AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

สาเหตุที่ทำให้ลูก ทารกร้องไห้ และวิธีรับมือ

สาเหตุที่ทำให้ทารกร้องไห้ พร้อมวิธีรับมือ

การที่ ทารกร้องไห้ งอแง เป็นพฤติกรรมหนึ่งของวัยเด็กทารกซึ่งคุณแม่คุณพ่อมือใหม่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งปกติทารกจะร้องไห้ 2-3 ชั่วโมงต่อวันและทารกบางคนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% แม้ว่าบางครั้งที่ลูกๆร้องไห้โยเยคุณพ่อคุณแม่จะใช้วิธีโยกตัวลูกเบาๆหรือร้องเพลงให้ฟังก็แล้ว อุ้มพาเดินไปเดินมาก็แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถสยบเสียงร้องไห้ของเจ้าตัวเล็กลงได้ ไปดูกันว่ามีสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องไห้และจะมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้ลูกรักหยุดร้องไห้ได้

สาเหตุที่ทำให้เด็ก ทารกร้องไห้ (แรกเกิด-2ขวบ) งอแงมาจาก…

1. ร้องเพราะหิว
สัญญาณที่ทำให้คุณเรียนรู้ได้จากการร้องเสียงดังของลูกคุณก็คือ เขาต้องการกิน ถ้าคุณอุ้มเขาขึ้นมาให้นม แล้วคุณสังเกตดูว่าเขาร้องหลังให้นม นั่นแสดงว่าเขาร้องเพราะหิว หรือไม่บางครั้งเด็กอาจร้องเพราะให้นมมื้อก่อนน้อยไปซึ่งแน่นอนที่เดียวเขาจะตื่นเร็ว และร้องเพราะเขาหิว ถ้าคุณให้นมเขาเพิ่มเมื่อเขาอิ่มแล้วเขาจะหยุดร้องแล้วก็หลับไป

2. ร้องเพราะผ้าอ้อมเปียกแฉะต้องการเปลี่ยน
เด็กแต่ละคนจะมีการตอบสนองต่อการเปียกแฉะของผ้าอ้อมต่างกัน เด็กบางคนจะร้องให้เปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อเขาปัสสาวะออกมาสักพัก เนื่องจากว่าตอนที่เขาปัสสาวะออกมาใหม่ ๆ จะยังไม่รู้สึกเย็น แต่พอทิ้งไว้และปัสสาวะเริ่มระเหยไปในอากาศ เขาจะเริ่มรู้สึกเย็นขึ้นและเริ่มร้องไห้ แต่ในขณะเดียวกันเด็กบางคนอาจจะรู้สึกเย็นสบายเมื่อปัสสาวะออกมาและไม่ร้องกวนให้เปลี่ยนผ้าอ้อมก็ได้ค่ะ

3. ร้องเมื่อรู้สึกร้อน หรือหนาว
เด็กแรกเกิดชอบการห่อหุ้มเพื่อความอบอุ่นเสมือนอยู่ในท้องแม่ ถ้าคุณปล่อยให้เขาเปลือยกายนาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเสื้อผ้าเขาหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม เด็กแรกเกิดนั้นยังปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่นี้ไม่ทัน เขาจะรู้สึกหนาวและร้องไห้ได้ ดังนั้นคุณควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือผ้าอ้อมโดยเร็วอย่าปล่อยให้เขาเปลือยเปล่าอยู่กับอากาศเย็นเป็นเวลานาน ๆ

4. ร้องเพราะอยากให้อุ้ม
เด็กที่ต้องการความอบอุ่นจากแม่จะร้องให้อุ้ม การกอด จูบ ลูบไล้ การได้มอง ได้ยิน ได้จับสัมผัส จะทำให้เขารู้สึกปลอดภัย การอุ้มประคองจากพ่อแม่จึงดียิ่งกว่ายาวิเศษขนานใด ฉะนั้นเมื่อลูกร้องคุณควรอุ้มเขา กอดเขาไว้ สัมผัสนี้จะกระตุ้นทำให้เกิดการพัฒนาของเซลล์สมองและแน่นอนการเพิ่มจำนวนเซลล์ย่อมเพิ่มความสามารถและความฉลาด และยังสมารถกระตุ้นให้ลูกเป็นเด็กดี และมีสุขได้

