หมู่นี้ลูกทารกชอบใช้มือกับนิ้วเล็กๆ จับและสำรวจทุกสิ่งตรงหน้า แม้กระทั่งเวลาหม่ำข้าวก็ยังพยายามใช้มือของตัวเองคอยช่วย (ละเลง) อยู่เป็นประจำ พอหลายครั้งเข้า คุณแม่ก็เริ่มลังเลใจแล้วว่าควรจะห้ามหรือปล่อยให้ลูกมีความสุขกับการเป็นนักสำรวจตัวน้อยดี
คุณอาจต้องทำใจและลองปล่อยให้ลูกน้อยใช้นิ้วมือเล็กๆ ได้ลองสำรวจเพื่อเรียนรู้พื้นผิวอันแตกต่างของทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผิวไม้ของโต๊ะ เส้นผมนุ่มๆ ของคุณแม่ หรือข้าวบดที่คุณกำลังป้อนเขาอยู่ คุณจะสนับสนุนให้ลูกมีความรักและกล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผ่านประสาทสัมผัสได้โดย
1. พาไปผจญภัย
การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงเป็นวิธีที่ดีที่สุด จึงควรให้ลูกได้ลองเปรียบเทียบด้วยตัวเองว่าสิ่งต่างๆ ที่เขาได้สัมผัสนั้นมีความต่างกันอย่างไร สนามหน้าบ้านอาจเป็นแหล่งผจญภัยใหม่ๆ ให้ลูกได้ หากคุณปล่อยให้เขาได้ลองสัมผัสผืนหญ้า กำแพงบ้าน และลำต้นของต้นไม้ใหญ่ที่อาจมีทั้งพื้นผิวที่เรียบลื่นหรือขรุขระ คราวนี้ลูกก็จะรู้ได้เองโดยที่คุณไม่ต้องอธิบายเลยด้วยซ้ำ
2. กล่องแห่งความลับ
หากล่องสักใบใส่วัสดุผิวสัมผัสต่างๆ กัน (ต้องปลอดภัย) ที่หาได้จากในบ้าน นอกจากจะเรียนรู้แล้ว ยังตื่นเต้นดีอีกด้วย
3. ไม่ใช่แค่มือเท่านั้นที่สัมผัสได้
อาจลองให้ลูกได้นั่งหรือคลานเล่นบนพื้นผิวแปลกๆ ที่เขาไม่เคยได้สัมผัส เช่น บนพรม หรือเสื่อผืนใหญ่ๆ
และแล้วหนูก็รู้ว่า…
- ทารก
ชอบการสัมผัส และสามารถเปรียบเทียบความต่างของผิวสัมผัส เช่น รู้ว่าแก้มนุ่มๆ ของแม่แตกต่างอย่างไรกับแก้มที่มีเคราสากๆ หลังเพิ่งโกนหนวดของพ่อ
- 4 เดือน
ลูกจะค้นพบเองว่ามือเล็กๆ ของเขาหยิบจับหรือคว้าสิ่งของมาไว้ในมือของตัวเองได้ด้วยวิธีใดแม้ว่าบางครั้งอาจเป็นการรู้โดยบังเอิญก็ตาม
- 9 เดือน
อาหารถูกปาก ของเล่นถูกใจ : อาหารที่หม่ำอยู่ทุกวันนั้นนอกจากจะรสชาติถูกปากแล้ว พอจับดูยังเหนียวนุ่มหรือหนึบหนับน่าละเลงเล่นอีกด้วย!
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock