้สมองหลั่งสารเคมีที่ก่อให้เกิดการต่อต้าน และส่งผลต่อการเติบโตของลูกน้อยอีกด้วย ที่สำคัญ เด็กก็มักจะแสดงปฏิกิริยาต่อสู้กับพ่อแม่ นิ่งใส่ หรือตีพ่อแม่ บางครั้งอาจวิ่งหนี และเขม็งตาใส่
พฤติกรรมที่กล่าวมาล้วนไม่ส่งผลดีอะไรเลย ที่สำคัญ การที่ผู้ปกครองตะโกนใส่หน้าเด็กๆ ด้วยอาการเกรี้ยวกราด นัยหนึ่งก็เท่ากับเป็นการสอนเรื่องการใช้ความรุนแรง ผ่านการแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว ซึ่งไม่ต่างจากการแสดงความรุนแรงผ่านทางกายแต่อย่างใด และพฤติกรรมดังกล่าวสามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปยังเด็กที่กำลังจะโตได้”
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็ก ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารพัฒนาการลูกน้อย “Child Development” เมื่อปี 2013 ระบุไว้ว่า “การตะโกนใส่หน้าลูก อันที่จริงแล้วหมายถึงการสาปแช่งและดูถูกเด็กๆ ซึ่งถือได้ว่ารุนแรงไม่ต่างจากการลงโทษทางร่างกาย”
ขณะที่เว็บไซต์สุขภาพอย่าง “Healthline” ระบุว่า การตะโกนใส่หน้าเด็กๆ มักจะมาพร้อมกับคำพูดดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งนั่นถือได้ว่าเป็นการล่วงละเมิดทางอารมณ์ และแสดงให้เห็นผลเสียในระยะยาว เช่น การที่เด็กเกิดความกังวล และมีความนับถือตัวเองต่ำ รวมถึงจะทำให้เด็กก้าวร้าว และทำให้เด็กอ่อนแอหากถูกแกล้ง เพราะจะทำให้เขาเข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นดังเช่นที่ถูกว่ากล่าว ทำให้เกิดภาวะขี้ขลาดหรือไม่มั่นใจในตัวเอง
ดร.มาร์คัมแนะนำการแก้ปัญหาความรุนแรงดังกล่าว โดยการมองให้เป็นเรื่องตลก โดยเฉพาะเมื่อเด็กๆ ทำผิดพลาด หรือทำเรื่องผิดพลาดโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เพราะหากพ่อแม่ตอบสนองด้วยอารมณ์ขัน จะทำให้พ่อแม่ยังสามารถรักษาอำนาจการควบคุมลูกไว้ได้ และไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครองเสียไป หรือหากเด็กๆ แสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก พ่อแม่สามารถหาเวลาพักผ่อนร่วมกัน และใช้โอกาสดังกล่าวพูดคุยกัน เพื่อทำให้เด็กมีที่ระบายและปรับตัว ซึ่งจะสร้างความฉลาดทางอารมณ์ให้กับเด็กๆ นั่นจึงเท่ากับว่าครอบครัวได้สะท้อนผลที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก ซึ่งไม่ใช่การทำให้ความสัมพันธ์เกิดความแตกแยก
อ่านต่อ >> “6 วิธีระงับใจ ไม่ตะคอกลูก” คลิกหน้า 3
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaipost.net
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
6 วิธีระงับใจ ไม่ตะคอกใส่ลูก
1. เปิดวิทยุดังๆ (ถึงดีเจจะกำลังเปิดเพลงที่คุณไม่ชอบก็เถอะ)
2. ออกไปเดินสงบสติแถวๆ บ้าน
3. นึกถึงตอนที่แม่ตะคอกคุณ ว่าตอนนั้นคุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
4. คิดถึงลูกในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งกำลังคิดว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรตอนที่ถูกคุณตะคอก
5. นึกถึงค่าใช้จ่ายในการบำบัดจิต
6. กอดกันดีกว่านะ
แต่ก็อาจทำให้เกิดปัญหาใหม่อยู่ดี เพราะพ่อแม่ที่ไม่ตีลูก กลับหันมาใช้วิธีการพูดจาแทนนั้น กลายเป็นว่าเด็กไม่เจ็บตัว แต่ปลายเป็นเจ็บใจแทน และแผลที่เจ็บใจนี่แหละที่มักฝังอยู่ในความทรงจำ ทำให้เด็กมักเครียด กลายเป็นเด็กเก็บกด หรือกดดัน หรือต่อต้านด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งก็ต้องอยู่ที่พื้นนิสัยของเด็กด้วย
เพราะฉะนั้น วิธีที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุด ก็คือก่อนที่จะลงโทษ พ่อแม่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ภายในบ้านก่อน การกำหนดกฎเกณฑ์เป็นการสอนให้ลูกได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ รวมไปถึงวินัย และการอยู่ร่วมกันในครอบครัว เป็นการสอนให้ลูกรู้ว่าเมื่อมีกฎเกณฑ์ภายในครอบครัวก็ต้องปฏิบัติตาม เช่น เมื่อลูกเล่นของเล่นเสร็จก็ต้องเก็บของเล่นเข้าที่ ถ้าลูกไม่เก็บก็แสดงว่าไม่ทำตามกฎกติกา ผลที่ตามมาก็คือถูกลงโทษด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
แต่ถ้าไม่มีกฏกติกาภายในบ้าน เมื่อลูกเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บเข้าที่ พอแม่บอกให้ไปเก็บของเล่น ลูกก็อาจเพิกเฉย ไม่สนใจ และไม่ยอมทำตาม คนเป็นแม่ก็จะรู้สึกโกรธ ไม่พอใจที่ลูกมีพฤติกรรมแบบนี้ ก็เริ่มโกรธ และต่อว่า ในขณะที่ลูกก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ยิ่งเห็นพฤติกรรมที่โกรธของแม่ เด็กบางคนก็อยากท้าทายจนท้ายสุดจากเรี่องเล็กๆ ก็กลายเป็นบานปลายได้ในที่สุด ฉะนั้น พ่อแม่ควรกำหนดกฎเกณฑ์กติกาภายในบ้าน โดยเริ่มง่ายๆ ได้ดังนี้
- กฎ กติกา ต้องชัดเจน ปฏิบัติได้ และเข้าใจง่าย
- ถ้าลูกโตพอ บางเรื่องก็ควรให้ลูกได้ส่วนร่วมในการกำหนดกฎ กติกาภายในบ้านด้วย
- กฎกติกาต้องมีเหตุผล เหมาะสมกับวัยของเด็กที่จะปฏิบัติได้ ไม่บังคับให้เด็กทำตามความต้องการของพ่อแม่
- ควรสร้างทางเลือก เพื่อให้เด็กมีโอกาสเลือก หรือตัดสินใจด้วยตนเอง
- เมื่อวางกฎ กติกาแล้ว ต้องใช้และยึดถืออย่างสม่ำเสมอ
- สร้างขั้นตอนของการทำโทษเมื่อผิดกฎ กติกา เริ่มจากเตือนทันทีเมื่อลูกทำผิดกฎ หรือกำหนดบทลงโทษเป็นขั้นตอน โดยต้องรับรู้ร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูกตั้งแต่แรก
- ชื่นชมเมื่อลูกปฏิบัติได้ตามกฎ กติกาที่วางไว้พ่อแม่ต้องจัดการอารมณ์ของตัวเองก่อน ถ้ากรณีที่ลูกไม่เชื่อฟัง ต้องมีเทคนิคในการลงโทษที่ลูกเหมาะสมกับวัยด้วย
แต่อย่าลืมด้วยว่าเมื่อกำหนดกฎกติกาแล้ว ก็ต้องบอกสมาชิกทุกคนในครอบครัว ให้ยอมรับร่วมกันด้วย จากนั้น ถ้าหากมีปัญหาขึ้นมา เช่น ลูกไม่ปฏิบัติตาม พ่อแม่ก็ต้องเตือนว่าลูกกำลังฝ่าฝืนกฎนะจ๊ะ ให้พูดด้วยท่าทีที่อ่อนโยน ไม่ใช่น้ำเสียงที่ดุดัน และถ้าหากลูกไม่เชื่อฟัง และเริ่มท้าทาย พ่อแม่ก็อย่าเพิ่งอารมณ์เสีย ขอให้ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน
ซึ่งถ้าพ่อแม่มีอาการโกรธ หรือโมโหแล้ว ต้องรีบจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ได้ หรือไม่ก็สลับบทบาทพ่อหรือแม่ ใครที่สามารถรับมือกับสถานการณ์นั้นได้ดีกว่า ก็เป็นคนนั้น ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องตระหนัก และต้องหาทางช่วยให้ลูกจัดการอารมณ์ของตัวเองให้ได้ มิเช่นนั้นแล้วเขาหรือเธอตัวน้อยอาจติดพฤติกรรมโมโหร้าย หรือเจ้าอารมณ์ไปจนโตก็ได้
อีกประการก็คือ การเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ที่พ่อแม่ควรรู้ว่าลูกของเราเป็นเด็กอย่างไร ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุหรือไม่ หรือพื้นฐานเอาแต่ใจตัวเองหรือไม่ ถ้าพ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก การจัดการก็ต้องคำนึงถึงธรรมชาติของเด็กด้วย เป็นเทคนิคของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องรู้ให้เท่าทันและมีไหวพริบให้เท่าทันลูกน้อยด้วย เพราะบางครั้งลูกของเราสองคน ทำผิดเรื่องเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้วิธีการลงโทษแบบเดียวกันแล้วจะได้ผลเหมือนกัน
ที่สำคัญอย่าลืมด้วยว่า การลงโทษทุกครั้ง ลูกจะรับรู้และสัมผัสได้ว่าการลงโทษของพ่อแม่ เป็นการลงโทษด้วยอารมณ์โกรธหรือความรัก เป็นการลงโทษด้วยอารมณ์ชั่ววูบหรือระงับโทสะไม่ได้ เพราะผลภายหลังของการลงโทษลูกจะกลายเป็นภาพฝังใจประทับตรึงใจเขาไปตลอดชีวิต
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- ข้อคิดดีๆ ในการเลี้ยงลูกของพ่อกอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ กับ น้องชูใจ
- รวมพฤติกรรมยอดแย่ที่พ่อแม่ไม่ควรทำต่อหน้าลูก
- วิธีระงับความโกรธ ก่อนระเบิดอารมณ์ใส่ลูก
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.manager.co.th