อ่าน >> สาเหตุที่ทำให้ลูกร้องไห้ และวิธีรับมือให้ลูกหยุดร้องไห้ คลิกเลยค่ะ

5. ร้องเพราะเพลียเหนื่อยล้า
คุณพ่อคุณแม่บางคน ชอบเล่นกับลูกตลอดเวลาจนเรียกว่ามีอาการขี้เห่อ คือไม่ให้ลูกได้ว่างเอาเสียเลย เพราะเด็กน่ารักน่าเอ็นดู ซึ่งอาจทำให้หนูน้อยเพลีย และหงุดหงิดง่าย ๆ ความจริงเด็กแรกเกิดไม่ควรไปวุ่นวายกับเขามาก การกอดจูบบ่อย ๆ ไม่ควรทำ เพราะเด็กแรกเกิดจะยังอยู่ในช่วงที่บอบบาง ถ้าเราเจ็บป่วยจะนำไปยังเด็กได้ เด็กบางคนร้องลั่น แล้วเสียงค่อย ๆ เบาลงและหลับไป แสดงว่าเขาเพลียและรำคาญที่พวกผู้ใหญ่ไปวุ่นวายกับเขามาก

6. ร้องเพราะรู้สึกไม่สบาย
คุณแม่ควรหมั่นตรวจเช็คความสมบูรณ์ของลูกอยู่เสมอ ถ้าลูกมีอาการที่ดูผิดปกติเช่น หงุดหงิด ซึม อ่อนเพลีย ร้องกวนอย่างกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข ซึ่งอาจจะมีไข้ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำยิ่งถ้าวัดอุณหภูมิในร่างกายแล้วพบว่า เกิน 38 Co ยิ่งต้องรีบพามาพบแพทย์ เพราะเด็กช่วยอายุ 1-2 ปี แม้จะมีโรคติดเชื้อเล็กน้อยก็มีไข้สูงได้

7. ร้องเพราะต้องการการห่อหุ้มและอุ้มไว้

เด็กแรกเกิดรู้สึกคุ้นเคยกับความอบอุ่นมาจากในครรภ์ของแม่ ให้คุณลองห่อผ้าให้กระชับและอุ้มเขาขึ้นพาดบ่าของคุณ จะรู้สึกได้เลยว่าเขาจะหดแขนขากอดรัดคุณเพื่อค้นหาความอบอุ่นจากอกแม่จะทำให้เขารู้สึกสบายขึ้นและร้องน้อยลงไม่ได้หมายความว่า

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเมื่อเจ้าตัวเล็กร้องไห้งอแง

วิธีทำให้ทารกหยุดร้องไห้

1. กอดลูกไว้แนบอก

บ่อยครั้งเลยที่เด็ก ๆ ร้องไห้งอแงแล้วถูกคุณแม่อุ้มปุ๊บ เขาจะหยุดร้องได้เร็ว ผนวกกับเสียงเพลงกล่อมเด็กจากคุณแม่แล้ว ทั้งสองสิ่งจะช่วยให้เกิดความสงบและรู้สึกถึงความปลอดภัยสำหรับเด็กได้ดีขึ้น เหมือนกับช่วงที่อยู่ในครรภ์มารดาเลย

2. การนวด

การนวดคลึงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลูกน้อย ช่วยคลายความเครียดที่เป็นอีกตัวการสำหรับการร้องไห้ของลูกน้อย การนวดสำหรับเด็กจะช่วยให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลนั้นลดลง ซึ่งฮอร์โมนนี้เป็นตัวทำให้เกิดความเครียดในเด็กได้

