คุณพ่อ คุณแม่ หลายคนมักจะวิตกกังวลเกี่ยวกับ พัฒนาการลูก การเจริญเติบโตของลูกน้อย และมีหลายคนที่มักจะเปรียบเทียบ พัฒนาการลูก กับเด็กคนอื่นๆ เมื่อเห็นว่าเด็กในรุ่นราวคราวเดียวกันสามารถพูดได้ หรือเดินได้แล้ว ในขณะที่ลูกของเรายังไม่สามารถทำอะไรได้ เหตุผลสำคัญคืออะไร เรามีคำตอบ
พัฒนาการลูก ทำไมไม่ควรเปรียบเทียบ
มีคุณแม่จากทางบ้าน สอบถามมากับทีมงาน Amarin Baby & Kids ว่าอยากจะเลิกเปรียบเทียบลูกของตัวเองกับลูกของคนอื่นเสียที โดยเฉพาะเวลาที่เข้าไปดูในอินเทอร์เน็ต บ่อยครั้งที่คุณแม่ต้องชะงักทันที เมื่อได้ไปอ่านเจอว่าลูกของคนอื่นทำโน่นได้ ทำนี่ได้ ก่อนลูกของเราด้วยซ้ำ จริงอยู่ว่าอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์ในการให้ความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ในการเลี้ยงลูก แต่ก็นำไปสู่การเปรียบเทียบโดยที่คุณแม่เองก็ไม่ได้ตั้งใจ หากคุณแม่ยังต้องการที่จะใช้อินเทอร์เน็ต หรือเว็บไซต์ต่างๆ เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ในการเลี้ยงลูกต่อไป แม่น้องเล็กมีข้อเตือนใจเกี่ยวกับ พัฒนาการลูก มาฝากค่ะ
1. เด็กทุกคนล้วนต่างกัน
ไม่ว่าคุณแม่จะได้รู้ ได้เห็นอะไรในโลกออนไลน์ ความจริงที่ว่า “เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการ แต่เร็วช้า คล้ายและต่างในเส้นทางของตัวเอง” ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น เช่น ทารกคนหนึ่งอาจคลานเอาๆ และชอบปีนป่าย แต่ก็ไม่ค่อยได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก (นิ้วมือ) หยิบจับสิ่งของ ขณะที่ทารกอีกคน (อายุเท่ากัน) ชอบสำรวจมือตัวเองมากและชอบใช้มือหยิบจับไปทุกสิ่งโดยไม่สนใจจะคลานเลย ก็ถือว่าเด็กทั้งคู่มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าเหมือนกัน สิ่งสำคัญที่คุณพ่อ คุณแม่ควรดูคือ ลูกของคุณมีพัฒนาการที่ก้าวหน้า ไม่หยุดนิ่ง หรือถดถอย
2. ให้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเป็นเพียง “แนวทาง”
หากจะใช้ข้อมูลพัฒนาการด้านต่างๆ จากอินเทอร์เน็ต ควรใช้เป็นแนวทางให้รู้ลักษณะและทิศทางโดยรวมของพัฒนาการนั้น เช่น เด็กอายุ 1 ขวบ 6 เดือนคนหนึ่งอาจพูดได้ 100 คำ ขณะที่อีกคนพูดได้เพียง 10 คำ แต่ใช้ภาษาท่าทางสื่อสารได้ดีมาก เด็กทั้งสองคนนี้ก็มีพัฒนาการปกติเหมือนกัน
ประโยชน์ของข้อมูลพัฒนาการต่างๆ คือ การให้ข้อมูลไว้เป็นช่วง (เช่น ระหว่างอายุ 1 ขวบ 6 เดือนถึง 2 ขวบเด็กในช่วงวัยนี้จะพูดได้มากขึ้นๆ) เพื่อให้คุณพ่อ คุณแม่นำไปดูความก้าวหน้าของลูก มากกว่าการเจาะจงไล่ตามให้ได้ตามจำนวนต่างๆ ที่บอกไว้อย่างเอาเป็นเอาตาย สิ่งสำคัญที่สุด คือ หากคุณพ่อ คุณแม่กังวลเรื่องพัฒนาการของลูกมาก ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดีกว่าค่ะ
อ่าน “ดูแลสุขภาพอนามัยส่งเสริมพัฒนาการลูก” คลิกหน้า 2
ดูแลสุขภาพอนามัยส่งเสริม พัฒนาการลูก
1.อาหารกับการเจริญเติบโต
เด็กในช่วงวัยแรกเกิด – 5 ปี การเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง จะรวดเร็วกว่าวัยอื่นๆ ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ควรเน้นการรับประทานอาหารที่มีคุณค่า และมีปริมาณ
เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะนมแม่ควรให้ตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากเป็นอาหารที่ดีที่สุดของทารก มีไขมันที่ช่วยในการพัฒนาเซลล์สมอง เป็นวัคซีนสำเร็จรูปที่ได้จากคุณแม่ ทําให้ลูกน้อยไม่ป่วยบ่อย มีระดับสติปัญญามากกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ และการพูดคุยกับลูกน้อยในขณะให้นมจะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า ช่วยส่งเสริมพัฒนาการและความมั่นคงทางอารมณ์ของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี
2.ดูแลสุขภาพปาก และฟัน
การดูแลฟันควรเริ่มตั้งแต่แรกเกิด ไม่จําเป็นต้องรอจนกระทั่งฟันนํ้านมซี่แรกขึ้น คุณพ่อ คุณแม่มีหน้าที่ในการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพปากและฟัน ทั้งในด้านการรักษาความสะอาด และการสอนให้ลูกน้อยเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดสาเหตุของฟันผุได้ง่าย ดังนั้น ควรพาลูกน้อยไปพบทันตแพทย์ครั้งแรกเมื่อฟันซี่แรกเริ่มขึ้นตอนอายุประมาณ 6 เดือน คุณพ่อ คุณแม่จะได้รับคําแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากของลูกน้อย ทั้งการทําความสะอาดช่องปากหลังรับประทานอาหาร หรือดื่มนม การพบทันตแพทย์อย่างสมํ่าเสมอ จะทำให้ลูกน้อยมีสุขภาพช่องปากที่ดี มีรอยยิ้มสดใส
3.การฉีดวัคซีนลูกน้อย
การฉีดวัคซีนลูกน้อยนั้น จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยของคุณพ่อ คุณแม่ให้มีสุขภาพที่ดี และไม่มีการติดเชื้อโรคได้ง่าย คุณพ่อ คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปรับวัคซีนตามกำหนดทุกครั้ง ตามสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อให้ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนตามกำหนด
4.การเล่น ออกกำลังกาย และพักผ่อน
การเล่น เป็นวิธีการเรียนรู้อย่างหนึ่งโดยธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ลูกน้อยเล่นอย่างอิสระทั้งทางกาย ความคิด และสังคม ลูกน้อยจะมีความสุขเมื่อได้เล่น โดยธรรมชาติแล้วเด็กต้องการเล่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเรียนรู้ตามธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจะช่วยส่งเสริม พัฒนาการลูก ตามวัย ทําให้ลูกน้อยเป็นคนช่างสังเกต รู้จักคิดเชื่อมโยงเหตุผล การเล่นช่วยให้ลูกน้อยพัฒนาไปสู่วิธีการดำเนินชีวิตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นำไปสู่การรู้จักรับผิดชอบต่อตนเอง เรียนรู้ระเบียบวินัย รู้จักควบคุมอารมณ์ ถ่ายทอดจินตนาการ
5.การสร้างความผูกพัน ภูมิคุ้มกันทางจิตใจ
ช่วงระยะตั้งแต่ที่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงอายุ 5 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดของการสร้างรากฐานชีวิตจิตใจของมนุษย์ นอกจากร่างกายและสมองจะเจริญเติบโตสูงสุดในช่วงนี้ ลูกน้อยยังมีความรู้สึก รับรู้สัมผัสทั้งรูป รส กลิ่น เสียง กายสัมผัส และยังเลียนแบบอย่าง ตั้งแต่แรกเกิด เด็กเล็กๆ เรียนรู้จากประสบการณ์การเลี้ยงดู และภาวะแวดล้อมได้เร็ว และฝังลึกในจิตใจ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อ คุณแม่ ก่อให้เกิดจุดเริ่มต้นของความผูกพัน ซึ่งสามารถสร้างความรัก ความผูกพันผ่านทางการให้อาหาร การสัมผัสโอบกอด การสื่อสารพูดคุย การมอง และการเล่านิทาน เล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ให้แก่ลูกน้อย ทําให้ลูกน้อยเกิดความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ และพัฒนาทักษะทางสังคม
