6 วิธีระงับใจ ไม่ตะคอกใส่ลูก
1. เปิดวิทยุดังๆ (ถึงดีเจจะกำลังเปิดเพลงที่คุณไม่ชอบก็เถอะ)
2. ออกไปเดินสงบสติแถวๆ บ้าน
3. นึกถึงตอนที่แม่ตะคอกคุณ ว่าตอนนั้นคุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
4. คิดถึงลูกในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งกำลังคิดว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรตอนที่ถูกคุณตะคอก
5. นึกถึงค่าใช้จ่ายในการบำบัดจิต
6. กอดกันดีกว่านะ
แต่ก็อาจทำให้เกิดปัญหาใหม่อยู่ดี เพราะพ่อแม่ที่ไม่ตีลูก กลับหันมาใช้วิธีการพูดจาแทนนั้น กลายเป็นว่าเด็กไม่เจ็บตัว แต่ปลายเป็นเจ็บใจแทน และแผลที่เจ็บใจนี่แหละที่มักฝังอยู่ในความทรงจำ ทำให้เด็กมักเครียด กลายเป็นเด็กเก็บกด หรือกดดัน หรือต่อต้านด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งก็ต้องอยู่ที่พื้นนิสัยของเด็กด้วย
เพราะฉะนั้น วิธีที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุด ก็คือก่อนที่จะลงโทษ พ่อแม่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ภายในบ้านก่อน การกำหนดกฎเกณฑ์เป็นการสอนให้ลูกได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ รวมไปถึงวินัย และการอยู่ร่วมกันในครอบครัว เป็นการสอนให้ลูกรู้ว่าเมื่อมีกฎเกณฑ์ภายในครอบครัวก็ต้องปฏิบัติตาม เช่น เมื่อลูกเล่นของเล่นเสร็จก็ต้องเก็บของเล่นเข้าที่ ถ้าลูกไม่เก็บก็แสดงว่าไม่ทำตามกฎกติกา ผลที่ตามมาก็คือถูกลงโทษด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
แต่ถ้าไม่มีกฏกติกาภายในบ้าน เมื่อลูกเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บเข้าที่ พอแม่บอกให้ไปเก็บของเล่น ลูกก็อาจเพิกเฉย ไม่สนใจ และไม่ยอมทำตาม คนเป็นแม่ก็จะรู้สึกโกรธ ไม่พอใจที่ลูกมีพฤติกรรมแบบนี้ ก็เริ่มโกรธ และต่อว่า ในขณะที่ลูกก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ยิ่งเห็นพฤติกรรมที่โกรธของแม่ เด็กบางคนก็อยากท้าทายจนท้ายสุดจากเรี่องเล็กๆ ก็กลายเป็นบานปลายได้ในที่สุด ฉะนั้น พ่อแม่ควรกำหนดกฎเกณฑ์กติกาภายในบ้าน โดยเริ่มง่ายๆ ได้ดังนี้
- กฎ กติกา ต้องชัดเจน ปฏิบัติได้ และเข้าใจง่าย
- ถ้าลูกโตพอ บางเรื่องก็ควรให้ลูกได้ส่วนร่วมในการกำหนดกฎ กติกาภายในบ้านด้วย
- กฎกติกาต้องมีเหตุผล เหมาะสมกับวัยของเด็กที่จะปฏิบัติได้ ไม่บังคับให้เด็กทำตามความต้องการของพ่อแม่
- ควรสร้างทางเลือก เพื่อให้เด็กมีโอกาสเลือก หรือตัดสินใจด้วยตนเอง
- เมื่อวางกฎ กติกาแล้ว ต้องใช้และยึดถืออย่างสม่ำเสมอ
- สร้างขั้นตอนของการทำโทษเมื่อผิดกฎ กติกา เริ่มจากเตือนทันทีเมื่อลูกทำผิดกฎ หรือกำหนดบทลงโทษเป็นขั้นตอน โดยต้องรับรู้ร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูกตั้งแต่แรก
- ชื่นชมเมื่อลูกปฏิบัติได้ตามกฎ กติกาที่วางไว้พ่อแม่ต้องจัดการอารมณ์ของตัวเองก่อน ถ้ากรณีที่ลูกไม่เชื่อฟัง ต้องมีเทคนิคในการลงโทษที่ลูกเหมาะสมกับวัยด้วย
แต่อย่าลืมด้วยว่าเมื่อกำหนดกฎกติกาแล้ว ก็ต้องบอกสมาชิกทุกคนในครอบครัว ให้ยอมรับร่วมกันด้วย จากนั้น ถ้าหากมีปัญหาขึ้นมา เช่น ลูกไม่ปฏิบัติตาม พ่อแม่ก็ต้องเตือนว่าลูกกำลังฝ่าฝืนกฎนะจ๊ะ ให้พูดด้วยท่าทีที่อ่อนโยน ไม่ใช่น้ำเสียงที่ดุดัน และถ้าหากลูกไม่เชื่อฟัง และเริ่มท้าทาย พ่อแม่ก็อย่าเพิ่งอารมณ์เสีย ขอให้ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน
ซึ่งถ้าพ่อแม่มีอาการโกรธ หรือโมโหแล้ว ต้องรีบจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ได้ หรือไม่ก็สลับบทบาทพ่อหรือแม่ ใครที่สามารถรับมือกับสถานการณ์นั้นได้ดีกว่า ก็เป็นคนนั้น ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องตระหนัก และต้องหาทางช่วยให้ลูกจัดการอารมณ์ของตัวเองให้ได้ มิเช่นนั้นแล้วเขาหรือเธอตัวน้อยอาจติดพฤติกรรมโมโหร้าย หรือเจ้าอารมณ์ไปจนโตก็ได้
อีกประการก็คือ การเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ที่พ่อแม่ควรรู้ว่าลูกของเราเป็นเด็กอย่างไร ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุหรือไม่ หรือพื้นฐานเอาแต่ใจตัวเองหรือไม่ ถ้าพ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก การจัดการก็ต้องคำนึงถึงธรรมชาติของเด็กด้วย เป็นเทคนิคของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องรู้ให้เท่าทันและมีไหวพริบให้เท่าทันลูกน้อยด้วย เพราะบางครั้งลูกของเราสองคน ทำผิดเรื่องเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้วิธีการลงโทษแบบเดียวกันแล้วจะได้ผลเหมือนกัน
ที่สำคัญอย่าลืมด้วยว่า การลงโทษทุกครั้ง ลูกจะรับรู้และสัมผัสได้ว่าการลงโทษของพ่อแม่ เป็นการลงโทษด้วยอารมณ์โกรธหรือความรัก เป็นการลงโทษด้วยอารมณ์ชั่ววูบหรือระงับโทสะไม่ได้ เพราะผลภายหลังของการลงโทษลูกจะกลายเป็นภาพฝังใจประทับตรึงใจเขาไปตลอดชีวิต
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- ข้อคิดดีๆ ในการเลี้ยงลูกของพ่อกอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ กับ น้องชูใจ
- รวมพฤติกรรมยอดแย่ที่พ่อแม่ไม่ควรทำต่อหน้าลูก
- วิธีระงับความโกรธ ก่อนระเบิดอารมณ์ใส่ลูก
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.manager.co.th