การดูแลสะดือของทารกแรกเกิด ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลาย ๆ คน แทบจะต้องกลั้นหายใจทุกครั้งในเวลาที่ต้องเช็ดสะดือของลูก และจะต้องดูแลสายสะดือของลูกจนกว่าจะหลุด และเมื่อ สะดือหลุด แล้วก็ยังต้องคอยทำความสะอาดต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะแห้ง ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีวิธีดูแลสะดือลูกหลังหลุดแล้ว มาฝากกันค่ะ
สะดือหลุด กี่วันแห้ง? พร้อมวิธีดูแลหลังลูกสะดือหลุด
สะดือหลุด กี่วันแห้ง?
ปกติแล้วหลังจากสะดือหลุดแล้ว ภายใน 7-10 วันสะดือก็จะเริ่มแห้ง หลังจากสะดือหลุดอาจจะมีเลือดซึมออกมาได้นิดหน่อย หรือในเด็กบางคนจะมีก้อนเนื้อเล็ก ๆ ขนาดเท่าถั่วแดงอยู่ด้านในของสะดือ เป็นเรื่องที่ไม่ได้อันตรายอะไรค่ะ เพราะก้อนเนื้อนี้จะหายไปได้เองตามธรรมชาติ สำหรับเด็กบางคนที่สะดือแห้งช้า ไม่ได้หมายความว่า คุณพ่อคุณแม่รักษาความสะอาดของสะดือลูกได้ไม่ดีพอนะคะ ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเองค่ะ เพราะถึงแม้ว่าจะทำความสะอาดได้ดีพอแล้ว ก็อาจจะมีเลือดซึม สะดือแห้งช้า หรือมีก้อนเนื้อได้ค่ะ
สะดือหลุด แล้วต้องทำอย่างไรต่อ?
หลังจาก สะดือหลุด แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ยังต้องดูแลสะดือลูกต่อไปจนกว่าจะแห้งดีค่ะ ขั้นตอนในการดูแลสะดือหลังสะดือหลุดนั้น เหมือนกันกับขั้นตอนการดูแลสายสะดือ มีดังต่อไปนี้
- หลังอาบน้ำ ให้ซับสะดือให้แห้งอย่างเบามือ คอยดูแลให้สะดือลูกแห้งเสมอ
- เช็ดทำความสะอาดสะดือ ด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่โรงพยาบาลให้มาหลังคลอด โดยชุบน้ำยาลงบนสำลีแล้วเช็ดอย่างเบามือ วันละครั้ง
- ไม่จำเป็นต้องล้วงหรือแคะสะดือ เพื่อให้สะดือสะอาดที่สุด เช็ดเฉพาะจุดที่เช็ดได้ก็เพียงพอแล้วค่ะ
- ในกรณีที่มีเลือดไหลซึมออกมา อย่าใช้น้ำยาเช็ดไปโดยตรงในบริเวณที่เลือดไหล ให้ใช้สำลีซับออกอย่างเดียว
- ไม่จำเป็นต้องปิดแผลบริเวณที่มีเลือดไหลซึม เพื่อไม่ให้เกิดการอับชื้น
- การใส่แพมเพิสในช่วงนี้ ยังคงต้องใส่อยู่ใต้สะดือ เพื่อไม่ให้เกิดการอับชื้น จนกว่าสะดือจะแห้ง ถึงสามารถใส่ทับสะดือได้
- ไม่ใช้แป้งฝุ่นโรยสะดือเด็ดขาด
- ไม่ทาครีมหรือโลชั่นใด ๆ บริเวณสะดือ
แต่หากคุณพ่อคุณแม่พบอาการผิดปกติเกี่ยวกับสะดือของลูกเช่น สะดือบวมแดง มีน้ำหนองไหลออกมา มีเลือดซึมออกมาตลอดเวลา นั่นคือสัญญาณของการติดเชื้อแล้วค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ สะดือลูกติดเชื้อ มีอาการแบบไหน?
สะดือลูกติดเชื้อ มีอาการแบบไหน?
หลังจากสะดือลูกหลุดไปได้ 10 วันแล้ว สะดือยังไม่แห้ง และมีอาการดังต่อไปนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ เพราะนั่นหมายถึงสะดือลูกมีการติดเชื้อ
- บริเวณรอบ ๆ สะดือแดง หรือบวมแดง
- มีเลือดไหลซึมออกจากสะดือตลอดเวลา
- มีน้ำเหลืองซึมออกมาจากสะดือ
- สะดือมีกลิ่นเหม็น
- หากแตะต้องโดนสะดือแล้วลูกแสดงอาการเจ็บ
- มีไข้
- แสดงอาการไม่อยากทานนม
หากลูกมีอาการเหล่านี้เพียง 1 ข้อ คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะในเด็กแรกเกิดนั้น สะดือเป็นช่องทางที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และเด็กแรกเกิดก็มีความต้านทานต่อเชื้อโรคที่อยู่ภายนอกครรภ์ต่ำ เชื้อมักจะเข้าทางสะดือและเข้าสู่เส้นเลือด และไปอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ ได้ง่าย
เมื่อไปพบแพทย์ ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจบริเวณสะดือเพื่อหาสาเหตุของอาการที่เป็นปัญหา ในบางกรณีแพทย์อาจนำตัวอย่างของเหลวหรือเซลล์เนื้อเยื่อภายในสะดือไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการด้วย เพื่อทดสอบหรือส่องกล้องจุลทรรศน์ตรวจหาการติดเชื้อ ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนรักษาตามอาการป่วยอย่างถูกต้องต่อไป
อ่านต่อ ทำไมลูกสะดือจุ่น?
ทำไมลูกสะดือจุ่น?
หลังจากลูกสะดือหลุดและแห้งแล้ว ในเด็กบางคนจะดูเหมือนสะดือจุ่น โดยอาการสะดือจุ่นในเด็กนั้น จะมีก้อนบวมนูนบริเวณสะดือ โดยจะสามารถเห็นได้ชัดเจนเมื่อเด็กเด็กร้องไห้ ไอ หรืออยู่ในภาวะที่ร่างกายกำลังเบ่งหรือเกร็ง และเมื่อเด็กอยู่ในภาวะสงบลง นอนหงายหรือผ่อนคลาย ส่วนที่บวมนูนออกมาก็จะหดเล็กลง โดยทั่วไปจะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด และไม่เป็นอันตรายใด ๆ
สาเหตุที่ลูกสะดือจุ่น
โดยปกติ ทารกที่อยู่ในครรภ์จะมีสายสะดือที่เชื่อมต่อบริเวณกล้ามเนื้อหน้าท้อง หลังจากที่คลอดแล้วบริเวณดังกล่าวก็จะสมานปิดตามปกติโดยธรรมชาติ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถสมานปิดได้ตามปกติ ก็จะทำให้ผนังหน้าท้องบริเวณสะดือมีจุดที่มีความอ่อนแอ ซึ่งอาจทำให้เกิดไส้เลื่อนที่สะดือหรือสะดือจุ่นได้ โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนดและทารกที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ จะมีโอกาสสะดือจุ่นได้มากกว่าทารกที่คลอดตามกำหนดทั่วไป
สะดือจุ่น ต้องพบแพทย์ไหม?
เด็กส่วนใหญ่จะสามารถหายเองตามธรรมชาติก่อนอายุประมาณ 2-3 ปี โดยหากพบว่าเด็กมีอาการสะดือจุ่นอยู่หลังจากอายุ 2 ปี ก็ควรได้รับการพิจารณาเพื่อผ่าตัดแก้ไข และหากก้อนที่สะดือมีอาการเจ็บ ตึง บวมหรือแดง รวมไปถึงอาเจียน ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
ในความหมายของคนเป็นแม่ สะดือ คือร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่าแม่กับลูกเคยเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เป็นคน ๆ เดียวกัน ได้รับอากาศและสารอาหารร่วมกัน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คุณแม่จะเก็บสายสะดือไว้เพื่อระลึกถึงช่วงเวลานั้น และ เมื่อลูกโตขึ้น ก็จะรับรู้ว่าสะดือสวย ๆ ที่อยู่กับตัวนี่แหละ คือสายใยรักที่แม่ส่งต่อสู่ลูก
อ่านบทความดี ๆ เพิ่มเติม คลิก
สายสะดือ สายใยระหว่างแม่และลูกน้อยในครรภ์
คัมภีร์ การดูแลทารกแรกเกิด 8 เรื่องที่แม่มือใหม่ต้องรู้!
ภาวะปกติ VS ไม่ปกติของ สะดือเด็กแรกเกิด
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : มูลนิธิหมอชาวบ้าน, pobpad
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่