อ่าน “แนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการลูก” คลิกหน้า 3
แนวทางในการส่งเสริม พัฒนาการลูก
1. จัดสิ่งแวดล้อมที่บ้านให้เหมาะสม สำหรับการส่งเสริมพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของลูกน้อย
2. ส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยอย่างต่อเนื่องทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โดยฝึกฝนผ่านการปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจําวัน หรือฝึกฝนผ่านการเล่นกับลูกน้อย
3. ขณะที่ฝึกลูกน้อย คุณพ่อ คุณแม่ควรใช้คําพูดที่ง่าย สั้น ชัดเจน และคงที่
4. ให้เวลาลูกน้อยปฏิบัติตาม 3-5 วินาที ถ้าลูกยังไม่ได้ทํา ให้คุณพ่อ คุณแม่พูดซํ้าด้วยข้อความเดิม พร้อมให้การช่วยเหลือลูกน้อยทําจนเสร็จ
5. คุณพ่อ คุณแม่ควรให้ความช่วยเหลือลูกน้อยเท่าที่จําเป็น ลดการช่วยเหลือลงเมื่อลูกทําได้ การช่วยเหลือคุณพ่อ คุณแม่ อาจทําได้ ดังนี้
- ทางกาย: จับมือทํา เมื่อลูกทําได้ ค่อยลดการช่วยเหลือลง โดยให้แตะข้อศอกของลูก และกระตุ้นโดยการใช้คําพูดให้ลูกทํา
- ทางวาจา: บอกให้ลูกทราบในสิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ต้องการให้ทํา
- ทางท่าทาง: คุณพ่อ คุณแม่ ชี้ให้ลูกทํา ผงกศีรษะเมื่อลูกทําถูกต้อง ส่ายหน้าเมื่อลูกทําไม่ถูก
6. ถ้าลูกเกิดการเรียนรู้แล้ว ให้เปลี่ยนข้อความแบบต่างๆ แต่มีความหมายเหมือนกัน เพื่อให้ลูกน้อยเรียนรู้สิ่งแตกต่างกัน เช่น ใช้คําพูดว่า “ไม่ใช่” แทนคําว่า “ไม่ถูกต้อง” เป็นต้น
7. คุณพ่อ คุณแม่ควรให้รางวัลลูกน้อยทันที เมื่อลูกทําได้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือให้ทําได้ หรือลูกทําได้เอง เช่น ยิ้ม ชมเชย ปรบมือ สัมผัส ให้ขนม แต่ควรคํานึงถึงสิ่งต่อไปนี้
- ให้รางวัลที่เหมาะสมกับวัยช่วงนั้นๆ ควรเป็นสิ่งที่ลูกชอบ เนื่องจากเด็กแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน
- ควรให้รางวัล เมื่อต้องการให้เกิดทักษะ หรือพฤติกรรมใหม่ๆ
- ควรลดรางวัลลง เมื่อลูกทําได้แล้ว
- ควรขัดขวางไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ หรือป้องกันลูกน้อยไม่ให้ทำในสิ่งที่ผิด หรือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น ลูกใช้มือปัดสิ่งของ เป็นสิ่งที่ลูกทําไม่ถูกต้อง คุณพ่อ คุณแม่ควรบอกลูกว่าไม่ควรทํา และให้ลูกเก็บของ หลังจากนั้นเบี่ยงเบนความสนใจ เพิกเฉยกับพฤติกรรมที่ลูกทําไม่ถูกต้อง เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง: คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง โดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข
อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก!!
เคล็ดลับดี๊ดี..กระตุ้นพัฒนาการ ทารกแรกเกิด-12 เดือน
ลูกไม่เป็นอะไร ทำไมต้องไปหา “หมอพัฒนาการเด็ก”!? โดย พ่อเอก
สุดยอด “อาหารช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกน้อย”
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่