3. ให้ฟังเพลง

เด็กคุ้นเคยกับเสียงหัวใจเต้นของแม่มาตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะฉะนั้นถ้าอุ้มลูกน้อยแนบอกแม่ให้ชิดตรงตำแหน่งที่เป็นหัวใจแม่ ลูกจะร้องน้อยลง นอกจากนี้ทารกแรกเกิดจะตอบสนองต่อเสียงดนตรีได้ดี ทั้งนี้อาจเพราะเสียงจังหวะดนตรีนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบใด คลาสสิค แจ๊ส ร็อค มักมีจังหวะตี ซึ่งเป็นจำนวนที่พอ ๆ กับเสียงหัวใจเต้นของคนพอดี

4. การเคลื่อนที่

เด็กบางคนชอบให้อุ้มแค่นั้นก็พอแล้วเขาก็จะเงียบไปเอง แต่บางครั้งเด็กชอบให้อุ้มโยกตัวไปมาบนเก้าอี้โยก หรือไกวเปลไปมาเบา ๆ ซึ่งพอ ๆ กับจังหวะการเต้นของหัวไจ 60-100 ครั้ง/นาที เด็กจะรู้สึกเพลิดเพลินไปกับจังหวะนั้นคล้ายจังหวะที่ลูกเคยได้ยินตอนที่อยู่ในท้องแม่ ซึ่งเป็นจังหวะการเต้นของหัวใจแม่

5. ลูบท้องอย่างแผ่วเบา

การลูบท้อง หรือหลังอย่างแผ่วเบาจะทำให้เด็กเรอออกมาหรือผายลม จะทำให้ลูกรู้สึกสะบาย ควรยึดถือปฏิบัติหลังจากลูกดื่มนมทุกมื้อ เพราะเป็นการไล่ลมที่เต็มกระเพาะหลังจากลูกดื่มนมเสร็จแล้ว มิฉะนั้นแกจะเกิดอาการจุกเสียดไม่ยอมนอนได้

6.การให้นมลูก

คุณแม่ควรจัดท่าในการให้นมลูกที่สบายที่สุด พร้อมทั้งการทรงตัวของลูกน้อยให้ผ่อนคลาย เมื่อให้นมเขาอิ่มแล้วเขาจะหลับไปควรนวดตามแขนขา และนิ้วอย่างแผ่วเบาจะทำให้เขารู้สึกสบายขึ้น เมื่อคุณให้นมลูกนานพอควรจนรู้ใจกัน คุณจะแปลกใจในการไหลของนม เช่นพอลูกเริ่มร้อง เมื่อถึงเวลาให้นม น้ำนมคุณก็จะไหลออกมาเอง

สุดท้ายนี้ขอให้อย่าลืมใส่ใจกับตัวเองบ้าง

สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เหนื่อยยาก และวิตกกังวล ซึ่งไม่ใช่การเจ็บป่วยของลูกแต่เด็กปกติดี ถ้าคุณแม่อดทนรอจนครบ 3 เดือน เด็กที่ร้องมาก ๆ คุณแม่ไม่ควรไปวุ่นวายกับเขามาก คุณควรหาเวลาให้กับตัวเองบ้าง หางานอดิเรกทำ เช่น
– ออกไปเดินเล่น คุยกับเพื่อนบ้าน หรือญาติใกล้ ๆ บ้าง
– ผลัดเวรกันดูแลกับคุณพ่อ อาจจะให้คุณพ่อช่วยเห่กล่อม ส่วนคุณแม่ก็ไปเปิดสมอง
– ทำใจให้สบาย ปลดปล่อยอารมณ์ที่ต้องทนกับการฟังเสียงลูกร้องบ้าง สุขภาพจิตจะได้ดีขึ้น


ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

credit :www.lovekid.com